คณิต ณ นคร : การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอันแสนแพงของไทย

ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (จบ)

3.เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการรวมกันของผู้พิพากษาตุลาการ

ผู้พิพากษาตุลาการก็เป็นมนุษย์ จึงชอบที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการรวมตัวกันเพื่อกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นเดียวกับมนุษย์ทั่วไป

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ สหประชาชาติได้วางหลักไว้ 2 ข้อ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1. เพื่อให้สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สมาชิกแห่งการยุติธรรมก็เช่นเดียวกับประชาชนอื่น ย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ความเชื่อ การรวมตัวกัน อย่างไรก็ตาม ในการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็น ผู้พิพากษาตุลาการทั้งหลายที่จะปฏิบัติตนให้เป็นไปในแนวทางที่จะรักษาไว้ซึ่งความเชื่อถือศรัทธาของหน่วยงาน และจักต้องกระทำอย่างเป็นกลางและธำรงความเป็นอิสระของการยุติธรรม

ข้อ 2. ผู้พิพากษาตุลาการทั้งหลายพึงใช้เสรีภาพในการรวมตัวและในการร่วมสมาคมของผู้พิพากษาตุลาการ หรือสมาคมอื่นในการปกป้องผลประโยชน์ของตน ในการส่งเสริมการฝึกอบรมและการต่อต้านความอิสระของการยุติธรรมของตน

เกี่ยวกับเรื่อง “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการรวมตัวเป็นสมาคม” (Freedom of expression and association) ไม่มีการกล่าวถึงในบริบทของไทยเรา

 

4.คุณสมบัติการเข้าสู่ตำแหน่งผู้พิพากษาตุลาการและการฝึกอบรม

สำหรับเรื่อง “คุณสมบัติและการเข้าสู่ตำแหน่งและการฝึกอบรม” (Qualifications, selection and training) ในหลักการพื้นฐานของสหประชาชาติ ก็คำนึงถึงเรื่องนี้

สรุปว่า บุคคลทั้งหลายที่จะได้รับเลือกสำหรับงานการยุติธรรม จักต้องเป็นผู้ที่ทรงไว้ซึ่งความเชื่อศรัทธา ผ่านการอบรมคุณสมบัติในทางกฎหมาย วิธีการใดๆ ในการคัดเลือกต้องสามารถเชื่อถือได้เกี่ยวกับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเกียรติแต่ละบุคคลและมีความสามารถเหมาะสมผ่านการฝึกอบรมสำหรับคุณสมบัติตามกฎหมาย

วิธีการคัดเลือกของตุลาการจักต้องไม่เล่นพรรคและพวก

 

5.เงื่อนไขในการดำรงตำแหน่งและระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง

เกี่ยวกับเรื่องการดำรงตำแหน่งและระยะเวลาดำรงตำแหน่ง (Conditions of service and tenure) หลักของสหประชาชาติกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1. ระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งของผู้พิพากษา ความอิสระ ความมั่นคง ค่าตอบแทน เงื่อนไขการทำงาน บำนาญ และการเกษียณอายุ จักต้องกล่าวไว้ในกฎหมาย

ข้อ 2. ผู้พิพากษาไม่ว่าจะมาจากสอบหรือจากการคัดเลือก ต้องมีหลักประกันในการอยู่ในตำแหน่งจนเกษียณอายุ หรือครบระยะเวลา

ข้อ 3. การเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งของผู้พิพากษาตุลาการ ไม่ว่าระบบที่วางไว้เป็นอย่างไร จะต้องวางอยู่บนความเป็นภววิของข้อเท็จจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องขึ้นอยู่ความสามารถ ความเชื่อถือและประสบการณ์

ข้อ 4. การจ่ายสำนวนคดีให้ผู้พิพากษาในศาลที่ผู้พิพากษาทำงานเป็นเรื่องภายในของการบริหารงานยุติธรรม

 

6.การรักษาความลับและความปลอดภัย

เกี่ยวกับการรักษาความลับและความมีศักดิ์ศรี (Professional secrecy and immunity) สหประชาชาติวางหลักไว้ดังนี้

