วิพากษ์ ม.44 โละ “ผู้แทนครู” “15 ก.ค.ศ.” แค่ “ตรายาง”??

ขณะที่แวดวง “แม่พิมพ์” ร้อนทะลุปรอทไปแล้ว

เมื่อสถาบันผลิตครูทั่วประเทศออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน กรณีที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติเห็นชอบเรื่องการสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู ตำแหน่งครูผู้ช่วย โดยไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพก่อนการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครู

จากเดิมที่ผู้สมัครสอบครูผู้ช่วย จะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่การสอน เพื่อให้หน่วยงานการศึกษาสามารถสรรหาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ เหมาะสม ตามความจำเป็นในการใช้ครูของส่วนราชการ

ทำให้ผู้ที่ไม่ได้เรียนในคณะครุศาสตร์ หรือคณะศึกษาศาสตร์ หรือหลักสูตรครู 5 ปี แต่เรียนในคณะอื่นๆ และหลักสูตรอื่นๆ สมัครสอบครูผู้ช่วยได้…

ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “นักวิชาการ” รวมพลังคัดค้านกัน ซึ่งกระแสคัดค้านแรงขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นล่ารายชื่อคัดค้านมติดังกล่าว พร้อมทั้งขับไล่ “นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)!!

ล่าสุด หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งโดยใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2545 อีก 2 ฉบับ ซึ่ง 1 ใน 2 ฉบับนี้ ทำเอาวงการแม่พิมพ์ “ร้อนฉ่า” ขึ้นมาอีกระลอก…

โดยในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2560 เรื่องการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มีการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญ ใหม่

ในส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการ ก.ค.ศ. ได้ตัด “ผู้แทนครู” ออกจากสารบบไปเลย!!

 

“นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์” ปลัด ศธ. แจกแจงถึงสาเหตุของการตัดผู้แทนครูออก ว่า ในส่วนของคณะกรรมการ ก.ค.ศ. จะทำหน้าที่เชิงนโยบายมากขึ้น โดยใช้หลักการเดียวกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และปรับองค์ประกอบของคณะกรรมการจากเดิม 31 คน เหลือ 15 คน ผู้ทรงคุณวุฒิจาก 9 คน เหลือ 3 คน ในด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านการศึกษา และด้านกฎหมาย ส่วนผู้แทนครูและบุคลากรทางการศึกษา 12 คน ผู้แทนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) และผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จะไม่มีในคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ใหม่

“อย่างไรก็ตาม ผู้แทนครูจะไปอยู่ใน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญ ที่มีในเบื้องต้น 3 ชุด จากเดิมที่มี 11 ชุด เพื่อทำการแทน ก.ค.ศ. ได้แก่ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับการอุทธรณ์และการร้องทุกข์, อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับวินัยและการออกจากราชการ และ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยองค์ประกอบของ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญแต่ละชุด จะลดเหลือไม่เกิน 15 คน จากเดิมที่มีคณะละ 14-23 คน ส่วน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเฉพาะกิจที่มีอยู่ประมาณ 200 คณะ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป”

ปลัด ศธ. กล่าว

 

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การตัดผู้แทนครูออกจากคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ใหม่ เพราะต้องการลดทอนอำนาจของผู้แทนครู หรือบรรดาครูที่ถูกมองว่าอิงการเมือง แต่ปลัด ศธ. ย้ำว่าการใช้มาตรา 44 ครั้งนี้ เพื่อให้การจัดระบบการศึกษาของชาติมีมาตรฐาน ทั้งด้านหลักสูตรการเรียนการสอน และด้านบุคลากร ให้เกิดความเหมาะสม เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ที่รอการประกาศใช้ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงองค์กรกลางในการบริหารบุคคลของข้าราชการครู รวมถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นๆ ที่จะสนับสนุนการบริหารงานบุคคลให้เกิดประสิทธิภาพ ดังนั้น คณะกรรมการ ก.ค.ศ.ชุดใหม่ จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ได้มาซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนครูใน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญชุดต่างๆ

