ไซเบอร์ วอชเมน : เมื่อประกาศภาวะฉุกเฉิน ถูกใช้คุมแรงต่อต้านมากกว่าโรคระบาด?

ถือเป็นเรื่องไม่แปลกใจสำหรับคนที่ติดตามสถานการณ์ แต่ก็เป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับหลายคน เมื่อรัฐบาลตัดสินใจขยายเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและมาตรการเคอร์ฟิวออกไปอีก 1 เดือน จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม

แม้การขยายอีกครั้งนี้ จะมีพ่วงข้อผ่อนปรนสำหรับห้างสรรพสินค้าและร้านอาหาร สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ แต่ก็ต้องทำตามข้อปฏิบัติของ ศบค. เพราะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังอยู่ในภาวะไม่แน่นอน ตราบใดที่ยังไม่ค้นพบวัคซีนหรือยารักษาที่สามารถรักษาไวรัสน้องใหม่นี้ให้หายขาดได้

แต่ก็ยังไม่รับประกันว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัว เพราะการตัดสินใจและการบริหารงบประมาณของรัฐบาลก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะกรณีออก พ.ร.ก.เงินกู้กว่าล้านล้านบาท ในสภาพที่หนี้สาธารณะเดิมยังไม่บรรเทา กลับมาถมเพิ่มขึ้นอีก

ไม่นับสภาพชีวิตประชาชนในช่วงเคอร์ฟิวก็ทำให้หลายคนไม่พอใจกับการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล บางคนรอไม่ไหวก็เลือกจบชีวิตตัวเอง อีกส่วนเลือกจะด่าทอรัฐบาลและเตรียมการรอเคลื่อนไหวขับไล่

เมื่อดูปัจจัยที่เกิดขึ้น แทนที่จะปรับโทนให้บรรยากาศกลับมาปกติ ทำไมยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินและมาตรการเคอร์ฟิวอยู่อีก?

 

หากติดตามไทม์ไลน์ตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้ รัฐบาลปัจจุบันซึ่งถูกครหาว่าสืบทอดอำนาจ ตั้งแต่คณะรัฐมนตรี จนถึง ส.ว.ที่มาจาก สนช. กำลังเผชิญภูมิทัศน์การเมืองหลัง คสช.ที่รับมือยากขึ้น เจอทั้งฝ่ายค้าน และการเคลื่อนไหวของนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยที่ออกมาชุมนุมและใช้โลกออนไลน์แสดงความคิดเห็นเชิงวิจารณ์ ล้อเลียน เสียดสีรัฐบาลและเครือข่ายผู้มีอำนาจแบบไม่ไว้หน้า

แม้จะพยายามตอบโต้โดยใช้กลไกรัฐและกองทัพไซเบอร์ที่รัฐบาลสนับสนุน (ทั้งโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผย) มาช่วงชิงพื้นที่โลกออนไลน์ ทั้งเพจการเมืองฝ่ายเชียร์รัฐบาลและไอโอ แต่ก็ไม่สามารถหยุดภาพทีมล้อเลียนนายกรัฐมนตรี และนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีปัญหาความชอบธรรมลงได้

แต่เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ลุกลามรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะความล่าช้าของรัฐบาลในการรับมือ ไม่ว่ากรณีการคัดกรองผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศในช่วงแรก และกรณีซูเปอร์สเปรดเดอร์ในสนามมวยที่กองทัพดูแล ความวิตกกังวลต่อโรคระบาดจึงทำให้การดำรงชีวิตเปลี่ยน และทุกกิจกรรมตั้งแต่ดำเนินธุรกิจ การเรียน การรวมตัวของกลุ่มคนก็ต้องหยุดลงด้วย

เช่นเดียวกับการชุมนุมทางการเมือง ก็ต้องหยุดเคลื่อนไหวจนกว่าการระบาดจะหยุดลง

 

ถ้าถามว่า โรคระบาดช่วยรัฐบาลจากการต่อต้านของนักศึกษาไว้ใช่หรือไม่

ก็อาจใช่ ยังไงขึ้นชื่อว่าโรคระบาด โดยเฉพาะโควิด-19 ที่สามารถติดต่อกันได้ง่ายมาก ฟังดูเหมือนรัฐบาลโชคดีจากเรื่องนี้

แต่ที่จริง รัฐบาลแค่หนีนรกขุมหนึ่งมาเจออีกขุมหนึ่งเท่านั้นเอง

การระบาดของโควิด-19 กระทบถึงระดับโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างมาก ป่วยจริง และตายจริง กิจกรรมใดที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อก็ต้องหยุด ภาพร้านอาหารที่ปิดร้าง ถนนหนทางที่เงียบไร้ผู้คน บริษัทต่างๆ ก็ต้องหยุดหากพบผู้ติดเชื้อ ถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ให้คนรับรู้กันกว้างขวาง

รัฐบาลหนีม็อบมาได้ก็ต้องมาหยุดยั้งการระบาด เพราะโรคระบาดนี้ยังกระทบต่อฝ่ายตัวเองด้วย จึงเป็นโอกาสให้รัฐบาลพิสูจน์ฝีมือ แต่ระหว่างพยายามยับยั้ง กลับปรากฏข่าวเชิงลบโดยเฉพาะปมทุจริตทั้งหน้ากากอนามัย ไข่ไก่แพง โดยคนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล

