บันทึกการเปลี่ยนผ่านของห้วงเวลาด้วย ‘ศิลปะภาพพิมพ์’

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
Nearly Extinct (2019), ภาพพิมพ์เมซโซทินท์

ในตอนนี้เราขอนำเสนอเกี่ยวกับงานศิลปะอีกประเภทที่ยังไม่เคยพูดถึง

ศิลปะแขนงที่ว่านี้เป็นศิลปะที่สงบเงียบเรียบง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็มีกระบวนการที่เต็มไปด้วยความละเอียดอ่อนซับซ้อน

งานศิลปะที่ว่านั้นมีชื่อว่า “ศิลปะภาพพิมพ์” (Printmaking)

งานศิลปะภาพพิมพ์ที่เรานำมาเสนอในคราวนี้เป็นงานภาพพิมพ์ที่ใช้เทคนิคเฉพาะที่หาดูได้ยาก และหาคนทำได้น้อยอย่างยิ่งในปัจจุบัน

เทคนิคนี้มีชื่อเรียกว่า “ภาพพิมพ์โลหะเมซโซทินต์” (Mezzotint)*

และศิลปินที่เราจะเขียนถึงในคราวนี้เป็นหนึ่งในศิลปินไทยไม่กี่คนที่ทำงานด้วยเทคนิคภาพพิมพ์ชนิดนี้มาอย่างต่อเนื่องจริงจัง

ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า อมร ทองพยงค์

ศิลปินหนุ่มชาวชลบุรี ผู้อาศัยและทำงานที่เชียงใหม่ เขาจบการศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาศิลปะภาพพิมพ์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาโทจากภาควิชาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปัจจุบันเขากำลังศึกษาปริญญาเอกสาขาศิลปะและการออกแบบ ที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อมรได้รับรางวัลจากเวทีประกวดศิลปะภาพพิมพ์จากทั้งในประเทศและในระดับสากลหลากหลายรางวัล อาทิ รางวัลดีเด่นและรางวัลยอดเยี่ยม การประกวดศิลปกรรม ปตท. ครั้งที่ 31 และ 32

ผลงานที่ได้รางวัล Second prize : 2nd ASEAN Graphic Arts Competition and Exhibition ในปี 2016 เวียดนาม, ภาพพิมพ์เมซโซทินท์

รางวัล HONORABLE MENTIONS : The International Print Biennial Łódź 2016 ที่โปแลนด์

รางวัล Second prize : 2nd ASEAN Graphic Arts Competition and Exhibition ในปี 2016 ที่เวียดนาม

รวมถึงได้รับรางวัลสำคัญที่สุดในการประกวดศิลปะภาพพิมพ์เมซโซทินต์โลกอย่าง International Mezzotint Festival ที่รัสเซีย โดยได้รางวัล Prize for Full Correspondence of Technique and Imagery ในปี 2015 และ 2017

รางวัลชนะเลิศ The Winners Prize for Full Correspondence of Technique and Imagery ในปี 2019

และร่วมแสดงงานในนิทรรศการภาพพิมพ์ในประเทศอินเดีย, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, โปแลนด์, ไต้หวัน, ฝรั่งเศส, จีน, อิตาลี

อมรเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำงานศิลปะภาพพิมพ์ด้วยเทคนิคอันหาตัวจับยากนี้ว่า

“สมัยเรียนปริญญาตรี ผมเลือกเรียนภาพพิมพ์ เพราะอยากทำงานโดยที่ไม่ต้องอยู่ในสตูดิโอตลอดเวลา ก็ลองหาดูว่ามีเทคนิคไหนที่ทำได้

ตอนแรกก็ลองทำภาพพิมพ์ Woodcut (ภาพพิมพ์แกะไม้) ซึ่งในยุคนั้นกำลังเป็นที่นิยม

แต่เรารู้สึกว่าทำยังไงก็สู้ศิลปินภาพพิมพ์ญี่ปุ่นไม่ได้ ก็เลยลองหาเทคนิคอื่นที่เหมาะกับเรา

