ในประเทศ / 21,000,000 คน ลงทะเบียนรับ 5,000 www.เราไม่ทิ้งกัน จริงๆ นะ

ในประเทศ

 

21,000,000 คน

ลงทะเบียนรับ 5,000

www.เราไม่ทิ้งกัน

จริงๆ นะ

 

หลังรัฐบาลเปิดให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต “โควิด-19” ลงทะเบียนตามมาตรการเยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน) ที่เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2563

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 เฟซบุ๊ก Chao Jiranuntarat ของนายสมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย หนึ่งในทีมดูแลระบบลงทะเบียนของเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เผยยอดผู้เข้าลงทะเบียนเมื่อเวลาประมาณ 06.34 น. มียอดผู้ลงทะเบียนตั้งแต่วันแรกถึงวันที่สี่รวม 21 ล้านคน

และคาดหมายว่า ยอดจะเพิ่มขึ้นไปอีก

สะท้อนถึงผลกระทบอย่างกว้างขวางของวิกฤตไวรัสโควิด-19

และความคาดหวังของคนเดือดร้อนเหล่านี้ ว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล

 

แน่นอนว่า ในจำนวนที่ลงทะเบียนดังกล่าว

คงมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้มีคุณสมบัติตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 กำหนด

คือผู้ที่จะได้รับการชดเชยรายได้แก่แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบ ประกันสังคมหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ จากการหยุดประกอบกิจการของสถานประกอบการที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19)

เช่น สนามมวย สนามกีฬา ผับ สถานบันเทิง โรงมหรสพ นวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนส สถานบริการอื่นๆ เป็นต้น

รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ

ทั้งนี้ ไม่นับรวมผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม

และไม่รวมข้าราชการและข้าราชการบำนาญ และเกษตรกร

เป้าหมายผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ เบื้องต้นตั้งไว้ 3 ล้านคน

 

แต่อย่างที่ระบุข้างต้น เพียงแค่ 4 วัน ยอดคนลงทะเบียนทะลุไปถึง 21 ล้านคนแล้ว และคงทะยานไปเรื่อยๆ

แม้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ยืนยันว่าจะไม่จำกัดปริมาณผู้ที่จะได้รับสิทธิไว้แค่ 3 ล้านคน

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการออกมาแตะเบรกเพื่อหยุดกระแสร้อนแรงลง

โดยบอกว่า ได้แจ้งให้กระทรวงการคลังไปชี้แจงแล้วว่าส่วนใดที่จะได้รับเงินในส่วนนี้บ้างเพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ แม้จะมียอดผู้ลงทะเบียนจำนวนกว่า 20 ล้านคน อีกทั้งผู้ที่ลงทะเบียนก็หวังว่าจะได้รับเงินโดยทันที

ทั้งนี้ เมื่อลงทะเบียนผ่านแล้วจะมีมาตรการคัดกรองคุณสมบัติผ่านระบบ Ai อีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นจึงจะจ่ายเงินเข้าระบบ

“ผู้ลงทะเบียนจำนวนคร่าวๆ ประมาณ 20 ล้านคน คงไม่ได้หมายความทุกคนจะได้รับเงินเยียวยา ขอให้ทำความเข้าใจร่วมกัน ผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ครบตรงตามที่กำหนดก็ต้องถูกคัดแยกออกไป ส่วนใครที่คิดว่าลงๆ ไปก่อนเผื่อจะฟลุกมีโอกาสได้รับเงิน หากว่ามีการกรอกข้อมูลอันเป็นเท็จ ตรวจสอบพบภายหลังจากที่รับเงินเยียวยาไปแล้ว จะต้องถูกรัฐเรียกรับเงินคืน”

ส่วนผู้ที่พลาดหวัง พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า รัฐบาลจะออกมาตรการมาช่วยเหลือและเยียวยาอื่นๆ เพิ่มเติมเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดผลกระทบประชาชนให้มากที่สุด โดยจะมีมาตรการระยะที่ 3 และ 4 ออกมา ต้องหางบประมาณทั้งจากภายในและนอก ทั้งจากงบประมาณปี 2563 และ พ.ร.ก.เงินกู้ ที่กำลังดำเนินการในปัจจุบัน เพื่อให้มีเม็ดเงินเพียงพอ

โดยรัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่ในทุกมาตรการและเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ

 

ขณะที่มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 31 มีนาคม

พล.อ.ประยุทธ์ได้ตำหนิกระทรวงการคลังว่าดำเนินการประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูลแก่ประชาชนถึงมาตรการเยียวยาดังกล่าวแบบขยักขย่อน

