วงค์ ตาวัน | รัฐบาลแบบไหน-สู้ไวรัสล้างโลก

วงค์ ตาวัน

สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นในหลายประเทศ แต่ในหลายประเทศอยู่ในช่วงยังเลวร้ายหนัก จนคาดการณ์กันว่า ดีไม่ดีปีนี้ทั้งปีโลกอาจจะต้องจมอยู่กับโรคระบาดนี้จนโงหัวไม่ขึ้น บอบช้ำอัมพาตไปตลอดทั้งปีเลยทีเดียว

กีฬาใหญ่ๆ ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยูโร รวมทั้งโอลิมปิกต้องเลื่อนไปปีหน้าแล้วทั้งสิ้น

“2563 หรือ 2020 จะกลายเป็นปีที่มวลมนุษยชาติต้องป่วยไข้กับโรคระบาดที่ปกคลุมโลกทั้งใบ”

สำหรับประเทศไทยเรา ที่โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจเสียหายมาตลอดยุครัฐบาลทหาร และยังเข้าสู่ยุครัฐบาลเลือกตั้งที่มีผู้นำเป็นนายกฯ รัฐบาลทหารคนเดิม กุมอำนาจโดยแกนนำ คสช.ชุดเดิม จึงยากจะฟื้นได้ง่ายในปี 2563 นี้อยู่แล้ว

พอมาเจอโควิดเข้าให้ สภาพเศรษฐกิจต้องพังพินาศโดยสิ้น จากนี้ไปถ้ายังไม่มีรัฐบาลที่มากด้วยความสามารถ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เฉียบคมฉับไว การฟื้นฟูสภาพบ้านเมืองและสภาพเศรษฐกิจก็มืดมนอย่างมาก

“ชะตากรรมของประชาชนคนไทย อาจจะหนักกว่าชาวโลก แม้ว่าจะต้องเผชิญโควิดไม่ต่างกัน แต่พื้นฐานทางเศรษฐกิจเดิมและความเก่งกาจสามารถในอนาคตข้างหน้านี้ เราน่าจะมีปัญหากว่าหลายๆ ชาติ!”

นั่นเป็นเพราะเราได้รัฐบาลที่เข้ามาเพื่อภารกิจด้านอื่น นั่นคือการกุมอำนาจการเมืองเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการพัฒนาก้าวหน้าแนวเสรีนิยม ทุนนิยม

เป็นรัฐบาลที่เน้นความมั่นคง ตีกรอบฝ่ายนักการเมืองไม่ให้เติบโต โดยเฉพาะฝ่ายทักษิณ

แทนที่การเมืองจะดำเนินไปตามธรรมชาติ ภายใต้หลักประชาธิปไตย โดยประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้ตัดสินใจ

“นั่นจะทำให้การเมืองไทยเปิดกว้าง ได้นักการเมืองแนวคิดใหม่ๆ ก้าวหน้าทันสมัย ผลักดันประเทศให้พัฒนาไปพร้อมกับความก้าวหน้าของโลก”

แต่กลับกลายเป็นการเมืองยุคที่ฉุดให้ถอยหลัง เพื่อสร้างการเมืองแบบอนุรักษนิยมย้อนยุค

ผลก็คือ เมื่อเกิดวิกฤต ระดับมหาวิกฤตการณ์ เราจึงขาดคนเก่งกาจสามารถในการรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายนี้

รัฐบาลทหารเมื่อ 5 ปีก่อน มาสู่รัฐบาลทหารที่มีประชาธิปไตยการเลือกตั้งเป็นเพียงเสื้อคลุม

จู่ๆ มาเจอไวรัสระดับล้างโลก ฝีไม้ลายมือในการต่อกรระดับรัฐบาลเรา จึงเกิดสภาพอย่างที่เห็นๆ กันนี่แหละ!!

การประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อสถานการณ์โควิดในบ้านเราเริ่มรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ ภาพรวมก็เหมือนกับว่า รัฐบาลต้องการกฎหมายพิเศษและอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพื่อแก้ปัญหา ทั้งต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ เข้ามาควบคุมอย่างเข้มข้น

แต่เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์มากมาย

“อันดับแรก ปัญหาที่ผ่านมา ไม่ได้มาจากกฎหมายที่อ่อนแอ ไม่ได้เกิดจากรัฐบาลไม่มีอำนาจเพียงพอแต่อย่างใด การหันมาใช้กฎหมายพิเศษ อำนาจพิเศษ ถูกจุดแล้วหรือ!?”

อันดับต่อมา เมื่อมีการตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ทำให้นึกถึงภาพ ศอฉ.เมื่อปี 2553 ที่ลงเอยเป็นเหตุการณ์ 99 ศพ เพราะเน้นใช้กำลังทหารเข้ามาจัดการปัญหา

แต่แน่นอน การใช้ทหารเข้ามาควบคุมตรวจตราเข้มข้นในสถานการณ์โควิด คงไม่มีการปราบแบบปี 2553 เพราะเป็นเรื่องโรคระบาด ไม่ใช่เรื่องม็อบ

“แต่คำถามก็คือ นักรบหลักในการสู้กับโควิด คือ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ใช่หรือไม่”

เมื่อกำลังหลักไม่ใช่กำลังทหาร

“การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ ศอฉ. เพื่อจัดการกับโควิด จึงน่างุนงงไม่น้อย”

