เกษียร เตชะพีระ | THE CONSTITUTIONAL REFERENDUM DID NOT TAKE PLACE! (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

(เรียบเรียงขยายความจากคำอภิปรายของผมในการเสวนาวิทยานิพนธ์เรื่อง “การเมืองวัฒนธรรมของการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559” ของคุณหทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, 14 กุมภาพันธ์ ศกนี้)


ข้อคิดต่อยอดเพิ่มเติมทางการเมืองวัฒนธรรม :

– สัญศาสตร์ของคำว่าไทยๆ

ข้อความตอนหนึ่งในบทความสรุปสังเขปวิทยานิพนธ์ของคุณหทัยกาญจน์เรื่อง “การเมืองวัฒนธรรมของการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559” ชี้ว่า “ประชามติแบบไทยๆ” กลายเป็นประเด็นต่อเนื่องเชื่อมร้อยกับ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ”

ข้อความนี้กระตุกให้ผมฉุกคิดว่าพลังและหน้าที่อันมหัศจรรย์ของ adjective “ไทยๆ” คืออะไร?

ผมคิดว่าในทางสัญศาสตร์ (semiotics ศาสตร์ว่าด้วยความหมาย) อาจพูดขั้นต้นได้ว่า adjective “ไทยๆ” เป็นตัวปลดปล่อยคำหรือสัญญะ (signifiers) เดิม ไม่ว่าคำว่า “ประชาธิปไตย” หรือ “ประชามติ” ให้เป็นอิสระหลุดลอยจากความหมายดั้งเดิมในต้นฉบับตะวันตก (traditional signifieds)

ผลของมันก็คือ :

เราจึงได้ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” และ “ประชามติแบบไทยๆ” ซึ่งเป็นคำล่องลอย (free-floating signifiers)

ความหมายของมันที่ถูกทำให้หลากหลายออกไป ไม่ใช่มีแต่ความหมายเดิมตามแบบฉบับตะวันตก หากมีความหมายใหม่แบบไทยๆ เพิ่มเข้าไปด้วย (multiple signifieds) จะแปลว่าอะไรก็ตามที (ต้องถาม คสช.)

free-floating signifiers & multiple signifieds นำไปสู่ -> substituted referents (ของทดแทน) & incongruous practices (การปฏิบัติอันแปลกพิสดาร เมื่อเทียบกับแบบแผนการปฏิบัติที่ควรจะเป็นแต่เดิมของมัน)

ดังที่ถ้ายึดตามหลักการสำคัญของการออกเสียงประชามติ 6 ประการ (ศ.นันทวัฒน์ บรมานันท์) แล้ว การปฏิบัติ “ประชามติแบบไทยๆ” ในปี พ.ศ.2559 ก็สอบผ่านแค่ 1 ข้อเท่านั้นเอง สอบตกไป 2 ข้อ และก้ำกึ่ง 3 ข้อ (ถึงปัจจุบัน มองอย่างคนฉลาดหลังเหตุการณ์ น่าจะตกถึง 4 ข้อด้วยซ้ำ)

– โครงสร้างความรู้สึกที่เปลี่ยนไปของสังคมไทย

โครงสร้างความรู้สึกที่เปลี่ยนไปของสังคมไทย : จากอาการเหนื่อยล้าต่อความขัดแย้งและสับสนวุ่นวายทางการเมือง (Political Conflict & Chaos Fatigue) เปลี่ยนไปเป็น -> อาการเหนื่อยล้าต่อความไร้ประสิทธิภาพและขาดความชอบธรรมของอำนาจนิยม คสช. (NCPO Authoritarian Inefficiency & Illegitimacy Fatigue)

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในข้อค้นพบของวิทยานิพนธ์คือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ได้โหวตรับรองได้แก่โครงสร้างความรู้สึกของสังคมไทยที่รู้สึกเหนื่อยล้า (fatigue) กับความขัดแย้งและสับสนวุ่นวายทางการเมืองของสงครามเสื้อสีในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ดังสะท้อนออกในคอมเมนต์ของนักการเมืองต่างฝ่ายที่เห็นตรงกันในประเด็นนี้คือ คุณจาตุรนต์ ฉายแสง แห่งอดีตพรรคไทยรักษาชาติ กับคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ : (ดูล้อมกรอบ 1)

ผมคิดว่าอาการเหนื่อยล้าความขัดแย้งและความสับสนวุ่นวายทางการเมืองดังกล่าวนี้ เป็นโครงสร้างความรู้สึก (the structure of feelings) ของสังคมไทยช่วงสงครามเสื้อสีราวสิบปี (พ.ศ.2548-2557) ซึ่งไม่เพียงแต่มีส่วนช่วยให้ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ผ่านโหวตรับรองมาด้วยเสียงข้างมากเท่านั้น แต่ยังช่วยค้ำจุนอำนาจเผด็จการของ คสช. ช่วงห้าปีหลังรัฐประหาร 2557 ไว้ด้วย

ทว่าผมเห็นว่าโครงสร้างความรู้สึกของสังคมไทยดังกล่าวกำลังเปลี่ยน ในย่างปีที่หกของอำนาจนิยม คสช. อาการเหนื่อยล้าของสังคมไทยต่อความขัดแย้งและสับสนวุ่นวายทางการเมือง กำลังขยับเปลี่ยนไปเป็นอาการเหนื่อยล้าของสังคมไทยต่อความไร้ประสิทธิภาพและขาดความชอบธรรมของอำนาจนิยม คสช. (NCPO Authoritarian Inefficiency & Illegitimacy Fatigue) แทน ดังแสดงออกในผลการเลือกตั้งทั่วไปที่ดีเกินคาดของพรรคอนาคตใหม่ แฟลชม็อบ และการวิ่งไล่ลุงหลายจุดทั่วประเทศ

รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นแพร่หลายในโซเชียลมีเดีย

ก็แลโครงสร้างความรู้สึก (the structure of feelings) เป็นเรื่องของรุ่นคน (generation) และประสบการณ์เฉพาะรุ่น ผมคิดว่าอาการเหนื่อยล้าต่อความไร้ประสิทธิภาพและขาดความชอบธรรมของอำนาจนิยม คสช. เกิดกับคนหนุ่มสาวรุ่นที่รับผลกระทบของสงครามเสื้อสีบ้างในตอนปลาย แต่เริ่มมีประสบการณ์และตื่นรู้ทางการเมืองเต็มที่ในช่วงการปกครองกว่าห้าปีของ คสช. ที่ผ่านมาเป็นหลัก (ดูภาพประกอบด้านบนจากมติชนรายวัน, 1 มีนาคม 2563)

ส่วนโครงสร้างความรู้สึกใหม่ของสังคมไทยดังกล่าวจะนำไปสู่ปรากฏการณ์ทางการเมืองอย่างไรต่อไปข้างหน้า เป็นคำถามที่รอคำตอบจากความเป็นจริงต่อไป

– คุณูปการยิ่งใหญ่ที่สุดของระบอบทักษิณต่อสังคมทุนนิยมไทย

เมื่อมองย้อนหลังแล้วคิดตรองจากงานวิทยานิพนธ์ของคุณหทัยกาญจน์กลับไป ผมคิดว่ากล่าวอย่างเลือดเย็นแล้ว คุณูปการยิ่งใหญ่ที่สุดของระบอบทักษิณต่อสังคมทุนนิยมไทยคือสถาปนาการยอมรับและหวงแหนความเสมอภาคทางการเมืองโดยรูปแบบ (formal political equality) หนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่ากันในสังคมการเมืองไทย

ซึ่งนัยด้านกลับของมันก็คือช่วยสถาปนาการยอมรับและหวงแหนโดยนัยซึ่งความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจสังคมโดยเนื้อหา (substantial socio-economic inequality) ขึ้นในสังคมเศรษฐกิจไทยด้วย

นี่เป็นโจทย์ใหญ่และความสำเร็จสำคัญในประวัติศาสตร์ของการพัฒนาสังคมทุนนิยมในโลก คือยอมรับหนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่ากัน (ในทางรูปแบบการเมือง) แต่เพิกเฉยละเลยหรือยอมรับความเหลื่อมล้ำมหาศาลแบบไร้ขอบเขตทางเศรษฐกิจสังคม โดยไม่เฉลียวใจว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมนั้นในที่สุดสัมพันธ์อย่างแนบแน่นและส่งผลกระทบต่อความเสมอภาคทางการเมืองโดยรูปแบบ ในลักษณะที่ไปบั่นทอนกร่อนเซาะความเสมอภาคทางการเมืองในทางปฏิบัติจริงลงในที่สุด

ดังตัวอย่างของสังคมทุนนิยมอเมริกันที่นับวันมีนักวิชาการนักวิจารณ์ชี้ให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าระบอบการเมืองอเมริกันเอาเข้าจริงไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นคณาธิปไตย (oligarchy) ของชนชั้นนายทุนใหญ่มากกว่า

ส่วนฐานคิดทางปรัชญาของเรื่องนี้มาจากคำวิพากษ์ของฌอง ฌากส์ รูสโซ ต่อสัญญาประชาคมแบบเสรีนิยมของจอห์น ล็อก ว่าเป็น “สัญญาหลอก” (fraudulent contract) ที่ชนชั้นเจ้าสมบัติทำกับคนจนส่วนใหญ่ในสังคม โดยตรึงคนจนไว้กับความจน และตรึงคนรวยไว้กับความรวย ปกป้องคุ้มครองความศักดิ์สิทธิ์ของสิทธิโดยธรรมชาติเหนือทรัพย์สินของบุคคลเอกชน (ดู ฌอง ฌากส์ รูสโซ, ความเรียงว่าด้วยต้นกำเนิดและรากฐานแห่งความไม่เท่าเทียมกันของมวลมนุษยชาติ, ศุภชัย ศุภผล, แปล, หน้า 69, 87-91)

หรือหากพูดจากภาษาแนวคิดทฤษฎีของกรัมชีก็คือ นี่เป็นการบรรลุหน้าที่ทางอุดมการณ์หรือการสถาปนาความยินยอมพร้อมใจ (consent) ของสังคมการเมืองหรือรัฐในสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ซึ่งมีโครงสร้างอสมมาตรระหว่างสังคมการเมืองหรือรัฐ (coercion+consent) กับประชาสังคม (consent) นั่นเอง

คุณูปการของระบอบทักษิณอันนี้นี่แหละที่ คมช.และ คสช. กร่อนทลายลง ด้วย “ประชามติแบบไทยๆ” และ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” แต่กระนั้นมันยังคงตามหลอกหลอนพวกเขาอยู่มิเว้นวาย