นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ภาษาของอนุสาวรีย์

นิธิ เอียวศรีวงศ์
ภาพอนุสาวรีย์จากบทความ จากภาพประวัติศาสตร์ สู่ ‘อนุสาวรีย์ติดดิน’ โดยกษิดิศ อนันทนาธร https://tu.ac.th/thammasat-memorial-puey-ungphakorn-and-pridi-banomyong

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพิ่งเปิดอนุสาวรีย์ท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ที่ “สวน-ป๋วย” ในวิทยาเขตปทุมธานี

นี่เป็นอนุสาวรีย์แบบใหม่ ที่ไม่เหมือนอนุสาวรีย์อื่นๆ ในประเทศไทย ใหม่ทั้งรูปแบบ, เนื้อหา, ความที่สื่อ และการสื่อความ

ในแง่หนึ่งอนุสาวรีย์ก็เป็นเพียงเครื่องประดับของเมืองแบบใหม่ มีลักษณะโลกียวิสัยคือไม่เกี่ยวกับศาสนา และมักเป็นส่วนหนึ่งของ “ฉาก” ที่ใหญ่กว่าตัวอนุสาวรีย์เอง เช่น ลานกว้าง, จัตุรัส, อาคาร หรือทิวทัศน์อื่นๆ ซึ่งมนุษย์สร้างขึ้นหรือดัดแปลงธรรมชาติ ส่วนใหญ่ของอนุสาวรีย์ในเมืองไทยมักเป็นรูปของพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้เพราะ “พื้นที่” เมืองและประเทศโดยรวมยังอยู่ในกำกับควบคุมของพระมหากษัตริย์ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม

แต่ในขณะเดียวกัน อนุสาวรีย์ยังเป็นเครื่องเตือนหรือสร้างความทรงจำด้วย ตามชื่อเรียกของมันในภาษาไทย แต่ไม่ใช่จำบุคคลหรือเหตุการณ์ที่รูปอนุสาวรีย์ส่อให้เห็น หากให้จำหลักการนามธรรมบางอย่างซึ่งบุคคลหรือเหตุการณ์นั้นอาจเป็นตัวแทน

ภาพจากบทความ จากภาพประวัติศาสตร์ สู่ ‘อนุสาวรีย์ติดดิน’ โดยกษิดิศ อนันทนาธร
https://tu.ac.th/thammasat-memorial-puey-ungphakorn-and-pridi-banomyong

เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.1 ที่เชิงสะพานพุทธ ไม่ได้ทำให้ใครจำพระองค์หรือพระราชกรณียกิจได้ แต่เพื่อสร้างความจดจำใหม่ว่า บ้านเมืองอุบัติขึ้นและดำรงอยู่ได้ด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ พิธีกรรมที่แวดล้อมพระบรมราชานุสาวรีย์ ย่อมตอกย้ำความหมายนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

การสร้างอนุสาวรีย์ที่เป็นรูปบุคคลและมีลักษณะโลกียะไม่เกี่ยวกับศาสนานี้ เราอาจเอาแบบอย่างมาจากฝรั่ง แต่ก็เป็นการเอามาเพียงรูปแบบเท่านั้น เพราะในเขตเมืองของไทยตั้งแต่โบราณ ย่อมเต็มไปด้วยอนุสาวรีย์ทางศาสนา ทั้งพระพุทธรูป (บุคคล), พระสถูปเจดีย์, ต้นโพธิ์, วัด ฯลฯ ล้วนเป็นเครื่องเตือนความจำถึงหลักการทางศาสนาทั้งสิ้น รูปแบบอนุสาวรีย์โลกียะที่เราเอามาจากฝรั่งจึงถูกสร้างและปฏิบัติไม่ต่างจากที่เราเคยสร้างและปฏิบัติกับอนุสาวรีย์โลกุตระมาก่อน

