สุรชาติ บำรุงสุข | ตุลาการธิปไตย : ตุลาการกับการเมือง

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“เครื่องบินไม่ควรจะเอียงไปทางซ้ายหรือทางขวามากเกินไป เพราะจะทำให้ผู้โดยสารตกใจ การเมืองก็เหมือนกับเครื่องบิน น่าจะเป็นการดีกว่าที่จะสร้างสมดุลของทั้งสองข้าง มากกว่าที่จะบินแบบเอียงไปข้างเดียว”

Rebecca McNutt (นักประพันธ์ชาวแคนาดา)

หากย้อนกลับไปสู่การพิจารณาการเมืองไทยหลังจากการรัฐประหารในปี 2549 เรื่อยมาถึงรัฐประหารปี 2557 จนถึงปัจจุบันแล้ว เห็นได้ชัดเจนว่ากลุ่มอนุรักษนิยมที่เป็นปีกขวาจัดมีอำนาจในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การทำลายนี้มีเครื่องมือสำคัญ 2 อย่างคือ เครื่องมือทางทหาร และเครื่องมือทางกฎหมาย

เครื่องมือทางทหารคือ การใช้พลังอำนาจทางทหารในการโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่พวกเขาไม่ต้องการในรูปแบบของการรัฐประหาร

กระบวนการล้มเช่นนี้เกิดขึ้นได้ “เร็วและง่าย” ตามความต้องการของชนชั้นนำและผู้นำปีกขวาจัดทั้งหลาย

เพราะแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐบาลพลเรือนจะมีขีดความสามารถในการต้านทานการยึดอำนาจด้วยการใช้ “อำนาจกำลังรบ” ของกองทัพแห่งชาติเข้าจัดการกับรัฐบาลพลเรือน

หรืออีกนัยหนึ่งการเมืองเช่นนี้คือการสร้างสภาวะแห่งอำนาจใหม่ ที่อำนาจทหารเหนืออำนาจของฝ่ายพลเรือน ซึ่งอาจเรียกสภาวะเช่นนี้ว่า “เสนาธิปไตย” (Militocracy)

แต่เครื่องมือเช่นนี้มีข้อจำกัดในการจัดการฝ่ายตรงข้าม เว้นแต่จะใช้มาตรการรุนแรงในแบบละตินอเมริกาที่เรียกปฏิบัติการทางการเมืองของฝ่ายทหารว่า “สงครามสกปรก” (The Dirty War) อันมีนัยถึงการอุ้มฆ่าและการลอบสังหารฝ่ายตรงข้าม

แต่การกระทำเช่นนั้นของผู้นำทหารไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดแรงต้านทั้งจากภายนอกและภายในประเทศเท่านั้น

และหากปฏิบัติการดังกล่าวถูกแรงต้านมากจนถึงระดับหนึ่งแล้ว สิ่งจะตามมาจากปฏิบัติการเช่นนี้คือ การต่อต้านรัฐบาลในรูปแบบของ “สงครามก่อความไม่สงบ”

อันเป็นจุดเริ่มต้นของ “สงครามกลางเมือง” ที่มีตัวอย่างเกิดในหลายประเทศ

ดังนั้น อำนาจรัฐของปีกขวาจัดจำเป็นต้องแสวงหามาตรการใหม่ที่ไม่มีความรุนแรงในการ “กวาดล้าง” ทางการเมือง และมาตรการใหม่จะต้องปรากฏในแบบของการอุ้มฆ่าล่าสังหารเช่นในอดีต

มิฉะนั้นแล้วปฏิบัติการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดแรงต้านจากประชาคมระหว่างประเทศจากปัญหาสิทธิมนุษยชนได้ ซึ่งในกรณีนี้ไม่มีอะไรจะเหมาะสมเท่ากับการใช้มาตรการทางกฎหมาย

อีกนัยหนึ่งเราอาจกล่าวได้ว่า เครื่องมือทางกฎหมายเป็นวิถีที่รัฐบาลอำนาจนิยมใช้ในการจัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองมาก่อนแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงประสิทธิภาพของเครื่องมือนี้ในระบอบ “กึ่งอำนาจนิยม”

การเมืองในระบอบไฮบริดต้องสร้างภาพลักษณ์ที่ดีว่า การตัดสินความผิดไม่ใช่เป็นการดำเนินมาตรการอำนาจนิยม แต่ฝ่ายค้านมีความผิดทางกฎหมาย จึงต้องถูกลงโทษ (ตามกฎหมายที่พวกเขาได้บัญญัติขึ้น)

