ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : มโหระทึก หรือแต่เดิมจะไม่ได้หมายถึงกลองกบ?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ ได้มีการขุดพบ “กลองมโหระทึก” ใบเขื่องที่ อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร (ในทางดนตรีวิทยาถือว่ามโหระทึกเป็นเครื่องดนตรีประเภท “ฆ้อง” เพราะทำจากโลหะ)

และก็เป็นกลองมโหระทึกใบใหญ่ขนาดที่ว่า มีคนตั้งข้อสังเกตว่า กลองมโหระทึกใบนี้จะเป็นใบที่ใหญ่ที่สุดที่พบในประเทศไทย แต่ก็ต้องไปเปรียบเทียบขนาดกับแชมป์เก่าใบเดิม ซึ่งค้นพบที่ อ.ดอนตาล ใน จ.มุกดาหาร เช่นกัน

แต่ประเด็นที่ผมอยากจะพูดถึง ไม่ใช่เรื่องขนาดของกลองมโหระทึก ใบที่เพิ่งจะถูกขุดพบนี้หรอกนะครับ

เรื่องที่ผมว่าน่าสนใจกว่ามากมาจากการที่อีกหนึ่งนักวิชาการอิสระมากความสามารถอย่าง อ.สมฤทธิ์ ฤๅชัย ได้ตั้งประเด็นที่สืบเนื่องมาจากค้นพบครั้งนี้ไว้ในบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวของท่านว่า ชาวบ้านมักจะเรียกกลองอย่างนี้ว่า “กลองกบ” เพราะมักจะมีรูปกบลอยตัวประดับอยู่ที่ริมขอบของหน้ากลอง

ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ทำไมเราจึงเปลี่ยนมาเรียกเจ้ากลองชนิดว่า “มโหระทึก” และเราเริ่มมาเรียกกลองชนิดนี้ด้วยชื่อยากๆ อย่างนี้กันตั้งแต่เมื่อไหร่?

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว นักอุษาคเนย์ศึกษาผู้ได้ชื่อว่า “ฝรั่งคลั่งสยาม” ผู้ล่วงลับอย่างคุณไมเคิล ไรท์ น่าจะเป็นคนแรกๆ ที่สนใจศึกษาที่มาของคำว่า “มโหระทึก” อย่างจริงจัง โดยคุณไมค์เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในบทความที่ชื่อ “ความลี้ลับของเกราละ ภาคที่ 2” ซึ่งตีพิมพ์ในศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี 2540 โน่นแหนะ (มีมารวมพิมพ์ใหม่ในหนังสือ “ฝรั่งหายคลั่งหรือยัง?” โดยสำนักพิมพ์มติชน) ว่า

“ในกฎมณเฑียรบาลตอนมีพระราชพิธีมีความว่า “…ขุนศรีสังกรเป่าสังข์…ขุนดนตรีตีหรทึก…” ทำให้ผมเข้าใจว่า “(ขุน) ดนตรี” ในที่นี้ต้องเป็นคน (และน่าจะเป็นพราหมณ์) และ “หรทึก” น่าจะเป็นกลองมีเอว (คู่กับ “สังข”) ไม่ใช่กลองสำริด (มโหระทึก) ดังที่รู้จักปัจจุบัน”

กฎมณเฑียรบาลดังกล่าว มีศักราชระบุเอาไว้อยู่ว่า ตราขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1991-2031) ถ้าเชื่อตามคุณไมค์ก็หมายความว่า อย่างน้อยในช่วงต้นศตวรรษของ พ.ศ.2000 ผู้คนในกรุงศรีอยุธยายังไม่ได้เรียกเจ้ากลองกบว่า มโหระทึก ส่วนคำว่ามโหระทึกหมายถึงกลองอย่างอื่น

ส่วนที่คุณไมค์คิดอย่างนี้ก็เพราะว่า เมื่อคราวที่ท่านเดินทางไปเกราละ (Kerala) ดินแดนทางตอนใต้ ฟากตะวันตกของอินเดีย ซึ่งมีอะไรคล้ายคลึงกับอุษาคเนย์อยู่มาก แล้วก็ได้เห็นพราหมณ์กำลังตีกลองมีเอว

คุณไมค์ก็เลยถามไกด์ว่า “ท่าน (พราหมณ์) เป็นใคร?”

ส่วนคุณไกด์ก็ตอบทันทีว่า “ท่านเป็นตันตรี (tantri) และท่านกำลังตีอุฎุกฺกิ” (Udukki- สระอุออกเสียงเป็นสระอึ)

คำว่า “ตันตรี” นั้น คุณไมค์อธิบายเอาไว้ว่า หมายถึง “ผู้รู้ในตันตระและดนตรี” โดยในอินเดียใต้นั้น มีวิธีการบูชาเทพเจ้าอยู่ 2 ระบบตามประเภทคัมภีร์คือ “อาคม” กับ “ตันตระ” ซึ่งก็มีมันตระ (มนตร์) และมุทรา (ท่ามือ) คล้ายๆ กันนั่นแหละครับ

แต่ที่ต่างกันคือ ฝ่ายอาคมไม่จำเป็นต้องใช้ดนตรีประกอบ แต่ถ้าอยากให้ดูหรูหราไฮเอนด์หน่อยจะประโคมก็ไม่ผิด ส่วนฝ่ายตันตระนั้นกลับเห็นว่าดนตรีเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง มีการใช้ดนตรีประกอบพิธีกรรมที่ซับซ้อนและเป็นระเบียบที่ชัดเจน ดังนั้น ตันตรีที่ว่านี่ก็คือพราหมณ์ที่ทำหน้าที่ประสานพิธีเข้ากับจังหวะของปี่กลองนี่เอง