ก็มาเจอเทคนิคเอตชิ่ง (Etching / ภาพพิมพ์โลหะกัดกรด) ตอนแรกก็เริ่มด้วยการทำเทคนิคภาพพิมพ์โลหะแบบดรายพอยต์ (Dry point / ภาพพิมพ์ที่ใช้เหล็กแหลมขีดเขียนสร้างร่องลึกบนแม่พิมพ์โลหะโดยตรง)

12°39’46.6”N 100°54’08.4”E (2016), ตลาดสัตหีบ, ภาพพิมพ์เมซโซทินท์

แต่ทำไปแล้วก็ยังมีข้อจำกัดทางเทคนิคที่ทำให้ไม่ได้น้ำหนักแสงเงาของภาพตามที่ต้องการ

จนสุดท้ายมาเจอภาพพิมพ์เมซโซทินต์ ซึ่งเราพบว่าเป็นเทคนิคภาพพิมพ์เก่าแก่ที่มีมาก่อนเทคนิคเอตชิ่ง ก็เลยลองไปศึกษาดู

แต่ปัญหาก็คือเทคนิคนี้มีคนทำน้อยมาก ในประเทศเรามีไม่เกิน 10 คน และไม่มีสอนในมหาวิทยาลัยบ้านเราเลย

จนได้ไปเจอกับคุณบุญมี แสงขำ รุ่นพี่ที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศิลปินภาพพิมพ์อิสระที่ได้รางวัลทั้งในและต่างประเทศมากมาย ซึ่งใช้เทคนิคนี้ ก็เลยไปศึกษาเรียนรู้กับเขา

พอได้ทำแล้วก็รู้สึกว่าเทคนิคนี้เหมาะกับเรา ก็เริ่มทำจริงจัง

หลังจากนั้นก็เจอว่ามีเวทีการประกวดศิลปะภาพพิมพ์ที่เป็นเฉพาะเทคนิคนี้ ก็ลองส่งดู และได้รับคัดเลือกให้ร่วมแสดงบ้าง ได้รางวัลมาบ้าง

แต่ส่วนหนึ่งผมรู้เลยว่าที่เราได้รางวัลไม่ใช่เพราะความพิเศษทางด้านแนวความคิด แต่เป็นเทคนิคนี้ ที่ทำให้เราก้าวกระโดดจากจุดที่เรายืนไปอีกขั้น เพราะเราบังเอิญไปทำเทคนิคโบราณที่มีคนทำน้อย”

หลังจากฝึกฝนเทคนิคภาพพิมพ์ที่ว่านี้จนเชี่ยวชาญแล้ว อมรก็พัฒนาไปสู่ขั้นตอนของการเสาะหาเอกลักษณ์และแนวความคิดในการทำงาน

“พอเริ่มทำเทคนิคนี้อยู่มือ ผมก็เริ่มมาปรับในเรื่องแนวความคิด ว่าเนื้อหาหรือสิ่งที่เราต้องการถ่ายทอดนั้นคืออะไร ก็เริ่มออกไปหาดูว่าเราชอบอะไร ออกไปสเกตช์ภาพ ถ่ายภาพตามดอย ตามบ้านชุมชน ชนเผ่าต่างๆ แล้วก็ลองเอาแม่พิมพ์ออกไปเขียนภาพนอกสถานที่ เพื่อให้ได้บรรยากาศ และรู้สึกถึงสภาพแวดล้อมและบริบทของสถานที่ที่โอบอุ้มเรา ทำให้เรารู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมกับวิถีชีวิตในสถานที่เหล่านั้น แล้วค่อยกลับมาเก็บรายละเอียดต่อที่สตูดิโอ

