รายงานพิเศษ / โชคชัย บุณยะกลัมพ/จุฬาฯ จัดทัพหุ่นยนต์ สู้ ‘โควิด’ ‘นินจา-ปิ่นโต-กระจก’ ช่วยหมอ

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

จุฬาฯ จัดทัพหุ่นยนต์ สู้ ‘โควิด’

‘นินจา-ปิ่นโต-กระจก’ ช่วยหมอ

 

วิกฤตการแพร่ของโรคระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ทำให้มีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เพื่อแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ ลดความสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้สร้างนวัตกรรมผลผลิตทางวิชาการหลายประการออกมารับใช้สังคมไทย เช่น “Chula COVID-19 Strip Test Service” พร้อมระบบที่สามารถคัดกรองผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว ระดมไปช่วยบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ

สำหรับหุ่นยนต์ชุดแรกของภาควิศวกรรมเครื่องกลคือ “หุ่นยนต์นินจา”

ใช้สำหรับผู้ป่วยติดเตียง (stroke) ช่วยสื่อสารทางไกลระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และสามารถควบคุมสั่งการได้จากระยะไกล พร้อมอุปกรณ์วัด และบันทึกสัญญาณชีพต่างๆ เช่น วัดความดัน วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ วัดชีพจร วัดอุณหภูมิ เพื่อให้แพทย์ใช้ประกอบการวินิจฉัยอาการได้ทันที ซึ่งต้องอาศัยการสื่อสารที่แม่นยำ ชัดเจน และจะต้องมีระบบหลายอย่างช่วยประกอบ หุ่นยนต์ตัวนี้มีความซับซ้อน การเคลื่อนที่จะมีความนุ่มนวลและซับซ้อนสูงกว่า สามารถใช้ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน เพียงแต่การผลิตจะช้ากว่า

“หุ่นยนต์ปิ่นโต” ลักษณะคล้ายถาดเข็นของ มีคุณสมบัติพื้นฐานในการรักษาพยาบาลและอำนวยความสะดวกผู้ป่วยโควิด-19 ได้ใกล้เคียงกับหุ่นยนต์นินจา ปัจจุบันก็ยังคงใช้อยู่ สามารถใช้ส่งอาหารและเวชภัณฑ์จากระยะไกล ติดตั้งด้วยระบบภาพสื่อสารทางไกล (Telepresence) ไปยังห้องผู้ป่วย ซึ่งเป็นระบบที่ใช้งานง่าย ช่วยลดความเสี่ยงไม่ต้องใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ และอำนวยความสะดวกให้บุคลากรทางการแพทย์

“หุ่นยนต์กระจก” มีลักษณะเป็นหุ่นยนต์แท็บเล็ต ใช้สำหรับสื่อสาร พูดคุย สามารถพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ได้ทันทีโดยไม่ต้องกดรับสาย และสามารถกดเรียกหาพยาบาลได้เมื่อต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งช่วยลดทั้งความเสี่ยงติดเชื้อและการใช้ชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก AIS และ True ในเรื่องการสื่อสาร

ในส่วนการผลิต มีโรงงานผลิตโดรนขนาดใหญ่ที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งขณะนี้ทำหุ่นยนต์ต้นแบบประมาณ 20-30 ตัว ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์

จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการผลิตที่ชัดเจนต่อไป

 

เป้าหมายคือภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้จะผลิตหุ่นยนต์ปิ่นโต รวมถึงระบบ Telepresence รวม 103 ชุด และจะผลิตอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตมองว่าระบบ Telemedicine จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการสาธารณสุขของประเทศมากขึ้น

ซึ่งระบบ Telepresence ที่นำเสนอจะมีการพัฒนาต่อยอดต่อไป เน้นวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นแนวหน้าสร้างความมั่นใจในการช่วยเหลือผู้ป่วย จะช่วยเซฟประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ให้มีความมั่นใจ ปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่

สำหรับหลักในการพัฒนาหุ่นยนต์ปิ่นโตมาจากสตาร์ตอัพศิษย์เก่าที่จุฬาฯ ได้บ่มเพาะมาเป็นเวลายาวนาน อาทิ HG Robotics, Obodroid ซึ่งกลับมาคืนให้กับสังคม ถ้าไม่มีกลุ่มสตาร์ตอัพเหล่านี้ วันนี้ก็จะไม่มีหุ่นยนต์เหล่านี้ให้เราได้เห็น อย่างน้อยเป็นหนึ่งผลสำเร็จที่สะท้อนให้เห็นว่าการบ่มเพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีความคิดเชิงนวัตกรรม

ทำให้วันนี้เราสามารถฟันฝ่าวิกฤตตรงนี้ไปได้ด้วยดี

 

ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการพัฒนาหุ่นยนต์ CU-RoboCOVID ว่า

  1. เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นแนวหน้า ในฐานะแนวหลังจึงต้องช่วยกันอำนวยความสะดวกให้ทั้งแพทย์ พยาบาล และคนไข้
  2. ลดความเสี่ยง เนื่องจากการผลิตแพทย์และพยาบาลใช้งบประมาณและเวลาค่อนข้างมาก จึงต้องลดความเสี่ยงแพทย์ พยาบาลให้ได้มากที่สุด
  3. ลดการเข้าไปสัมผัสผู้ป่วย ซึ่งมีหลายขั้นตอน ซับซ้อน ยุ่งยาก จึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้มากขึ้น
  4. บุคลากรทางด้านโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะปอดและระบบหายใจไม่ได้มีมาก ดังนั้น การสร้างระบบเครือข่ายที่จะสามารถสื่อสารโดยใช้ประสบการณ์ของแพทย์ที่อยู่ในกรุงเทพฯ หรือในเมืองใหญ่ที่มีความรู้ ประสบการณ์ หรือเคยเจอผู้ป่วยโรคนี้ออกไปสู่ต่างจังหวัดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

ด้านนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ (สนจ.) เปิดเผยว่า สนจ.ทราบถึงความต้องการใช้หุ่นยนต์เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อให้หมอและพยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สู้ร่วมกันในภารกิจนี้ ตามมาตรการ Social Distancing จึงมีแนวคิดจัดหาหุ่นยนต์ช่วยเซฟหมอจำนวน 103 ตัว ในโอกาสครบ 103 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลค่า 5,150,000 บาท

โดยในเบื้องต้นได้อนุมัติงบประมาณ 1 ล้านบาท เป็นทุนประเดิมเร่งผลิตหุ่นยนต์ PINTO 20 ชุดแรกออกมาให้พร้อมใช้งานจริง

และส่งมอบหุ่นยนต์ชุดแรกให้กับหลายโรงพยาบาลแล้ว อาทิ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 2 ชุด โรงพยาบาลศิริราช 2 ชุด โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต 4 ชุด เป็นต้น

ขณะเดียวกันยังมีโรงพยาบาลอีกหลายแห่งทั่วประเทศประสานเข้ามาขอรับการสนับสนุนอีกไม่ต่ำกว่า 50 โรง

ดังนั้น สนจ.จึงได้จัดทำแคมเปญเร่งด่วน “หุ่นยนต์เซฟหมอ หมอเซฟเรา เราเซฟหมอ” เพื่อขอรับบริจาคจากภาคีเครือข่ายและผู้มีจิตศรัทธา จนได้เงินมาจัดซื้อหุ่นยนต์ PINTO จนครบ 103 ตัว

และจะเร่งส่งมอบให้กับโรงพยาบาลที่ร้องขอมาได้ในเดือนเมษายนนี้ เป็นกองหนุนให้บุคลากร