ศึกษา สังคม บทเรียน ประวัติศาสตร์ แต่ละ ปรากฏการณ์

ภาพจาก http://www.samkok911.com/p/three-kingdoms-quotes.html

ไม่ว่าโจโฉ ไม่ว่าเล่าปี่ ไม่ว่าซุนกวน ไม่ว่าสุมาอี้ ไม่ว่าขงเบ้ง ไม่ว่าลกซุน ล้วนให้ความสนใจใน “ประวัติศาสตร์” เป็นอย่างสูง

ถือว่าประวัติศาสตร์เป็นเหมือน “บทเรียน”

เป็นบทเรียนทั้งในด้านของการปกครอง การบริหารราชการแผ่นดิน เป็นบทเรียนทั้งในด้านการวางแผนกลยุทธ์ รบทัพจับศึก

เป้าหมาย 1 เพื่อรักษากำลัง ขณะเดียวกัน เป้าหมาย 1 เพื่อเอาชนะ

อย่าว่าแต่โจโฉ อย่าว่าแต่เล่าปี่ อย่าว่าแต่ซุนกวน อย่าว่าแต่สุมาอี้ อย่าว่าแต่ขงเบ้ง อย่าว่าแต่ลกซุน แม้กระทั่งลิบอง ซึ่งไม่รู้หนังสือมาก่อน แต่เมื่อเข้าสู่กองทัพก็เพียรพยายามอย่างเต็มกำลังเรียนหนังสืออ่านตำรา

หากไม่รู้จักประวัติศาสตร์ในยุคซุนชิว หากไม่รู้จักประวัติศาสตร์ในยุคฉิน และโดยเฉพาะภายหลังยุคฉิน

คงไม่สามารถนำเอากลยุทธ์ “เพลงฉู่” มาเป็นเครื่องมือ 1 ในการสยบกวนอูที่เกงจิ๋ว

ประวัติศาสตร์จึงทรงความหมายเป็นอย่างสูงสำหรับนักปกครอง นักบริหาร หรือแม้กระทั่งขุนศึกนายกอง

แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าเรียนรู้แล้วจะนำไปใช้อย่างไร

 

อดีต เป็นบทเรียน
รับใช้ “ปัจจุบัน”

หากไม่ศึกษาเรื่องราวการต่อสู้ของเล่าปังก็ย่อมไม่เข้าใจกระบวนการไปสู่การยึดครองอำนาจทางการเมืองของปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่น

เพราะว่าเล่าปังถอดบทเรียนมาจาก “เฉินกว่าง”

นั่นก็คือ ปรากฏการณ์แรกสุดที่ราษฎรแข็งขืนต่ออำนาจแห่งราชวงศ์ฉิน สลัดพันธนาการและจัดทัพลุกขึ้นสู้

เมื่อเล่าปังได้เซียวเหอ ได้จางเหลียงและได้หานซิ่นมาร่วมทัพ

นั่นเท่ากับได้คนที่วางรากฐานการปกครอง นั่นเท่ากับได้คนที่วางกลยุทธ์ นั่นเท่ากับได้คนที่นำทัพไปจัดการกับกำลังของราชวงศ์ฉิน และต่อกรกับทัพของฌ้อปาอ๋องกระทั่งกำชัยได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ก่อนอื่นเล่าปังต้องมองเห็นสภาวะที่กำลังล่มสลายของราชวงศ์ฉิน

ศึกษาและยึดกุมให้ได้ว่า ปัจจัยอันมาจากความเสื่อมทรุดภายในนั้นจะทำอย่างไรจึงสามารถผนึกกำลังไปต่อสู้ได้

กองทัพ “ชาวนา” จึงได้ก่อรูปขึ้นภายใต้การนำของ “เล่าปัง”

 

บทเรียน เล่าปัง
บทเรียน จูหยวนจาง

จากยุคของเล่าปังผ่านราชวงศ์ฮั่น ราชวงศ์จิ้น ราชวงศ์สุย ราชวงศ์ถัง ราชวงศ์ซ้อง กระทั่งการเข้ามาของกองทัพมองโกลที่นำโดยเจงกิสข่าน

ข่านจากมองโกลสามารถพิชิตจงหยวนและสถาปนาราชวงศ์หงวนขึ้น

เริ่มต้นจากยุคของกุบไลข่านอันเกรียงไกร สามารถสำแดงพลังรุกเข้ามาจนถึงหยุนหนานประชิดเข้ากับพม่า

แต่แล้วทุกอย่างก็ดำเนินไปอย่างเป็นอนิจจัง

จูหยวนจางเป็นอีกคนหนึ่งที่จับปรากฏการณ์ความเสื่อมทรุดของราชวงศ์หยวนได้และนำเอาบทเรียนของเล่าปังมาอำนวยประโยชน์ด้วยการจัดตั้งกองทัพชาวนาขึ้น

บทเรียนจากเล่าปัง บทเรียนจากจูหยวนจาง ตกทอดไปยังหงซิวฉวน

หากศึกษากระบวนการของกบฏไท้ผิงเทียนกว๋อของหงซิ่วฉ่วนในยุคปลายของราชวงศ์ชิงก็จะมองเห็นภาวะล่มสลายเหมือนที่ราชวงศ์ฉินเคยล่มสลาย เหมือนที่ราชวงศ์หงวนเคยล่มสลาย เพียงแต่ในยุคราชวงศ์ชิงได้มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา

ปัจจัย 1 คือ การเข้ามาของเจ้าอาณานิคม นักล่าเมืองขึ้นจากตะวันตก ปัจจัย 1 คือ การเข้ามาของเทคโนโลยีและพลังผลิตสมัยใหม่ นั่นก็คือ วิทยาศาสตร์ และทุนนิยม

ราชวงศ์ชิงอาจสามัคคีกับจักรวรรดินิยมจนสามารถปราบกบฏไท้ผิงเทียนกว๋อได้

แต่เมื่อผ่านจากสถานการณ์กบฏไท้ผิงเทียนกว๋อ การก่อรูปขึ้นของพรรคก๊กมินตั๋งภายใต้การนำโดยซุนยัตเซนก็กลายเป็นสถานการณ์ใหม่

ในเดือนตุลาคม 1911 ชัยชนะก็เป็นของ ดร.ซุนยัตเซน

 

ศึกษา ปรากฏการณ์
หยั่งให้ถึง “ธาตุแท้”

ไม่ว่าจะมองจากความจัดเจนของสถาปัตยกรรมหรือวิศวกรรมไม่ว่าจะมองจากความจัดเจนทางด้านรัฐศาสตร์ และการเมือง

แต่ละสถานการณ์ล้วนสามารถโยงไปยังธาตุแท้และความเป็นจริง

การที่ตึกแต่ละหลังจะพังทลาย นั่นหมายถึงการเสื่อมทรุดของแต่ละองค์ประกอบ แต่ละโครงสร้าง เมื่อหลายๆ องค์ประกอบรวมกันเข้า เมื่อหลายโครงสร้างรวมกันเข้าก็เกิดการรวนเร

ที่สุด อาคารหลังนั้นก็พังทลายลงมา

สถานการณ์ทางสังคมอันประกอบส่วนจาก เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม จึงมีความสัมพันธ์กัน และเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง แต่ละปรากฏการณ์ก็จะแสดงตัวออกมา

สะสม มากขึ้น มากขึ้น กระทั่งในที่สุดก็นำไปสู่ “การเปลี่ยนแปลง”