เคน นครินทร์ : เริ่มต้นจากคำว่า “ทำไม”

ระยะหลังมานี้งานหลักของผมคือการสัมภาษณ์คนเพื่อรับเข้าทำงาน ด้วยตำแหน่งบรรณาธิการบริหารทำให้ผมได้สัมภาษณ์คนค่อนข้างเยอะ และเห็นคนหลากหลาย

การเลือกคนเข้าทำงานกลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผมชอบ เพราะผมรู้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าคือ “คน”

การได้หัดมองคนเก่งๆ ที่เหมาะจะทำงานด้วยจึงกลายเป็นความท้าทายที่สนุกและน่าเรียนรู้

ผมไม่ได้มีทฤษฎีการสัมภาษณ์งานแบบตายตัว และไม่เคยอ่านตำราเล่มไหน แต่ผู้ใหญ่หลายท่านชื่นชมว่าผมเลือกคนทำงานได้เก่ง คนที่รับเข้ามามักทำงานได้ดี ทัศนคติดี ซึ่งส่งผลให้เคมีของทีมออกมาดีมาก เมื่อเคมีของทีมดี ก็ยิ่งทำให้ผลงานออกมาดีตามไปด้วย

อาจจะดูโม้ๆ หน่อย แต่เชื่อไหมครับว่า ถ้าคนไหนที่ผมอยากให้มาร่วมงานด้วย แล้วได้มาคุยมาเจอหน้ากัน ร้อยละ 99 จะตอบตกลง และยากที่จะปฏิเสธ

ผมไม่ค่อยชอบดึงคนมาสัมภาษณ์จากใบสมัคร แต่ชอบทำตัวเป็นแมวมอง ลองเสพงานที่เขาทำ แอบถามเพื่อนร่วมงานมากกว่า เบื้องต้นผมจึงต้องชอบงานเขาก่อน และเขาต้องทำให้ผมยอมรับได้ว่าเขาเป็นคนเก่งและมีแพชชั่น หลังจากนั้นจึงลองเรียกมาสัมภาษณ์

มีนักศึกษาเคยถามผมว่า ผมเลือกคนจากอะไร ผมตอบไปว่าหลักๆ มีแค่ 2-3 อย่าง หนึ่ง คือเป็นคนเก่ง มีแพชชั่น และอยากเรียนรู้อยู่เสมอ สอง คือทัศนคติดี ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ ไม่มีดราม่า

และสาม ถ้าเป็นไปได้ ผมชอบคนรุ่นใหม่ไฟแรง ที่กำลังรู้สึกอัดอั้น อยากปล่อยของ อยากมีพื้นที่ให้ได้วาดลวดลาย

คำถามที่ผมใช้บ่อยมากเวลาสัมภาษณ์และเป็นคำถามไม้ตายที่ทำให้ผมตัดสินใจเลือกคนคนนั้นเข้าทำงานคือ “ทำไม”

ทำไมคุณถึงอยากทำงานที่นี่

งานที่คุณกำลังทำอยู่นี้ ทำไปทำไม

ทำไมเราต้องรับคุณเข้าทำงาน

ทำไมผมต้องถามว่าทำไม?

Simon Sinek

ผมบังเอิญได้ไปอ่านหนังสือชื่อ Start With Why ของ Simon Sinek รวมทั้งได้ดูคลิปที่เขาไปบรรยายให้กับ Ted Talk ในหัวข้อ “ผู้นำที่ยิ่งใหญ่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ตามได้อย่างไร” ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อของ Ted ที่ยอดวิวสูงที่สุดลำดับต้นๆ ของโลก

Simon Sinek คือนักเขียนชาวอังกฤษที่ย้ายไปพำนักที่อเมริกา เขาเคยทำงานในเอเยนซี่โฆษณายักษ์ใหญ่และทำธุรกิจของตัวเอง ปัจจุบันเขามีผลงานเขียนมาแล้ว 3 เล่ม คือ Start with Why, Leaders Eat Last และ Together Is Better นอกจากนี้ ยังเป็นนักพูดให้แรงบันดาลใจและที่ปรึกษาด้านการตลาด

ประเด็นที่ Simon Sinek พูดและเขียนมักเกี่ยวข้องกับแนวคิดที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จในธุรกิจ ความเป็นผู้นำที่จะนำพาองค์กรก้าวไปข้างหน้า เช่น ทำไมแอปเปิ้ลถึงสร้างสรรค์นวัตกรรมได้มากนัก และไม่เคยหยุด ทั้งที่แอปเปิ้ลก็เป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ธรรมดาๆ มีคนเก่งๆ มาทำงานเหมือนๆ กับบริษัทอื่นๆ ใช้เอเยนซี่ ที่ปรึกษา และสื่อแบบเดียวกัน

