มุกดา สุวรรณชาติ : โรคระบาด เปลี่ยนเศรษฐกิจ…วิถีชีวิต…กฎหมาย นี่คือโลกใหม่

ทัศนคติเกี่ยวกับโรคระบาด

ถึงเวลาที่ต้องตั้งสติและสรุปบทเรียนในการต่อสู้กับปัญหาโรคระบาดทุกชนิดกันได้แล้ว

เมื่อโรคนี้เริ่มขึ้นที่เรียกกันว่าโคโรนาไวรัสครั้งแรก ผู้คนยังไม่ตื่นตกใจ หลายประเทศที่อยู่ห่างจีนก็ยังรู้สึกเฉยๆ

แต่เมื่อสถานการณ์ในจีนระบาดหนักก็เริ่มตื่นตัวมากขึ้น

สำหรับประเทศไทยยังให้นักท่องเที่ยวจีนเข้า-ออกกันได้ตามสบายในช่วงตรุษจีน กว่าจะสั่งห้ามก็ใช้เวลาเป็นเดือน จากนั้นก็เปลี่ยนท่าทีเป็นตระหนกตกใจ สร้างมาตรการต่างๆ แม้จะช้าไปหน่อยแต่ก็ยังดี

การระบาดไปในเขตยุโรปและอเมริกาที่มีคนติดเชื้อและเสียชีวิตมากขึ้น ทำให้คนตกใจมากขึ้น มาตรการปิดเมือง ปิดร้านค้าจึงเข้มงวดมากขึ้น

ผลที่ตามมาก็คือการใช้ชีวิตที่ยากลำบากและเศรษฐกิจตกวูบ คนไม่มีจะกิน

มาถึงจุดนี้ทุกคนจึงได้เหลียวมองและสำรวจว่าเรากำลังทำอะไร ถูก-ผิดและเหมาะสมแค่ไหน เพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขในวันพรุ่งนี้ และตั้งรับในครั้งหน้าให้ดีกว่านี้

ชีวิตของมนุษย์ในอนาคตอาจไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะความขัดแย้งต่างๆ อาจทำให้คนบางกลุ่มใช้อาวุธชีวภาพจากเชื้อโรคชนิดต่างๆ มาต่อสู้กันแทนอาวุธธรรมดาเพื่อทำลายเศรษฐกิจและทำลายคนฝ่ายตรงข้าม

ถ้าเรายิ่งกลัวเศรษฐกิจยิ่งพังทลาย และถ้าไม่รู้จักป้องกันก็ยิ่งเสียหายหนัก

มันเหมือนกับการขับรถอยู่บนท้องถนนทุกวันนี้ ทุกคนรู้ว่าอาจมีอุบัติเหตุทำให้ถึงกับเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ แต่เราก็ต้องใช้รถใช้ถนนร่วมกันต่อไป เราจึงตั้งกฎเกณฑ์ทางด้านจราจร มีวิธีป้องกันในรถยนต์ต่างๆ ตั้งแต่สายนิรภัย ไฟเตือน ไฟเลี้ยว กระจกหน้า-กระจกหลัง

มาตรการที่ไม่ให้คนเมามาขับรถ

มีประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ และอื่นๆ

 

สถานการณ์จริงทั้งโลกขณะนี้ ต้องดูเป็นเขต

สถานการณ์การระบาดของ Covid-19 ในระดับโลกยังไม่ยุติ ในยุโรปและอเมริกายังหนักอยู่ คนตายประมาณ 45,000 คน แต่เริ่มมีแนวโน้มที่จะควบคุมได้ หนักมากและเริ่มลดลงคือยุโรป อิตาลีตายเกิน 25,000 สเปนและฝรั่งเศสเกิน 20,000 อังกฤษประมาณ 17,000

สำหรับในเอเชีย จีนตายมากที่สุดไม่ถึง 5,000

แต่จุดที่ยังต้องสนใจคือประเทศอินเดีย เนื่องจากมีประชากรเกือบ 1,377 ล้าน

ถ้าแยกประเทศที่มีผู้เสียชีวิตเป็นหมื่น มี 5 ประเทศ เป็นพันมี 10 ประเทศ เป็นหลักร้อยมี 33 ประเทศ อีกร้อยกว่าประเทศอยู่หลักสิบหรือไม่ถึงสิบ

ถ้าให้สรุปสถานการณ์โรค Covid-19 ที่มีการระบาดในระดับ Pandemic คงพอประเมินได้ว่ายังจะมีการระบาดไปอีกหลายเดือน

