นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ทาสภาษา

นิธิ เอียวศรีวงศ์

เราเคยชินที่จะมองว่า ภาษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป อันมีเป็นร้อยๆ ภาษา แต่ประกอบด้วยตระกูลภาษาใหญ่อยู่เพียง 5 ตระกูลคือ ออสโตรเอเชียติก, ทิเบต-พม่า, ไท-กะได, ม้ง-เย้า และออสโตรนีเชียน ภาษาในภูมิภาคนี้หยิบยืมกันและกัน ทั้งในเรื่องศัพท์, ไวยากรณ์, สำนวน ฯลฯ แม้ข้ามตระกูลภาษาระหว่างกัน เช่น ระหว่างภาษาไทยภาคกลางและภาษาเขมร, หรือระหว่างมอญกับพม่า เป็นต้น

แม้กระนั้นก็ยังเป็นเพียงการหยิบยืมกันไปมาเท่านั้น มิได้ทำให้เกิดการจัดกลุ่มหรือหมวดหมู่ภาษาใหม่ เช่น แทนที่จะพูดถึงตระกูลภาษาทั้ง 5 ก็พูดถึงภาษาอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีปแทน คือเป็นอีกกลุ่มภาษาหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างกัน ไม่ใช่เกิดจากการสืบทอดทางสาโลหิต

แต่ในระยะหลัง นักภาษาศาสตร์หันมาสนใจ “ภูมิภาคทางภาษาศาสตร์” คือพื้นที่ขนาดใหญ่ซึ่งแม้มีภาษาใช้อยู่หลากหลาย แต่มีลักษณะทางภาษาศาสตร์บางอย่างร่วมกัน เช่น พื้นที่แถบบอลข่าน, แถบทะเลบอลติก และอินเดีย เป็นต้น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปก็มีนักภาษาศาสตร์บางกลุ่มเห็นว่าอาจจัดเป็น “ภูมิภาคทางภาษาศาสตร์” ได้เหมือนกัน มีงานศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่หลายชิ้น แต่ที่ผมได้อ่านและพอรู้เรื่องแบบงูๆ ปลาๆ ก็คือบทนำของหนังสือซึ่งนักวิชาการสองคนเป็นหลักในการศึกษาคือ Alice Vittrant and Justin Watkins (The Mainland Southeast Asia Linguistic Area)

(อ่านรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ที่ไม่รู้เรื่องก็ยังไม่เป็นไร แต่ที่นึกว่ารู้ แต่กลับรู้ผิดนี่สิครับ อันตราย ผู้อ่านบทความนี้พึงระวังตนตั้งสติให้ดีด้วย)

ลักษณะร่วมกันทางภาษาศาสตร์ของ “ภูมิภาคทางภาษาศาสตร์” ไม่ได้เป็นแต่ศัพท์แสงที่ยืมกันไปมา หรือลักษณะทางไวยากรณ์ที่เห็นได้ชัด แต่มองเห็นได้จากการวิเคราะห์ทางภาษาศาสตร์สามด้านด้วยกัน ได้แก่ ด้านสัทศาสตร์, ด้านวจีวิภาค-วากยสัมพันธ์ และด้านสัญศาสตร์

ลักษณะร่วมทั้งสามด้านของภาษาต่างๆ ที่ใช้กันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป พอจะยกให้ดูเป็นตัวอย่างดังนี้

ทางด้านสัทศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ที่เข้าร่วมโครงการศึกษาเห็นว่าภาษาของภูมิภาคนี้มีสระผสมมาก อีกทั้งยังแยกระหว่างสระสั้น-ยาว ทำให้จำนวนของสระในแต่ละภาษามีจำนวนมาก

ที่เราเคยเรียนมาว่าภาษาไทยมีลักษณะเป็นคำโดด กลับพบว่าทุกภาษาของภูมิภาคนี้มีแนวโน้มไปในทางคำโดดทั้งสิ้น (คือเดิมอาจไม่โดด แต่มักจะแปรไปเป็นคำโดด มากบ้างน้อยบ้าง) ซ้ำยังมีคำประเภทหนึ่งเสียงกึ่ง (เช่น “ขยี้”) อยู่หลายคำในทุกภาษา

