นพ.จรัส ที่ปรึกษา ศบค.ชี้ “โควิด-19 ลากยาวอีกปีครึ่ง”

วันที่ 8 พฤษภาคม 2563 เมื่อเวลา 12.00 น. ที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เปิดเผยว่า ประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเรื่องสลับซับซ้อนมากจึงต้องใช้เวลาในการรับฟังความเห็นทางสาธารณสุขว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร

ผลการพิจารณาของการประชุมวันนี้ มาตรการดูแลโรคโควิด เป็นมาตรการที่เข้มข้นและรุนแรง แต่ปัญหาจากผลกระทบทางสุขภาพ ไปถึงการสูญเสียทางเศรษฐกิจก็รุนแรง และสังคมก็มีเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงต้องมีมาตรการที่เข้มข้น คณะที่ปรึกษาฯ เห็นว่า มาตรการภาครัฐจำเป็นและสำคัญ และที่สำคัญควบคู่กัน คือ มาตรการจากประชาชน ประชาสังคม และเอกชนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะผ่อนปรน ซึ่งเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดรอบสอง

ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์จรัส กล่าวว่าสิ่งที่ต้องพิจารณา คือ ความหลากหลายของแต่ละพื้นที่ เพราะฉะนั้นคงไม่ใช่คำตอบเดียวที่จะแก้ไขได้ทั้งประเทศ ต้องดูเป็นการเฉพาะพื้นที่ คำตอบของการแก้ปัญหา คงเป็นทางสายกลาง ที่จะแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพ และเรื่องเจ็บป่วย และเสียชีวิต แต่เศรษฐกิจและสังคมก็ละเลยไม่ได้ ซึ่งมีความไม่แน่นอน จึงต้องระวังว่าการคุมโรคเป็นอย่างไร

“โรคนี้ไม่หยุดง่าย ๆ เพราะยังไม่มียารักษาในขณะนี้ ที่มีอยู่ขณะนี้เหมือนกับมีอยู่บ้าง แต่ยังไม่มียาตัวไหนที่ป้องกันโรคได้ทันที โอกาสที่จะเกิดยาก็ยังไม่รู้ การป้องกันโดยใช้วัคซีน มีการศึกษาอยู่ทั่วโลก และบางอย่างเริ่มได้ผล หรือ ทดลองใช้ในคนได้ แต่ต้องใช้เวลา การทดลองในคนก็มีระยะเวลา อย่างเร็วสุด ไม่เร็วกว่า มิ.ย.64 หรือ ต้องทนไปปีครึ่ง หรือ ถึง ธ.ค.64 เพราะฉะนั้นขณะนี้ต้องใช้มาตรการอย่างไร และไม่ให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก”