ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ศิวลึงค์คู่ ที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ละแวกเสาชิงช้า มีโบสถ์อยู่ 3 หลัง แต่ละหลังใช้บูชาเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแต่ละองค์เป็นการเฉพาะ เรียกได้ว่าโบสถ์ใครโบสถ์มัน โดยประกอบไปด้วย พระอิศวร (องค์เดียวกันกับพระศิวะ), พระคเณศ และพระนารายณ์ (องค์เดียวกับพระวิษณุ)

เฉพาะโบสถ์ที่ใช้สำหรับบูชาพระอิศวรนั้น เป็นโบสถ์หลังใหญ่ที่สุด เรียกได้ว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างประธานของเทวสถานแห่งนี้ โดยภายในโบสถ์มีรูปพระอิศวรน้อยใหญ่ตั้งเรียงรายอยู่ภายในแท่นบูชา

แต่ทางด้านหลังของแท่นบูชาดังกล่าว ซึ่งปิดไม่ให้คนทั่วไปที่ไม่ใช่พราหมณ์ หรือเจ้าหน้าที่เข้าไปนั้น ได้ประดิษฐานศิวลึงค์เอาไว้ด้วย

ที่น่าสนใจก็คือ “ศิวลึงค์” ที่ประดิษฐานอยู่ภายในโบสถ์พระอิศวรแห่งนี้ เป็นศิวลึงค์คู่เสียด้วย

 

อันที่จริงแล้ว ธรรมเนียมพราหมณ์โดยปกตินั้น จะไม่ประดิษฐานศิวลึงค์เป็นคู่นะครับ ในตำราพราหมณ์อย่างนิตยธรรมปธติ ถึงกับระบุไว้เลยว่า ห้ามประดิษฐานศิวลึงค์ไว้คู่กัน 2 องค์ (ขอบคุณข้อมูลจาก อ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง)

และถึงแม้ว่าศิวลึงค์ทั้ง 2 องค์นี้ควรจะถูกนำมาประดิษฐานภายในโบสถ์พระอิศวร ตั้งแต่เมื่อแรกสถาปนาในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่ก็เป็นศิวลึงค์ที่มีอายุเก่าแก่กว่านั้นมาก เห็นได้ชัดจากองค์ที่เป็น “มุขลึงค์” (หมายถึง ศิวลึงค์ที่มีพระพักตร์ของพระอิศวร ปรากฏอยู่บนองค์ศิวลึงค์) ที่รูปพระพักตร์ของพระอิศวร เป็นงานช่างแบบทวารวดี เมื่อราว พ.ศ.1000-1500

ดังนั้น ศิวลึงค์ทั้งสององค์นี้จึงควรจะเป็นศิวลึงค์ดั้งเดิม ที่พ่อพราหมณ์เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 ท่านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ จึงได้นำเอามาประดิษฐานไว้คู่กัน และนั่นก็หมายความด้วยว่า พ่อพราหมณ์ท่านตั้งใจจะประดิษฐานศิวลึงค์เป็นคู่ตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ว่าเป็นการนำศิวลึงค์องค์ใดองค์หนึ่งมาประดิษฐานเพิ่มเติมในภายหลัง

 

ถึงแม้ว่าธรรมเนียมพราหมณ์-ฮินดูโดยทั่วไปจะไม่ประดิษฐานศิวลึงค์ไว้เป็นคู่ แต่ที่จริงแล้วการประดิษฐานศิวลึงค์คู่ อย่างที่พบที่โบสถ์พราหมณ์นี้ ก็มีพบอยู่บ้างในอินเดีย โดยเป็นธรรมเนียมของพวกทมิฬในอินเดียใต้

โดยพวกทมิฬนั้นมีตำนานอธิบายถึงสาเหตุของการสร้างศิวลึงค์เป็นคู่ไว้อยู่ด้วย ดังที่เคยมีนักสันสกฤตศึกษาบางท่านได้สันนิษฐานเอาไว้ว่า การประดิษฐานศิวลึงค์เป็นคู่ที่โบสถ์พราหมณ์นั้น คงจะเกี่ยวข้องกับตำนานเรื่องศิวลึงค์คู่ของเทวสถานที่ชื่อ กาลายรร โกวิล (Kalayar Kovil) ในเมืองศิวะคงคา แคว้นทมิฬนาฑู ซึ่งมีเนื้อเรื่องดังต่อไปนี้