นอกจากทุกภาษาจะไม่ผันคำกริยาแล้ว ยังไม่ค่อยสร้างคำขึ้นด้วยการ “แตกลูก” เช่น ในภาษาอังกฤษ to build แปลว่าสร้าง แตกลูกออกเป็น building คือสิ่งก่อสร้าง คำ “สิ่งก่อสร้าง” เกิดขึ้นจากการเอาคำสามคำมาผสมกัน กลายเป็นคำใหม่ ตำราหลักภาษาไทยเรียกว่า “คำผสม” ซึ่งเป็นลักษณะการสร้างคำที่ใช้กันในทุกภาษาของอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป

ด้านวจีวิภาค-วากยสัมพันธ์ รูปประโยคของภาษาในภูมิภาคนี้เกือบทุกภาษา (ยกเว้นแต่ภาษาในตระกูลทิเบต-พม่า) สร้างขึ้นจาก (ประธาน)-กริยา-กรรม – คืออาจมีหรือไม่มีประธานก็ได้ – ทั้งนั้น

ประโยคของภาษาอุษาคเนย์จะเน้น “เรื่องอะไร” (topic prominent) มากกว่า “ใครทำอะไร” (subject prominent) เท่าที่ผมเข้าใจก็คือ เมื่อเทียบกับภาษาอังกฤษ ประธานมีความสำคัญมากเพราะเป็นผู้กำหนดพจน์และกาลของรูปกริยา แม้ในประโยคที่ไม่เปล่งประธานออกมา คำกริยาในประโยคนั้นก็ถูกกำหนดด้วยประธานที่ไม่ปรากฏในประโยคอยู่ดี

ทุกภาษาในโลกย่อมมีส่วนที่ “เว้นไว้ในฐานที่เข้าใจ” (ellipsis) เสมอ แต่ในภาษาของภูมิภาคแถบบ้านเรา สิ่งที่ถูก “เว้นไว้” มักเป็น “ประเด็นหลัก” (ซึ่งควรระบุไว้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง เพื่อให้คนอื่นตอบสนองไปทางใดทางหนึ่งได้ชัดเจนแจ่มแจ้งพอๆ กัน)

ประโยคคำถามในภาษาอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีปมักเป็นคำถามประเภทที่ต้องการคำตอบ yes หรือ no ไม่ค่อยเป็นประโยคคำถามเพื่อต้องการคำตอบที่เป็นประเภทข้อมูล

ภาษาแถบบ้านเรานิยมสร้างคำนามขึ้นจากประโยคทั้งประโยค (ทั้งวลีหรือทั้งอนุประโยค) ด้วยการเติมคำลงไป (เช่น การหรือความ) แต่ไม่นิยมนำมันเข้าไปไว้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยที่ใหญ่ขึ้น เท่าที่ผมเข้าใจข้อสังเกตนี้ก็คือ คำนามที่เราสร้างขึ้นจากประโยคมักเป็นคำนามที่เป็นนามธรรม เช่น “ฉันเดินเท้าไปทำงาน” สร้างคำนามโดยเติม “การที่” กลายเป็น “การที่ฉันเดินเท้าไปทำงาน” การทำให้เป็นคำนามในหน่วยที่ใหญ่ขึ้นคือ “การเดินเท้าไปทำงาน” ซึ่งจะกลายเป็นหน่วยใหม่ที่ไม่เกี่ยวกับตัว “ฉัน” เพียงคนเดียว (และคงทำให้เราคิดอะไรกว้างขึ้น เช่นเกี่ยวกับการเดินทางในชีวิตคนสมัยใหม่ ซึ่งไม่ทำให้เราเหงื่อแตกเพียงคนเดียว อย่างที่ความคิดเชิงนามธรรมมักโน้มนำให้คิดอะไรพ้นตัวเองออกไป)

สุดท้ายคือด้านสัญศาสตร์และความหมาย นักวิจัยภาษาต่างๆ ของภูมิภาคพบว่า กรอบความคิดที่เกี่ยวกับมนุษย์และธรรมชาติของทุกวัฒนธรรมเจ้าของภาษามีความคล้ายคลึงกัน เช่น ต่างก็นับถือผีบรรพบุรุษเหมือนกัน และผีบรรพบุรุษก็ไม่ได้ไปสิงสถิตในดินแดนอันไกลโพ้นที่ไหน แต่อยู่ร่วมกับเราอย่างใกล้ชิด คอยกำกับพฤติกรรมของเราด้วยการลงโทษบ้าง ให้รางวัลบ้าง และแน่นอนอวยชัยให้พรแก่เราในยามที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ

