วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม : ปัญหาความเป็นความตายของมนุษย์

วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม (1)

วิกฤตินิเวศ : ปัญหาความเป็นความตายของมนุษย์

ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ที่กระบวนโลกาภิวัตน์เร่งฝีก้าวเต็มที่ (จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกปลายปี 2001) ความตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ยิ่งเพิ่มมากขึ้น หายนะทางสิ่งแวดล้อมและจากระบบนิเวศรุนแรงขึ้น ก่อความเสียหายต่อชีวิตทรัพย์สินมนุษย์จำนวนมาก

ในวงนักวิทยาศาสตร์มีการนำเสนอแนวคิดว่าโลกก้าวสู่เวลาทางธรณีวิทยาใหม่ได้แก่ “สมัยแอนโทรโปซีน”

นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญที่ทำให้แนวคิดนี้เป็นที่ยอมรับและสนใจแพร่หลายคือ พอล ครุตเซน นักเคมีบรรยากาศชาวเนเธอร์แลนด์ ผู้ได้รางวัลโนเบลสาขาเคมีปี 1995

ในการบรรยายครั้งหนึ่งในปี 2000 เขาอธิบายแนวคิดแอนโทรโปซีนว่า การกระทำของมนุษย์มีผลต่อธรณีวิทยาของโลกหลายประการ

คือการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของพืชและสัตว์

การเกิดมลพิษทางทะเลจากขยะพลาสติก

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมากสู่ชั้นบรรยากาศ การรบกวนวัฏจักรของไนโตรเจนด้วยปุ๋ย เป็นต้น

แต่มีผู้แย้งในประเด็นต่างๆ รวมทั้งประเด็นทางแง่คิดปรัชญาว่า การสร้างสมัยแอนโทรโปซีนที่มนุษย์เป็นผู้กำหนดสมัยทางธรณีกาลนี้ ก่อความรู้สึกที่เป็นอคติขึ้นได้

ด้านหนึ่งเอียงไปข้างว่ามนุษย์เป็นใหญ่ เป็นผู้จัดการโลก กระทั่งเอนเอียงไปในทางคิดว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลางโลก ซึ่งเป็นอคติที่ยอมรับไม่ได้

อีกด้านหนึ่งเอนเอียงไปในทางประณามมนุษย์ว่าเป็นต้นตอของหายนะทางนิเวศ จนถึงเห็นว่า ให้มนุษย์ตายลงมากๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศขึ้น

ถึงปี 2016 คณะนักวิทยาศาสตร์ทำงานเรื่องสมัยแอนโทรโปซีน เพื่อหาหลักฐานที่ชัดเจนว่าการกระทำของมนุษย์ได้สร้างสมัยแอนโทรโปซีนจริงอย่างไรและไม่ประกอบด้วยอคติ

มีความเห็นว่าสมัยแอนโทรโปซีนน่าจะเริ่มต้นราวทศวรรษ 1950 จากการทดลองนิวเคลียร์ พบธาตุกัมมันตรังสีที่เกิดจากการทดลองตกลงบนพื้นโลก ปรากฏเป็นหลักฐานทั่วโลกซึ่งจะดำรงอยู่เป็นเวลานาน

การปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศปริมาณมาก มลพิษทางพลาสติก อนุภาคของคอนกรีตและอะลูมิเนียม การเพิ่มขึ้นของไนโตรเจนและฟอสเฟตจากการใช้ปุ๋ย การนำไก่มาเป็นสัตว์เลี้ยง ซึ่งพบในฟอสซิลทั่วโลก ส่วนการสูญพันธุ์ใหญ่ มีหลักฐานทางธรณีวิทยาไม่ชัดเจน

การเคลื่อนไหวในวงนักวิทยาศาสตร์ที่ควรกล่าวถึงต่อมา เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2018 เมื่อนักวิทยาศาสตร์ของโลก 94 คน ทำจดหมายเปิดผนึกสื่อสารสำคัญ 3 ข้อ คือ