ยอดผู้ติดเชื้อซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 2.5 ล้านคนคงเพิ่มต่อไปได้เรื่อยๆ ถึงระดับ 10 ล้านคน ผู้เสียชีวิตที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 190,000 คน ก็อาจจะขยายไปถึง 300,000 คน

แต่เรามีประชากรโลก 7.8 พันล้านคน สถิติขณะนี้คือผู้เสียชีวิตประมาณ 180,000 คน คิดเป็น 22 คนต่อประชากร 1 ล้าน เท่ากับ 0.002 เปอร์เซ็นต์

ถ้านับจากปีใหม่มา ในระยะเวลาที่เท่ากัน มีคนเป็นไข้หวัดตายประมาณ 150,000 คน เป็นมะเร็งตายประมาณ 2,500,000 คน ตายจากโรคเอดส์ประมาณ 5 แสนกว่าคน ตายจากมาลาเรียประมาณ 3 แสนคน ตายจากการสูบบุหรี่ประมาณ 1.5 ล้านคน จากพิษสุราประมาณ 7.5 แสนคน

 

สถานการณ์ในไทย
มีคนเสียชีวิตจาก Covid-19
ไม่ถึง 0.0001%

ไทยมีประชากรประมาณ 69,800,000 และจะมีประชากรสูงสุดตามที่คาดคะเนคือในปี 2030 ที่ประมาณ 70,350,000 จากนั้นก็จะค่อยๆ ลดลงเหลือประมาณ 66 ล้านในปี 2050 (ไม่รวมถึงกรณีที่มีการเคลื่อนย้ายอพยพของคนจำนวนมากเข้ามาในประเทศไทย)

ดังนั้น ขณะนี้เราจึงมีจำนวนประชากรไม่ถึง 1% ของประชากรโลก

อัตราการเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ถึงปัจจุบันไม่ถึง 50 คน และอาจมีมากถึง 70 คน ซึ่งจะทำให้มีตัวเลขทางสถิติถึง 1 คนต่อประชากร 1 ล้าน แต่นั่นคงจะต้องดูถึงเดือนพฤษภาคม

ดังนั้น สถานการณ์ในประเทศไทยจึงไม่ได้ร้ายแรงมาก

และเราก็มีมาตรการที่ป้องกันได้ดีพอสมควร

ส่วนผลกระทบในขณะนี้เกิดจากการที่เราใช้มาตรการเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 แบบเข้มงวดพอควรทำให้เกิดปัญหากับการทำมาหากิน มีผลต่อเศรษฐกิจและต่อปากท้องของคนเกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้น จึงจะต้องมีการทบทวนผลดีผลเสียเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์จริงในแต่ละช่วงเวลา

 

แนวคิดเชิงยุทธศาสตร์
ต่อปัญหาโรคระบาดในอนาคต
คนต้องทำมาหากิน อยู่กับทุกโรคให้ได้

เป้าหมายสูงสุดในการต่อสู้กับโรคระบาด…อยู่ได้ ไม่ตาย ไม่กลัว

คือการที่คนจะต้องดำรงชีวิตอยู่ได้ ทำมาหากินได้ มีความปลอดภัยจากโรคพอสมควร

ถ้าเราไปตั้งเป้าหมายว่าแต่ละเมืองจะไม่มีผู้ติดเชื้อเลย แล้วได้รับรางวัลเกียรติยศแต่จะพากันอดตายหมดทั้งเมืองก็ไม่มีประโยชน์อะไร

เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่มี ที่จะเกิดโรคระบาด เรื่องนี้เป็นที่รู้กันทั่วโลกว่าจะมีโรคระบาดใหม่ๆ ที่เกิดจากการพัฒนาสายพันธุ์ หรือกลายพันธุ์ของเชื้อโรค หรือการทดลองของคนเกิดขึ้นใหม่ทุกปี

จึงมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากโรคระบาด

ประเทศไทยได้ตั้งขึ้นมาครั้งแรกสมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และสมัยรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ พ.ศ.2556-2559

ปัจจุบันก็มีแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 4 ในชื่อเดียวกันแต่เตรียมไว้สำหรับปี พ.ศ.2560-2564

ในอนาคตอาจมีการระบาดใหญ่ทุก 3-4 ปี การรู้จักป้องกัน ต่อสู้และดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคต จึงเป็นเรื่องจำเป็น

การใส่หน้ากากป้องกันอาจกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยในอนาคต ซึ่งเราจะเห็นคนส่วนใหญ่ทำแบบนั้น