คือมีไว้บูชากราบไหว้และประกอบพิธีกรรม (เช่น ห่มผ้าพระมหาธาตุในงานบุญเดือนสิบ) จึงล้วนเป็นรูปเคารพหรือสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์ อนุสาวรีย์ที่เอาแบบอย่างฝรั่ง ถึงไม่ใช่รูปเคารพทางศาสนา แต่ก็สร้างในประเพณีทางศิลปะเดียวกัน หรือถูกดัดแปลงให้มีลักษณะเป็นรูปเคารพชัดเจนขึ้น เช่น ยกฐานให้สูงขึ้นกว่าเดิม (โดยเฉพาะหลัง พ.ศ.2501)

หลักการกว้างๆ ของรูปเคารพก็คือ ต้องตั้งอยู่สูงกว่าระดับชีวิตปรกติของคน (เช่น ในที่ซึ่งคนยืนหรือเดิน ก็สูงกว่าหัวของคน ถ้าในที่ซึ่งคนมักนั่งราบกับพื้น เช่น โบสถ์ ก็สูงกว่าหัวของคนนั่งราบ) ต้องเป็นรูปที่ “นิ่ง” คือไม่เคลื่อนไหวในความรู้สึกของผู้ชม และด้วยเหตุดังนั้นจึงมักไม่แสดงกิริยาท่าทาง หรือหากจำเป็นต้องแสดง ก็ต้องรักษาความ “นิ่ง” ไว้อยู่นั่นเอง

พระพุทธรูปนั้น โดยหลักการพื้นฐานย่อมแสดงอิริยาบถอยู่สี่อย่างคือ ยืน เดิน นั่ง นอน แต่ “ปาง” ต่างๆ ของพระพุทธรูปมักทำให้ต้องมีอากัปกิริยาประกอบ ประติมากรทำ “ปาง” โดยยังต้องรักษาพระพุทธรูปให้ “นิ่ง” อยู่นั่นเอง เช่น พระพุทธรูปนั่ง ปางที่เราเรียกว่า “มารวิชัย” ซึ่งต้องชี้พระดัชนีขวาลงสู่พื้นธรณี ประติมากรก็สามารถทำให้ “นิ่ง” ได้ ที่ยากกว่าน่าจะเป็นปางที่อยู่ในอิริยาบถเดิน แม้กระนั้นส่วนใหญ่เขาก็ปั้นให้ไม่เคลื่อนไหว ถ้าฝีมือชั้นครู เช่น พระพุทธรูปปางลีลาศิลปะสุโขทัยซึ่งประดิษฐานที่พระระเบียงโบสถ์วัดเบญจฯ ทำให้การเดินเหมือนเป็นกำลังลอยอยู่ได้เลย

ราชานุสาวรีย์ในเมืองไทยก็นำเอาหลักการสร้างรูปเคารพที่มีมาแต่โบราณนี้มาใช้อย่างเต็มที่ นับตั้งแต่ฐานที่ยกสูง หลายครั้งมักสร้างบนลานที่มีบันได เพื่อแยกพื้นที่ “ศักดิ์สิทธิ์” ออกจากลานด้านหน้า ซึ่งเป็นที่ประชาชนทั่วไปเข้ามาแสดงความเคารพ มักมีเครื่องประดับพระเกียรติยศ เช่น ตั้งพานพุ่มอยู่ด้านหน้าทั้งสองข้าง และแน่นอนว่าพระบรมรูปย่อม “นิ่ง” (ยกเว้นพระบรมรูปของพระเจ้าตากสินและสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งแสดง “เรื่องราว” ไปพร้อมกัน เช่น นำทัพเข้าต่อสู้ข้าศึก หรือทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก)

แม้แต่พระบรมรูปใน ร.7 ซึ่งมุ่งจะใช้เตือนความจำว่าเสด็จฯ มาลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 ที่รัฐสภา ก็ยังเป็นแต่ประทับนิ่งๆ บนพระที่นั่งเท่านั้น มิได้มี “อาการ” ของการรับรัฐธรรมนูญไปลงพระปรมาภิไธย

อันที่จริงพระบรมราชานุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ ก็บอกเรื่องราวเหมือนกัน เพราะดัดแปลงจากภาพถ่ายในวันที่เสด็จพระราชดำเนินไปลงพระปรมาภิไธยที่ตึกรัฐสภาเก่า (พระที่นั่งอนันตฯ) ในวันนั้น โดยตัดส่วนที่เป็นอากัปกิริยาออก

