ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ชมพู่พวาทอง ในบทละครรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 คือต้นอะไร?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

บทละครรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 มีข้อความบางตอนได้บรรยายไว้ว่า “สวน” ของ “พระพิราพ” ซึ่งตามคติไทยถือว่าเป็นพ่อแก่แห่งนาฏศิลป์และดนตรีการ ได้ปลูกต้น “ชมพู่พวาทอง” เอาไว้

แถมกิจวัตรของพระพิราพในบทละครรามเกียรติ์ฉบับดังกล่าวนี้ ก็ดูจะไม่มีอะไรอย่างอื่น นอกจากจะสั่งบริวารปลูกต้นชมพู่พวาทองอย่างขะมักเขม้น ดังนั้น เจ้า “ชมพู่พวาทอง” ที่ว่านี้จึงต้องมีความหมายที่สำคัญลึกซึ้งเป็นแน่

และความตอนนี้ไม่มีในรามายณะของอินเดีย ซึ่งมีอยู่มากมายหลายสำนวน หลายฉบับเลยแม้แต่ฉบับเดียว นักภารตวิทยาบางท่านจึงพยายามอธิบายว่าหมายถึงชมพู่แขกที่รัชกาลที่ 1 ได้รับถวายมา (ส่วนจะได้มาจากไหนนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

ต้น “พวา” ตามคำอธิบายในหนังสือ “ต้นไม้ในวรรณคดี” ของหลวงบุเรศบำรุงการ (ล่วงลับ) ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ชนิดหาตัวจับยาก ได้อธิบายว่า “พะวา” (พวา) คือ “ต้นหว้า”

ดังนั้น หากจะเชื่อตามหลวงบุเรศบำรุงการ “ชมพู่พวาทอง” ที่พระพิราพปลูกในสวน ตามที่ระบุอยู่ในบทละครรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 นั้นก็คงจะหมายถึง “ต้นหว้า” ได้ แต่นี่ก็ยังไม่สามารถตอบคำถามที่ว่า ถ้าหมายถึงต้นหว้าแล้ว ทำไมต้องมีคำว่า “ชมพู่” นำอยู่ข้างหน้า? และทำไมพระพิราพจึงต้องขะมักเขม้นปลูกเจ้าต้นไม้ชนิด อย่างเป็นจริงเป็นจัง

 

ผมเพิ่งได้ความรู้เพิ่มเติมในวงสนทนาแบบ social distancing ตามยุคสมัยโควิดปิดเมืองจากผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ และภาษามลายูอย่าง ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์มงคล แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า ในภาษามลายูนั้นเรียก “ชมพู่” ว่า “jambu air” (จัม-บู-อายรฺ) และเรียก “ฝรั่ง” (ผลไม้) ว่า “jambu biji” (จัม-บู-บี-จี)

ในภาษามลายู คำว่า “air” แปลว่า “น้ำ” jambu air จึงหมายถึง จัมบูที่มีน้ำ ก็คือ “ชมพู่”

ส่วนคำว่า “biji” แปลว่า “เมล็ด” kambu biji จึงหมายถึง จัมบูที่มีเมล็ด หรือเม็ด ซึ่งก็คือ “ฝรั่ง”

ในภาษาถิ่นทางภาคใต้ของไทย หลายแห่งจึงเรียก “ฝรั่ง” ว่า “ชมพู่” เพราะได้รับอิทธิพลมาจากภาษามลายูนี่แหละ อ.อรอนงค์สรุปเอาไว้อย่างนี้

ส่วนที่เรียกชมพู่ด้วยศัพท์คำอื่น เช่น น้ำดอกไม้นั้น เป็นเพราะอะไรไม่ได้อยู่ในบทสนทนา และก็แน่นอนว่า ผมเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญภาษามลายูเสียด้วยสิ

แต่ก็มีร่องรอยที่น่าสนใจอยู่ด้วยว่า ในภาษาใต้บางถิ่นก็เรียก “ชมพู่” ว่า “ย่าหมู” หรือ “ยามู” ซึ่งก็คงเพี้ยนมาจากคำว่า “jambu” ในภาษามลายูเหมือนกันนี่แหละ ในภาษาใต้จึงมีคำเรียกทั้งชมพู่และฝรั่ง ที่มีรากมาจากภาษามลายูนั่นเอง

และในเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว คำว่า “ชมพู่” ใน “ชมพู่พวาทอง” ของพระพิราพ จึงอาจจะไม่ได้หมายถึงชมพู่ตามอย่างภาษาไทยภาคกลางกันอย่างทื่อๆ เพราะนี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า คำว่าชมพู่ มีอยู่ในภาษาอื่น ซึ่งสามารถเข้ามามีอิทธิพลในภาษาที่เราใช้ได้ด้วยเช่นกัน

 

อย่างที่บอกนะครับว่า บทสนทนาที่ว่านี่เป็นการสนทนากันแบบ social distancing ดังนั้น จึงมีมิตรสหายท่านอื่นเข้ามาร่วมวงสนทนาด้วยไม่ยาก และข้อความสนทนาที่น่าสนใจก็มาจากเจ้าของคอลัมน์ในมติชนสุดสัปดาห์ หน้าไม่ใกล้ไม่ไกลไปจากผมอย่าง อ.คมกฤช “เชฟหมี” อุ่ยเต็กเค่ง

อ.คมกฤชได้หล่นความคิดเห็นเพิ่มเติมไว้อย่างน่าสนใจว่า ในภาษาสันสกฤต คำว่า “ชมฺภู” ก็แปลว่า “หว้า” (โปรดอย่าลืมว่า หลวงบุเรศบำรุงการอธิบายว่า คำว่า “พวา” แปลว่า “หว้า”) ซึ่งนักสันสกฤตศึกษาก็วิจารณ์กันยังไม่จบว่า คำว่า “ชมฺภู” นี้จะหมายรวมถึง “ชมพู่” ด้วยหรือเปล่า?

