รำฦกการจากไป 6 ปี | “ไม้หนึ่ง ก.กุนที” สหายกวี สังเวยอธรรม : ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

จากคอลัมน์ “ปริศนาโบราณคดี” ตอนที่ 182 (เผยแพร่ครั้งแรก พ.ค.2557)

“ไม้หนึ่ง ก.กุนที”
สหายกวี สังเวยอธรรม

ดาวหนึ่งดวงร่วงแล้ว… แนวเชิงภู

เดือนกลางป่ายังดับอยู่กับป่า
เรียวใบกล้าลู่ลมมาพรมแผ่ว
สนระบัดพัดพลิ้วเป็นริ้วแพรว
ดาวหนึ่งดวง สว่างแล้วแนวเชิงภู

น้ำตาดาวพราวพร่างกลางฟ้าพริ้ม
ประดับริมโลกรื้นยังชื้นอยู่
เธอยิ้มเศร้าสิ้นไร้ใครรับรู้
ดินแอบดูขวัญดาว หว่างวาวเดือน

ซับน้ำตาเถิดขวัญอย่าหวั่นหวิว
อย่าปลิดปลิวละลิ่วลอยอย่าคล้อยเคลื่อน
ศรัทธาเลอลบฟ้าคงพร่าเลือน
ดาวอย่าเฉือนดินดับกับดวงแด

เดือนกลางป่าสว่างแล้วที่แนวป่า
ดาวศรัทธาทอแสงงามแข่งแข
เธอจงยืนหยัดสู้ให้รู้แพ้
มอบของขวัญนั้นแด่แผ่นดินดล

เธออ่อนแรงเจ็บล้ามานานนัก
ทอสายรักถักสีทองส่องเวหน
สกาวแสงแสวงหา..ค่าแห่งคน
ทวนกระแสสับสน แม้ซมซาน

จิตรกรรมดวงดาวยังพราวพริ้ม
ประดับริมโลกไร้ให้อ่อนหวาน
ใครฤๅรับรู้รอยอันร้าวราน
คอยบรรสานแสงไสว อยู่ในทรวง

วันนี้ ดวงดาวไม่ร้องไห้
แผ่นดินหวาดหวิวไหวใจยังห่วง
สนสะบัดพลัดพรากจากกิ่งรวง
ดาวหนึ่งดวงร่วงแล้ว..แนวเชิงภู

“เพ็ญ ภัคตะ”
จากบทกวีรวมเล่มชุด “ปุษปัญชลี” ปี 2532

แด่สหายกวี ผู้สังเวยอธรรม

บทกวีข้างบนแม้จะรจนานานเกินกว่า 30 ปีแล้ว แต่ก็ขออนุญาตหยิบมาตีพิมพ์อีกครั้ง เพื่อมอบให้แด่การจากไปของ “สหายกวีสีแดง” ผู้แกร่งกร้าว นาม “ไม้หนึ่ง ก.กุนที”
สหายกวีผู้ถูกปลิดชีพภายใต้กระบวนยุทธการลงทัณฑ์นักล่าแม่มดอีกรายหนึ่ง แม้จะมีผู้พยายามบิดเบือนให้เป็น “ปมปัญหาส่วนตัว” ก็ตามที

สหายกวีผู้มีอายุวัย 40 ตอนกลาง กำลังเลือดร้อน ไฟแรง ยืนหยัดชัดเจนในอุดมการณ์ที่ตน “เลือกข้าง” แล้ว

สหายกวีรุ่นน้อง (ที่ห่างกันเพียง 5 ปี) ร่วมสถาบันพระพิฆเนศวร์ แม้ผู้เขียนจะเป็น “เลือดสีม่วง-แววมยุรา” แห่งสายธารโบราณคดี ส่วนไม้หนึ่งจะเป็น “เลือดสีฟ้า-ใต้ร่มจัน ลานดอกแก้ว” แห่งอักษรศาสตร์ ทับแก้ว ก็ตาม

เหนือสิ่งอื่นใด ผองเราล้วนเป็น “กวีที่มีหัวใจสีเดียวกัน” นั่นคือ ขอยืนหยัดต่อสู้เคียงข้างรากหญ้าประชาธิปไตย