ฉะนั้น คำสั่งของ คสช. ฉบับนี้ จึงไม่ได้หมายความว่าคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ชุดเก่า มีปัญหากับผู้แทนครู แต่เพื่อให้การทำงานกระชับ และเตรียมพร้อมในการปฏิรูปการศึกษา

ด้าน นพ.ธีระเกียรติยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แนวคิดของตัวเอง แต่เป็นการดำเนินการเนื่องจากคำสั่งตามมาตรา 44 ซึ่งการตัดผู้แทนครูจากคณะกรรมการ ก.ค.ศ. “ไม่ได้” เป็นเพราะความขัดแย้ง หรือมองว่าเป็น “ศัตรู” แต่เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพ สามารถปรับแก้กฎระเบียบต่างๆ ให้รวดเร็ว และเพื่อผลประโยชน์ของครูอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมา คสช. มีคำสั่งยกเลิก อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา จึงต้องปรับคณะกรรมการ ก.ค.ศ. ให้สอดคล้องกัน โดยผู้แทนครูไปทำหน้าที่ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญกลั่นกรองงานเสนอ เชื่อว่าไม่มีปัญหา เพราะได้ทำความเข้าใจกันแล้ว

“ที่เกรงว่าผู้แทนครูอาจเคลื่อนไหว ผมคงไม่ยอม ไม่ใช่เพราะก้าวร้าว แต่ประเทศต้องเดินหน้าด้วยเหตุผล และกฎหมาย” รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าว

 

ขณะที่ “นายอดิศร เนาวนนท์” คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มองว่า ถ้าดูจากคำสั่งของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้า คสช. แล้ว เจตนาของคำสั่งนี้ ต้องการทำให้คณะกรรมการ ก.ค.ศ. กระชับ และทำงานได้รวดเร็วขึ้น เป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการ ศธ. แต่คณะกรรมการที่เหลือทั้ง 15 คน ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง 8 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ 2 คน ซึ่งกรรมการทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.

“ข้อเสีย” ที่ตามมาคือ จะไม่มีใครกล้าคัดค้านรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เพราะเป็นคนแต่งตั้งกรรมการแต่ละคนเข้ามา เท่ากับรวมอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เพียงคนเดียว ไม่สะท้อนข้อเท็จจริงที่มาจากพื้นที่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ส่วนใหญ่จะได้มาจากผู้แทนครู

ส่วนที่ให้ผู้แทนครูไปอยู่ใน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญ 3 ชุดนั้น ไม่ได้ทำให้ผู้แทนครูมีส่วนในการเสนอข้อมูล และแนวคิดเชิงนโยบาย เพราะ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญ จะพิจารณาและตัดสินเฉพาะเรื่อง ดังนั้น ถ้าต้องการให้นโยบายการบริหารบุคลากร และการคัดเลือกครูเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง ก็ควรจะมีผู้แทนครูรวมอยู่ด้วย เพราะมีข้อมูลเชิงพื้นที่ประกอบการตัดสินใจ

นายอดิศรทิ้งท้ายว่า เข้าใจว่าคำสั่งนี้ ต้องการให้คณะกรรมการ ก.ค.ศ. เล็กลง กระชับขึ้น เพราะที่ผ่านมา การคัดเลือกผู้แทนครูจะใช้วิธีการเลือกตั้งจากทั่วประเทศ ทำให้ใช้เวลานาน และเมื่อเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แล้ว พบว่าทำงานได้โดยไม่ต้องมีผู้แทนที่เป็นข้าราชการ ตรงนี้อาจเป็นข้อดี หากได้รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ที่ดี และเข้าใจการทำงาน…

แต่หากได้รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ที่ “ไม่ดี” คณะกรรมการ ก.ค.ศ. ชุดนี้ จะเป็นเพียง “ตรายาง” ที่ไม่มีการถ่วงดุล!!