ครั้งหนึ่งระหว่างที่พระอิศวรและพระอุมาท่องเที่ยวอยู่ด้วยกันที่ป่าโจติวนัม พระอุมาตรัสถามถึงรูปและสภาวะของพระอิศวร

พระอิศวรตอบว่า หากพระเนตรของพระองค์เปิดอยู่โลกก็จะปรากฏ แต่พระเนตรของพระองค์ปิดลงโลกก็จะถูกทำลาย

พระอุมาปรารถนาที่จะทดสอบจึงแอบเข้าทางด้านหลังและเอาพระหัตถ์ปิดพระเนตรของพระอิศวรไว้ โลกจึงมืดดับไป

พระอิศวรทรงพิโรธ จึงสาปพระอุมาให้มีพระวรกายเป็นสีดำ และทรงไว้ซึ่งความดุร้ายที่เรียกว่า “กาลี”

พระนางทรงอ้อนวอนให้พระอิศวรยกโทษ พระอิศวรจึงรับสั่งให้พระอุมาไปปราบอสูรที่จะทำลายโลกเสียก่อน จึงจะพ้นคำสาปได้

พระนางจึงต้องเสด็จไปบำเพ็ญตบะที่ป่ามารุตะวนัม

 

ต่อมามีอสูรชื่อ จัณฑะ ที่มีรูปเป็นนาคทั้ง 5 (หมายถึงนาค 5 เศียร?) มาสร้างความเดือดร้อนให้หมู่เทพ

พระอิศวรจึงแนะนำให้เทพทั้งหลายไปอ้อนวอนให้พระนางภัทรกาลี (พระอุมา) ช่วยไปปราบอสูร

พระนางรับคำแล้วไปปราบอสูรจัณฑะ จากนั้นพระนางยืนอยู่เบื้องหน้าเทพมารดาทั้ง 7 (สัปตมาตฤกา) ผู้ดื่มเลือดของอสูร เพื่อจัดเตรียมแกงอันเอร็ดอร่อยให้แก่เทพีเหล่านั้น พระนางจึงเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “อัณณะปูรณา” หรือนางผู้สมบูรณ์ด้วยกระยาหาร

พระนางกาลีได้เสด็จกลับไปยังป่าโจติวนัมเพื่อขอพรจากพระอิศวร จากนั้นได้ปรากฏศิวลึงค์คู่หนึ่ง ได้แก่ สถูลลึงค์ และสูกษมะลึงค์ เมื่อลึงค์ทั้งสองปรากฏขึ้น พระนางก็ได้บูชาจนพระวรกายเปลี่ยนเป็นสีทอง

เหล่าเทพจึงเรียกพระนางว่า “สุวรรณวัลลี” (เถาวัลย์ทอง) และเรียกสูกษมะลึงค์ว่า “กาลีศะ” (ผู้เป็นใหญ่แห่งนางกาลี)

พระนางจึงประดิษฐานอยู่ภายนอกเทวาลัยกาลายรร โกวิล ในนามของ “ภัทรกาลี” ส่วนอีกภาคหนึ่งของพระนางได้รวมเข้ากับสถูลลึงค์ จึงเรียกศิวลึงค์องค์นี้ได้อีกอย่างว่า “โสเมศวร”

อีกภาคหนึ่งของพระนางชื่อ “เการี” ได้ทูลขอพระอิศวรแต่งงานเพื่อไม่พรากจากกันอีก พระองค์จึงบันดาลให้ครึ่งหนึ่งของพระนางไปรวมเข้ากับสูกษมะลึงค์ ซีกข้างขวาของศิวลึงค์องค์นี้จึงมีสีดำ ส่วนซีกซ้ายเป็นสีทอง

ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของพระนางได้เข้าไปอยู่ในอาคารที่เรียกว่า วีระศักติปิถะ ทางด้านทิศเหนือของศิวลึงค์ดังกล่าว

 