เรียกว่าขนาดช่วงวิกฤตก็ยังมีเรื่องซ้ำเติมชีวิตประชาชนให้เสื่อมความนิยมไปอีก

แต่การระบาดยิ่งมีผู้ติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลตัดสินใจใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยอ้างว่าเพื่อใช้ควบคุมการแพร่ระบาด

ประเด็นคำแถลงของรัฐบาลที่เด่นชัดสุดคือ การควบคุมข้อมูลและการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 จำกัดสื่อมวลชนให้รับข้อมูลจาก ศบค.ที่เดียว และอาจขยายวงไปถึงการควบคุมเสียงวิจารณ์รัฐบาลบนโลกออนไลน์ เห็นได้จากการตั้งหน่วยงานตำรวจไซเบอร์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกเหนือจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของกระทรวงดีอีเอสที่ทำหน้าที่นี้อยู่ (ซึ่งศูนย์ก็ออกมาปล่อยไก่ให้เห็นมาแล้วจากกรณีกาฬโรคม้าระบาด)

แต่ตำรวจไซเบอร์จะแตกตัวไปประจำทุกจังหวัดเพื่อครอบคลุมทุกพื้นที่ให้ได้มากที่สุด

แม้จะมีข้อเสนอว่า พ.ร.บ.ควบคุมโรคที่มีอยู่ก็สามารถใช้ยับยั้งได้แล้ว แต่การผลักดันจนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ทำให้เกิดคำถามว่า

รัฐบาลใช้อำนาจที่เพิ่มมากขึ้นนี้ เพื่อควบคุมแค่โรคระบาดอย่างเดียวจริงหรือ?

 

การใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อเพิ่มอำนาจจัดการ และประกาศเคอร์ฟิวเพื่อควบคุมการระบาด แน่นอนว่าการติดเชื้อลดลง แต่ก็ส่งผลข้างเคียงโดยเฉพาะผลกระทบต่อเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน ให้คนทำงานอยู่ในบ้าน แต่บางธุรกิจอย่างท่องเที่ยวและภาคบริการหยุดชะงัก กลายเป็นความเสียหายที่รัฐบาลต้องออกมาเยียวยา

แต่มาตกรการที่ออกมาก็สะท้อนการเลือกปฏิบัติ เงินเยียวยา 5,000 บาท มีผู้ที่ได้รับผลกระทบมากแต่กลับไม่มีคุณสมบัติ ต้องบุกไปถามหาผู้รับผิดชอบถึงที่ทำงาน บางคนไม่มีสิทธิได้ก็เลือกการฆ่าตัวตาย ในขณะที่ พ.ร.ก. 3 ฉบับเพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอกชนกลับเดินหน้าเต็มที่ ทำให้เสียงด่าทอ สาปส่งรัฐบาลก็ดังระงมทั้งโลกจริงและโลกออนไลน์

เรียกว่ารัฐบาลไม่มีมาตการรองรับที่ทั่วถึงแล้ว กลับยิ่งซ้ำเติม ผู้คนต้องลำบากยืนต่อคิวรับเงิน อาหารจากผู้มีกำลังทรัพย์ที่เอามาแบ่งปัน โดยไม่สนว่าจะป่วยหรือไม่ เพราะอดตายนั้นน่ากลัวยิ่งกว่า

ไม่รวมเรื่องการใช้เงินที่แก้ไขปัญหาโรคระบาดแบบไร้ทิศทาง แล้วมีข่าวจัดซื้อเรือดำน้ำและรถหุ้มเกราะท่ามกลางปัญหาที่เผชิญ คนก็ออกมาโพสต์ด่าทอลุกลามใหญ่โตจนถอยกรูดแทบไม่ทัน

การอาศัยวิกฤตเพื่อฉวยโอกาสแต่กลับมองไม่รอบด้าน ถือเป็นการเดินเกมที่ผิดมหันต์ ยิ่งกับคนที่มีหน้าที่ดูแลประชาชนจำนวนมากยิ่งไม่ควรทำ

 

ความไม่พอใจที่สั่งสมมากขึ้น ผ่านแฮชแท็ก #รัฐบาลเฮงซวย #ผนงรจตกม ไปจนถึงเสียงด่าทอหน้ากระทรวงการคลัง และภาคธุรกิจที่เริ่มบ่นออกสื่อ ดูเหมือน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่หวังจะคุมเสียงวิจารณ์ กลับไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง แถมม็อบนักศึกษาก็ปรับรูปมาต่อต้านผ่าน #MobFromHome อีก

การออกมาขยายเวลาทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินและเคอร์ฟิวไปอีก 1 เดือน ทั้งที่สถานการณ์การระบาดไม่ได้เลวร้ายมากแล้ว เพราะไม่มีสัญญาณระบบสาธารณสุขพัง ผู้คนเรียนรู้ที่จะอยู่และป้องกันตัวจากโควิด-19 มากขึ้น และมีเสียงเรียกร้องให้เปิดเมืองเพื่อกลับมาใช้ชีวิต เลี้ยงปากท้องตัวเองและครอบครัวได้อีก

การตัดสินใจเช่นนี้ของรัฐบาล คนดูออกแล้วว่าไม่ได้ทำเพื่อยับยั้งโรคระบาด

แต่เพื่อหยุดสิ่งที่จะตามมาจากสิ่งที่รัฐบาลทำลงไปต่างหาก