กระนั้นก็ตาม ความที่รัฐบาลนี้เก่งกาจเรื่องความมั่นคง ก็คงคุ้นชินกับอำนาจ พ.ร.ก.นี้มากกว่าอย่างอื่น

ขณะเดียวกันการใช้อำนาจพิเศษและกำลังทหารตำรวจก็อาจจะช่วยได้ในการควบคุมผู้คนไม่ให้ออกจากบ้าน ไม่ให้เดินทางข้ามจังหวัด สกัดกั้นชายแดนเข้มข้น ตามตัวคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงแต่หลบเลี่ยงไม่มาตรวจ

ไปจนถึงการตรวจค้น จับกุม การกักตุนสินค้า การโก่งราคา

“ในแง่นี้ก็พอเข้าใจได้!”

แต่เมื่อนึกถึงกำลังหลักในการจัดการกับโควิด ก็ควรต้องมีการทุ่มเทงบประมาณ เครื่องไม้เครื่องมือให้กับหมอ พยาบาล เสริมสวัสดิการต่างๆ ให้กับคนในส่วนนี้ด้วย

อีกทั้งที่ทั่วสังคมออกมาดักคอรัฐบาลเมื่อมีการงัด พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกมาใช้ก็คือ ต้องมุ่งจัดการโรคระบาดเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อแอบแฝงทางการเมืองและความมั่นคง แอบใช้อำนาจพิเศษจัดการกับคนคิดต่างที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในเหตุการณ์นี้ ไปจนถึงการมุ่งเป้านักการเมืองฝ่ายการเมืองที่ตรวจสอบรัฐบาลอีกด้วย

อำนาจพิเศษต้องปราบโควิด ไม่เกินเลยไปถึงการปิดกั้นกระแสสังคมปิดความคิดเห็นเขย่ารัฐบาล

ประชาชนคนไทยที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิดอันรุนแรง ซึ่งมีผลทั้งด้านสุขภาพร่างกาย ไปจนถึงเศรษฐกิจการค้า กิจการต่างๆ ต้องปิดระนาว คนตกงานจำนวนมาก และมองต่อไปในอนาคตช่วงฟื้นฟูประเทศก็น่าเป็นห่วง

ไปจนถึงคนที่เคยร่วมกันเชื้อเชิญทหารให้เข้ามาสู่อำนาจในปี 2557

ต่างเริ่มคิดหนักว่า ถ้าการเมืองไทยเราพัฒนาไปตามธรรมชาติปกติ ยึดแนวทางประชาธิปไตย ใช้เสียงของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเครื่องตัดสิน

“ไม่มีคนกลุ่มหนึ่งมาคิดแทนคนส่วนใหญ่ มากำหนดเอาเองว่าประชาธิปไตยไทยต้องแค่ไทยๆ มีขั้นตอนควบคุมการเองไม่ให้โตเร็ว มีกำหนดกรอบข้างหน้าอีก 20 ปี”

วันนี้การเมืองเราอาจพัฒนาก้าวหน้าไปในทางที่ดีกว่านี้ รวมทั้งต้องได้รัฐบาลที่มีคนรุ่นใหม่ คนคิดใหม่ คนทันสมัย เข้าใจโลก มีแนวทางแก้ปัญหาระดับวิกฤตที่เฉียบคมกว่านี้

“สถานการณ์บ้านเราในยุคไวรัสอาจจะดีกว่านี้!”

เพราะประเทศเราก็เคยผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงระดับมหาวิกฤตมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรคซาร์ส โรคเมอร์ส ไข้หวัดนก ไปจนถึงภัยพิบัติร้ายแรงสึนามิ

รัฐบาลในยุคสมัยนั้น ซึ่งเป็นยุคของคนคิดใหม่ ทันสมัย วิสัยทัศน์กว้างไกล สามารถรับมือกับมหาวิกฤตนั้นได้เป็นอย่างดี

จนเป็นภาพเปรียบเทียบชัดเจนในวิกฤตโควิดหนนี้

“ผู้นำในภาวะวิกฤต เห็นได้เมื่อเจอระดับมหาวิกฤตการณ์”

เมื่อมานั่งทบทวนชะตากรรมประเทศชาติในวิกฤตนี้ ก็ต้องยอมรับว่า สภาพการเมือง สภาพของประชาธิปไตย มีส่วนสำคัญอย่างมาก

อำนาจการเมืองมีส่วนกำหนดความเป็นไปของประเทศแทบทุกด้าน

ไม่มีใครรู้ว่า ปลายปี 2562 หรือ 2019 จะเกิดโรคภัยร้ายแรงและระบาดล้างโลกทั้งใบในปี 2563 หรือ 2020 นี้

เป็นมหาวิกฤตที่ต้องได้รัฐบาลที่มากด้วยความสามารถจริงๆ จึงจะรับมือได้ และเมื่อโรคภัยผ่านพ้นไป ยังต้องเก่งกาจมากพอที่จะฟื้นบ้านเมืองได้รวดเร็ว

ถ้าย้อนเวลาได้ หลายคนคงไม่อยากให้บ้านเมืองเราถอยครั้งใหญ่ล้าหลังไปสุดกู่ในเหตุการณ์เมื่อปี 2557!!