ก) วิกฤตินิเวศเป็นสิ่งที่โต้แย้งไม่ได้ มนุษย์ไม่สามารถละเมิดกฎพื้นฐานทางธรรมชาติและทางวิทยาศาสตร์อีกต่อไปโดยไม่ถูกลงโทษ ชี้ว่า “เรากำลังอยู่ในช่วงแห่งการสูญพันธุ์ใหญ่ ครั้งที่หกที่ราว 200 สปีชีส์สูญพันธุ์ไปทุกปี”

ข) รัฐบาลเมินเฉยต่อปัญหานี้ โดยละเลยหลักการป้องกันไว้ก่อน และไม่ยอมรับว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่สิ้นสุดในโลกที่มีทรัพยากรอย่างจำกัดเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ รัฐบาลกลับสนับสนุนลัทธิผู้บริโภคที่บ้าคลั่ง ส่งเสริมลัทธิตลาดเสรี ปล่อยให้มีการส่งก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ไม่ถือเป็นความรับผิดชอบในการป้องกันพลเมืองจากอันตราย และประกันอนาคตของคนรุ่นต่อไป ไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการนำ ทำลาย “สัญญาประชาคม”

ค) ดังนั้น จึงเป็นสิทธิและความรับผิดชอบทางศีลธรรมของนักวิทยาศาสตร์และพลเมืองผู้มีความห่วงใย จะต้องรวมตัวกัน คณะนักวิทยาศาสตร์นี้สนับสนุนขบวนการต่อต้านการสูญพันธุ์ กดดันให้รัฐบาลต้องเปิดเผยความจริงที่ร้ายกาจแก่ประชาชน

สร้างสภาประชาชนโลกขึ้น (ดูจดหมายเปิดผนึกของ Dr. Alison Green และคณะ ชื่อ Facts about our ecological crisis are incontrovertible. We must take action ใน scientistwarning.org ตุลาคม 2018) ข้อเสนอนี้ค่อนข้างก้าวหน้าที่ถูกคัดค้านไม่น้อย การเคลื่อนไหวใหญ่กว่าเป็นของนักวิทยาศาสตร์ 11,000 คนจาก 153 ประเทศ (ในเดือนพฤศจิกายน 2019)

ประกาศเตือนภาวะฉุกเฉินทางภูมิอากาศที่จะนำมาซึ่งความทุกข์ร้อนแสนสาหัสแก่ผู้คนอย่างเลี่ยงไม่ได้ ถ้าหากไม่ลงมือแก้ไขอย่างจริงจังใน 6 เรื่องคือ

1) การอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานทดแทน

2) ตัดการฟุ้งของก๊าซฮีเลียมสู่ชั้นบรรยากาศ

3) อนุรักษ์ระบบนิเวศที่ช่วยสร้างสมดุลของบรรยากาศ

4) กินอาหารจากพืชเพิ่มขึ้น จากสัตว์น้อยลง

5) เปลี่ยนเศรษฐกิจไปสู่ฐานปลอดคาร์บอน

6) ลดการเพิ่มประชากร ทั้งหมดนี้ทำได้ไม่ง่าย และมีแนวโน้มที่จะถูกเมินเฉยหรือปฏิบัติครึ่งๆ กลางๆ จากรัฐบาลทั้งหลาย

ยังมีประเด็นทางด้านโรคระบาดที่เป็นที่สนใจมากของนักระบาดวิทยา มีองค์การอนามัยโลกเป็นแกน ที่ได้ศึกษาและเตือนเกี่ยวกับอันตรายนี้เป็นระยะยาวนานราว 20 ปีมานี้

เรื่องเป็นดังนี้ว่า

1)ความสำเร็จขั้นต้นในการกำจัดโรคระบาด ได้เกิดโรคระบาดในอารยธรรมมนุษย์มาแต่โบราณ ก่อความเสียหายและผลกระทบต่อสังคมนั้นๆ อย่างรุนแรง ผู้คนทั้งหลายได้พยายามต่อสู้เป็นประการต่างๆ เช่น การบวงสรวงต่อเทวดา การถือศีล ไปจนถึงการกินน้ำสุกและสุราเมรัย และการแยกผู้ป่วย เป็นต้น