ในภาษาฮินดี ซึ่งก็คือภาษากลางของชาวอินเดียในปัจจุบันนี้ ออกเสียง “ชมฺภู” ว่า “ชามุน” (เหมือนขนมกุหลาบชามุน เพราะเป็นลูกสีดำๆ เล็กๆ คล้ายกับลูกหว้า)

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ภาษาถิ่นทางใต้จะมีคำว่า “ยามู” หรือ “ย่าหมู” เพราะคำว่า “jambu” ในภาษามลายูน่าจะรับไปจาก “ชมฺภู” ในภาษาสันสกฤต

ดังนั้น มันจึงนัวกันอยู่ระหว่าง หว้า-ฝรั่ง-ชมฺภู-ชามุน-ชมพู่-ยามู-ย่าหมู อ.คมกฤชสรุปทิ้งท้าย

พูดง่ายๆ ว่า คำว่า “jambu” ในภาษามลายูนั้น มีรากมาจากคำว่า “ชมฺภู” ในภาษาสันสกฤตที่แปลว่า “หว้า” ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ต้องนำไปผสมกับศัพท์คำอื่น เพื่อขยายความแล้วแปลว่า “ชมพู่” กับ “ฝรั่ง” เพราะคำว่า jambu โดดๆ นั้น ไม่ได้แปลว่าชมพู่หรือฝรั่งเสียหน่อย

 

อีกหนึ่งคำอธิบายที่น่าสนใจมาจากนักโบราณคดีนอกเครื่องแบบอย่างคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ (แต่คำอธิบายนี้ไม่ได้มาจากบทสนทนาแบบ social distancing เหมือนของ อ.อรอนงค์ และ อ.คมกฤช) ที่เสนอคำว่า “ชมพู่” ใน “ชมพู่พวาทอง” จากบทละครรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 เป็นการพยายามเล่นกับศัพท์คำว่า “ชมพู” หมายถึง “ชมพูทวีป” ซึ่งก็หมายถึง “โลก” นั่นเอง

ข้อเสนอของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ สอดคล้องกับคำอธิบายของหลวงบุเรศบำรุงการที่ว่า “พวา” คือ “ต้นหว้า” และคำว่า “ชมพู่พวาทอง” ในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 1 จึงเป็นวรรณศิลป์ในการเล่นคำซ้ำ เพื่อย้ำความหมายเชิงสัญลักษณ์ว่าสวนของพระพิราพคือ “ชมพูทวีป”

โคลงรามเกียรติ์รอบระเบียงคดพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าวัดพระแก้ว เรียกต้นไม้ที่พระพิราพปลูกว่า “พวาทอง” อยู่ทุกที่โดยไม่มีคำว่า “ชมพู่” กำกับอยู่เลย ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า ความสำคัญอยู่ที่คำว่า “พวา” ไม่ใช่ “ชมพู่” อย่างที่นักวรรณคดีมักเข้าใจผิดกัน เพราะแปลความกันตามบทละครรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 2 ซึ่งอธิบายความเรื่องชมพู่พวาทองแปลกไปจากที่อื่น เนื่องจากมุ่งเน้นที่จะพรรณนาถึงรสโอชาของชมพู่?

อย่าลืมนะครับว่าบทละครรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 2 นั้นแต่งขึ้นหลังบทละครเรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 1 แน่

แถมคนแต่งก็เป็นคนละคนกันอีกต่างหาก ก็ยิ่งไม่ต้องไปหวังว่าความเข้าใจในรายละเอียดจะตรงกันเสียหมด

โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงเงื่อนไขของความพยายามในการเก็บเอาประเพณีและวัฒนธรรมของอยุธยามาเพื่อแสดงให้เห็นถึงการสืบทอดความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นทายาทของสังคมวัฒนธรรมกรุงศรีอยุธยาในยุครัชกาลที่ 1 กับการเขียนในยุคเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างในช่วงสมัยรัชกาลที่ 2

“ชมพู่พวาทอง” ที่พระพิราพขะมักเขม้นปลูกในบทละครรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 นั้น จึงควรจะหมายถึง “ต้นหว้า” และเป็นร่องรอยที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของพระพิราพ ในฐานะผู้เป็นเจ้าของชมพูทวีป (แปลตรงตัวว่า ทวีปแห่งต้นหว้า) ที่คนในปัจจุบันลืมเลือนกันไปเสียหมดแล้วนั่นเอง