ข้อ 1. การยุติธรรมต้องผูกมัดกับในการรักษาความลับในวิชาชีพที่สอดคล้องกับการกระทำตามอำนาจหน้าที่ และจักต้องไม่ถูกบังคับให้ต้องให้การกับสิ่งที่ได้กระทำ

ข้อ 2. โดยปราศจากความลำเอียงต่อกระบวนการพิจารณาหรือสิทธิในการอุทธรณ์เรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐตามกฎหมาย

ผู้พิพากษาต้องได้รับความคุ้มครองที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินสำหรับการกระทำหรือการงดเว้นในการใช้อำนาจและหน้าที่ของตน

 

7.วินัย การพักโทษการลงโทษและการให้ออกจากงาน

เกี่ยวกับวินัยและการลงโทษนั้น (Discipline, suspension and removal) หลักการของสหประชาชาติกล่าวได้ดังนี้

ข้อ 1. การกล่าวหาหรือการกล่าวโทษผู้พิพากษาในการทำหน้าที่และเรื่องความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่ ให้กระทำได้ด้วยวิธีการที่เป็นธรรมภายใต้วิธีการที่ผู้พิพากษามีสิทธิที่จะได้รับรู้ถึงการนั้น การตรวจสอบเรื่องราวที่กล่าวหาต้องกระทำเป็นความลับ เว้นแต่ผู้พิพากษายินยอมให้กระทำเป็นอย่างอื่น

ข้อ 2. การให้ผู้พิพากษาออกจากงาน หรือการย้ายจากหน้าที่กระทำได้ตามเหตุผลในเรื่องความรู้ความสามารถหรือในเรื่องความประพฤติที่ทำให้ไม่เหมาะสมที่จะกระทำหน้าที่ในตำแหน่ง

ข้อ 3. วิธีการดำเนินทางวินัย การสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ หรือการโยกย้าย จักต้องกระทำตามวิธีการที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐานหรือแนวทางปฏิบัติในทางยุติธรรม

ข้อ 4. คำชี้ขาดในเรื่องวินัย การให้ออกจากงาน หรือการโยกย้าย ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ทบทวนได้ หลักการนี้ไม่ขึ้นอยู่กับการอุทธรณ์ฎีกาโดยศาลสูง และวิธีการเพิกถอนจากตำแหน่งหน้าที่

 

8.การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ความพยายามของผู้เขียนที่กระทำตลอดมาตั้งแต่สำเร็จการศึกษากลับมาจากต่างประเทศเมื่อปี 2520 ก็คือ

“ความพยายามที่จะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเรา”

แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะขาดความร่วมมือจากบุคคลในกระบวนการยุติธรรมและจากทุกฝ่ายรวมทั้งประชาชนทั่วไปด้วย

ผู้เขียนเองนั้น นอกจากจะได้เขียนบทความเกี่ยวกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไว้ และรวมพิมพ์เป็นหนังสือ “รวมบทความ” เป็นจำนวนมากตามสมควรแล้ว 1

ในขณะที่ผู้เขียนได้รับเกียรติให้เป็นผู้บรรยาย “กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” ที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ผู้เขียนยังได้ออกข้อสอบที่ยึดโยงกับ “การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” อีกด้วย แต่ข้อสอบที่ผู้เขียนออกก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ ให้เป็นข้อสอบ 2

เกี่ยวกับข้อสอบที่เป็นการปฏิรูป “ศาลพิจารณา” (Trial Court) ผู้เขียนได้ออกในสมัยที่ 65 สอบวันที่ 7 เมษายน 2556 ดังนี้

คำถาม

“นายแดงถูกพนักงานอัยการฟ้องว่าจ้างวานฆ่านายเหลือง ศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่พนักงานอัยการโจทก์นำเข้าสืบและพยานหลักฐานทางฝ่ายนายแดงจำเลยนำเข้าสืบ และได้ใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงแล้ว เชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่า นายแดงจำเลยกระทำความผิดจริงตามฟ้อง พิพากษาให้ประหารชีวิตนายแดงจำเลย

นายแดงจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ ว่าตนไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง

พนักงานอัยการไม่อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เพียงแต่ตรวจสำนวนคดีที่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินการไว้ แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานที่พนักงานอัยการโจทก์และนายแดงจำเลยนำเสนอไม่พอฟังลงโทษนายแดงได้ จึงพิพากษายกฟ้อง