Time in place (2017), ตลาดเก่า, ภาพพิมพ์เมซโซทินท์

ช่วงนั้นผมสนใจบันทึกภาพของบ้านในชุมชนเหล่านั้น ที่ถูกสร้างด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งอาจจะไม่ได้มีความงามมากนัก แต่มีความคงทนแข็งแรง และตอบสนองต่อสภาวะแวดล้อมที่มีอากาศหนาวเย็น ตัวบ้านมีหลังคาเปิด เพื่อระบายควันจากเตาไฟที่จุดในบ้านได้ ก็เป็นที่มาของงานในชุดบ้านไม้ที่ทำตอนเรียนจบ

พอเรียนจบปริญญาตรี ผมก็หาวิธีว่าจะทำยังไงให้เราทำงานต่อได้ เพราะปัญหาของคนเรียนศิลปะภาพพิมพ์คือ ถ้าคุณเรียนจบ ก็จะไม่มีสตูดิโอทำงาน ก็เลยยังทำเทคนิคเมซโซทินต์ต่อ เพราะเป็นเทคนิคที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสตูดิโอทั้งกระบวนการ”

นอกจากการศึกษาหาความรู้แล้ว การเดินทางก็เป็นเสมือนลมหายใจของศิลปินเช่นเดียวกัน กับศิลปินหนุ่มผู้นี้ก็คงไม่ต่างกัน

“ในช่วงค้นหาตัวตนของตัวเอง ผมก็เริ่มออกเดินทาง พอดีมีเพื่อนที่เป็นสถาปนิกได้ทุน Tibet Heritage Fund (THF) ไปทำโครงการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมในเมืองเลห์ ลาดัก ประเทศอินเดีย เขาก็ชวนเราไปด้วย

พอไปถึงเราก็ทำหน้าที่สเกตช์ภาพบ้านที่ทางมูลนิธิต้องการเก็บข้อมูล เพื่อนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่นั่น สิ่งนี้ทำให้ผมเริ่มมองเห็นคุณค่าของบ้านเหล่านี้ยิ่งขึ้นไปอีก จากที่เคยสนใจอยู่แล้ว

หลังจากจบงานนี้เราก็เดินทางต่อไปที่แคชเมียร์ ได้ไปเห็นบ้านไม้ใหญ่โตอลังการ ความสูง 7-10 ชั้น กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ทำงานภาพพิมพ์ในหัวข้อเกี่ยวกับบ้านตอนกลับมาที่ประเทศไทย

เพื่อให้ได้ทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง ผมตัดสินใจเข้าเรียนต่อปริญญาโทสาขาภาพพิมพ์ที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งการเรียนที่นั่นทำให้ผมได้รู้ว่าสิ่งที่ขาดไปในงานของเราคือชีวิต เพราะเราไม่ได้มีความรู้สึกร่วมกับบ้านเหล่านั้นจริงๆ

12°49’03.4”N 100°54’45.7”E (2015), ผลงานที่ชื่อเป็นพิกัด GPS, ภาพพิมพ์เมซโซทินท์

ผมก็หันกลับมามองบ้านของตัวเองที่ชลบุรี ซึ่งมีชุมชนจีนเก่าแก่ชื่อชุมชนบ้านชากแง้ว ที่มีบ้านไม้เก่าแก่อยู่มาก ซึ่งผมจะเห็นวิถีชีวิตในชุมชนนี้มาตั้งแต่เด็กๆ ว่าบ้านหลังนี้เคยเป็นโรงน้ำแข็ง เคยเป็นร้านขายของชำ ฯลฯ

พอเวลาผ่านไป พื้นที่และวิถีชีวิตเหล่านี้ก็ถูกกลืนด้วยกระแสสังคมที่หมุนไปเรื่อยๆ บ้านเหล่านี้ก็ค่อยๆ หายไปทีละหลังสองหลัง

บางหลังโดนรื้อกลายเป็นคอนโดฯ ที่จอดรถ สวนน้ำ

บางหลังถูกดัดแปลงจนไม่เหลือเค้าเดิม ผมเลยก็ถ่ายรูปบ้านเหล่านั้นเอาไว้ก่อนที่จะหายไป