แต่ในภาวะที่ร้ายแรงกว่า เครื่องป้องกันอาจจะต้องมากกว่านั้น ภายในอาคารสถานที่ทำงานก็อาจจะต้องมีอุปกรณ์พิเศษที่ฆ่าเชื้อหรือกรองอากาศ การกินอาหาร ก็อาจจะต้องผ่านเครื่องอุ่นอาหารที่มีการฆ่าเชื้อ นี่คือโทรศัพท์มือถือนอกจากทำหน้าที่สื่อสาร อาจจะต้องทำหน้าที่ส่งรังสีฆ่าเชื้อได้ด้วย

การทำงานแม้จะทำในบ้านในที่พักได้ แต่งานส่วนใหญ่คงต้องทำนอกที่พัก

วัฒนธรรม มนุษย์จะไม่ยอมจับเจ่าอยู่แต่ในห้องนอน พวกเขามีสังคม มีวัฒนธรรมของการสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและกลุ่มคน

ดังนั้น การติดต่อพบปะเป็นเรื่องที่จำเป็นและดำเนินต่อไป

การคิดค้นวิธีรักษา การคิดค้นยาหรือวัคซีนป้องกัน ก็จะเป็นการวัดความสามารถของมนุษย์ที่จะสู้กับการกลายพันธุ์ของโรคชนิดต่างๆ

อัตราการเสียชีวิตจากโรคต่างๆ ในอนาคตถ้าไม่สูงเกินไปก็จะเป็นที่ยอมรับได้ แต่ถึงรับไม่ได้ก็ต้องรับ เช่น วันนี้การเป็นโรคมะเร็งเกิดขึ้นในอัตราสูงมาก รักษายากมาก แต่เราก็รู้ว่าทุกคนมีโอกาสเป็น

บางทีเรื่องเหล่านี้เราอาจจะต้องยอมรับกฎธรรมชาติ เพราะจำนวนมนุษย์ในโลกนี้มีมากถึง 7.8 พันล้านคน และก็ได้ทำลายสมดุลธรรมชาติไปมากมายแล้ว

ตามดูรัฐทำหน้าที่ประคองเศรษฐกิจ
และช่วยประชาชน

การช่วยเหลือทางการเงินของรัฐบาลด้วยเงินเพียง 1.9 ล้านล้านไม่สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจของคน 70 ล้านในประเทศไทยเดินต่อไปได้หลายเดือน

มีแต่การคลายล็อกให้การผลิต การบริการดำเนินต่อไปได้ ชีวิตคนไทยจึงจะกลับคืนมา

ในระหว่างที่รอคอยอีก 1 สัปดาห์ คงต้องมาพูดถึงเรื่องความช่วยเหลือจากเงิน 1.9 ล้านล้านว่าควรดำเนินการอย่างไร

1. ถึงเวลาที่รัฐสภาจะต้องมาแสดงบทบาทในการเป็นตัวแทนของประชาชน เพื่อตรวจสอบดูแลและเสนอแนะรัฐบาลว่าการกระจายเงินควรทำอย่างไรให้ทั่วถึงและเป็นธรรม ในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชนจะต้องทำหน้าที่เรียกร้องให้ประชาชนในเขตต่างๆ ได้รับความช่วยเหลือจากผลกระทบของโควิด-19

ควรตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการหลายชุด เพื่อติดตามการกระจายเงินตามโครงการต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพรวดเร็วตรงเป้าหมายตามที่ตั้งไว้

ช่วยเสนอกฎเกณฑ์ในการกระจายเงินเพื่อความยุติธรรมสำหรับกลุ่มต่างๆ

2. การช่วยคนจนที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด วิธีการช่วยที่ดีและรวดเร็ว คือช่วยส่วนใหญ่ เท่ากัน แบบรวดเร็ว

โดยตัดกลุ่มที่มีความช่วยเหลืออยู่แล้วเช่นกลุ่มที่มีประกันสังคมออก

ตัดกลุ่มข้าราชการออก เด็กอายุน้อยที่อยู่ในความดูแลของผู้ปกครอง ส่วนคนที่อายุ 18 ปีขึ้นไปทำงานได้เสียภาษีทางอ้อมจากการซื้อสินค้าหรือเสียทางตรงภาษีรายได้ ก็มีสิทธิ์รับเงินช่วยเหลือเท่ากัน

หากรัฐจ่าย 3 เดือน เดือนละ 5,000 บาท ถ้ามียอดเงินช่วยเหลือ 6 แสนล้านจริงก็จะมีผู้ได้รับเงินนี้ถึง 40 ล้านรายน่าจะครอบคลุมได้มากพอสมควร แต่วิธีการจ่ายจะต้องคิดหลายรูปแบบเพราะผู้ด้อยโอกาสบางคนไม่สามารถรับเงินผ่านระบบบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ได้