แต่ความรู้ดังกล่าวเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น จนถึงครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 ในยุโรปได้มีการพัฒนาความรู้นี้ขึ้นเป็นองค์ความรู้ที่รอบด้านทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติ ได้แก่ ทฤษฎีเชื้อโรค การพัฒนาวัคซีน ยาปฏิชีวนะ และการปฏิวัติทางการสุขาภิบาล เป็นต้น ในการต่อสู้กับโรคระบาด

บุคคลที่โดดเด่นในการเคลื่อนไหวนี้ได้แก่ หลุยส์ ปาสเตอร์ (1822-1895) นักเคมีและจุลชีววิทยาชาวฝรั่งเศส ผู้เสนอทฤษฎีเชื้อโรค ว่าโรคเหล่านี้เกิดจากจุลินทรีย์หลายชนิด

คิดวิธีฆ่าเชื้อแบบพาสเจอไรซ์ และพัฒนาวัคซีนแก้โรคพิษสุนัขบ้า โรคอหิวาต์ไก่ แอนแทรกซ์ เป็นต้น (ก่อนหน้านั้นเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (1749-1823) นายแพทย์ชาวอังกฤษ ได้คิดค้นการให้วัคซีนแก้โรคไข้ทรพิษหรือฝีดาษด้วยวิธีการง่ายๆ ไม่ได้พัฒนาวัคซีนที่ซับซ้อนแบบปาสเตอร์)

สำหรับการสุขาภิบาลและการสร้างนครสมัยใหม่ที่โด่งดังคือการทำนครปารีสให้ทันสมัย ที่เริ่มตั้งแต่พระเจ้านโปเลียนที่สาม ในปี 1848-1852 มีการปรับปรุงกรุงปารีสเก่าที่แออัด เกลื่อนด้วยสิ่งปฏิกูล มากด้วยโรค อาชญากรรม และความไม่สงบ ด้วยการปรับปรุงดังกล่าวที่ใช้เวลานาน

ปารีสได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วและสวยงามมีเสน่ห์จนถึงทุกวันนี้ จากความสำเร็จดังกล่าวช่วยให้ประเทศทั้งหลายโดยเฉพาะที่พัฒนาแล้วและมีระบบสาธารณสุขเข้มแข็ง สามารถปราบโรคระบาดได้อย่างดี ลดโรคหัด คางทูมลงไปมาก ขจัดโรคฝีดาษไปสิ้นเชิง

สำหรับโรคโปลิโอขจัดไปจนเหลืออยู่ไม่กี่ประเทศ

โรคระบาดที่เคยเป็นที่น่าหวาดกลัว คร่าชีวิตคนจำนวนมากคือมาลาเรียและวัณโรคก็ถูกทำให้หมดฤทธิ์ไป

เหล่านี้ทำให้เกิดการเห็นผิดในหมู่ประเทศพัฒนาแล้วบางประการว่า

ก) โรคระบาดกลายเป็นเรื่องอดีต มันจะไม่กลับมาคุกคาม หรือทำให้กลายเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นอีกเหมือนเดิม

ข) ปัญหาโรคระบาดที่สำคัญอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจน ขาดความรู้ และมีระบบสาธารณสุขที่ไม่แข็งแรงที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องไปให้การช่วยเหลือ ไม่ปล่อยให้เป็นแหล่งเพาะโรคระบาดของโลก

ความจริงกลายเป็นว่า

ก) มีโรคติดต่อและโรคระบาดหลายชนิดเกิดการดื้อยา เช่น มาลาเรียและวัณโรค ทำให้การรักษาแทบเป็นไปไม่ได้หรือรักษาได้ยาก

ข) การระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นในประเทศศูนย์กลางอำนาจและความมั่งคั่ง ได้แก่จีนที่กำลังก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจโลก จากนั้นลามสู่ยุโรปมีอิตาลีเป็นต้น แล้วแพร่กระจายสู่สหรัฐที่เป็นอภิมหาอำนาจของโลก