พนักงานอัยการยื่นฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่ศาลอุทธรณ์เพียงแต่ตรวจสำนวนศาลชั้นต้นโดยไม่ได้เป็นการพิจารณาเป็น “ศาลพิจารณา” (Trial Court) นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะกรณีเป็นเรื่องข้อเท็จจริง การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้รู้เห็นหรือสัมผัสพยานหลักฐานทั้งปวงด้วยตนเองนั้น ย่อมไม่อาจอธิบายโดยศาสตร์ใดๆ ได้ เพราะการที่กฎหมายให้ผู้พิพากษาต้องนั่งครบองค์คณะนั้น ก็เพื่อให้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็น “ศาลพิจารณา” (Trial Court) ได้สัมผัสพยานหลักฐานทั้งปวงในอันที่จะวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในข้อเท็จจริงตามเหตุผลที่สามารถอธิบายได้โดยหลักตรรกศาสตร์ และโดยจิตวิทยาพยานหลักฐาน ขอให้ศาลฎีกาได้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ดำเนินการเป็น “ศาลพิจารณา” (Trial Court) ให้ถูกต้องตามหลักดังกล่าว

นายแดงจำเลยฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ดำเนินการไปนั้น เป็นไปตามหลักที่ปฏิบัติกันตลอดมา ไม่ผิดหลักกฎหมายแต่ประการใด ขอให้ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลฎีกา ท่านจะวินิจฉัยข้อกฎหมายของพนักงานอัยการอย่างไร”

ธงคำตอบ

“แม้ในทางปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรมจะเห็นกันว่า การที่ศาลอุทธรณ์กระทำดังกล่าวถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย ก็มิได้หมายความว่า ศาลฎีกาจะแก้ไขให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย หลักตรรกศาสตร์ และหลักจิตวิทยาพยานหลักฐานไม่ได้

ดังนั้น ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลฎีกา ข้าพเจ้าเห็นพ้องด้วยกับความเห็นของพนักงานอัยการโจทก์ และจะย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ดำเนินการเป็น “ศาลพิจารณา” (Trial Court) ให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย หลักตรรกศาสตร์ และหลักจิตวิทยาพยานหลักฐาน แล้วพิจารณาพิพากษาคดีนี้ใหม่ เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 203 ศาลอุทธรณ์สืบพยานได้ ซึ่งแสดงว่าตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริง ตามระบบกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยเราในปัจจุบัน “ศาลพิจารณา” (Trial Court) มี 3 ชั้น คือ ทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เพราะในศาลฎีกานั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาในศาลอุทธรณ์มาใช้บังคับในชั้นฎีกาด้วย” 3

นอกจากนี้ ผู้เขียนเองยังได้เขียนตำรากฎหมายไว้หลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็นตำรากฎหมายอาญาภาคทั่วไป ตำรากฎหมายอาญาภาคความผิด ตำรากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตำรากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และตำราความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

และนอกจากนั้น ผู้เขียนยังได้จัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับ “ประมวลกฎหมายอาญา” และ “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” เพื่อประชาชนจักได้ช่วยทำความฝันของผู้เขียนให้เป็นจริงอีก 2 เล่ม คือ

“ประมวลกฎหมายอาญา : หลักกฎหมายและพื้นฐานการเข้าใจ” 4

“ประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญา : หลักกฎหมายและพื้นฐานการเข้าใจ” 5

ซึ่งหนังสือทั้งสองเล่มนี้ นอกจากจะเขียนเพื่อนักศึกษาได้ใช้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาแล้ว ยังได้กระทำเพื่อประชาชนด้วย 6

และสุดท้าย ผู้เขียนได้เขียนหนังสือขึ้นอีกเล่มหนึ่งเมื่อเดือนเมษายน 2561 ใช้ชื่อว่า

“คู่มือประชาชน : สิทธิของข้าพเจ้าในคดีอาญา”

หนังสือเล่มนี้เขียนเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน และเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของผู้เขียน 7

จนในที่สุดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2559 ผู้เขียนก็ได้จัดตั้ง