และทำเป็นงานชุดที่เป็นเหมือนการเก็บสะสมความทรงจำ และดึงมิติเวลาของบ้านเก่าในชุมชนของเราเอาไว้ให้อยู่ในพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่ไม่มีอยู่จริงอีกต่อไป

ผมก็เอางานชุดนี้ไปให้ทางผู้นำชุมชนดู ก็มีคนสนใจและก็ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาชุมชนนี้ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ไปในที่สุด

หลังจากจบงานชุดนี้ ผมได้ข่าวว่าชุมชนตลาดเก่าแก่ที่สัตหีบที่ผมเคยไปตอนเด็กๆ กำลังจะถูกรื้อ ก็เลยรีบไปถ่ายภาพเก็บเอาไว้ และเอามาทำเป็นงานชุดหนึ่งที่ตั้งใจแสดงถึงความเป็นชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไป

ส่วนงานอีกชุดที่ทำที่สัตหีบ ผมตั้งชื่องานเป็นพิกัด GPS เมื่อคนดูนำไปเสิร์ชในกูเกิลเอิร์ธ ก็จะพาไปโผล่ที่ตำแหน่งของบ้านแต่ละหลัง ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ไม่มีบ้านอยู่อีกต่อไป หรือไม่ก็ถูกเปลี่ยนแปลงจนไม่เหลือเค้าเดิมแล้ว

งานชุดนี้ผมไม่ได้ตั้งใจจะวิพากษ์วิจารณ์การเปลี่ยนแปลงของชุมชนเหล่านั้น เพียงแต่ทำหน้าที่เก็บรักษาข้อมูลเหล่านี้เอาไว้ในฐานะศิลปิน”

ล่าสุดอมรพัฒนาผลงานของเขาขึ้นอีกหนึ่ง ด้วยการใช้กระบวนการทำงานที่ผสมผสานเทคนิคภาพพิมพ์และแนวคิดทางศิลปะในแบบคอนเซ็ปช่วลอาร์ตเข้าด้วยกัน

“ในช่วงที่กลับมาเรียนปริญญาเอก ที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมกลับมาสำรวจบ้านเก่าในเชียงใหม่ ด้วยการใช้เทคนิคภาพพิมพ์มาช่วยในการนำเสนอการเปลี่ยนแปลงของบ้านเก่าเหล่านี้ผ่านกาลเวลา

โดยในภาพของบ้านแต่ละหลัง ผมจะค่อยๆ ใส่รายละเอียด ข้าวของ และสภาพแวดล้อมของบ้านที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา โดยใช้ข้อมูลจากหอภาพถ่ายล้านนาของคุณบุญเสริม ศาสตราภัย และคนอื่นๆ บวกกับภาพของบ้านเหล่านั้นในปัจจุบัน และค่อยๆ เพิ่มรายละเอียดลงไปในแม่พิมพ์เดียวกัน

Coming Soon (2018), ภาพพิมพ์เมซโซทินท์

เพราะฉะนั้น ในการพิมพ์แต่ละครั้ง รายละเอียดในภาพของบ้านแต่ละหลังก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามช่วงเวลาที่ผ่านไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เหมือนเป็นการดึงห้วงเวลาในประวัติศาสตร์ของบ้านเหล่านี้ให้ปรากฏขึ้นผ่านกระบวนการทำงานภาพพิมพ์นั่นเอง”

ปัจจุบันอมรเปิดสตูดิโอภาพพิมพ์ MEZZ PRESS Chiangmai Printmaking studio ที่เลขที่ 305/72 m4 สันทรายน้อย อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ใครแวะเวียนไปแถวนั้นก็เข้าไปเยี่ยมชมผลงานและสตูดิโอ หรือเข้าไปชมได้ที่ fb MEZZ PRESS Chiangmai Printmaking studio, ig mezzpress_studio, เว็บไซต์ https://bit.ly/3bt4Dfs กันได้ตามอัธยาศัย

อ่านเกี่ยวกับศิลปะภาพพิมพ์และภาพพิมพ์โลหะเมซโซทินต์ได้ที่นี่ https://bit.ly/3cF0Zzx