และนักวิชาการปีกขวาไทยได้ฉวยโอกาสบัญญัติศัพท์เรียกการกระทำเช่นนี้ว่าเป็น “ตุลาการภิวัฒน์” เพื่อปกป้องการกระทำที่เกิดขึ้น “ในนามของกฎหมาย” หรือเป็นการยกย่องบทบาททางการเมืองของสถาบันตุลาการในแบบใหม่

แต่หากพิจารณาจากบริบทของการใช้อำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว การใช้อำนาจทางกฎหมายในลักษณะเช่นนี้มีลักษณะเป็น “ตุลาการธิปไตย” (Juristocracy)

คือผู้มีอำนาจรัฐได้แปร “บทบัญญัติทางกฎหมาย” ให้กลายเป็น “อำนาจทางการเมือง” เพื่อใช้ในการจำกัดและ/หรือกำจัดฝ่ายตรงข้าม

ตุลาการ-ผู้เปลี่ยนรัฐบาล

หากพิจารณาถึงภาพมหภาคของการเมืองในหลายประเทศ จะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญประการหนึ่งคือ ในกระบวนการปฏิรูปการเมืองนั้น มีความพยายามที่จะลดทอนอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ (หรือสถาบันผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนโดยตรงของประชาชน)

ฉะนั้น ไม่ว่าการลดทอนอำนาจของนักการเมืองนี้จะเกิดขึ้นจากเหตุผลอะไรก็ตาม แต่กระบวนการนี้ทำให้สถาบันของฝ่ายตุลาการมีบทบาทและความเข้มแข็งในทางการเมืองมากขึ้นอย่างชัดเจน

แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้สถาบันตุลาการต้องเข้าไปเกี่ยวข้องทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หรืออีกนัยหนึ่งคือ ผลของกระบวนการเช่นนี้ทำให้สถาบันศาลกลายเป็น “ตัวแสดงทางการเมือง”

สภาวะเช่นนี้ทำให้สถาบันศาลต้องเข้าไปมีส่วนโดยตรงต่อการตัดสินใจทางการเมืองในระดับมหภาค (อาจจะเรียกว่าเป็น “judicialization of mega politics”) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางด้านความมั่นคง ด้านนโยบายทางเศรษฐกิจ หรือเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องอื่นๆ ที่เป็นประเด็นสำคัญที่มีการถกเถียงในระดับชาติ หรือในประเด็นที่เป็นปัญหาของชาติ และจำเป็นต้องมีการตัดสินชี้ขาดในทางกฎหมาย

อีกทั้งศาลอาจจะต้องเข้าไปมีส่วนในการตัดสินคดี (ปัญหา) ทางการเมืองที่อาจมีนัยถึงการอยู่หรือการไปของรัฐบาล อันทำให้ศาลเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดทางการเมือง

ปรากฏการณ์ใหม่นี้ชี้ให้เห็นว่า แนวคิดเดิมที่บอกว่า “ศาลต้องไม่ยุ่งการเมือง… ศาลต้องไม่มีบทบาททางการเมือง” กำลังถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

การปฏิรูปการเมืองในหลายประเทศกลับพาสถาบันศาลเข้าสู่เวทีการเมือง ซึ่งผู้ที่สนับสนุนแนวคิดนี้เชื่อว่า กระบวนการที่ทำให้ศาลเข้ามามีบทบาททางการเมืองเป็นเรื่องปกติในยุคปัจจุบัน เพราะเชื่อว่าในการเมืองปัจจุบันนั้น สถาบันตุลาการควรมีบทบาทมากกว่าการพิพากษาอรรถคดีตามปกติเท่านั้น

แต่ควรเข้ามาเป็น “ผู้ตัดสินทางการเมือง” ด้วย ดังจะเห็นได้ว่าผู้นำทางการเมืองในหลายประเทศถูกเอาลงจากอำนาจไม่ใช่ด้วยการรัฐประหารในแบบเดิม แต่ด้วยคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

ตัวอย่างเช่น ในกรณีของฟิลิปปินส์ (ประธานาธิบดีเอสตราดา) อินโดนีเซีย (ประธานาธิบดีวาฮิด) ไทย (นายกรัฐมนตรีทักษิณ) ปากีสถาน (ประธานาธิบดีบุตโตและประธานาธิบดีชารีฟ) เปรู (ประธานาธิบดีฟูจิโมโร) รัสเซีย (ประธานาธิบดีเยลต์ซิน)

นอกจากนี้ยังเห็นได้จากกรณีของการเปลี่ยนผู้นำ เช่น ในกรณีของฟิจิ ตรินิแดด เป็นต้น สิ่งที่เกิดขึ้นเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าศาลกลายเป็น “ผู้ชี้ขาดทางการเมือง”

