จิตต์สุภา ฉิน : จะช่วยให้มนุษย์ผ่านช่วงนี้ไปได้ไหม

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
A security guard keeps watch as an AI-powered system developed by Chinese tech firm Megvii screens commuters for fevers as they enter the Mudanyuan metro station in Beijing on February 6, 2020, part of an effort to contain the spread of the new coronavirus in China. - The number of confirmed infections in China's coronavirus outbreak has reached 28,018 nationwide with 3,694 new cases reported, the National Health Commission said on February 6. (Photo by GREG BAKER / AFP)

ที่ผ่านมาเราพูดถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอกันมาโดยตลอดว่ามันทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายขึ้นอย่างไรบ้าง ทำให้รถขับเองได้ ทำให้บ้านเราฉลาดขึ้น ช่วยตัดสินใจแทนเราได้ ช่วยดูแลความปลอดภัยให้เราได้ และอื่นๆ อีกมากมาย ที่บางครั้งเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเกิดขึ้นมาจากพลังของเอไอ

แต่ในตอนที่มวลมนุษยชาติกำลังตกที่นั่งลำบากจากการระบาดของโรคร้ายเหมือนอย่างตอนนี้ เอไอที่เราคาดหวังกันไว้สูงมากนั้นจะสามารถเข้ามาช่วยเผ่าพันธุ์เราได้อย่างไรบ้าง

ในช่วงโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ระบาด มีการพูดถึงกันว่าเราจะสามารถนำเอไอมาช่วยได้อย่างไร

ระบบที่ใช้เอไอจะสามารถช่วยชะลออัตราหรือหยุดยั้งการระบาดของไวรัสได้ไหม

 

หากจะย้อนกลับไปพูดถึงการใช้เอไอในการตรวจจับสัญญาณของการเกิดโรคระบาด ก็ต้องบอกว่าเอไอสามารถทำได้แล้ว อย่างระบบที่ชื่อ Dataminr ซึ่งมาจากบริษัทเทคโนโลยีที่ทำงานทางด้านการประเมินความเสี่ยง บอกว่า ระบบของบริษัทสามารถตรวจจับสัญญาณเตือนของการเกิดโรค COVID-19 ได้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคมที่ผ่านมา

และได้ออกคำเตือนแล้วตั้งแต่วันนั้น โดยใช้ฐานข้อมูลมาจากพยานที่อยู่ภายในโรงพยาบาลต่างๆ ในอู่ฮั่น

ภาพการฆ่าเชื้อในตลาดอาหารทะเลซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของไวรัส และคำเตือนจากแพทย์ชาวจีนที่ภายหลังก็เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสเดียวกันนี้

ความท้าทายที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อเกิดโรคใหม่ที่เราไม่รู้จัก ธรรมชาติของมนุษย์มีแนวโน้มที่จะตั้งรับเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเราไม่มีข้อมูลที่มากพอที่จะตัดสินใจอะไรได้มากกว่านั้น และเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว สถานการณ์แย่ลงแล้ว เราก็ไม่สามารถเรียกช่วงเวลานั้นกลับคืนมาได้อีก

อย่างน้อยๆ สิ่งที่เอไอสามารถทำได้และทำได้ดีก็คือการตามเก็บข้อมูลการแพร่ระบาดของโรค ด้วยการรวบรวมข้อมูลมาจากหลายๆ แหล่ง ตั้งแต่การจองตั๋วเครื่องบิน ข้อมูลจากบนทวิตเตอร์ เวยโป๋ รายงานข่าว และเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่ติดอยู่บนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้

ส่วนที่เหลือก็จะต้องเป็นหน้าที่ของมนุษย์ ที่จะต้องตัดสินใจว่าจากข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับรู้มาแล้ว ก้าวต่อไปจะเป็นอะไร

 

นอกจากเอไอจะช่วยตามติดข้อมูลการระบาดของโรคได้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่มันอาจจะสามารถช่วยให้มนุษย์เราหลุดพ้นจากสถานการณ์นี้ได้เร็วขึ้นก็คือการช่วยทำให้การทดลองยาเป็นไปได้เร็วขึ้น ผ่านการทำจำลอง หรือ simulation ซึ่งก็จะทำให้เราทดลองยาหลายๆ สูตรได้ในอัตราที่รวดเร็วแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แต่ปัญหาก็คือ การจะนำไปสวมเข้ากับกระบวนการทดลองยาที่ปกติแล้วจะต้องใช้เวลาในการทำนานหลายปีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าไหร่เหมือนกัน

ทั้งหมดที่พูดมา ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอสรุปออกมาว่า ในตอนนี้เอไอน่าจะมีประโยชน์มากที่สุดสำหรับช่วงที่เราต้องการจำกัดไม่ให้โรคระบาดไปมากกว่านี้