ทั้งยังเป็นที่สังเกตว่า การระบาดใน 3 แห่งใหญ่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ ที่เป็นศูนย์กลางการค้าและการศึกษาวัฒนธรรม

เช่นในจีนเกิดที่เมืองอู่ฮั่น แพร่ไปตามเมืองใหญ่อย่างเช่นปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้

ที่อิตาลีเกิดขึ้นในบริเวณภาคเหนือที่มีความเจริญมั่งคั่งกว่าตอนใต้

ในสหรัฐระบาดใหญ่ในนครนิวยอร์กที่เป็นศูนย์กลางการเศรษฐกิจและวัฒนธรรมบันเทิงของชาติ

ดังนั้น จึงกลายเป็นว่าประเทศพัฒนาแล้วหรือมั่งคั่งมีอำนาจได้กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคระบาด ไม่ใช่ประเทศกำลังพัฒนาหรือชนบทที่ห่างไกล

2)โรคระบาดใหม่ในศตวรรษที่ 21 โรคระบาดใหม่เหล่านี้มีลักษณะเด่นคือ มันเป็นเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นสารกึ่งมีชีวิต ไวรัสมีลักษณะเหมือนสิ่งมีชีวิตที่มีสารพันธุกรรมและมีวิวัฒนาการ แต่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตสมบูรณ์ที่อยู่ด้วยตนเองได้อย่างเช่นแบคทีเรีย ต้องไปอาศัยอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่น

การที่ไวรัสมีแต่สารพันธุกรรม ทำให้มันสามารถมีวิวัฒนาการหรือกลายพันธุ์ได้อย่างเหมือนไม่สิ้นสุดหรือมีขีดจำกัด

ต่างกับเซลล์ของมนุษย์ ถ้าหากกลายพันธุ์อย่างไม่เหมาะสม อาจกลายเป็นมะเร็งเนื้อร้าย เป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต

ดังนั้น เราจึงไม่สามารถนำทฤษฎีเชื้อโรคของหลุยส์ ปาสเตอร์ มาใช้ได้โดยตรง

แต่ต้องสร้างทฤษฎีใหม่ว่าด้วยการกลายพันธุ์ของไวรัสที่ก่อโรคใหม่

เชื้อไวรัสเหล่านี้ติดต่อสู่คนผ่านสัตว์ จากนั้นกลายพันธุ์มาติดต่อระหว่างคนกับคนในรูปแบบต่างๆ ในเวลาที่ต่างกันไป

มีการพบเชื้อไวรัสใหม่ตั้งแต่ปลายศตวรษที่ 20 ที่สำคัญคือ

ก) เชื้ออีโบลา ในทศวรรษ 1970 เป็นโรคไข้เลือดออกอีโบลา มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกา

ข) เชื้อเอชไอวี/เอดส์ ในทศวรรษ 1980 เข้าใจว่าติดจากลิงและเอพในลุ่มน้ำคองโกมานานแล้ว จึงระบาดในหมู่มนุษย์ ทำลายเม็ดเลือดขาว ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อกว่า 33 ล้านคน และตายไปนับล้านในแต่ละปี

ค) ไวรัสนิปาห์ในทศวรรษ 1990 เกิดการติดเชื้อรุนแรงในระบบหายใจและสมองอักเสบ ติดต่อจากสัตว์คือค้างคาวกินผลไม้ และสุกร เป็นต้น

ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 พบเชื้อโรคใหม่อย่างน้อย 150 ชนิด โรคเหล่านี้บางทีเกิดขึ้นแล้วหายไป แล้วกลับมาระบาดใหม่

บางโรคเกิดขึ้นแล้วก็ฝังตัวในสังคมมนุษย์ไม่ยอมจากไป

การพบเชื้อใหม่จากไวรัสก่อให้เกิดการตื่นตัวเรื่องโรคระบาดขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมกับข่าวเล่าลือจำนวนมาก เช่น มันเป็นการทำสงครามใช้อาวุธชีวภาพ หรือมันหลุดมาจากห้องทดลองที่ค้นคว้าพัฒนาอาวุธเหล่านี้

