“ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” วิเคราะห์เกม-ประเมินศึก “โคถึก” ใน “พลังประชารัฐ”

กระแสความขัดแย้งภายในพรรคแกนนำรัฐบาลอย่าง “พลังประชารัฐ” อาจไม่ใช่สิ่งที่ควรเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนจากวิกฤติโควิด-19

หากแต่เมื่อพิจารณาผ่านมุมมองที่ว่านี่คือ “พรรคเฉพาะกิจ” ที่ก่อตั้งขึ้นมาด้วยการรวบรวมหลายกลุ่มผลประโยชน์ โดยมีเป้าหมายเพื่อแสวงหาเสียงโหวตสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐบาลสืบทอดอำนาจ คสช.

เกมการชิงอำนาจในพรรคที่ปรากฏผ่านหน้าสื่อจึงไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมายนัก

หนึ่งในคนที่สามารถสรุปภาพรวมของความขัดแย้งดังกล่าวได้อย่างชัดเจนแหลมคม ก็คือ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” เลขาธิการ นปช. ซึ่งเพิ่งมาให้สัมภาษณ์กับมติชนทีวี ดังเนื้อหาต่อไปนี้

พรรคพลังประชารัฐ : พรรคโคถึก

สิ่งที่เกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐไม่น่าจะเกิดขึ้นจากอิทธิพลของโควิด แต่ว่าในพรรคมันเต็มไปด้วย “โคถึก” หมายความว่า มันมีคนที่เป็นนักการเมืองหน้าใหม่ แต่คิดว่าตัวเองกำลังมีศักยภาพอยู่หลายคน

ในขณะที่นักการเมืองหน้าเก่า บางคนห่างหายจากเวทีการเมืองไปแล้วระยะหนึ่ง กลับมาเที่ยวนี้มาอยู่ในรัฐบาลที่แข็งแรงพอสมควร เพราะเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหาร มีกติกาที่ออกแบบมาเพื่อพวกเขาโดยเฉพาะ ก็กลับมาเป็นโคถึกอีกครั้งหนึ่ง

แล้วเป็นธรรมดาในพรรคการเมืองที่มีโคถึกรวมกันอยู่มากๆ ก็ต้องการพื้นที่ ต้องการอำนาจ ต้องการตำแหน่ง เพื่อที่จะให้ตัวเองมีพละกำลังมากยิ่งขึ้นไปอีก หรือเพื่อที่จะสำแดงศักยภาพทางการเมือง

ดังนั้น เวลาที่ตั้งแต่มีการตั้ง ครม. จนถึงวันนี้มาร่วม 1 ปี ผมเคยได้ยินว่ากรอบเวลานี้เป็นกรอบเวลาที่ในพรรคพลังประชารัฐเขาเคยมีข้อตกลง มีสัญญาใจกันอยู่บ้าง ว่าหนึ่งปีจะเริ่มมีการปรับเปลี่ยนให้คนที่ได้มีตำแหน่งไปแล้วสลับตัวออก ให้คนที่ยังรอเข้าคิวอยู่ได้มีโอกาสเข้าไปโชว์ฝีมือหรือทำหน้าที่บ้าง

บังเอิญว่าเวลามันมาถึงในช่วงสถานการณ์โควิดพอดี ก็เลยอาจจะดูว่ามันเกี่ยวกัน แต่ผมว่าต่อให้ไม่มีโควิดเราก็เห็นปฏิกิริยาของโคถึกเหล่านี้

เพียงแต่ว่าก่อนที่จะมีสถานการณ์โควิด ท่าทีของนายกรัฐมนตรีเหมือนกับว่าเตรียมการจะปรับ ครม.อยู่

หมายถึงหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ก็เกิดเป็นกระแสสังคม เกิดเป็นแรงเสียดทานพอสมควร ประกอบกับมีปฏิกิริยาจากคนหนุ่มสาว จากนิสิต นักศึกษาที่จับกลุ่มเคลื่อนไหวไม่ยอมรับรัฐบาลอยู่ในหลายๆ มหาวิทยาลัย

เพราะฉะนั้น สถานการณ์ตรงนั้น ถ้าไม่มีโควิด-19 เข้ามา วันนี้เราอาจจะเห็น ครม.ชุดใหม่เป็นประยุทธ์ 2 ขึ้นมาแล้วก็ได้ แต่ว่าเมื่ออยู่ในสถานการณ์โรคระบาด บรรดากลุ่มก้อนที่จ่อคิวอยู่ ที่กำลังคิดว่าถึงเวลาของตัวเองแล้ว แต่เวลามันไม่มาถึงเสียที ก็คงจำเป็นต้องเขย่ากันหน่อยเพื่อให้เรื่องนี้กลับมาเป็นที่พูดคุยกันอีกครั้ง