“ชมรมข้าราชการอัยการบำนาญเพื่อการปฏิรูปองค์กรอัยการ” 8

เพื่อเชิญชวนพนักงานอัยการทั้งหลายได้ช่วยทำความหวังของผู้เขียนให้เป็นจริง 9 แต่ทุกอย่างก็ยังเงียบอยู่จนบัดนี้

เกี่ยวกับ “การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” นั้น มิใช่ผู้เขียนเพียงผู้เดียวที่พยายามนำเสนอ

ในอดีตท่านศาสตราจารย์หลวงจำรูญเนติศาสตร์ อดีตประธานศาลฎีกา ซึ่งต่อมาได้แต่งตั้งให้เป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม” ก็ได้กล่าวไว้ในข้อเขียนของท่านเรื่อง

“แนวความคิดในการปรับปรุงราชการศาลยุติธรรม”

ซึ่งข้อเขียนนี้ท่านได้เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2516 แต่ผู้เขียนได้อ่านพบในหนังสือพิมพ์แจกในงานศพของท่าน 10 และในข้อเขียนดังกล่าว ท่านได้กล่าวไว้หลายอย่างหลายประการ

 

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

ท่านคณากร เพียรชนะ ท่านผู้พิพากษาที่เสียชีวิตไปในครั้งนี้ ได้กล่าวใน “บันทึกลาตาย” ของท่านถึงบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ด้วยความชื่นชม

สำหรับผู้เขียนเองนั้นก็ได้มีส่วนร่วมในการปรับปรุงเกี่ยวกับ “ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ” ด้วย เพราะผู้เขียนก็เป็นผู้หนึ่งใน สสร.2540

แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาผู้เขียนรู้สึกว่า บุคคลในวงการศาลยุติธรรมยังไม่ค่อยเข้าใจหลักการที่ดีพอ จึงไม่ได้กระทำตามหลักการที่ สสร.2540 ได้เสนอไว้อย่างจริงจัง จนเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดใจเป็นอย่างยิ่งเกิดขึ้น

ดั่งนี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะปฏิบัติหรือปฏิรูปให้เป็นตามหลักการตามที่รัฐธรรมนูญ 2540 ได้วางไว้ในเรื่อง “ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ” และตามข้อเสนอของศาสตราจารย์หลวงจำรูญเนติศาสตร์

และเกี่ยวกับ “การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” นั้น ชอบที่จะขยายต่อไปถึงเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่อง ศาลพิจารณา (Trial Court) ที่ผู้เขียนได้วิเคราะห์ถึงในบทความนี้ด้วย

และสำหรับเรื่องปฏิรูป “ศาลพิจารณา” (Trial Court) นั้น ผู้เขียนเห็นว่า ชอบที่จะกระทำใน “ศาลสูงสุด” ของประเทศด้วย เพราะศาลสูงสุดของทุกประเทศจะเป็น “ศาลพิจารณาพิพากษาเฉพาะข้อกฎหมาย” หรือเป็น Review Court เท่านั้น หาใช่เช่นที่กระทำกันอยู่ในทางปฏิบัติอย่างในบ้านเราในขณะนี้ไม่ ซึ่งข้อนี้ ศาสตราจารย์หลวงจำรูญเนติศาสตร์ก็ได้กล่าวถึงไว้เช่นเดียวกัน

อนึ่ง “ศาลสูงสุด” ของทุกประเทศในโลกเรานี้ ต่างเป็น “ศาลพิจารณาพิพากษาข้อกฎหมาย” หรือเป็น Review Court ทั้งสิ้น

เหตุนี้ Federal Supreme Court ของสหรัฐอเมริกา จึงมีผู้พิพากษาเพียง 9 คน ส่วน Bundesgerichtshof หรือศาลสูงสุดแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และ “ศาลสูงสุด” (Supreme Court) ของประเทศญี่ปุ่น ต่างมีผู้พิพากษาเพียง 15 คนเท่านั้น

แต่ “ศาลฎีกา” ของไทยเราในปัจจุบันมีผู้พิพากษาถึง 100 คนเศษ กรณีจึงอาจกล่าวได้ว่าในศาลสูงสุดของเรามีผู้พิพากษามากที่สุดในโลก