กรอบคิดเกี่ยวกับชีวิตและธรรมชาติย่อมกำหนดภาษาที่มนุษย์เราใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เฉพาะความเหมือนกันด้านนี้เพียงอย่างเดียว ก็บังคับให้ภาษาต่างๆ ของภูมิภาคนี้มีลักษณะร่วมกันหลายต่อหลายอย่างไปแล้ว

ลักษณะร่วมทางภาษาซึ่งเราอาจนึกว่าเป็นลักษณะเฉพาะของภาษาไทยเท่านั้น แต่งานศึกษาเกี่ยวกับภูมิภาคทางภาษาศาสตร์ชิ้นนี้กลับชี้ให้เห็นว่า เป็นสมบัติที่ใช้ร่วมกันในทุกภาษาของภูมิภาค ตัวอย่างหนึ่งที่เขาให้ไว้ก็เช่น การใช้คำลงท้ายเพื่อแปรเปลี่ยนความหมายของประโยคระหว่างขอ-ถาม-ชวน-แนะนำ-เตือน-สั่ง ผมลองนึกตัวอย่างในภาษาไทยได้ดังนี้

ไปได้ไหม (ขอ) ไปไหม (ถาม) ไปน่า (ชวน) ไปเถอะ (แนะนำ) ไปได้แล้ว (เตือน) ไปสิ (สั่ง)

คำลงท้ายเช่นนี้ยังเพื่อแสดงอารมณ์ก็ได้ หรือแสดงความสุภาพต่อช่วงชั้นที่แตกต่างกันระหว่างผู้พูดและผู้ฟังก็ได้ (ช่วงชั้นที่ละเอียดซับซ้อนของคนก็เป็นกรอบคิดอีกอย่างที่มีเหมือนกันในวัฒนธรรมต่างๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)

ลักษณะร่วมของภาษาหลากหลายตระกูลใน “ภูมิภาคทางภาษาศาสตร์” เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปเหล่านี้ เหมือนทำให้เรา (อย่างน้อยก็ผมคนหนึ่งละครับ) มองเห็นหน่วยพันธุกรรมของภาษาตนเอง คือไม่ใช่เพียงรูปร่างหน้าตาที่เห็นได้ชัด เช่น ไวยากรณ์หรือศัพท์แสงเท่านั้น แต่รวมถึงความโน้มเอียงบางอย่างซึ่งอาจถ่ายทอดไปถึงลูกหลานที่ใช้ภาษาเดียวกันด้วย เช่น มักมีแนวโน้มจะติดโรคอะไรง่าย

สำนึกเหล่านี้ (ถ้าไม่เรียกว่าความรู้) น่าจะเป็นประโยชน์ในการสอนภาษาต่างประเทศ ซึ่งหมายถึงภาษาที่อยู่นอกภูมิภาคทางภาษาศาสตร์เดียวกันนี้ เช่น จีน, ญี่ปุ่น, บาลี, สันสกฤต, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, อาหรับ ฯลฯ ทั้งผู้สอนและผู้เรียนควรมีสำนึกถึง “พันธุกรรมทางภาษา” ของตนเองด้วย เพราะนั่นคือ “จุดอ่อน” ของเราที่จะข้ามไปยังภาษานอกภูมิภาค

ผมไม่ทราบว่าภาษามีส่วนกำหนดความคิดของเราหรือไม่และอย่างไร คำว่ากำหนดความคิดในที่นี้มีความหมายสองด้าน หนึ่งคือคิดอะไร หรือเนื้อหาของเรื่องที่จะคิด และสองคือคิดอย่างไรหรือกระบวนการคิด แต่ผมค่อนข้างเชื่อว่าการข้ามภาษากับการข้ามความคิดมีความสัมพันธ์กันอย่างมาก คิดแบบ “ไทยๆ” (ทั้งเนื้อหาและกระบวนการ) ด้วยภาษาไทยนั้นง่ายมาก แต่คิดแบบฝรั่งด้วยภาษาไทยนี่สิครับยากมาก ถ้าไม่แปลงความคิดฝรั่งให้เป็น “ไทยๆ” ซึ่งทำให้ไม่ตรงกับความคิดในภาษาฝรั่ง ก็ต้องแปลงภาษาไทยให้รองรับความคิดแบบฝรั่งได้ ซึ่งทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยบอกว่าอ่าน (หรือฟัง) ไม่รู้เรื่อง

