คนมองหนัง : เจาะใจ นักร้อง-นักแต่งเพลงหนุ่ม “เจค บักก์” เรื่องดนตรี การเมืองซ้าย-ขวา และความผิดบาปส่วนบุคคล

คนมองหนัง
AFP PHOTO / ANP / PAUL BERGEN

“เจค บักก์” เป็นนักร้อง-นักแต่งเพลงดาวรุ่งวัย 22 ปี ชาวอังกฤษ

อดีตเด็กโรงเรียนเทคนิคจากน็อตติ้งแฮม ซึ่งเคยไปลงทะเบียนเข้าอบรมคอร์สเทคโนโลยีทางดนตรีชั่วระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะออกมาตระเวนแต่งเพลง-เล่นดนตรี ตั้งแต่อายุ 16 ปี เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังจากอัลบั้มเดี่ยวชุดแรก ที่มีชื่อเดียวกับเจ้าตัว เมื่อ ค.ศ.2012

อัลบั้มชุดนั้น ทำให้หนุ่มน้อยวัย 18 ปี อย่างบักก์ ได้รับการจับตามองไม่น้อย เพราะตัวงานเคยขึ้นไปติดอันดับหนึ่ง ของ “ยูเค อัลบั้ม ชาร์ต” แถมยังขายได้เกิน 600,000 ก๊อบปี้ จนถือเป็นผลงานเพลงที่ขายดีมากชุดหนึ่งของสหราชอาณาจักรในทศวรรษ 2010 เช่นเดียวกับหลายเพลงในอัลบั้ม ซึ่งมีสถานะเป็นเพลงฮิต

หลายๆ เพลง (ดัง) ของอัลบั้มชุดแรก เป็นผลงานที่บักก์ร่วมเขียนกับ “เอียน อาร์เชอร์” นักร้อง-นักแต่งเพลงมือดี ชาวไอร์แลนด์เหนือ

หนึ่งปีถัดมา บักก์ออกอัลบั้มชุดที่สองชื่อ “Shangri La” ซึ่งเขายังคงร่วมแต่งเพลงกับอาร์เชอร์ แถมมี “ริค รูบิน” โปรดิวเซอร์ชื่อดังจากฝั่งอเมริกา มาร่วมผลิตผลงานด้วย

อย่างไรก็ตาม ก้าวที่สองของบักก์กลับไปได้ “ไม่ไกลนัก” หากเทียบเคียงกับก้าวย่างแรก

ห่างหายจากการทำสตูดิโอ อัลบั้ม ไปสามปี ในที่สุด เจค บักก์ ก็ได้ฤกษ์ออกผลงานลำดับที่สามกลางปีนี้

ผลงานซึ่งต้องเผชิญกับ “จุดเปลี่ยน” และ “จุดเสี่ยง” พอสมควร

อัลบั้มชุดล่าสุดนี้มีชื่อว่า “On My One” ซึ่งมาพร้อมจุดเปลี่ยนสำคัญ นั่นคือ การที่บักก์ก้าวขึ้นมาแต่งเพลงเองทั้งหมด นอกจากนี้ เขายังพยายามผสมผสานแนวทางดนตรีแบบใหม่ๆ ได้แก่ ดนตรีฮิปฮอป เข้าไปในตัวงาน

บักก์บอกว่าตนเองได้รับอิทธิพลจากดนตรีแนวนี้มาตั้งแต่เด็ก อย่างไรก็ตาม เขากลับมองเห็นถึงทั้ง “ด้านดี” และ “ข้อด้อย” ของงานแนวฮิปฮอป ซึ่งถูกผลิตป้อนอุตสาหกรรมดนตรีร่วมสมัย

“ผมรู้สึกอยู่บ่อยๆ ว่า งานแนวฮิปฮอปจะชอบเล่าเรื่องราวแบบเดิมๆ เสมอ” ศิลปินหนุ่มกล่าว และว่า “มันจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรุนแรง อาวุธปืน และยาเสพติด อย่างไรก็ตาม ผมยังชอบที่จะฟังเพลงแนวนี้ เพราะเรื่องที่ถูกร้องออกมามันคือเรื่องจริง แต่ก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า มันน่าจะเจ๋งกว่านี้นะ ถ้าพวกคุณลองแร็ปเป็นเรื่องราวชนิดอื่นๆ บ้าง”

แม้เสียงวิจารณ์ที่มีต่อ “On My One” จะออกมากลางๆ ค่อนไปทางผิดหวังนิดๆ แต่งานชุดนี้ ก็ยังมีเพลงที่น่าสนใจอยู่หลายเพลง และที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ก็ได้แก่ความคิดความอ่านของบักก์

เห็นได้จากบทสัมภาษณ์ที่เขาพูดคุยกับ “จอร์แดน บาสเส็ตต์” ซึ่งลงตีพิมพ์ในนิตยสาร “NME” เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

 

หนึ่งในประเด็นร้อน ที่บาสเส็ตต์ตั้งคำถามต่อบักก์ ก็คือ ความขัดแย้งระหว่างศิลปินหนุ่มกับ “โนเอล กัลลาเกอร์” ศิลปินดังและอดีตแกนนำวง “Oasis”