และเกี่ยวกับจำนวนผู้พิพากษาของศาลสูงของเรานั้น หลวงจำรูญเนติศาสตร์ก็ได้กล่าวไว้ในข้อเขียนของท่านเมื่อปี 2516 ว่า เรามีผู้พิพากษาในศาลสูงมากที่สุดในโลก

และท่านได้กล่าวอีกว่า

“การเพิ่มจำนวนผู้พิพากษา (ในศาลสูง) มิได้ดูที่สมุฏฐาน แต่เป็นการกระทำเพื่อขอไปที”

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงใคร่ขอสรุปส่งท้ายในบทความนี้ว่า

กระบวนการยุติธรรมของไทยเราเป็นกระบวนการยุติธรรมที่แพงที่สุดในโลกในด้าน “การบริหารงานบุคคล” (Personnel Management)

—————————————————————————————————-

(1) ปัจจุบันมีรวมทั้งสิ้น 17 เล่ม เล่มแรกคือ “นิติธรรมอำพรางในนิติศาสตร์ไทย” พิมพ์เดือนกันยายน 2548 และเล่มสุดท้ายคือ “กฎหมายปริทรรศน์ใน “วารสารอัยการ” และอื่นๆ” พิมพ์เดือนธันวาคม 2562

(2) ดู คณิต ณ นคร “กระบวนการยุติธรรมกับรัฐธรรมนูญใหม่” รัฐธรรมนูญกับกระบวนการยุติธรรม พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์วิญญูชน มกราคม 2558 หน้า 138-161 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้า 158-161

และดู คณิต ณ นคร “ชมรมเพื่อข้าราชการอัยการบำนาญการปฏิรูปองค์กรอัยการ” อาชีพพนักงานอัยการและการปฏิรูปองค์กรอัยการ พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์วิญญูชน สิงหาคม 2560 หน้า 143-163 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้า 146-150

(3) ดู คณิต ณ นคร “กระบวนการยุติธรรมกับรัฐธรรมนูญใหม่” รัฐธรรมนูญกับกระบวนการยุติธรรม พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์วิญญูชน มกราคม 2558 หน้า 138-161 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้า 158-161

(4) หนังสือเล่มนี้พิมพ์เป็นครั้งที่ 12 แล้ว โดยสำนักพิมพ์วิญญูชน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559

(5) หนังสือเล่มนี้พิมพ์เป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยสำนักพิมพ์วิญญูชน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562

(6) ดู คำนำ ของหนังสือทั้งสองเล่มนี้

(7) ดู คำนำ ของหนังสือเล่มนี้ หน้า 5-6

(8) ดู คณิต ณ นคร “ชมรมข้าราชการอัยการบำนาญเพื่อการปฏิรูปองค์กรอัยการ” อาชีพพนักงานอัยการและการปฏิรูปองค์กรอัยการ พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์วิญญูชน สิงหาคม 2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้า 162-163

(9) ดู คณิต ณ นคร “ชมรมเพื่อข้าราชการอัยการบำนาญการปฏิรูปองค์กรอัยการ” อาชีพพนักงานอัยการและการปฏิรูปองค์กรอัยการ พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์วิญญูชน สิงหาคม 2560 หน้า 143-163 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้า 162;

และ ดู คำนำ ในหนังสือเล่มนี้ด้วย เพราะผู้เขียนได้มีคำกล่าวถึงผู้ใหญ่ในสำนักงานอัยการสูงสุดท่านที่ผ่านมาที่ผู้เขียนได้ฝากความหวังไว้ แต่ไม่ได้ดำเนินการ และผู้เขียนขอฝากความหวังไว้ว่า ใครก็ตามที่ขึ้นเป็นอัยการสูงสุด ก็ควรปฏิรูปตามข้อเสนอของผู้เขียน

(10) หลวงจำรูญเนติศาสตร์ “แนวความคิดการปรับปรุงราชการศาลยุติธรรม” วารสารกฎหมายธุรกิจบัณฑิตย์ ฉบับที่ 6 มกราคม – มิถุนายน 2549; หรือ คณิต ณ นคร เรื่องเดียวกัน ใน กระบวนการยุติธรรมในมุมมองของ คณิต ณ นคร พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์วิญญูชน พิมพ์เดือนตุลาคม 2556 หน้า 135-159