ขอย้อนรำลึกถึงคืนวันก่อนๆ สมัยที่เราเคยเดินผ่านหาวห้วงช่วงสาวหนุ่ม บนวิถีกวี “วัยว้าวุ่น” ร่วมกัน จำได้ดีว่าพบกับ “ไม้หนึ่ง” ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2539 ที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม ในงานสัมมนาระดมพลังทางปัญญาเพื่อร่วมคัดเลือกกวีนิพนธ์ไทย 100 ชิ้นยอดเยี่ยมแห่งยุคสมัย จัดโดยศาสตราจารย์ ดร.เจตนา นาควัชระและครั้งที่ 2 ปี 2541สถานที่เดิม คณะผู้จัดงานเดิม แต่อาจเปลี่ยนเนื้อหาของงานเป็นหัวข้อ “กวีนิพนธ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย : ประสบการณ์จากวรรณคดีไทย อังกฤษ อเมริกัน ฝรั่งเศส และเยอรมัน”

ทั้งสองครั้งที่ได้พบกับไม้หนึ่ง ยังจำบุคลิกของน้องชายสหายกวีผู้ขี้อาย เคร่งขรึม พูดน้อย ยิ้มยาก คนนี้ได้ดี แต่งตัวเรียบร้อย ใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาวเอาเข้าในกางเกง ตัดผมสั้น มาดเหมือนนักธุรกิจผิดกับกวีหนุ่มคนอื่นๆ ที่ผมยาว ไว้หนวดเครารุงรัง แต่งตัวปอน พูดง่ายๆ ว่าไม้หนึ่งเป็นกวีในจำนวนไม่กี่คนที่ “ไม่มียูนิฟอร์มของกวี” ชวนให้นึกถึงเพื่อนกวีผู้ล่วงลับไปแล้ว ที่เกือบจะเป็นสหชาติกันนามโกศล กลมกล่อม ก็มาสไตล์เดียวกันกับไม้หนึ่งคือหวีผมเรียบแต้ สะอาดสะอ้านไม่ซกมก ไม่ทะลึ่งตึงตัง ทำตัวเจ้าชู้เจ้าเสน่ห์ เหมือนกวีส่วนใหญ่

ฉายาเดิมของไม้หนึ่งคือ “กวีข้าวหน้าเป็ด” อันเป็นฉายาที่เคียงคู่มากับ “กวีบะหมี่เป็ด” ที่พวกเราใช้เรียกกวีหนุ่มอีกคนหนึ่งนามมนตรี ศรียงค์ ด้วยทั้งสองคนนี้เป็น “พ่อครัวหัวป่าก์” มือหนึ่ง รู้สูตรที่จะปรุงเป็ดย่างรสเด็ดระดับพระกาฬถึงขั้นเปิดร้านขายอาหารกันมาแล้วและนี่คือประจักษ์พยานเครื่องยืนยันในฉายาของ “กวีข้าวหน้าเป็ด”

ในบทกวีที่ชื่อว่า “เพลงปังตอ” จากหนังสือรวมกวีนิพนธ์ชุด “บางเราในนคร”

“ปังตอข้าพเจ้าหนักแปดขีด
เป็ดย่างทุกตัวสยบใต้
หลอมรุนแรงเข้ากับละมุนละไม
ปรากฏในทุกสับกรีด คมปังตอ”

หลังจากนั้นกาลเวลาก็พรากเราไกลจากกันนานกว่าสิบปี จึงเพิ่งหวนกลับมาพบกันข้างเวทีที่ราษฎร์ประสงค์ 2-3 ครั้ง จากน้องชายขี้อายแต่งตัวเหมือนหนุ่มแบ็งก์ พลันกลายเป็นหนุ่มใหญ่ฉกรรจ์ผมเผ้ายาวมีผ้าแดงโพกศีรษะ ยืนอ่านบทกวีด้วยเสียงอันทรงพลัง ไม่เหลือมาดกวีข้าวหน้าเป็ดคนเดิมที่ไม่พูดไม่จากับใคร หรือ “ไอ้เสือยิ้มยาก” คนนั้น เว้นแต่ “คมปังตอ” คมเดิมที่กวีหนุ่มย้ายมันออกมาจากเขียง เพื่อมากวัดไกวลับคมมันใหม่อีกครั้งในเวทีนักรบเสื้อแดงแทน