เมื่อถึงศตวรรษที่ 21 เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งก่อความตื่นตระหนกและความเสียหายใหญ่อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญได้แก่

ก) การระบาดโรคซาร์สปี 2003

ข) การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เอช1เอ็น1 ปี 2009 รุนแรงกว่าไข้หวัดใหญ่ธรรมดา จนองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นโรคระบาดโลก แต่มันกลับรุนแรงน้อยกว่าที่คาด

ค) ไข้หวัดเมอร์ส ระบาดอยู่ในบริเวณตะวันออกกลาง ระหว่างปี 2012-2013

ง) อีโบลาระบาดครั้งใหญ่ในปี 2014 ใน 3 ประเทศแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ กินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน การระบาดครั้งนี้ต่างกับการระบาดที่ผ่านมาทั้งหมด นั่นคือแทนที่จะจำกัดวงอยู่ในพื้นที่แคบๆ ภายในแอฟริกา กลับขยายตัวสู่อีก 6 ประเทศใน 3 ทวีป ก่อความตื่นตระหนกไปทั่ว มันอาจกลับมาอีก

จ) ไข้ซิกา (2015) มียุงลายและยุงอื่นเป็นพาหะ ต้นตออยู่ในแอฟริกา เป็นอันตรายมากต่อเด็กน้อย

(ดูเอกสารขององค์การอนามัยโลก ชื่อ Managing epidemics ตอนที่ 1 Epidemics of the 21st century ใน who.int, 2018 และบทความวิชาการของ Juliet Bedford และคณะ ชื่อ A new twenty-first century science for effective epidemic response ใน nature.com 06/11/2019)

ปลายปี 2019 เกิดการระบาดของโควิด-19 ที่เข้าใจว่าแพร่เชื้อจากค้างคาวและสัตว์เลือดอุ่นอื่นอีกจำนวนหนึ่ง จากนั้นแพร่จากคนสู่คนอย่างรวดเร็วโดยผ่านทางอากาศ มีความรุนแรงกว่าไข้หวัดใหญ่ธรรมดาหลายเท่า องค์การอนามัยโลกคงเห็นว่านี่คือไวรัสตัวร้ายที่คอยมานาน ได้ประกาศให้โรคนี้เป็นโรคระบาดโลกในวันที่ 11 มีนาคม 2020 ในขณะนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิดเกือบทั้งหมดอยู่ในจีน คราวนี้องค์การอนามัยโลกไม่พลาด และเตือนอย่างทันกาลสำหรับประเทศต่างๆ ในการรับมืออย่างเต็มที่ ไข้โควิด-19 ยังระบาดไม่ถึงขีดสุด ผลกระทบไม่ชัดเจนว่าจะรุนแรงถึงขนาดไหน เห็นกันว่าโรคนี้จะฝังตัวอยู่กับมนุษย์อีกยาวนาน ไม่จากไปง่ายๆ ทั้งไข้โควิดและมนุษย์ต้องปรับตัวเข้าหากัน มีวิวัฒนาการร่วมกัน

วิกฤตินิเวศคือการเปลี่ยนใหญ่ทางสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อการดำรงอยู่ของสปีชีส์หนึ่งหรือประชากรจำนวนหนึ่ง วิกฤตินี้ได้เกิดขึ้นและขยายตัวจนกระเทือนถึงระบบนิเวศโลก ซึ่งไม่เพียงกระเทือนต่อสิ่งชีวิตต่างๆ ยังกระทบต่ออารยธรรมและความอยู่รอดของมนุษย์เอง

วิกฤตินิเวศกล่าวสำหรับมนุษย์ มีองค์ประกอบใหญ่ 3 ด้าน ได้แก่ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6 ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

และท้ายสุดได้แก่โรคระบาดอย่างเช่นโควิด-19 ซึ่งแสดงว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นผู้ล่าสูงสุดที่จับปลามากเกินไปเท่านั้น

หากยังสามารถกลายเป็นผู้ถูกล่าจากไวรัสที่มองไม่เห็น และจากมนุษย์ด้วยกันเอง