เดิมที จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ดำเนินไปอย่างชื่นมื่น เมื่อกัลลาเกอร์เป็นฝ่ายหนีบบักก์ให้ไปร่วมแจมทัวร์คอนเสิร์ตที่สหรัฐอเมริกาของเขาเมื่อปี 2012

แต่หลังจากนั้น โนเอลกลับออกมาระบุว่า เขารู้สึก “หัวใจแหลกสลายโคตรๆ” ที่ได้รู้ว่า บักก์เลือกใช้บริการนักแต่งเพลงชื่อดัง อย่างเอียน อาร์เชอร์ ขณะสร้างสรรรค์ผลงานชุดแรกและชุดที่สอง

บักก์ตอบโต้บุคลากรทางดนตรีรุ่นพี่ด้วยการตั้งคำถามว่า “อัลบั้มชุดหลังสุดของโนเอลมันก็ห่วยแตก ไม่ใช่เหรอ?”

 

ก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมว่า เขาไม่ได้รู้สึกผิดหวังอะไรมากมายนักกับท่าที “เดิมๆ” ของโนเอล

“โนเอลเคยด่า เอ็ด ชีแรน (นักร้อง-นักแต่งเพลงมือทองอีกคนของวงการดนตรีอังกฤษร่วมสมัย) ชนิดสาดเสียเทเสีย แต่แล้วอีกหนึ่งอาทิตย์ต่อมา เขาก็กลับไปร่วมงานปาร์ตี้กับ เอ็ด โนเอล เขาก็เป็นของเขาอย่างนี้แหละ”

“โนเอลมีอิทธิพลทางดนตรีต่อผมอย่างสูง แต่ผมจะไม่ใส่ใจกับคำพูดของใครๆ ผมเพียงแค่ต้องการจะทำเพลง ในแบบที่ผมเองอยากจะทำ” บักก์ยืนกราน

ไม่ว่าจะเป็นผลมาจากคำวิพากษ์วิจารณ์ของ โนเอล กัลลาเกอร์ หรือไม่ แต่ท้ายสุด บักก์ก็ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว ที่จะเลือกยืนบนลำแข้งของตัวเอง ในการผลิตผลงานชุดล่าสุด

เขาลงมือแต่งทุกเพลงในอัลบั้มชุดใหม่ด้วยตนเอง ทั้งยังโปรดิวซ์งานส่วนใหญ่ของอัลบั้มชุดนี้

สิ่งที่ช่วยยืนยันการเลือกทางเดินของบักก์ได้เป็นอย่างดี ก็คือ ชื่อผลงาน “On My One” ซึ่งเป็นภาษาสแลงของชาวน็อตติ้งแฮม อันมีความหมายเดียวกันกับวลี “On My Own” ซึ่งแปลว่า การทำอะไรด้วยตัวเอง

 

อย่างไรก็ตาม บักก์ตอบโต้ว่า เขาไม่ได้เลือกเปลี่ยนแนวทางการทำงานตามคำชี้แนะท้วงติงของเหล่ากูรูนักวิจารณ์ แต่เขาเปลี่ยนตนเองด้วยเป้าหมายชนิดอื่น

“ผู้คนมักพูดว่าผมกำลังพยายามที่จะพิสูจน์อะไรบางอย่าง แต่สำหรับผม การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มันมีความหมายมากกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงหนนี้มีความสำคัญต่อพัฒนาการของผมในฐานะนักแต่งเพลง ถ้าผมไม่เปลี่ยนตัวเองตอนนี้ แล้วผมจะไปเปลี่ยนตอนไหนล่ะ?”

ในวันที่สามารถรับผิดชอบผลงานของตัวเองได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ บักก์ย้อนเปรียบเทียบประสบการณ์การทำงานร่วมกับนักแต่งเพลงยอดฝีมือ ว่าเป็นดังกระบวนการศึกษาเรียนรู้นอกห้องเรียน

“เพื่อนร่วมรุ่นของผมเข้าไปเรียนวิชาช่างปูนและช่างไม้ที่วิทยาลัย ขณะเดียวกัน ผมก็ออกมาฝึกฝนเคี่ยวกรำตนเองกับนักแต่งเพลงมืออาชีพ ผมจึงคิดว่านี่เป็นการเข้าถึงการศึกษาแบบฟรีๆ พวกคุณคงรู้กันว่า มีคนจำนวนไม่น้อยต้องจ่ายเงินแพงๆ เพื่อจะได้เข้าเรียนในสถาบันการศึกษาระดับท็อปๆ ผมไม่มีโอกาสอย่างนั้น แต่ผมกลับโชคดี ที่ได้มาเรียนรู้วิธีการทำงานเพลง และตอนนี้ ก็ถึงคราวที่ผมต้องเริ่มต้นกระบวนการทำงานทั้งหมดด้วยตัวเอง”

ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา ชีวิตของบักก์เดินทางมาไกลมาก จนน่าสงสัยว่า นอกจากความเปลี่ยนแปลงในด้านการทำงานดนตรีแล้ว แง่มุมชีวิตในด้านอื่นๆ ของเขา ได้แปรเปลี่ยนพลิกผันไปพร้อมๆ กันด้วยหรือไม่?