แต่ถ้าดูบรรยากาศจากสิ่งที่เกิดขึ้น ผมคิดว่าคงไม่จบง่ายๆ แล้วนายกรัฐมนตรีก็คงจะมีปัญหา มีภาระเพิ่มขึ้นในการต้องรับมือ เพราะว่าเรื่องนี้คนทั่วๆ ไปไม่รู้กันเลยว่าเกิดอะไรขึ้น ถึงขั้นผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคไปบอกให้คุณอุตตม (สาวนายน) หัวหน้าพรรคลาออกแล้วด้วยซ้ำไป ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก

แต่เราได้ทราบเพราะว่ามีการเปิดข่าวนี้ออกมาจากสำนักข่าวหนึ่งเพียงสำนักเดียวในวันแรก บังเอิญว่าสำนักข่าวที่เปิดเรื่องนี้มีคนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารสำนักข่าวนี้อยู่ในพรรคพลังประชารัฐด้วย

แล้วพอข่าวนี้เปิดออกมา ไปถามซีก พล.อ.ประวิตร (วงษ์สุวรรณ) ซึ่งเนื้อข่าวระบุว่าจะต้องมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคนต่อไป พล.อ.ประวิตรรีบปฏิเสธเลย บอกไม่มี ไม่ได้คุยกัน แต่พอไปถามคุณอุตตม ซึ่งเป็นผู้ถูกกระทำ คุณอุตตมรีบตอบเลยว่ามีจริง มีการมาเจรจา แต่ไม่คิดลาออกตอนนี้

ก็ทำให้ประเมินได้ว่านี่คือหมัดสวนจากฝ่ายที่ถูกกดดัน เปิดเรื่องนี้ให้ประชาชนได้รับทราบ ให้เกิดเป็นเครื่องหมายคำถามว่าสถานการณ์ที่คนกำลังลำบากไม่มีอยู่ไม่มีกิน กำลังหนีโรคระบาดกัน คุณมาแย่งเก้าอี้ มาแย่งตำแหน่งกันได้อย่างไร

เมื่อเห็นหมัดสวนกันไปสวนกันมาแบบนี้ จึงพอประเมินได้ว่าแต่ละฝ่ายคงไม่ยอมกันง่ายๆ ฝ่ายที่เขาลงมือกดดันกันไปแล้วถึงขั้นไปล็อบบี้กรรมการบริหารให้ลาออกแล้ว ออกตัวมาถึงขั้นนั้นเขาก็คงไม่หยุด เพราะถ้าหยุด ตัวละครที่ถูกระบุชื่อช้ำหนักแน่นอนในทางการเมือง

ส่วนฝ่ายที่เขาครองตำแหน่งอยู่เดิม ลองถึงขั้นปล่อยข่าวออกมา โยนเรื่องนี้ออกมาในสังคมอย่างนี้ ก็เป็นสัญญาณว่าเขาก็ไม่ถอยเหมือนกัน ดังนั้น คุณอุตตม คุณสนธิรัตน์ (สนธิจิรวงศ์) หรือคนในกลุ่ม 4 กุมาร รวมกระทั่ง ดร.สมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) ก็คงจัดทัพปรับขบวนกันอยู่ คงกะชนกันเต็มที่แหละเรื่องนี้

ก็เลยต้องไปตกอยู่ที่นายกรัฐมนตรี คือ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะห้ามล้อศึกนี้อย่างไร ผมว่าอยู่ๆ การที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดในที่ประชุม ครม. ว่าเรื่องปรับคณะรัฐมนตรียังไม่มี เป็นเรื่องที่ท่านตัดสินใจคนเดียว ห้ามมาต่อรอง ห้ามมาเจรจา เจตนาคงต้องการปรามทั้งสองฝ่ายว่าอย่าเพิ่งมีเรื่องนี้

แต่ว่าพูดก็พูดเถอะครับ ไอ้เรื่องพรรค์แบบนี้มันห้ามใจคนยากเหมือนกัน อย่างที่ผมบอกละครับ มันเป็นสถานการณ์โคถึกแล้ว หมดเวลาจะประลองกำลังกันแล้ว ถ้ายังไม่เห็นดำเห็นแดง ไม่รู้แพ้รู้ชนะกันพอสมควรคงหยุดยาก

มั่นใจมี ครม.ประยุทธ์ 2 หลังโควิด-19

หลังจากโควิด-19 น่าจะได้เห็นการปรับ ครม.ตอนนี้ นายกรัฐมนตรีหรือบางฝ่ายพยายามบริหารสถานการณ์ในพรรคพลังประชารัฐไม่ให้มันกระเพื่อมแรง เพื่อไม่ต้องให้มันตกแก่สายตาประชาชน ว่าบ้านเมืองมาถึงตรงนี้เรื่องใหญ่ของพวกคุณยังเป็นเรื่องแย่งตำแหน่ง แย่งเก้าอี้

