โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/ เหรียญรุ่นสุดท้าย พ.ศ.2518 หลวงพ่อเงิน จันทสุวัณโณ วัดดอนยายหอม นครปฐม

หลวงพ่อเงิน จันทสุวัณโณ

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญรุ่นสุดท้าย พ.ศ.2518

หลวงพ่อเงิน จันทสุวัณโณ

วัดดอนยายหอม นครปฐม

 

“หลวงพ่อเงิน จันทสุวัณโณ” วัดดอนยายหอม พระเกจิชื่อดังแห่งนครปฐม

นอกเหนือจากการปกครองและพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรือง ยังเป็นแกนนำในการพัฒนาบ้านเมืองและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ไม่ละเลยที่จะสั่งสอนธรรมะ อบรมสั่งสอนให้กระทำแต่ความดี จึงเป็นที่เคารพศรัทธา

จนได้รับการยกย่องว่า “เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม” เมื่อดำริจะทำสิ่งใดก็จะได้รับความร่วมแรงร่วมใจจนงานประสบความสำเร็จตลอดมา

วัตถุมงคลที่สร้าง มีทั้งพระบูชา รูปหล่อ พระเครื่อง พระกริ่ง และเหรียญ ทุกรุ่นล้วนสร้างเพื่อหาปัจจัยบูรณะและสร้างเสริมศาสนวัตถุภายในวัด รวมทั้งพัฒนาสาธารณูปการแก่ชุมชนในพื้นที่และใกล้เคียงทั้งสิ้น

กลายเป็นที่นิยมและแสวงหามาตั้งแต่อดีตเรื่อยมาถึงปัจจุบัน ค่านิยมยิ่งสูงขึ้นตามกาลเวลา โดยเฉพาะ “เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ปี 2488”

 

อย่างไรก็ตาม ที่นับว่าโดดเด่นและเป็นที่รู้จักกันอย่างดีไม่แพ้เหรียญรุ่นแรก คือ “เหรียญรุ่นสุดท้าย”

มีจุดเริ่มต้นจากการที่มูลนิธิสุขศาลานุเคราะห์จังหวัดนครปฐม ประกอบพิธีล้างป่าช้าที่วัดดอนยายหอม ราวต้นปี พ.ศ.2518 จึงถือโอกาสขออนุญาตจัดสร้างวัตถุมงคล เพื่อหาทุนไว้ใช้ดำเนินงานของมูลนิธิ

หลวงพ่อเงินได้รับทราบ เห็นว่าเป็นประโยชน์ของสาธารณชน จึงอนุญาตให้สร้างวัตถุมงคล โดยกำชับให้ใส่คำว่า “รุ่นสุดท้าย” ไว้ในเหรียญด้วย เพราะขณะนั้นอายุมากแล้ว สร้างความแปลกประหลาดใจให้คณะศิษย์ทุกคน เพราะตอนนั้นยังดูแข็งแรงมาก

ลูกศิษย์เชื่อว่ารู้วาระสังขารของตนเอง จึงกำชับให้ใส่คำรุ่นสุดท้ายลงไป ครั้นพอปลุกเสกเหรียญรุ่นสุดท้ายเสร็จไม่นาน ก็อาพาธลง นอกจากนี้ อีกทั้งยังพูดกับลูกศิษย์อีกด้วยว่า “รุ่นสุดท้ายแล้วต้องทำให้ดีหน่อย”

เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว มูลนิธิว่าจ้างช่างให้แกะแบบทันที ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูในตัว ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปเหมือนหันหน้าตรงอยู่ตรงกลาง ใต้รูปเหมือนเขียนว่า “หลวงพ่อเงิน”

ด้านหลังเหรียญ ตรงกลางเป็นยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ด้านบนเขียนว่า “พระราชธรรมาภรณ์” ด้านล่างมีคำว่า “มูลนิธิสุขศาลานุเคราะห์นครปฐม ๒๕๑๘” มีดอกจันประกบหัวท้าย ใต้ยันต์มีคำว่า “รุ่นสุดท้าย” เป็นแถวตรง

