เปิดตัว “HealthTAG” บัตรสุขภาพลดการระบาดโควิด-19

ทีมแพทย์ร่วมกับทีมไอทีชั้นนำของประเทศปิ๊งไอเดีย HealthTAG เทคโนโลยี NFC เก็บข้อมูลขนาดเล็กพกติดตัวได้หลายรูปแบบ บัตรประจำตัว ริสแบนด์ หรือ หนังสือเดินทาง ช่วยประหยัดเวลาในการค้นข้อมูล รวมถึงไม่ต้องโหลดแอพพลิเคชั่น เพียงโชว์และสแกน เปิดนำร่องจังหวัดแรก จ.สระแก้ว คัดกรองและติดตามเคสกลุ่มเสี่ยงโควิด-19

นพ.เดโชวัต พรมดา

นพ.เดโชวัต พรมดา ผู้ร่วมก่อตั้งและพัฒนา HealthTAG กล่าวว่า HealthTAG เป็น NFC สติกเกอร์เก็บข้อมูลขนาดเล็ก ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของทีมแพทย์และทีมไอทีชั้นนำของประเทศ โดยสามารถที่จะประยุกต์การใช้งาน HealthTAG ได้หลายรูปแบบ เช่น ติดกับบัตรประจำตัว หรือหนังสือเดินทาง หรือริสแบนด์ เนื่องจากการเก็บข้อมูลและยืนยันตัวตนนั้นจะบันทึกบน DIDs(Decentralized Identifications) หรืออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ จากเดิมที่เคยเก็บข้อมูลและยืนยันตัวตนอยู่ที่ “คนกลาง” ซึ่งอาจจะเป็นองค์กรไม่กี่แห่ง เช่น สถานพยาบาลต่าง ๆ โรงพยาบาล หรือหน่วยงานของรัฐ ให้ย้ายมาอยู่บนเน็ตเวิร์กที่มีความปลอดภัยที่สูง และไม่ต้องมีคนกลาง แม้จะทำสติกเกอร์เก็บข้อมูลนี้สูญหายก็ตาม ก็ไม่มีใครสามารถอ่านข้อมูลลับหรืออ้างตัวเป็นเราได้
นพ.เดโชวัต กล่าวต่อไปอีกว่า “HealthTAG เปิดตัวมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ภายใต้ไอเดียของการให้คนไข้ถือกุญแจ(Private Keys) ในรูปแบบฮาร์ดแวร์ที่จับต้องได้(NFC Sticker)ในการเข้าถึงและเป็นเจ้าของข้อมูลสุขภาพของตัวเองเพื่อเข้าถึงคนทุกกลุ่มแบบไม่มีความเหลื่อมล้ำทางดิจิตัล, การใช้ลายเซ็นดิจิตัลในการยืนยันตัวตนแบบใหม่(DIDs ที่ผู้คิดค้นคือ W3C หรือ Wolrd Wide Web ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน)บนเทคโนโลยี Blockchain, การเก็บและเชื่อมต่อฐานข้อมูลสถานพยาบาลบนมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูล FHIR(USA) เพื่อเก็บ Certifications ต่างๆรวมถึงประวัติการตรวจรักษา และสามารถเชื่อมต่อกับ Application อื่นๆ(API) เช่น เพื่อติดตามการติดต่อ(Contract Tracing) เพื่อชะลอการระบาดบนพื้นฐานของความปลอดภัย(Privacy) ทางข้อมูลได้ ที่ผ่านมามีสื่อบางราย รวมถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงนักวิชาการติดต่อมาขอให้ไปนำเสนอ เนื่องจากมีจุดแข็งที่สำคัญ คือ ต้นทุนที่ต่ำ เข้าถึงผู้คนได้ทุกกลุ่ม และมีความปลอดภัยของข้อมูลสูง”

ล่าสุด มีจังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสระแก้วให้ความสนใจที่จะเป็น Pilot Project โครงการนำร่องในการนำเทคโนโลยีของ HealthTAG ไปใช้งานในการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่มีความจำเป็นต้องเดินทาง เข้า-ออก จังหวัดเป็นประจำ รวมถึงกลุ่มที่เดินทางมาจากจังหวัดอื่นเพื่อพำนัก, ติดตามการเข้าออกเคหะสถานหลังมาตรการผ่อนคลาย ,โดยการแจกและยืนยันตัวตน(Authentication)จะทำโดยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานสาธารณสุข และอสม. ก่อนที่จะขยายการใช้งานในส่วนอื่นต่อไป” นพ.เดโชวัต กล่าวทิ้งท้าย