แน่นอนว่า คุณไมค์จึงเสนอว่า “ขุนดนตรี” ในกฎมณเฑียรบาลก็ทับศัพท์แล้วเพี้ยนเสียงมาจากคำว่า “ตันตรี” นี่แหละ (แต่ก็มีคนอธิบายต่างไปด้วย เช่น นักประวัติศาสตร์-โบราณคดีนอกเครื่องแบบอย่างคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ก็จะอธิบายว่า คำ “ดนตรี” ในยุคอยุธยา แปลว่า เครื่องมีสาย จำพวกเครื่องดีด เครื่องสี มีรากมาจากภาษาบาลีว่า “ตนฺติ” อ่านว่า ตันติ สันสกฤตว่า “ตนฺตรินฺ” อ่านว่าตันตริน แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นที่ผมอยากจะพูดถึงในที่นี้ เพราะพระเอกในเรื่องของเราคือ เจ้ามโหระทึกต่างหาก)

ดังนั้น สำหรับคุณไมค์แล้ว “หรทึก” ที่ขุนดนตรีตีอยู่ในกฎมณเฑียรบาลนั้น ก็น่าจะเป็น “กลองมีเอว” มากกว่าที่จะเป็นกลองกบ ที่ทำมาจากสำริด

 

แน่นอนว่า เจ้ากลองกบที่ถูกเรียกว่า “มโหระทึก” นี้ก็คือกลองมีเอวด้วยเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าจะตัดความเป็นไปได้ข้อนี้ออกไปในทันทีเลยนั้นก็คงจะไม่ถูกแน่

แต่เหตุผลประกอบที่คุณไมค์ไม่ได้อ้างถึง ยังมีอีกมาก ตัวอย่างง่ายๆ เลยก็คือ ไม่มีที่ไหนในภูมิภาคอุษาคเนย์นี้เลยที่เรียกเจ้ากลองสำริดนี่ว่ามโหระทึก ส่วนใหญ่แล้วเรียก กลองกบบ้าง กลองทองบ้าง ฆ้องบั้งบ้าง สารพัดจะเรียก แต่ไม่มีที่ไหนเรียกมโหระทึกเลยสักแห่ง

แถมไอ้เจ้าคำว่ามโหระทึก นี่ก็ยังเป็นคำที่แปลไม่ออกว่ามีรากมาจากภาษาไหน? และคืออะไรด้วย

มีอีกคำที่พอจะชวนให้นึกเทียบเคียงก็คือคำว่ามโหรี แต่นี่ก็เป็นคำที่แปลไม่ออก และไม่รู้ว่ามีรากมาจากภาษาอะไรเหมือนกัน? (ถ้าเห็นด้วยกับคุณสุจิตต์ คำว่ามโหรี ควรจะตกทอดมาจากภาษาเขมร และน่าจะเกี่ยวกับเครื่องสาย คล้ายๆ กับคำว่าดนตรี แต่มีแบบแผนการขับกล่อมไม่เหมือนกัน)

ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ส่วนหนึ่งในสารนิพนธ์ระดับปริญญาตรีของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่อง “มโหระทึก คติและรูปแบบสมัยรัตนโกสินทร์” ที่จัดทำขึ้นโดยคุณสุกัญญา เรือนแก้ว ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2552 (ปัจจุบันคุณสุกัญญารับราชการเป็นภัณฑารักษ์ ในสังกัดกรมศิลปากร) ได้ทำการศึกษาเอกสารเก่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งก็คือกฎมณเฑียรบาลนี่แหละ กับเอกสารยุคกรุงรัตนโกสินทร์คือ พระราชพิธี 12 เดือน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 เพื่อเปรียบเทียบว่า มีพระราชพิธีใดบ้างที่ใช้กลองมโหระทึก และแตกต่างกันอย่างไร?

และผลที่ได้รับนั้นก็ดูจะสอดคล้องกับที่คุณไมค์เคยเสนอเอาไว้เป็นอย่างมาก เพราะว่าไม่มีพิธีใดๆ ในกฎมณเฑียรบาลที่ระบุว่าต้องประโคมมโหระทึกแล้ว ปรากฏว่าต้องใช้ประโคมเหมือนกันในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ในขณะที่แต่ละพิธีที่พระราชพิธีสิบสองเดือนระบุว่า ต้องประโคมมโหระทึก (ซึ่งในที่นี้คือกลองกบแน่) ก็กลับไม่มีข้อความระบุว่าต้องใช้มโหระทึกประโคมเช่นกันในกฎมณเฑียรบาลเลยสักพิธีเดียว (ดูตารางประกอบ)

จากหลักฐานต่างๆ เหล่านี้ เราจึงอาจจะตอบ อ.สมฤทธิ์ได้ว่า บางทีในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่เริ่มแรกนั้น มโหระทึกไม่ได้หมายถึงกลองกบ และกลองกบอาจจะถูกเรียกว่ามโหระทึกเมื่อไม่ใกล้ไม่ไกลจากสมัยกรุงเทพฯ เท่าไหร่นักหรอกครับ