ไม่มีชุดข้อมูลชี้แจงที่มีความชัดเจนในครั้งเดียว

ส่งผลให้ประชาชนกังวลและมีข้อสงสัยจำนวนมาก

นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รวมถึงเกิดกระแสข่าวลือที่ทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือความวุ่นวายอย่างที่ปรากฏเป็นข่าว

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงกำชับในที่ประชุมว่า การจะออกมาตรการใดหรือโครงการใดก็ตาม ขอให้ทุกกระทรวงหรือทุกหน่วยงานคิดและจัดทำชุดข้อมูลที่มีรายละเอียดแบบเบ็ดเสร็จ ครอบคลุมทุกด้านก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อจะได้เป็นชุดข้อมูลเดียวที่สามารถนำไปสื่อสารต่อประชาชนให้มีความเข้าใจชัดเจนได้ในครั้งเดียว ไม่เกิดข้อกังวลหรือข้อสงสัยอื่นๆ ตามมาในภายหลัง

 

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ออกมาแตะเบรกและติติง

ส่วนหนึ่งก็คงมีความกังวล ด้วยจะต้องใช้เงินมหาศาล

เพราะหากในจำนวน 20 ล้านคน กลั่นกรองแล้วเข้าข่ายได้รับการช่วยเหลือสักครึ่งเดียว คือ 10 ล้านคน

รัฐบาลก็ต้องมีภาระหาเงินมาจ่ายเฉพาะส่วนนี้ถึงเดือนละ 5 หมื่นล้านบาท ถ้าต้องจ่าย 3 เดือน ก็พุ่งขึ้นเป็นถึง 1.5 แสนล้านบาท

นี่ยังไม่รวมถึงจะต้องใช้เงินช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในส่วนอื่น

ถือเป็นภาระอันหนักอึ้ง

แถมจะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง

โดยเฉพาะเกณฑ์ใครได้หรือไม่ได้ จะต้องชัดเจน หากมีความคลุมเครือ จะนำไปสู่คำถาม และที่สุดอาจจะก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่ผู้ที่มาลงทะเบียนได้

เพราะกว่า 20 ล้านคน ย่อมมีความคาดหวังที่จะได้รับการช่วยเหลือ

หากไม่ได้ หลักเกณฑ์ต้องชัด ไม่มีการเปรียบเทียบว่า ทำไมคนนั้นได้ คนนี้ไม่ได้

ซึ่งยากอย่างยิ่ง

เพราะรัฐบาลเองก็มีเวลาจำกัดในการพิจารณา คือจะต้องเร่งจ่ายภายใน 1 สัปดาห์ หรือหลังจากนั้นไม่มาก

 

นี่จึงเป็นงานหนักและเหนื่อยของรัฐบาล

ซึ่งหากรัฐบาลทำได้ดี เชื่อว่า จะได้รับความนิยมอย่างสูง

ตรงกันข้าม หากไร้มาตรฐาน ย่อมจะนำมาสู่กระแสต่อต้านรัฐบาลอย่างหนักเช่นกัน

ถือเป็นความละเอียดอ่อนทางการเมืองอย่างยิ่ง

จึงไม่แปลกที่นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แกนนำพรรครัฐบาล รีบออกมาประสานให้ ส.ส.ของพรรคชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนที่ลงทะเบียนว่า เมื่อลงทะเบียนสำเร็จแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับเงินโดยอัตโนมัติ ต้องผ่านการตรวจสอบและคัดกรองตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดก่อนจึงจะได้รับสิทธิ

“ขอให้มั่นใจว่า รัฐบาลจะดูแลผู้ที่เดือดร้อนทุกคน และรัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอที่จะดูแล อย่างไรก็ตาม ฝากไปยังนักการเมืองบางคนอีกครั้งว่า รัฐบาลกำลังเร่งทำงานอยู่เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน หยุดพูดติติงบ้างก็ได้ ขอเปลี่ยนมาเป็นให้กำลังใจคนทำงานจะดีกว่า” นายธนกรรีบดักคอ

เพื่อไม่ให้เรื่องนี้กลายเป็นเงื่อนไขร้อนทางการเมือง เพราะจะยากต่อการแก้ไข

 

ตอนนี้งานหนัก สาหัสสากรรจ์ของรัฐบาลก็คือ

ทำเกณฑ์แจกเงินต้องชัดเจน โปร่งใส อธิบายได้

และอีกเรื่องคือ แหล่งเงินที่จะนำมาใช้

ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้แย้มๆ ออกมาแล้ว เช่น

แผนที่จะออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน วงเงินมากกว่า 2 แสนล้านบาท

การเกลี่ยงบประมาณของปี 2563 มาใช้ ภายใต้เงื่อนไขของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