หลังเหตุการณ์ปราบการสลายการชุมนุมเดือนพฤษภา 2553แว่วข่าวมาว่าไม้หนึ่งเป็นหนึ่งในแบล็คลิสต์ที่ฝ่าย ศอฉ. กำลังไล่ล่าต้องการกุดหัว กวี ศิลปิน ที่ขึ้นเวทีทั้งวิลา คัญทัพ ไพจิตร อักษรณรงค์ และไม้หนึ่ง ก.กุนที จำต้องจรลีลี้ภัยไปอยู่แถวประเทศเพื่อนบ้าน ท่ามกลางความไม่สบายของผองเพื่อนผู้อยู่หลัง
ด้วยเหตุนี้เองทำให้งานตัดสินรางวัล “ฟรีไรต์อวอร์ด” เมื่อวันที่ 10 /10/10 (2010 หรือ 2553) ณ หอประชุมเล็กมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อพ้องน้องพี่ในแวดวงวรรณกรรมเสื้อแแดงจึงไม่พบหน้าค่าตาของไม้หนึ่งในครั้งนั้น

และจากนั้นมาก็ยังไม่มีโอกาสได้พบไม้หนึ่งอีกเลย แม้ไม้หนึ่งจะเดินทางกลับมาเมืองไทยแล้วหลังมีการเลือกตั้งนายกยิ่งลักษณ์ในกลางปี 2554 ได้แต่ติดตามข่าวจากหน้าเฟสบุ๊กและดูยูทูป เห็นพัฒนาการของสหายกวี กวัดแกว่ง “คมปังตอ” อย้างท้าทายอำนาจอำมาตย์ในทุรยุคอย่างเอาใจช่วยเต็มร้อย

และแล้ว “คมปังตอ” นั้นก็พลันพลัดหลุดจากเขียงของนักสู้ประชาธิปไตย ในคิมหันต์เดือดเดือนเมษา สหายกวีร่างดับอนาถสังเวยเหยื่ออธรรมแห่งประเทศที่ต้องการย้อนกลับไปปกครองในระบอบสมบูรณาธิราชย์อีกรอบ

เมื่อคราวที่มหากวี “ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์” ได้จากไป มีเพื่อนกวีบางคนเพิ่งเอ่ยถึงว่า อันที่จริงผลงานวรรณศิลป์ของไม้หนึ่ง ก็มีความยิ่งใหญ่ในเชิง “ขบถฉันทลักษณ์” ไม่่ต่างไปจากอังคาร กัลยาณพงศ์แต่อย่างใดเลย

หากไม้หนึ่งยังคงมีชีวิตอยู่ และยืนหยัด “ขบถ” ทั้งต่อสังคมทุรยุค และขบถต่อฉันทลักษณ์แนวขนบนิยมต่อไป วันหนึ่งนามของเขาจักอุโฆษดั่งอังคาร … มีกวีบางคนภิเปรยเช่นนั้นต่อจากนี้ จะมีกวีคนไหนที่กล้าลงท้ายเสียงฉันทลักษณ์ในวรรคที่สี่ด้วยเสียงสูงหรือเสียงจัตวา ดังความ “กล้า” และ “บ้าบิ่น” เช่นไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีผู้ถูกตราหน้าว่าเขียนบทกวีไม่เป็นสับปะรด (แต่เป็นข้าวหน้าเป็ด)

“ภูผาผงาด ชวนตระหนก
อุทยานยะเยือก สะทกสั่น
แมงกวีถวิลถึงเพลงพระจันทร์
บอบบาง กระสัน กับทุกอ่อนไหว”

นิทราเถิดน้องชายกวีผู้มีหัวใจสีเดียวกัน ฟังพี่สาวกวิณีเห่กล่อมด้วยกวีบทนี้

เราคือผู้บริสุทธิ์

เราจะร่วมทุกข์-สุขกันที่นี่ ท่ามกลางความดีถูกยีย่ำ
ท่ามกลางแผ่นดินทมิฬดำ จักสานทอแสงธรรมส่องนำทาง

เราจะร่วมทุกข์-สุขกันที่นี่ มิ่งมิตรคนดีอย่าหมองหมาง
แม้นคืนฟ้ามืดย่อมรุ่งราง ม่านหมอกมลายร้างค่อยบางเบา

เราจะร่วมทุกข์-สุขกันที่นี่ แม้สังคมจะข่มขี่ว่าโฉดเขลา
เพียงศรัทธาเธอนั้นช่วยบรรเทา ให้คลายความโศกเศร้าที่เร้ารุม

เราจะร่วมทุกข์-สุขกันที่นี่ ดั่งมณีเนื้อแท้แม้ไฟสุม
มิอาจรานเพชรร้าวเพียงเถ้ากุม ด้วยความดีห่อหุ้มมณีนั้น

เราจะร่วมทุกข์-สุขกันที่นี่ วันนี้วันไหนไม่เคยหวั่น
ฟ้าสีแดงคือแสงแห่งตะวัน ปลุกความฝันใฝ่เราเฝ้ารอชัย