ที่กล่าวข้างต้นนี้ทำให้ผมสงสัยว่า คำตำหนิภาษาไทยของบางคนว่า “เต็มไปด้วยกลิ่นนมเนย” นั้น เอาเข้าจริงนั่นคือภาษาไทยในยุคของเราไม่ใช่หรือ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือคนไทยที่ได้เรียนหนังสือในโรงเรียนมาบ้าง จะใช้ภาษาไทยโดยไม่มีกลิ่นนมเนยเลยได้หรือ เมื่อผีมีบทบาทในความคิดของคนไทยปัจจุบันน้อยลง เรามองเห็นปัจจัยที่ทำให้เกิดสิ่งต่างๆ เป็นรูปธรรมมากขึ้น นับตั้งแต่ธรรมชาติรอบตัวไปจนถึงการกระทำของบุคคลและสังคม

คนไทยย่อมเริ่มตั้งคำถามที่ไม่ใช่คำถามประเภท yes/no มากขึ้น ยิ่งถามหาข้อมูลซับซ้อนขึ้นเพียงไร กลิ่นนมเนยก็ยิ่งฉุนขึ้นเพียงนั้น

กล่าวโดยสรุปก็คือ ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคม-วัฒนธรรม ย่อมทำให้ภาษาเปลี่ยนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่แต่เพียงเพราะภาษาต่างประเทศเพียงอย่างเดียว

ในทางตรงกันข้ามกับที่กล่าวข้างต้น น่าคิดเหมือนกันนะครับว่า ภาษาหรือหน่วยพันธุกรรมทางภาษาเป็นพันธนาการที่ผูกมัดมิให้เศรษฐกิจ-สังคม-วัฒนธรรมของเจ้าของภาษาเปลี่ยน เช่น ถ้ามนุษย์เท่าเทียมกันจริง ผู้หญิงไทยจะใช้สรรพนามอะไรเรียกตนเองเพื่อแสดงความเท่าเทียมกับคนอื่น (คำถามของคุณมุกหอม วงษ์เทศ นานมาแล้ว) ในหลายภาษาของเอเชียอาคเนย์ ไม่มีสรรพนามบุรุษที่สองซึ่งเท่าเทียมกันเลย ต้องยอมรับความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ ด้วยการใช้คำนับญาติหรือคำนับช่วงชั้นแทนตลอด

หรือทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่มีสังคมใดสามารถพัฒนาประชาธิปไตยไปสู่ระดับที่ควรจะเป็นได้เลยสักแห่ง สาเหตุของความล้มเหลวนี้ถูกยกให้แก่เศรษฐกิจ, การเมือง, สังคม หรือวัฒนธรรมเสมอ ซึ่งก็คงจะจริง แต่ไม่มีสาเหตุจากภาษาบ้างหรือ

แน่นอนว่าภาษาย่อมทำให้มนุษย์มีอำนาจเหนือธรรมชาติและเหนือกันและกันเอง แต่ในขณะเดียวกันภาษาก็ทำให้มนุษย์ตกเป็นทาสของมันโดยไม่รู้ตัว เคลื่อนไหวได้เฉพาะในพื้นที่ซึ่งภาษากำหนดให้ จะเลยออกไปไม่ได้

ประโยชน์อย่างหนึ่งของการเรียนภาษาต่างประเทศ (ที่อยู่นอกภูมิภาคทางภาษาศาสตร์) นอกจากทำให้ถ่ายเทความรู้จากภาษานั้น ใช้ทำกำไร และติดต่อสื่อสารอย่างเท่าทันกับคนอื่นดังที่พูดกันแล้ว ยังเป็นการปลดปล่อยผู้เรียนให้หลุดออกจากพันธนาการของภาษาตนเองด้วย