แต่ว่าอย่างที่ผมบอก ว่ามันไม่สามารถจะหยุดพลังโคถึกต่างๆ เอาไว้ได้ตลอด คุณปรามน่ะปรามได้ เบรกไว้ก่อนว่าอย่าเพิ่งวุ่นตอนนี้ แต่ถึงที่สุดผ่านจากสถานการณ์โรคระบาดไปอีกไม่นาน

สถานเบาผมว่าต้องได้เห็นการปรับคณะรัฐมนตรี

เชื่อพรรคพลังประชารัฐจะแตก ถ้า พล.อ.ประยุทธ์จบไม่สวย

พรรคพลังประชารัฐเป็นการรวมกันของนักการเมืองหลายกลุ่ม แล้วหลายกลุ่มที่เข้ามารวมกัน เคยไปมาหลายพรรคแล้ว

ดังนั้น ก็เป็นไปได้ว่าถ้าหากกติกานี้ยังร่างมาเพื่อพวกเขาแล้วยังอยู่ได้ ก็อยู่กันไป แต่ถ้าหากว่านายกรัฐมนตรีจบไม่สวย พล.อ.ประยุทธ์เกิดมีอันเป็นไปทางการเมืองด้วยเหตุใดก็ตาม ผมเชื่อว่าพรรคแตกทันที

ไม่มีว่านายทหาร 3 ป. เป็นผู้มีบารมีสูงสุดในพรรคพลังประชารัฐ ถ้า ป.ประยุทธ์ไม่มี หรือ ป.ประยุทธ์จบไปแล้ว จะเป็น ป.ประวิตร หรือ ป.ป๊อก อนุพงษ์ (เผ่าจินดา) มาทำแทน ผมว่าถ้าไป ไปด้วยกัน

แล้วถ้าจบแบบนั้น จบแบบชนิดที่เรียกว่าประชาชนไม่ตอบรับ จบแบบชนิดที่เรียกว่าแม้จะต้องยุบสภา แต่ยุบสภาอย่างบอบช้ำ ผมว่าในการเลือกตั้งคราวต่อไปพลังประชารัฐจะอยู่ในสภาพสาหัสมาก ถ้าพรรคไม่แตกก็เหลือน้อยเต็มที

แล้วกับสภาพบ้านเมืองแบบนี้ ไม่มีใครกล้าประเมินว่ารัฐบาลชุดนี้จะอยู่ได้ครบ 4 ปี เอาเข้าจริงพูดไม่ได้ด้วยซ้ำไปว่าจะมีเวลาเหลือจากนี้อีกเท่าไหร่ เพราะว่าสิ่งที่รัฐบาลกำลังเผชิญตอนนี้ และจะยิ่งหนักขึ้นในอนาคตอันใกล้ คือความหิวโหยของประชาชน

ผมคิดว่าคู่เผชิญหน้าสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ในปัจจุบัน ไม่น่าจะใช่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรือไม่น่าจะใช่กลุ่มพลังที่ต่อสู้กันมาตลอด แม้ว่าพลังเหล่านั้นก็ยังมีอยู่ แล้วก็แสดงปฏิกิริยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ว่าเขาจะหยุดหรือสยบยอม แต่ว่าเรื่องใหญ่จริงๆ คือความหิวโหยของประชาชน คือความยากลำบากของผู้คน

เมื่อใดก็ตามที่อำนาจรัฐเผชิญหน้ากับความหิวโหยของประชาชน แล้วไม่มีวิธีการรับมือหรือบริหารจัดการที่ดี อันตรายมากที่จะรักษาอำนาจนั้นเอาไว้ได้

ส่วนตัวผมได้ข้อสรุปไปแล้วว่ารัฐบาลนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาความหิวโหยของประชาชนได้ อย่าหาว่าผมมีอคติอะไรกับรัฐบาลเลย เพียงแต่ว่าผมดูมาตลอด ผมมีข้อสรุปของผมแบบนี้ ดังนั้น การที่มีปฏิกิริยาขึ้นในพรรคพลังประชารัฐมันก็อาจจะมาจากการประเมินสิ่งเหล่านี้พร้อมๆ กัน

อย่าลืมนะครับ สำหรับหลายๆ คนในพรรคพลังประชารัฐ เขาอาจจะกำลังรู้สึกว่าไม่มีสถานการณ์ไหนที่เขาใกล้เก้าอี้รัฐมนตรีเท่ากับวันนี้ เฉี่ยวๆ แล้ว บางคนเป็น ส.ส.สมัยแรก แต่ว่าเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในพรรค แล้วก็เฉี่ยวไปเฉี่ยวมาในหน้าข่าวสื่อมวลชนว่าจะได้เป็นรัฐมนตรี

ดังนั้น การฉกฉวยช่วงชิงหรือแสดงพลังของโคถึกซึ่งทำท่าจะแซงหน้าโควิดจึงเป็นเรื่องที่เราเห็นกัน