หรือในอีกมุมหนึ่งศาลได้กลายเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดทิศทางการเมืองของประเทศ จนอาจสรุปได้ว่า ผู้พิพากษาคือ “ผู้เปลี่ยนรัฐบาล” และเป็นการเปลี่ยนในแบบที่ไม่ต้องใช้กำลังทหาร

หลักการใหม่เช่นนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นการเพิ่มหรือขยายอำนาจของสถาบันตุลาการผ่านกระบวนการทางรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้พิพากษาต้องเข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยตรง แม้ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้จะเชื่อด้วยความหวังดีว่า บทบาทใหม่ของสถาบันตุลาการจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะไม่มีความหวังกับการเปลี่ยนแปลงที่มาจากนักการเมืองและขบวนการทางสังคม

โดยเฉพาะมองว่าการเปลี่ยนแปลงโดยข้อกำหนดของกฎหมายของฝ่ายตุลาการจะมีความยั่งยืนมากกว่า

ซึ่งทัศนคติเช่นนี้ส่วนสำคัญมาจากความศรัทธาต่อนักการเมืองที่ลดลง

ขณะเดียวกันก็มีศรัทธากับศาลมากขึ้น

หรือกล่าวได้ว่ากระแสที่ไว้วางใจสถาบันตุลาการเพิ่มมากขึ้น (เมื่อเปรียบกับความไว้วางใจที่มีต่อสถาบันนิติบัญญัติและบริหาร)

บทบาททางการเมืองของตุลาการ

สภาวะที่สาธารณชนในโลกตะวันตกมีความเชื่อมั่นกับสถาบันตุลาการที่เพิ่มมากขึ้น และรู้สึกเชื่อน้อยลงกับอีกสองสถาบันของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอาจอธิบายจากตัวแบบของการเมืองอเมริกันได้ว่า ในระบบการเมืองเปิดของโลกตะวันตกนั้น สังคมได้เห็น “เรื่องไม่ดี” และในบางกรณีอาจเป็น “เรื่องอื้อฉาว” (scandals) ของนักการเมือง หรือของผู้นำรัฐบาล

เรื่องเหล่านี้มักปรากฏเป็นข่าวทั่วไปในสื่อ แต่สังคมรับรู้เรื่องราวของตัวบุคคลในสถาบันตุลาการน้อยมาก หรือในบางกรณีอาจจะแทบไม่รู้เลย

ซึ่งอาจเป็นเพราะสถาบันนี้มี “ฉนวน” ป้องกันตัวเอง จนสามารถกันตัวเองได้จากความรับรู้ของสังคม

สภาพเช่นนี้ทำให้ผู้คนเช่นในสังคมอเมริกันมีความรู้สึกมั่นใจว่า สถาบันตุลาการจะเป็นผู้พิทักษ์สิทธิเสรีภาพ หรืออีกนัยหนึ่งเกิดเป็นความเชื่อว่า ศาลสูงของสหรัฐจะทำหน้าที่เป็น “ผู้พูด” แทนประชาชน (อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นต่อศาลสูงในสหรัฐเองอาจจะลดลงบ้าง แต่ก็ยังมีมากกว่าอีกสองสถาบัน)

แต่สภาวะของการขยายบทบาททางการเมืองของสถาบันตุลาการที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองมากขึ้นในสังคมตะวันตก อาจจะไม่ส่งผลกระทบกับกระบวนการสร้างประชาธิปไตย ดังเช่นที่เกิดในการเมืองของประเทศกำลังพัฒนา

เพราะในสังคมตะวันตกมีหลักประกันว่า การขยายบทบาททางการเมืองจะไม่นำไปสู่การเลือกข้างทางการเมืองของสถาบันตุลาการ

ดังนั้น แม้ผู้พิพากษาศาลสูงของสหรัฐแต่ละท่านจะมีความคิดทางการเมืองเป็นของตัวเอง แต่อย่างน้อยก็คาดหวังได้ว่า คำตัดสินที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่การใช้อำนาจของสถาบันตุลาการในการเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” ของฝ่ายบริหารในการทำลายฝ่ายตรงข้าม

อีกทั้งในบริบทของสังคมอเมริกัน การใช้สิทธิของประชาชนในการแสดงความเห็นต่อคำตัดสินของศาลสูงในคดีทางการเมือง หรือในคดีที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของคนในสังคมนั้น คำตัดสินดังกล่าวย่อมเป็นสิ่งที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้

มิใช่คำตัดสินดังกล่าวกลายเป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้”

หรือไม่อนุญาตให้สังคมแสดงความเห็น เพราะการวิจารณ์ของสังคมจะเป็นหลักประกันหนึ่งที่จะช่วยตรวจสอบว่า คำตัดสินดังกล่าวมี “ความเป็นธรรม” เพียงใด