อนุสาวรีย์ของอาจารย์ป๋วยและท่านรัฐบุรุษอาวุโสในสวนป๋วย ก็บอกเล่าเรื่องราวเช่นกัน แต่บอกเหมือนนวนิยายชั้นดี คือมีเรื่องซ้อนกันอยู่หลายเรื่อง แต่ละคนอ่านได้ไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ก็นำมาจากภาพถ่าย คือใน พ.ศ.2520 เมื่อสามัคคีสมาคมในประเทศอังกฤษ เชิญให้ท่านทั้งสองแสดงบรรยายในการประชุมของสมาคมที่ Imperial College ในกรุงลอนดอน

อนุสาวรีย์ของสองท่านแหวกประเพณีสร้างอนุสาวรีย์ในเมืองไทยเพราะตั้งลงกับพื้นราบ โดยไม่ต้องยกสูงจากพื้น หรือสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นโดยรอบ ห่างไกลจาก “รูปเคารพ” อย่างที่เห็นได้ในอนุสาวรีย์ส่วนใหญ่ ดังนั้น จึงมีคนเข้าไปถ่ายรูปกับอนุสาวรีย์นี้มามากแล้ว ทั้งไปยืนหลังเก้าอี้หรือไปนั่งหว่างกลาง

นอกจากนี้ อนุสาวรีย์แห่งนี้ยังปั้นให้มีขนาดเท่าคนจริง ซึ่งอนุสาวรีย์โดยทั่วไปมักขยายใหญ่ขึ้นขนาดหนึ่งเท่าครึ่งขึ้นไป เพื่อให้ความรู้สึกแก่ผู้ชมว่า “พิเศษ” นี่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ชมอยากเข้าใกล้ เพราะอนุสาวรีย์ไม่ข่มผู้ชมให้ระย่อ (บางคนอาจบอกว่าเหมือนรูปปั้นตัวตลกหน้าร้านขายแฮมเบอร์เกอร์ แต่นั่นแหละคือหลักการเดียวกันเลย)

การวางอนุสาวรีย์ไว้บนพื้นระนาบเดียวกับผู้ชมนั้นนับว่าแหวกแนวเอามากๆ ทีเดียว อันที่จริงการยกอนุสาวรีย์ให้สูงขึ้นอาจมีความจำเป็นอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการเคารพกราบไหว้ก็ได้ เช่น มีพื้นที่จำกัด ในกรณีเช่นนี้ ประติมากรมักออกแบบฐานวางอนุสาวรีย์ให้ลดความศักดิ์สิทธิ์ลง ที่นึกตัวอย่างได้ทันที เช่น รูปปั้นท่านผู้ประศาสน์การและก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ แต่เดิมเป็นฐานซีเมนต์วงโค้ง ยื่นออกมารับตัวอนุสาวรีย์ ไม่มีอะไรที่ให้ความรู้สึก “ศักดิ์สิทธิ์” เลย แต่มาในภายหลังมีการแก้ไขให้กลายเป็นแท่นสี่เหลี่ยม พร้อมทั้งแผ่นหินแกรนิตดำ จารึกคุณงามความดีของท่าน

จึงกลายเป็นที่บนบานศาลกล่าวของนักศึกษาในฤดูสอบ

(ผมอยากเตือนอะไรที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เขียนนี้โดยตรง ในสังคมไทยความศักดิ์สิทธิ์เป็นเรื่องน่ากลัว เพราะมันมักลบอุดมคติให้หมดคม จนสามารถนำไปคลุกเคล้ากับอุดมคติอื่นๆ จนไม่เหลือพิษภัยอันใดแก่อำนาจอีกเลย)

เมื่ออนุสาวรีย์อาจารย์ป๋วยและท่านปรีดีที่ธรรมศาสตร์ปทุมธานีไม่ใช่รูปเคารพ อนุสาวรีย์นี้บอกอะไรแก่ผู้ชม ทั้งมากกว่าและหลากหลายกว่าจารึกใดๆ จะจดจารลงได้หมด อีกทั้งสารที่สื่อจากอนุสาวรีย์นี้ก็คงแปรเปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วย