ในการนี้รัฐบาลควรจะให้ ส.ส.ในพื้นที่ต่างๆ เป็นคนช่วยประสานงานและตรวจสอบเพื่อไม่ให้มีผู้ตกหล่นโดยร่วมกับการปกครองท้องถิ่นที่รู้จักคนในพื้นที่ซึ่งจะทำให้ละเอียดถี่ถ้วนยิ่งขึ้น

 

3. เงินช่วยซื้อหุ้นกู้เอกชน 400,000 ล้าน
ช่วยเจ้าสัว เพื่อไม่ให้กระทบประชาชน

ขณะนี้รัฐได้ออก พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 โดยกำหนดให้ในระยะกองทุนมีวงเงินไม่เกิน 400,000 ล้านบาท

ส่วนเงินที่ช่วยเหลือเพื่อซื้อหุ้นกู้เอกชนก็ควรตั้งกรรมการตรวจสอบจาก ส.ส. เข้าไปร่วมเช่นกันเพราะยอดเงินมีถึง 4 แสนล้าน

กลุ่มทุนที่จะได้รับความช่วยเหลือไม่ใช่กลุ่มเล็กๆ และการช่วยเหลือแต่ละรายน่าจะมีเป็นหลักพันล้านหรือหมื่นล้าน

มีคนสงสัยว่าทำไมต้องช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย เวลาเขาได้กำไรก็ไม่ได้มาแบ่งให้ชาวบ้าน เวลาลำบากทำไมเอาเงินภาษีชาวบ้านไปช่วย

เรื่องนี้ต้องอธิบายให้ดีๆ ไม่งั้นจะโดนหาว่าอุ้มนายทุน

พอจะเล่าให้ฟังแบบง่ายๆ ได้ดังนี้

กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ได้ออกหุ้นกู้มาขายเป็นพันล้านหมื่นล้าน เพื่อเอาเงินไปลงทุน

แต่ไม่เหมือนเราไปกู้ธนาคารที่มีทรัพย์สินที่ดินบ้านไปจำนอง บริษัทเหล่านี้ใช้เครดิตซึ่งมีการจัดอันดับว่าเป็น A+ A- หรือ BBB ฯลฯ เพื่อแสดงว่ามีเครดิตดี โดยจะให้ผลตอบแทนแก่ผู้ซื้อหุ้นกู้เหมือนดอกเบี้ย เช่นประมาณร้อยละ 3.5 ต่อปี

แต่ผู้ซื้อหุ้นกู้เหล่านี้ส่วนใหญ่จะไม่ใช่คนธรรมดา มักจะมาจากกองทุนต่างๆ พวกเขารับฝากเงินไว้จากประชาชนเช่นบริษัทประกันชีวิต หรือกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุน RMF ฯลฯ

ซึ่งส่วนใหญ่เงินมาจากเงินของประชาชนจำนวนหลายๆ ล้านคน เราจะเห็นว่าตอนที่บอกว่าให้เอาเงินประกันสังคมมาช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบ เขาจะบอกว่ามีเงินช่วยเหลือเฉพาะหน้าไม่มาก เพราะทางประกันสังคมก็ต้องไปหาดอกผลจากเงินเป็นหมื่นล้านด้วยการไปซื้อหุ้นกู้เหล่านี้

ต้องรอจนครบสัญญา เงินถึงจะคืนมา

ถามว่าทำไมแบงก์ชาติต้องมาช่วย

ก็เพราะบริษัทยังไม่สามารถคืนเงินได้ตามสัญญาหุ้นกู้ ส่วนใหญ่หลายโครงการที่ทำกันต้องใช้เวลานานกว่าในสัญญากู้ ที่อาจจะมีสัญญา 3-5 ปี

แต่โครงการจริงกว่าจะทำเงินได้ต้อง 7-10 ปี จึงต้องการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ออกมาแทนหุ้นกู้ชุดเก่า ที่ผ่านมาในภาวะปกติพวกเขาก็จะขอขายหุ้นกู้เพิ่มใหม่เรียกว่า Rollover (แบบนี้ไม่เหมือนแชร์ลูกโซ่ ที่เอาเงินคนใหม่ไปให้คนเก่า พวกเขามีโครงการจริงจึงมีสถาบันรับรองเครดิต เพียงแต่กำไรหรือขาดทุนมากเท่าไหร่ไม่รู้)

ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติคงทำ Rollover ได้

แต่สถานการณ์แบบนี้ใครจะซื้อ และบางกองทุนต้องการใช้เงินคืนด่วนมาก

ถ้าระบบติดขัด เกิดการไม่เชื่อถือ การไม่มีเงินคืนของบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นวงเงินแค่ไม่กี่พันล้าน อาจทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในตลาดการเงิน เกิดการขาดเสถียรภาพ ลามเป็นโดมิโน เพราะบริษัทที่ออกขายหุ้นกู้เป็นขาใหญ่ทั้งสิ้น และอยู่ในตลาดหุ้น เช่น การบินไทย, ปตท., SCC, CPF, LH, TRUE, CPALL และบริษัทอื่นๆ อีกหลายบริษัท (หนี้จากการขายหุ้นกู้เอกชน น่าจะมีรวมกันมากถึงประมาณ 3.6 ล้านล้าน มากกว่างบประมาณประเทศไทย)

ดังนั้น จึงจะต้องเอาเงินจากแบงก์ชาตินี่แหละไปใช้หนี้เก่าซึ่งจะครบในปีนี้หลายแสนล้าน แต่จะทยอยครบหมดคงอีกหลายปี โครงการช่วยเหลือนี้จึงเขียนว่าใช้เวลา 5 ปี ซึ่งหลักการแรกที่เขียนว่าให้ผู้ที่ขายหุ้นกู้ต้องออกเงิน 50% ในการทำ Rollover ก็ถือว่าใช้ได้

ที่อาจจะทะเลาะกันก็คือ จะเลือกช่วยใคร? ใช้หลักการอะไรในการคัดเลือก แบบนี้มันจึงต้องมีกรรมการและมีหลักการ ระวังเจ้าสัวเล็ก เจ้าสัวใหญ่ จะตีกันถ้าลำเอียง

 

โรคอุบัติใหม่
ทำให้โลกเปลี่ยนใหม่
ต้องปรับตัวอยู่ให้ได้

ดังนั้น คงต้องสรุปว่าถึงที่สุดแล้ว ต่อให้มีโรคระบาดอุบัติใหม่เกิดขึ้นทุกปี มนุษย์ก็ต้องหาวิธีป้องกันเพื่อที่จะดำเนินชีวิตโดยมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่เหมาะสมดำรงวัฒนธรรมที่ตนเองต้องการไว้ให้ได้ อาจยากลำบากขึ้น มีคนเสียชีวิตมากขึ้น

แต่จะให้ทุกคนหดหัวอยู่แต่ในบ้าน ในห้องนอน ไม่มีใครยอมแน่

การปรับตัวของแต่ละสังคมจะเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันในช่วงสถานการณ์ที่หนักเบาต่างกัน

ขณะนี้ฝ่ายยุทธศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจก็เตรียมปรับแผนกันแล้ว

สำหรับประเทศไทย กรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติที่กำหนดแผน 20 ปีไว้ไม่รู้จะรื้อแผนทันหรือไม่

และเขามองออกหรือไม่ว่าการต่อสู้ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองการทหารกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าเห็นรายงานของ ผบ.เรือบรรทุกเครื่องบินพี่พูดถึงลูกเรือซึ่งติดไวรัส Covid-19 คนที่เคยเรียนการเมืองการทหารคงรู้แล้วว่าวันนี้รูปแบบของการต่อสู้จะไม่ใช่ขี่ช้างจับตั๊กแตน ถ้ายังดำเนินแผนเก่าอยู่ก็หมายถึงการเอาปืนใหญ่ไปยิงไวรัส ยิงไปได้ 3 นัดก็เป็นไข้ตาย

โรคระบาดไม่ใช่อุกกาบาตถล่มโลก มนุษย์มีเวลาปรับตัว

ปรากฏการณ์ของ Covid-19 เหมือนเป็นการทดสอบมาตรการของประเทศต่างๆ ต่อโรคระบาดอุบัติใหม่ แม้เตรียมมาหลายปีแต่ผลการต่อสู้ถือว่ามนุษย์แพ้ในยกแรกๆ กว่าจะตั้งตัวได้ก็ตายเป็นแสน

Covid-19 คงไม่ใช่การระบาดใหญ่ครั้งสุดท้าย แม้เราคิดวัคซีนได้ แต่อีกปีสองปีข้างหน้าอาจจะมีโรคอื่นระบาดขึ้นมาอีก และถ้าเราจะต้องปิดเมืองหนีโรคระบาดทุกครั้งอย่างยาวนาน ชีวิตจะยากลำบากมาก เศรษฐกิจจะตกต่ำจนแทบอยู่ไม่ได้

ดังนั้น การปรับแผนให้พร้อมต่อสู้และอยู่กับโรคระบาดในระยะยาว จึงต้องเริ่มตั้งแต่เดี๋ยวนี้ นี่คือโลกใหม่