หรืออย่างน้อยคำตัดสินนั้น มีความ “เป็นเหตุผล” เพียงใด

การตรวจสอบของสังคมเช่นนี้จะมีส่วนช่วยป้องกันการแทรกแซงฝ่ายตุลาการของฝ่ายบริหาร และอาจจะต้องยอมรับหลักการในทางรัฐศาสตร์ว่า สถาบันตุลาการเป็นหนึ่งในสาม “เสาหลักประชาธิปไตย” อันอาจกล่าวได้ว่าสถาบันตุลาการเป็นสถาบันการเมืองในตัวเอง และไม่ได้มีสถานะอยู่นอกบริบททางการเมืองของประเทศ

ดังนั้น สถาบันนี้ในหลักประชาธิปไตยจึงไม่อาจที่อยู่นอกเหนือการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง เช่นที่เห็นโดยทั่วไปในสังคมประเทศพัฒนาแล้ว

แต่หากสถาบันตุลาการมีบทบาททางการเมืองในแบบ “เลือกข้าง” โดยใช้คำตัดสินเพื่อช่วยในการค้ำจุนอำนาจของฝ่ายรัฐบาลแล้ว

การกระทำดังกล่าวต้องเรียกว่าเป็น “ตุลาการธิปไตย” อันเป็นภาพสะท้อนบทบาทของสถาบันตุลาการในการมีบทบาททางการเมืองในการร่วมมือกับฝ่ายบริหาร

ซึ่งประเด็นนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแนวคิดเรื่อง “ตุลาการภิวัฒน์” (Judicial Review) ที่หมายถึงการที่ศาลใช้อำนาจทางกฎหมายในการขยายขอบเขตของเสรีภาพและสิทธิพลเมือง

การมีบทบาทเช่นนี้มีนัยทางการเมืองอย่างมาก และสังคมจะยอมรับการมีบทบาททางการเมืองของสถาบันตุลาการได้ในขอบเขตเพียงใด เพราะคงต้องระมัดระวังว่า การนำเอาสถาบันนี้เข้าสู่การมีบทบาททางการเมืองแล้ว อาจจะทำให้เกิดภาพลักษณ์ว่า สถาบันดังกล่าวเป็นเพียง “เครื่องมือ” ทางการเมืองของรัฐบาลในการจัดการกับฝ่ายตรงข้าม

หรือจะทำอย่างไรที่สังคมจะมีความเชื่อมั่นว่า คำตัดสินใน “คดีการเมือง” นั้น ไม่ได้เกิดจากการเลือกข้างทางการเมือง หรือตัดสินจาก “ฉันทาคติ” ทางการเมือง

บริบทการเมืองไทย

ในบริบททางการเมืองไทยนั้น มีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนที่ไม่ต้องการเห็นบทบาทของสถาบันตุลาการในลักษณะของการเลือกข้าง และต้องการเห็นการมีคำตัดสินที่เป็นเหตุเป็นผลในทางกฎหมาย

เพราะหากเกิดคำตัดสินในแบบ “ตามธง” ของฝ่ายบริหารแล้ว คำตัดสินดังกล่าวไม่เพียงแต่จะทำให้สถาบันตุลาการถูกมองด้วยความแคลงใจทางการเมืองเท่านั้น

หากแต่ยังนำไปสู่ความรู้สึกว่า คำตัดสินที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย หรือเป็นคำพิพากษาที่ไม่มีเหตุผล

เพราะคงต้องตระหนักว่า คดีเหล่านี้เป็น “คดีการเมือง” และคำตัดสินเป็นการชี้ขาดทางการเมือง อันจะกลายเป็น “บรรทัดฐาน” ทางการเมือง ที่จะมีส่วนอย่างสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยไทยในอนาคต

ฉะนั้น หากกล่าวในเชิงแนวคิด การเมืองไทยต้องการ “ตุลาการภิวัฒน์” แต่ต้องเป็นตุลาการภิวัฒน์จริงๆ ที่เป็นการใช้อำนาจทางกฎหมายเพื่อขยายขอบเขตของสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจของสถาบันศาลเพื่อเป็นกลไกทางการเมืองของรัฐบาลในลักษณะที่เป็น “ตุลาการธิปไตย”

มิเช่นนั้นแล้ว กระบวนการทางกฎหมายไทยจะไม่สามารถสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองเช่นที่ศาลสูงของสหรัฐได้มีบทบาทมาแล้ว บทบาทนี้ยังปิดโอกาสที่สถาบันศาลจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยไทย

อันทำให้สถาบันนี้จะถูกมองว่าเป็นเพียงเครื่องมือของฝ่ายขวาจัดเท่านั้น!