บักก์เกิดในครอบครัว “ชนชั้นแรงงาน” ที่เมืองคลิฟตัน ชานนครน็อตติ้งแฮม พ่อของเขาประกอบอาชีพเป็นบุรุษพยาบาล ส่วนแม่ทำงานเป็นพนักงานขาย ทั้งคู่แยกทางกันเมื่อบักก์ยังเล็ก

ในแง่จุดยืนทางการเมือง บักก์เห็นว่ารัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมไม่ได้รับความนิยมจากกลุ่มคนหนุ่มสาวมากนัก โดยก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อเดือนพฤษภาคม 2015 ศิลปินหนุ่มเคยลองทำแบบทดสอบออนไลน์ เพื่อตรวจสอบทัศนะทางการเมืองของตนเอง

ผลลัพธ์ที่ได้ คือ “เสรีประชาธิปไตย”

“เมื่อคุณมาจากพื้นเพของชนชั้นแรงงาน ถ้าคุณไม่เป็นฝ่ายซ้าย คุณก็จะโดนพวกเดียวกันรุมด่าเละ” บักก์กล่าว พร้อมพูดต่อว่า “แต่หลังจากมีผลงานเพลงมาจำนวนหนึ่ง และออกทัวร์คอนเสิร์ตสักระยะ ผมก็เริ่มตระหนักว่า บางที เงินในกระเป๋าเราอาจมีมากขึ้น ถ้าเราเลือกเป็นฝ่ายขวา”

“ไปๆ มาๆ คุณก็จะค้างเติ่งอยู่ตรงหว่างกลาง มันก็เหมือนกับประเด็นหลักในเพลง Ain”t No Rhyme จากอัลบั้มชุดใหม่ของผม ที่เนื้อหาส่วนหนึ่งร้องว่า “…เมื่อคุณไม่อาจก่อกำแพงแบ่งแยกโลกออกเป็นสองส่วน / คุณต้องมาคิดใคร่ครวญ ยามติดตกค้างอยู่ตรงกึ่งกลาง / ว่าฝั่งฟากไหนกัน? ที่คุณจะเลือกแอบอิงซบร่าง…” นี่เป็นความรู้สึกของผม ว่าผู้คนมักพยายามฉุดรั้งลากดึงคุณให้ไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่งเสมอ” บักก์เอ่ยด้วยความรู้สึกหนักใจและลังเล

 

ปัจจุบัน บักก์เช่าบ้านอยู่ในภาคตะวันตกของกรุงลอนดอน และเขากำลังมีแผนการจะซื้อที่พักอาศัยตรงโซนใจกลางเมือง มิหนำซ้ำ เขายังต้องขึ้นโชว์บนเวทีแฟชั่นของ Burberry อีกด้วย

อย่างไรก็ดี นักร้อง-นักแต่งเพลงหนุ่มกลับมีความรู้สึกผิดบาปซ่อนแฝงอยู่ภายใต้การประสบความสำเร็จของตนเอง

“ผมเคยเดินเข้าไปในร้านค้าหรูหราและอยากได้ของบางอย่าง ผมต้องการมันเดี๋ยวนี้ แต่แล้ว ผมกลับเดินออกมา แล้วคิดว่า เชี่ยเอ๊ย! พวกเพื่อนกูแม่งต้องอาบเหงื่อต่างน้ำทั้งอาทิตย์ เพื่อเอาเงินค่าจ้างไปซื้อเบียร์กระป๋องนึง คนจำนวนมากอาจจะชอบเพลงของผม และมันถือเป็นความสำเร็จ แต่นี่หมายความว่าคุณสามารถผลาญเงินได้มากกว่าคนอื่นๆ ที่ต้องทำงาน 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์รึเปล่า? ผมคิดว่า คุณไม่สามารถทำแบบนั้นได้”

“แต่นอกจากมันจะไม่ค่อยยุติธรรม ที่ผมจะเผาผลาญเงินเพื่อปรนเปรอสุขให้แก่ตนเองแล้ว ผมก็ยังไม่เห็นด้วยกับคำแนะนำที่ว่า ทำไมคุณถึงไม่บริจาคเงินอันมากมายของตัวเองให้คนอื่นล่ะ? เพราะผมคิดว่า ต่อให้คุณบริจาคเงินส่วนตัวจนหมดกระเป๋า คุณก็ไม่สามารถทำให้ทุกคนมีความสุขได้หรอก”

นี่คือความอิหลักอิเหลื่ออีกประการที่ดำรงอยู่ภายในจิตใจของผู้ชายชื่อ เจค บักก์


แปลสรุปความและเรียบเรียงจาก
http://www.nme.com/features/jake-bugg-nme-interview
http://www.nme.com/reviews/jake-bugg/16497
https://en.wikipedia.org/wiki/Jake_Bugg