โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/พระนาคปรกใบมะขาม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม ฝั่งธนบุรี

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม)

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

พระนาคปรกใบมะขาม

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม)

วัดอนงคาราม ฝั่งธนบุรี

 

ในวงการคณะสงฆ์กล่าวกันว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม ฝั่งธนบุรี คือพระนักประชาธิปไตยรูปหนึ่ง มีความเฉียบแหลมในการดำเนินนโยบายอันเหมาะสมได้ทันสมัย หรือทันเหตุการณ์เสมอ

มีลูกศิษย์ลูกหานับไม่ถ้วน ทั้งที่เป็นสงฆ์และขุนนางชั้นสูง ไม่ว่าที่กรุงเทพฯ ธนบุรี หรือที่ชัยนาทบ้านเกิด รวมถึงจังหวัดอื่นๆ

วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมคือพระนาคปรกใบมะขาม จัดสร้างเป็น 3 เนื้อ คือ เนื้อเงิน เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง และเนื้อทองแดงไม่มีกะไหล่

ประกอบพิธีปลุกเสกในปี พ.ศ.2463 มีพระเกจิ 4 รูป คือ 1.สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม (ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระพรหมมุนี) 2.สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม (ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็นพระรัชชมงคลมุนี) 3.พระครูวิมลคุณากร (ศุข) วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท และ 4.พระอุดรคณารักษ์ (ศรี พรหมโชติ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

จัดสร้างแบบฐาน 3 ชั้น และฐาน 2 ชั้น ด้านหน้ามีด้วยกัน 2 พิมพ์ คือ พิมพ์บล็อกแตกและพิมพ์บล็อกไม่แตก ด้านหลังองค์พระมีลักษณะเรียบ บางองค์ปรากฏร่องรอยการลงเหล็กจารอักขระยันต์

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มขนาดเล็ก ด้านหน้ามีพญานาคอยู่บนเศียรพระพุทธ 7 เศียร ใต้พระพุทธเป็นลำตัวพญานาคขดอยู่ ด้านหลังเหรียญมีลักษณะเรียบปรากฏร่องรอยการลงเหล็กจารอักขระยันต์

พระนาคปรกใบมะขาม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) เป็น 1 ใน 5 ของสุดยอดเบญจภาคีพระนาคปรกใบมะขามของเมืองไทย

ประกอบด้วย 1.พระปรกใบมะขาม พระสนิทสมณคุณ (สนิท) วัดโมลีโลกยาราม (วัดท้ายตลาด) กรุงเทพฯ 2.พระปรกใบมะขาม หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท 3.พระปรกใบมะขาม เจ้าคุณสุนทรสมาจาร (พรหม) วัดกัลยาณมิตร กรุงเทพฯ 4.พระปรกใบมะขามหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ จ.สมุทรสงคราม และ 5.พระปรกใบมะขาม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม กรุงเทพฯ

จึงเป็นวัตถุมงคลที่ควรค่าแก่การเสาะหาเก็บไว้บูชายิ่ง

พระนาคปรกใบมะขาม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม)

 

มีนามเดิมว่านวม เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2407 เป็นบุตรของหมื่นนรา (อินทร์) กับนางใย มีพี่น้องร่วมบิดากัน 8 คน ภูมิลำเนาอยู่บ้านวังแม่ลูกอ่อน อ.สรรพยา จ.ชัยนาท

เริ่มแรกศึกษาที่วัดโคกเข็ม จ.ชัยนาท อายุ 13 ปี จึงย้ายมาศึกษาที่วัดอนงคาราม บวชเป็นสามเณรในปี พ.ศ.2424 แล้วศึกษาต่อจนถึงปี

พ.ศ.2428 เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร โดยมีพระครูเมธังกร เจ้าคณะอำเภอเมืองในขณะนั้นเป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยธรวันและพระสมุห์เปรม เป็นคู่พระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า พุทฺธสโร

กลับมาอยู่จำพรรษาวัดอนงคาราม เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมต่อ

ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอาจารย์สยามปริยัติ ครูโรงเรียนวัดอนงคาราม ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รั้งตำแแหน่งเจ้าคณะมณฑลพิษณุโลก

จนถึงวันที่ 9 กันยายน 2470 จึงได้รับโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นเจ้าคณะมณฑลพิษณุโลก

 

ลําดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2449 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระธรรมธราจารย์

พ.ศ.2463 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระรัชชมงคลมุนี

พ.ศ.2468 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระมงคลเทพมุนี

พ.ศ.2472 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระโพธิวงศาจารย์

พ.ศ.2484 เลื่อนเป็นพระราชาคณะเทียบชั้นเจ้าคณะรองฝ่ายอรัญญวาสีที่ พระมหาโพธิวงศาจารย์

พ.ศ.2488 สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์

มีฝีมือในทางศิลปะ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้กำกับการบูรณะพระพุทธบาท จ.สระบุรี และแม้แต่การซ่อมสร้างในบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดารามทุกครั้ง จะต้องมีส่วนร่วมเป็นกรรมการด้วย

คุณความสามารถในกิจการของสงฆ์ เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นเอตทัคคะในทางนี้ ดังในปี 2484 ภายหลังที่ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ประกาศใช้แล้ว ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสังฆสภา และยังเป็นสังฆมนตรีว่าการสาธารณูปการ

ตลอดเวลาที่อยู่ในตำแหน่ง แม้จะอยู่ในวัยชรา แต่ก็ยังมีความสามารถที่จะวางระเบียบการสาธารณูปการที่มีหน้าที่แก่ภิกษุสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร

 

เหนือสิ่งอื่นใดในวงการศึกษาคือ เป็นปรมาจารย์แห่งโรงเรียนราษฎร์ทั้งปวง

ในปี พ.ศ.2432 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การศึกษาของไทยยังถูกทอดทิ้งให้เล่าเรียนกันตามวัด พออ่านออกเขียนได้และบวกเลขเป็น ก็สามารถที่จะออกมาประกอบอาชีพส่วนตัว หรือเข้ารับราชการได้นั้น

เปิดโรงเรียนขึ้นที่กุฏิวัดอนงคาราม โดยเป็นครูคนเดียวในโรงเรียน มีลูกศิษย์ทั้งสิ้น 9 คน ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้จะเรียกเป็นโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกของประเทศไทยก็ว่าได้

หลักสูตรที่สอนในขณะนั้น นอกจากการศึกษาภาษาไทยเป็นพื้นทั่วไปแล้ว ก็มีวิชาคำนวณ และจรรยามารยาทของผู้ดีรวมอยู่ด้วย

ที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับตัวท่านอาจารย์ใหญ่และลูกศิษย์ลูกหาก็คือวิชาลูกคิด ซึ่งเป็นเลิศโดยศึกษามาตั้งแต่ยังไม่ได้บวชเป็นเณร

หลังเรียนจบหลักสูตร ศิษย์รุ่นแรกที่จบจากโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกนี้ได้เป็นข้าราชการตามกระทรวงทั้งหมด จึงมีผู้เห็นผลจากการศึกษาที่โรงเรียนของท่าน

รัชกาลที่ 5 เมื่อทรงทราบก็นิมนต์ให้มาเฝ้าฯ เพื่ออยากจะทอดพระเนตรตัวจริง ทรงชมเชยว่าเป็นอาจารย์มีคุณูปการต่อชาติ

แม้จะได้วางมือจากภารกิจต่างๆ เมื่อชราภาพ แต่โดยหน้าที่สังฆสมาชิก และสังฆมนตรีว่าการสาธารณูปการ ปรากฏว่าสมเด็จฯ เคร่งครัดต่อหน้าที่ จนมีคำกล่าวกันทั่วไปว่าท่านไม่ได้ชราภาพไปตามวัย

กระทั่งวาระสุดท้ายแห่งอายุขัย เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2499 จึงมรณภาพด้วยอาการสงบ ที่กุฏิวัดอนงคาราม

สิริอายุ 92 ปี พรรษา 72