ทำไม มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ถึงนำการเคลื่อนไหว เรียกร้องสิทธิพลเมืองของคนผิวดำได้สำเร็จ ทั้งที่เขาไม่ใช่คนคนเดียวที่ได้รับผลกระทบของการขาดสิทธิพลเมืองในอเมริกายุคนั้น และผู้นำคนอื่นๆ ก็พูดเก่งเหมือนกัน

ทำไมองค์กรบางองค์กร และผู้นำบางคน ถึงสร้างแรงบันดาลใจได้ ในขณะที่คนอื่นทำไม่ได้

แต่แนวคิดสำคัญที่สุดของเขาคือ การตั้งคำถามที่ว่า “ทำไม”

เขาชี้ให้เราเห็นแนวคิด วงกลมทองคำ (The Golden Circle)

วงกลมทองคำคือวงกลม 3 วงซ้อนกัน

วงนอกคือคำถามว่า “อะไร”

วงกลางคือคำถามว่า “อย่างไร”

วงในสุดคือคำถามว่า “ทำไม”

Simon Sinek บอกว่าองค์กรทุกองค์กรในโลกนี้ รู้ว่าตัวเองทำอะไร และทำอย่างไร เช่น งานที่ทำอยู่คืออะไรบ้าง และเราต้องทำอย่างไรจึงจะสัมฤทธิผล แต่มีคนหรือองค์กรจำนวนน้อยมากๆ ที่รู้ว่าเขาทำสิ่งที่ทำอยู่ไป “ทำไม”

“คำว่า “ทำไม” ในที่นี้ผมไม่ได้หมายถึง “การทำกำไร” นั่นเป็นผลลัพธ์ คำว่า “ทำไม” ในที่นี้ ผมหมายถึง อะไรคือเจตนารมณ์ จุดมุ่งหมาย ความเชื่อของคุณ องค์กรของคุณตั้งขึ้นมาทำไม? ทำไมคุณถึงต้องลุกขึ้นจากเตียงทุกเช้า? แล้วทำไมคนอื่นจึงควรจะสนใจในสิ่งที่คุณทำ?”

เขาเล่าต่อว่า วิธีคิด การกระทำ และการสื่อสารของคนทั่วไป มักเริ่มจากข้างนอกเข้ามาข้างใน (อะไร -> อย่างไร -> ทำไม) แต่ผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน และองค์กรที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจอะไร ล้วนคิด ทำ และสื่อสาร จากข้างในออกมาข้างนอก (ทำไม -> อย่างไร -> อะไร)

เขายกตัวอย่างความสำเร็จของแอปเปิ้ลว่า หากเป็นเหมือนบริษัทอื่นๆ ก็คงจะมีข้อความสื่อสารการตลาดประมาณนี้ “เราทำคอมพิวเตอร์ที่สุดยอด การออกแบบสวยงาม ใช้ง่าย และเป็นมิตรกับผู้ใช้ อยากซื้อสักเครื่องไหมครับ” นั่นคือการบอกว่าเราทำอะไร และอย่างไร

วิธีนี้ไม่ได้ดึงดูดให้เราอยากซื้อเลย เพราะมันไม่สร้างแรงบันดาลใจ

สิ่งที่แอปเปิ้ลสื่อสารจริงๆ คือ “ทุกอย่างที่เราทำ เราทำเพราะเราเชื่อในการท้าทายสิ่งเก่าๆ เราเชื่อในการคิดต่าง และเพื่อท้าทายระบบเก่าๆ เราจึงสร้างผลิตภัณฑ์ของเราให้มีดีไซน์สวยงาม ใช้งานง่าย และเป็นมิตรกับผู้ใช้ และเราก็เลยสร้างคอมพิวเตอร์ที่ยอดเยี่ยมขึ้นมา อยากซื้อสักเครื่องไหมครับ?”

พอสลับการสื่อสารมาเป็น ทำไม อย่างไร และอะไรเท่านั้นแหละ กลายเป็นว่าดูหนักแน่นและทำให้คนอยากซื้อขึ้นมาทันที

 

สิ่งที่ Simon Sinek ค้นพบก็คือ คนไม่ได้ซื้อสิ่งที่คุณทำ เขาซื้อเพราะเหตุผลที่คุณทำมัน

เป้าหมายไม่ใช่การทำธุรกิจกับใครก็ได้ ที่อยากได้สิ่งที่คุณมี เป้าหมายอยู่ที่การทำธุรกิจกับคนที่เขาเชื่อในสิ่งที่คุณเชื่อ

เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่การขายของให้คนที่เขาต้องการสิ่งที่คุณมี เป้าหมายคือการขายไอเดียให้คนเชื่อในสิ่งที่คุณเชื่อ

เป้าหมายไม่ใช่แค่จ้างคนที่ต้องการได้งาน แต่เราต้องจ้างคนที่เชื่อในสิ่งที่เราเชื่อ