อ่านดูก็คงพอจะทราบได้ไม่ยากว่า ตำนานเรื่องนี้เป็นตำนานอธิบายเหตุว่า เทวสถานที่ชื่อกาลายรร โกวิล นั้น มีเทวรูปอะไรบ้าง? และทำไมต้องตั้งอยู่ที่ตรงนั้น? แต่ท้องเรื่องก็ดูจะให้ความสำคัญกับพระแม่กาลี มากกว่าเรื่องของศิวลึงค์คู่ ที่สำคัญก็คือ ที่โบสถ์พราหมณ์ในกรุงเทพฯ ของเรานี้ ไม่มีพระแม่กาลี ซึ่งเป็นตัวเอกของท้องเรื่องประดิษฐานอยู่เสียหน่อย ดังนั้น ศิวลึงค์คู่ที่โบสถ์ จึงอาจจะไม่เกี่ยวกับตำนานเรื่องนี้อย่างที่นักสันสกฤตศึกษาเคยสันนิษฐานไว้

แต่ตำนานเรื่องศิวลึงค์คู่ของพวกทมิฬไม่ได้มีเพียงเรื่องเดียว ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเมืองราเมศวรัม อันเป็นเมืองที่ใกล้ชิดกับพราหมณ์สยามมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างน้อย โดยตำนานเรื่องนี้มีความเล่าว่า

เมื่อคราวที่พระรามยกทัพกลับจากลังกา หลังจากช่วยนางสีดาได้แล้ว ก็ต้องผ่านเมืองราเมศวรัม ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเกาะลังกา ที่เมืองแห่งหนึ่งพระรามได้พบกับฤๅษีตนหนึ่ง ซึ่งทูลแนะนำให้พระรามทำพิธีล้างบาป ที่เกิดจากการฆ่าทศกัณฐ์ เพราะทศกัณฐ์มีเชื้อสายพราหมณ์ (ตำนานอ้างว่า พ่อของทศกัณฐ์มีเชื้อสายพรหม ส่วนแม่เป็นนางรากษส)

พระรามจึงทำพิธีล้างบาปด้วยการสถาปนาศิวลึงค์ลงบนเนินเขาคันธมาสน์ ในเมืองราเมศวรัม และรับสั่งให้หนุมานไปนำเอาศิวลึงค์มาจากแม่น้ำนัมมทาอันศักดิ์สิทธิ์ แต่หนุมานเอาศิวลึงค์กลับมาไม่ทันฤกษ์ที่กำหนด

พระรามจึงใช้ทรายจากบริเวณเนินเขานั้นก่อเป็นศิวลึงค์ เรียกว่า “รามลังค์” หรือ “รามนาถ”

หนุมานทราบเรื่องเข้าเมื่อกลับมาแล้ว ก็เสียอกเสียใจและพยายามเคลื่อนย้ายรามลึงค์ออกไป แต่ไม่สำเร็จ พระรามจึงปลอบโยนพร้อมกับรับสั่งให้ นำศิวลึงค์ที่หนุมานนำมาจากแม่น้ำนัมมทา ไปประดิษฐานทางทิศเหนือใกล้รามลึงค์ พร้อมตั้งชื่อว่า “หนุมานลึงค์”

และรับสั่งว่า ทุกครั้งที่จะประกอบพิธีบูชาศิวลึงค์ในเทวสถานแห่งนี้ ให้บูชาหนุมานลึงค์ก่อนเป็นอันดับแรก

 

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า พราหมณ์สยามนั้นเกี่ยวข้องกับเมืองราเมศวรัม

ในบันทึกของจอห์น ครอว์ฟอร์ด ซึ่งเป็นทูตอังกฤษ ที่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 2 ยังอ้างว่า ท่านได้สัมภาษณ์พราหมณ์ผู้หนึ่ง ที่ประจำอยู่ที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์

พ่อพราหมณ์คนนี้ยังอ้างอยู่เลยว่าบรรพชนของตนเดินทางมากจากเกาะศักดิ์สิทธิ์ชื่อ “รามิเสรัม” ที่อยู่ระหว่างลังกา กับอินเดีย (ที่จริงแล้ว ราเมศวรัมเป็นแหลม ไม่ใช่เกาะ)

ดังนั้น คติการสร้างศิวลึงค์คู่ที่โบสถ์พราหมณ์ จึงควรจะมีที่มาจากตำนานการสร้างศิวลึงค์คู่ ที่เมืองราเมศวรัมนี่แหละครับ