อย่างเช่น การใช้ข้อมูลโลเกชั่นแบบนิรนามจากสมาร์ตโฟนเพื่อเฝ้าดูความเป็นไปของโรคและระบุจุดได้ว่าจุดไหนเป็นฮอตสปอตที่มีโรคระบาดเยอะ หรือเอาไว้ใช้เพื่อกำกับและควบคุมว่าประชาชนทำตามนโยบาย social distancing หรือการเว้นระยะห่างระหว่างตัวเองกับคนอื่นได้จริง

ซึ่งรายละเอียดว่าประเทศอะไรใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยกำกับเรื่องนี้ก็ได้เขียนเอาไว้แล้วในคอลัมน์นี้เมื่อสัปดาห์ก่อน

 

การระบาดของไวรัสในตอนนี้ทำให้เราต้องเจอกับทางสองแพร่งที่แต่ละประเทศก็จะมีวิธีคิดและตัดสินใจที่ไม่เหมือนกันก็คือ เมื่อเราต้องการข้อมูลจากประชาชนให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งที่อยู่ ประวัติการค้นหาออนไลน์ การเดินทางไปยังร้านขายยา การสั่งซื้อยาบางประเภท ฯลฯ เพื่อนำมาใช้ในการประกอบการปฏิบัติการในการจำกัดการแพร่เชื้อ สิ่งที่จะต้องแลกมาก็คือความเป็นส่วนตัวของประชาชนที่จะหายไปอย่างแน่นอน

เมื่อมีแรงกดดันให้ต้องช่วยกันคิดว่าจะนำเอไอมาช่วยด้วยทางไหนอีกบ้าง อีกหนึ่งอย่างที่สามารถทำได้ คือปล่อยให้เอไอค้นคว้าหาข้อมูลโดยดูจากผลการวิจัยเป็นพันๆ หมื่นๆ ชิ้น เอไอจะต้องสแกนดูข้อมูลงานวิจัยแต่ละชิ้นอย่างละเอียดเพื่อหาเงื่อนงำเบาะแสว่ามีงานวิจัยไหนบ้างที่อาจจะเป็นการรักษาโรคที่ใช้ได้จริง ซึ่งนี่เป็นภารกิจที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง

ในตอนนี้บริษัทเทคโนโลยี สถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็เลยรวมตัวกันช่วยนำทรัพยากรที่มีออกมากองไว้บนโต๊ะเพื่อให้ชุมชนนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้เท่าที่ต้องการ

ด้วยความหวังว่าเอไอจะเจออะไรบางอย่างที่เป็นประโยชน์ให้มนุษย์หยิบไปต่อยอดพัฒนาออกมาจนกลายเป็นยารักษา COVID-19 ได้ในที่สุด

 

ล่าสุดก็มีข่าวดีเล็กๆ ที่เกี่ยวกับเอไอและ COVID-19 ออกมาให้ได้เห็นกันก็คือการที่นักวิจัยในสหรัฐและจีนร่วมมือกันพัฒนาเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถใช้ในการคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำว่าผู้ป่วยติดเชื้อคนไหนที่มีแนวโน้มจะเป็นหนัก ซึ่งก็หมายถึงอาการที่เกิดขึ้นกับปอด อย่างภาวะน้ำท่วมปอดนั่นเอง

อัลกอริธึ่มนี้จะช่วยให้แพทย์ที่ทำการรักษาอยู่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะจัดลำดับทรัพยากรในการรักษาที่มีอยู่ไปให้กับคนไข้ส่วนไหน เนื่องจากเมื่อคลื่นคนป่วยถาโถมเข้ามาในโรงพยาบาลพร้อมๆ กัน ทรัพยากรย่อมไม่เพียงพอ

แพทย์จึงต้องตัดสินใจอยู่บ่อยครั้งว่าจะต้องจัดสรรทรัพยากรอย่างไรจึงจะสามารถช่วยคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดได้

เครื่องมือนี้ไม่นำอายุและเพศเข้ามาตัดสินใจร่วมด้วย แต่สามารถทำนายได้อย่างแม่นยำอยู่ที่อัตราถึง 80 เปอร์เซ็นต์

แม้จะมีความเหมือนกับโรคที่เคยระบาดมาก่อนหน้า แต่แพทย์ทั่วโลกก็ยังต้องเรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับ COVID-19 ไปพร้อมๆ กับการดูแลรักษาผู้ป่วยไปด้วย การที่มีเครื่องมืออย่างเอไอมาช่วยเพิ่มข้อมูลให้ ก็น่าจะช่วยทำให้แพทย์ทำงานได้ง่ายขึ้น และตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

หลังจากนี้ เมื่อเราได้เก็บเกี่ยวข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เราก็น่าจะได้เห็นการนำเอไอเข้ามาใช้ช่วยตามจุดต่างๆ อุดช่องโหว่ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า และเสริมศักยภาพในการจำกัดโรคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน

และนี่ก็จะเป็นอีกหนึ่งครั้งที่เอไอจะสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่อมนุษย์อย่างแท้จริง