ยิ่งเศรษฐกิจในปีนี้ คณะกรรมการการเงินได้ลดเป้าการเติบโต โดยชี้ว่าติดลบ 5.3% สอดคล้องกับภาคเอกชน อย่างธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ได้ปรับมุมมองทางเศรษฐกิจไทยจากเดิมขยายตัว 1.7% เป็นติดลบ 6.4% การกำหนดจังหวะก้าวทางเศรษฐกิจยิ่งจำกัดลง

รวมถึงต้องคำนึงเพดานเงินกู้ที่เป็นอีกข้อจำกัดหนึ่งด้วย

จึงไม่ง่าย

แม้ว่านายกรณ์ จาติกวณิช ว่าที่หัวหน้าพรรคกล้า จะออกมากระตุ้น “ความกล้า” ของรัฐบาล

ด้วยการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Korn Chatikavanij ว่า คนที่เดือดร้อนมีมากกว่า 3 ล้านคนแน่นอน และถึงแม้อาจจะมีคนที่ไม่ควรมีสิทธิแฝงเข้ามาบ้าง แต่ในการประเมินแล้วคิดว่าผู้ที่ควรได้รับความช่วยเหลืออยู่ที่ประมาณ 24 ล้านคน

คือ…

  1. ผู้มี “อาชีพอิสระ” 12 ล้านคน ส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำ (สมาชิกประกันสังคมตามมาตรา 39 และ 40 จำนวน 5 ล้านคน และอิสระอื่นๆ 7 ล้านคน) พ่อค้าแม่ขายรายเล็ก หาบเร่แผงลอย เจ้าของธุรกิจ SME ขนาดเล็ก-กลาง ที่ลำบากหมุนเงินไม่ไหว
  2. “เกษตรกร” 4 ล้านคนที่ไม่อยู่ในโครงการประกันรายได้ของรัฐบาล ผู้ผลิตอาหาร ข้าว พืช ผัก ผลไม้เข้าเมือง และส่งออก จ่อด้วยภาวะภัยแล้งที่กำลังจะโถมเข้ามาซ้ำเติม
  3. “ลูกจ้างรายได้น้อย” หรือผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ชำระภาษีเงินได้ 8 ล้านคน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เดือดร้อนหนักมากตอนนี้

รวมสามกลุ่มนี้ 24 ล้านคน จำเป็นต้องช่วยเหลือเร่งด่วน รอช้ากว่านี้จะยิ่งเจ็บลึก

วงเงินที่ต้องใช้ทั้งหมดคือ 120,000 ล้านบาทต่อเดือน หากคำนวณสามเดือนคือ 360,000 ล้าน หรือประมาณ 2.1% ของ GDP

หลายประเทศเขามีมาตรการช่วยเหลือประชาชนคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 10%+ ของ GDP ทั้งๆ ที่หนี้สาธารณะของเขามีสัดส่วนต่อจีดีพีที่สูงกว่าเรามาก

นายกรณ์เสนอให้นำเงินมาจาก 3 ส่วนหลักดังนี้

  1. ปรับโอนงบประมาณปี 2563 โดยต้องออกกฎหมายเร่งด่วนให้ชัดเจน
  2. ออก พ.ร.ก.เงินกู้ ในกรณีที่จะต้องมีแผนชัดว่าจะช่วยเหลือแบบไหน อย่างไร
  3. ปรับ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 ที่ ครม.อนุมัติขั้นต้นไปเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา (สามารถใช้ได้ต้นเดือนตุลาคม) ให้ตอบสนองต่อภาวะวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด

 

เชื่อว่าหลายฝ่ายมีความโน้มเอียงไปยังข้อเสนอของนายกรณ์

คำถามก็คือ รัฐบาลจะทำหรือไม่ ซึ่งแน่นอนสำหรับผู้ปฏิบัติแล้ว ยากกว่าผู้เสนอมาก

แต่ก็ไม่ทำไม่ได้

ล่าสุดคณะรัฐมนตรีก็ได้ปรับเป้าการช่วยเหลือจาก 3 ล้านคนเป็น 9 ล้านคน โดยต้องใช้เงินในเดือนเมษายนนี้ 4.5 หมื่นล้านบาท

ซึ่งไม่ถึงครึ่งของผู้มาลงทะเบียน 21 ล้านคน

ส่วนที่เหลือจะทำอย่างไร

เพราะพวกเขาก็ยังเชื่อมั่นดังชื่อเว็บ เราไม่ทิ้งกัน

โดยมีวงเล็บ “จริง-จริงนะ” ต่อท้าย

   ซึ่งนี่ย่อมเป็นเรื่องน่าหนักใจของรัฐบาล ต่อความคาดหวังอันสูงลิ่วนั้น