ถ้าคุณจ้างคนเพียงเพราะเขาทำงานได้ เขาก็จะทำงานเพื่อเงินของคุณ แต่ถ้าคุณจ้างคนที่เขาเชื่อในสิ่งที่คุณเชื่อ เขาจะทำงานให้คุณชนิดถวายหัว

Simon Sinek ยกตัวอย่างของผู้นำที่ทำให้คนเชื่อตามอย่าง มาร์ติน ลูเธอร์ คิง

 

ทําไม มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ถึงนำการเคลื่อนไหว เรียกร้องสิทธิพลเมืองของคนผิวดำได้สำเร็จ

Simon Sinek บอกว่า ท่านไม่ได้ไปคอยบอกชาวบ้านว่าเราต้องทำ “อะไร” เพื่อเปลี่ยนอเมริกา แต่ท่านออกไปพบปะและบอกกับผู้คนว่า “ผมเชื่อ ผมเชื่อ ผมเชื่อ” และคนที่เชื่ออย่างเดียวกับท่านก็เข้ามาร่วมวง เพราะรู้สึกว่ามันเป็นเป้าหมายของตัวเอง

คนร่วม 250,000 คนที่มาชุมนุมไม่ได้มาเพื่อสนับสนุน ดร.คิง แต่เขามาเพราะเหตุผลของเขาเอง เพราะสิ่งที่เขาเชื่อเกี่ยวกับอเมริกา

ความเชื่อของ ดร.คิง คืออำนาจต้องเป็นของประชาชน

Simon Sinek บอกว่า “เราเดินตามท่าน ไม่ใช่เพื่อตัวท่าน แต่เพื่อตัวเราเอง อ้อ แล้วปาฐกถาที่ท่านพูดน่ะครับ ชื่อว่า “ผมมีความฝัน” ไม่ใช่ “ผมมีแผน” นะครับ”

ก่อนจะสรุปทิ้งท้ายว่า

“โลกนี้มี “คนในตำแหน่งผู้นำ” กับ “คนที่เป็นผู้นำ”

คน “ในตำแหน่งผู้นำ” มีอำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ แต่คนที่ “เป็นผู้นำ” เขาสร้างแรงบันดาลใจให้เรา ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคลหรือในองค์กร

เราเดินตามคนที่ “เป็นผู้นำ” ไม่ใช่เพราะเราจำเป็นต้องทำ แต่เพราะเราอยากทำ

เราเดินตามคนที่ “เป็นผู้นำ” ไม่ใช่เพื่อเขา แต่เพื่อตัวเราเอง

คนที่เริ่มต้นด้วยคำถามว่า “ทำไม” นั่นแหละคือคนที่มีความสามารถ ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนรอบข้าง หรือค้นพบคนที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองได้”

 

ผมฟังและอ่านแนวคิดของ Simon Sinek แล้วตกใจว่าช่างบังเอิญตรงกับสิ่งที่ผมคิดอยู่พอดี

ทุกครั้งที่ผมสัมภาษณ์งาน ผมมักจะตอบคำถามที่ผมชอบถามพวกเขาโดยไม่รู้ตัว

ทำไมผมถึงทำงานที่นี่

งานที่ผมกำลังทำอยู่นี้ ผมทำไปทำไม

ทำไมผมจึงรักงานที่ทำ

และทำไมผมจึงอยากให้คุณมาทำงานด้วย

ผมเพิ่งรู้ว่าสิ่งที่ผมเล่าออกไปนั้นคือการแชร์ ความเชื่อ เจตนารมณ์ เป้าหมาย ไปจนถึงสิ่งที่ผมศรัทธา ให้พวกเขาฟัง

หากคนไหนมีความเชื่อเป็นไปในทางเดียวกันกับผม เช่น มีแพชชั่น อยากปล่อยของ รักและหลงใหลในสิ่งที่ทำ ทำงานเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง อยากเป็นที่หนึ่ง คิดใหญ่เสมอ ผมก็มักจะอยากรับพวกเขาเข้าทำงาน และพวกเขาก็มักจะอยากทำงานกับผมไปด้วยนั่นเอง

ผมไม่ใช่แค่จ้างคนที่ต้องการได้งาน แต่ผมต้องจ้างคนที่เชื่อในสิ่งที่ผมเชื่อ

และคนเก่งที่ผมคุยด้วย เขาก็ไม่ได้อยากทำงานกับผมเพราะอยากได้งานหรืออยากได้เงิน แต่เป็นเพราะสิ่งที่ผมเชื่อนั้นดันไปตรงกับสิ่งที่เขาเชื่อพอดี

แล้วคุณล่ะครับ

ทำไมคุณถึงต้องลุกขึ้นจากเตียงทุกเช้า?

ทำไมคนอื่นจึงควรจะสนใจในสิ่งที่คุณทำ?”

งานที่คุณกำลังทำอยู่นี้ ทำไปทำไม?