ผมขอพูดถึง “สาร” ที่ผมมองเห็นจากอนุสาวรีย์ ไม่ใช่เพราะมันดีกว่าของคนอื่น แต่เพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่างเท่านั้น

สารแรกที่ดูจะชัดสำหรับผมอย่างมากคือความเท่าเทียม นับตั้งแต่การวางอนุสาวรีย์ไว้ในระนาบเดียวกับผู้ชม เก้าอี้ในสวนสาธารณะซึ่งเป็นที่นั่งพักพิงของคนได้ทุกชั้น ตั้งแต่มหาเศรษฐีจนถึงคนไร้บ้าน ความเท่าเทียมระหว่างศิษย์และอาจารย์ที่สัมพันธ์กันอย่างเสมอภาค และต่างแสดงออกซึ่งความเป็นตัวของตัวเองด้วยเครื่องนุ่งห่มที่ต่างกัน (แต่ข้อนี้มีเรื่องติงนิดหน่อยซึ่งจะกล่าวถึงข้างหน้า) และการเป็นที่เข้าถึงได้ง่ายของอนุสาวรีย์แก่ผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นใคร

ใน พ.ศ.2520 ทั้งสองท่านถูก “ขับ” ออกจากประเทศไทยไปแล้วทั้งคู่ ความผิดของทั้งสองท่านคือพยายามเปลี่ยนประเทศไทยให้ประชาชนได้สิทธิ์ได้เสียงสมกับความเป็นเจ้าของประเทศชาติ แม้ความพยายามนั้นกระทำไปโดยหลีกเลี่ยงความรุนแรงและความขัดแย้งสักเพียงไร ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ภาพจากบทความ จากภาพประวัติศาสตร์ สู่ ‘อนุสาวรีย์ติดดิน’ โดยกษิดิศ อนันทนาธร
https://tu.ac.th/thammasat-memorial-puey-ungphakorn-and-pridi-banomyong

“คนล้มเหลว” สองคนที่นั่งอยู่ในสวนป๋วย เตือนให้เรารู้ว่า แม้แต่การประนีประนอมโดยไม่ให้เสียหลักการ ก็เป็นไปไม่ได้เสียแล้วในชีวิตทางการเมืองของไทย อนาคตจึงค่อนข้างมืดมน ทั้งแก่บุคคลสาธารณะที่มีหลักการ และแก่สังคมโดยรวม

ภาพถ่าย ให้ความรู้สึกนึกคิดดังกล่าวได้ชัดเจนกว่ารูปปั้นของอนุสาวรีย์ เพราะในรูปถ่ายอาจารย์ป๋วยไม่ได้มองท่านปรีดี (ด้วยความเคารพชื่นชมดังรูปปั้น) แต่มองเหม่อลงพื้นในความครุ่นคิด แขนที่ทอดลงเหนือเก้าอี้และตักตามสบาย ไม่ได้สะท้อนความ “สำรวม” ใดๆ ในขณะที่ท่านปรีดีมองไปข้างหน้าด้วยใบหน้าเอิบอิ่ม อย่างคนที่ในวัยขนาดนั้นและในประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาเช่นนั้น ย่อมรู้ตัวดีว่าได้ทำหน้าที่ของตนต่อบ้านเมืองอย่างสมบูรณ์แล้ว

ภาพของคนสองวัยที่นั่งอยู่ด้วยกันนั้น จึงบอกผู้ชมด้วยว่า “mission incomplete” หรือ “งานยังไม่เสร็จ” ใครควรทำอะไรได้ก็พึงทำต่อไป

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เสนอรูปแบบใหม่ของอนุสาวรีย์ไทย นั่นคือเป็นเครื่องอนุสรณ์ถึงอุดมคติ ไม่ใช่ถึงบุคคลอันเป็นที่เคารพนับถือ

สถานที่ตั้งก็นับว่าสอดคล้องกับชีวิตในอุดมคติของทั้งสองท่านด้วย คือชีวิตที่เรียบง่าย ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์ และแหล่งความรู้ซึ่งอาจนำทางชีวิตได้ดี