ทุกบล็อกทุกพิมพ์มีจำนวนรวม 84,000 เหรียญ โดยมี 4 ชนิด เนื้อโลหะ ประกอบด้วย เนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อนวโลหะ และเนื้อทองแดง มีสองพิมพ์ คือ พิมพ์เล็กและพิมพ์ใหญ่

จัดเป็นอีกเหรียญที่หายาก

เหรียญรุ่นสุดท้าย หลวงพ่อเงิน (หน้า-หลัง)

 

“พระราชธรรมาภรณ์” หรือ “หลวงพ่อเงิน จันทสุวัณโณ” เป็นชาวบ้านดอนยายหอมโดยกำเนิด เกิดในครอบครัวเกษตรกรรมที่มีฐานะมั่งคั่ง เมื่อวันอังคารที่ 16 กันยายน 2433

สละเพศฆราวาส บวชทดแทนคุณบิดา-มารดา เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2453 ที่พัทธสีมาวัดดอนยายหอม โดยมีพระปลัดฮวย เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม เป็นพระอุปัชฌาย์

พำนักจำพรรษาที่วัดดอนยายหอม ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย รวมถึงบทสวดมนต์ต่างๆ เป็นพระเถระผู้เข้มขลังในพระเวทวิทยาคม ดังจะเห็นได้จากวัตถุมงคลต่างๆ ที่สร้าง และปลุกเสกเอาไว้ มีผู้นำไปใช้อาราธนาติดตัว แล้วเกิดประสบการณ์มาอย่างมากมายจนนับไม่ถ้วน

ในช่วงที่บวชใหม่ๆ บอกแก่พ่อว่า “อาตมาสละหมดทุกอย่างแล้ว โดยขอให้สัจจะปฏิญาณแก่พี่น้องชาวตำบลนี้ว่า อาตมาจะไม่ขอลาสิกขา อาตมาจะเป็นแสงสว่างทางให้เพื่อนมนุษย์ ขอให้โยมร่วมอนุโมทนาด้วยความยินดีและมั่นใจ”

ตั้งแต่เริ่มอุปสมบท มีความตั้งใจอย่างมาก มีขันติ วิริยะ สามารถท่องปาติโมกข์จบ และแสดงในเวลาทำสังฆกรรมได้ตั้งแต่พรรษาแรก หมั่นบำเพ็ญเพียรในการปฏิบัติสมถะ และวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตามที่โยมพ่อพรมของท่านแนะนำ เป็นเวลาถึง 4 ปีเต็ม

ในปลายพรรษาที่ 5 จึงพร้อมด้วยพระที่วัดอีก 2 รูป ออกธุดงค์ไปตามชนบท มุ่งหน้าขึ้นภาคเหนือ ค่ำที่ไหนก็ปักกลดพักแรมที่นั่น ฉันเพียงมื้อเดียว

การออกธุดงค์ในครั้งนั้น จึงมีเรื่องเล่าต่อมา หลังจากที่ “หลวงพ่อเงิน” วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม กลับจากธุดงค์เป็นเวลา 4 เดือน เมื่อมาปักกลดอยู่ข้างบ้านดอนยายหอม โดยที่มีผิวกายดำกร้าน ร่างกายซูบผอมราวกับคนชรา ชาวบ้านที่เดินผ่านไปมาจึงจำท่านไม่ได้

แม้แต่นายแจ้ง ซึ่งเป็นพี่ชาย ก็คิดว่าเป็นพระธุดงค์มาจากที่อื่น แต่พอเข้าไปดูใกล้ๆ ต้องตกตะลึง แทบจะปล่อยโฮออกมา พอได้สติจึงยกมือไหว้ แล้วถามว่า “คุณเงินหรือนี่” ซึ่งหลวงพ่อเงินก็ตอบพร้อมกับหัวเราะว่า “ฉันเอง โยมพี่ทิดแจ้ง ฉันแปลกมากไปเชียวหรือ จึงจำฉันไม่ได้ ฉันมาปักกลดอยู่ที่นี่นานแล้ว เห็นพวกบ้านเราเขาเดินผ่านไปผ่านมาหลายคน แต่ไม่มีใครทักฉันเลย”

ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม เมื่อปี พ.ศ.2466 และละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2520 ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี

สิริอายุ 87 ปี พรรษา 66