จักรกฤษณ์ สิริริน : “คอนเสิร์ตเสมือนจริง” สู้วิกฤต COVID-19 กรณีศึกษา Melody VR

สถานการณ์แพร่ระบาดของ “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” หรือ COVID-19 กำลังลุกลามบานปลายอย่างที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

หลากประเทศ หลายวงการ กำลังประสบกับความยากลำบากในการรับมือกับวิกฤตการณ์ครั้งนี้ และพยายามหาทางออกให้กับมหันตภัย COVID-19 กันอย่างรอบด้าน

เมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้นำเสนอประเด็นดังกล่าวมาแล้วครั้งหนึ่ง มาในตอนนี้จึงขออนุญาตต่อเนื่องจากเรื่องราวของปัญหา COVID-19 ที่กำลังส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก โดยเฉพาะแวดวงธุรกิจ

ที่หลายองค์กรพยายามหาทางออกด้วยการ Work from Anywhere หรือ WFA และ Work from Home หรือ WFH กันอยู่ครับ

 

แน่นอนว่าแวดวงดนตรีก็เป็นอีกวงการหนึ่งซึ่งกำลังประสบปัญหา เพราะกิจกรรมหนึ่งซึ่งสำคัญมากของศิลปินเพลงก็คือ “คอนเสิร์ต” นั่นเองครับ

เพราะในปัจจุบัน “คอนเสิร์ต” ได้กลายเป็น “หนึ่งในปัจจัยหลัก” ของการทำงานเพลงไปแล้ว!

เนื่องจากในยุคนี้ ที่ “คอนเสิร์ต” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “ยอดขายตั๋วเข้าชม” คือ “รายรับหลัก” ของศิลปินนั่นเอง!

เพราะทุกวันนี้ไม่มีใครหวังรายได้จาก CD และก็เป็นกันมานานนับ 10 ปีแล้ว

ดังนั้น การแพร่ระบาดของ COVID-19 จึง “ส่งผลทันที” และ “ส่งผลโดยตรง” ต่อวงการเพลงทั่วโลกอย่างแน่นอนครับ

เห็นได้จาก “เวทีคอนเสิร์ต” น้อยใหญ่ “ทุกระดับ” ทั้งไทยและสากล ตั้งแต่ “เทศกาลคอนเสิร์ตขนาดยักษ์” ลงมาถึง “งานวัด” ต่างพากันทยอย “เลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด” และที่หนักหนาสาหัสเอามากๆ ก็คือการ “ยกเลิกคอนเสิร์ต”

 

อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวแล้วผมชอบและเชื่อคำพูดประโยคที่ว่า “เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส” ครับ

เพราะในท่ามกลางวิกฤตการณ์ COVID-19 ที่กำลังคุกคามวงการเพลงอยู่ขณะนี้ มีตัวอย่างหนึ่งซึ่งน่าสนใจนำมาเล่าให้แฟนพันธุ์แท้ “มติชนสุดสัปดาห์” ฟัง

นั่นก็คือปรากฏการณ์ของ Melody VR ครับ

แต่ก่อนจะไปอรรถาธิบายลงในรายละเอียดของ Melody VR ผมขออนุญาตปูพื้นเรื่องราวของ VR ให้ทราบกันสักเล็กน้อยก่อนนะครับ

 

VR ย่อมาจาก Virtual Reality ครับ

VR เป็นเทคโนโลยีที่หลอมรวมระหว่าง Simulated Reality (สถานการณ์จำลองเสมือนจริง) และ Three-Dimensional หรือ 3D (3 Dimension หรือ “เทคโนโลยี 3 มิติ”)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 360-Degree Cameras หรือ “กล้อง 360 องศา”

คำว่า VR นี้ ปรากฏขึ้นครั้งแรกในเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ Pygmalion”s Spectacles ของ Stanley G. Weinbaum เมื่อปี ค.ศ.1935 ครับ

ก่อนที่จะโผล่ออกมาให้เห็นอีกครั้งใน 3 ปีถัดมา ผ่านบทความวิชาการของ Antonin Artaud หัวข้อ Le Th??tre et son double ในปี ค.ศ.1938

และแล้ว รูปธรรมของ “อุปกรณ์ VR” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1950 พลันที่ Morton Heilig ได้สร้างเครื่อง VR ที่ชื่อ Sensorama เพื่อนำหนังสั้น 5 เรื่องออกฉายในปี ค.ศ.1962

โดยหลังจากนั้น โลกของ VR โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Computer Game ก็พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง Hardware Software และ Peopleware จวบจนปัจจุบัน

เพราะในอดีตที่ผ่านมา ถ้าพูดถึงวงการวิดีโอเกมกับ VR นอกจากเครื่องเล่น Wii แล้ว เกมออนไลน์ในแนว VR ที่โด่งดังคงหนีไม่พ้น Second Life ที่เปิดให้เรา “สร้างตัวตนใหม่” ขึ้นบนโลกอินเตอร์เน็ต รวมถึงตำนานเกม DOOM อันเลื่องชื่อ

ในแง่ของ “อุปกรณ์ VR” นั้น ได้รับการพัฒนามาเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน จากการแสดงผลผ่านจอภาพและแป้นคีย์บอร์ดด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มาสู่การใช้ Joystick เหมือน Video Games

แล้วจึงพัฒนามาเป็นถุงมือที่เชื่อมต่อเข้ากับจอภาพ มาสู่การใช้แว่นตา และพัฒนาถึงขีดสุดด้วยการสร้าง “หมวกสวมศีรษะ” หรือ “หน้ากาก VR” รวมถึงการนำระบบ “3 มิติ” หรือ 3D เข้ามาประยุกต์ใช้กับ VR

ถ้าจะแจกแจงกระบวนการนำเสนอของ VR อย่างสั้นๆ ก็คงอธิบายได้ประมาณว่า เมื่อเราเอา “หน้ากาก VR” หรือ “หมวกสวมศีรษะ” ครอบหัวเราแล้ว ลักษณะก็จะเหมือนกับการเอาหน้าจอคอมพิวเตอร์มาจ่อที่ดวงตาทั้งสองข้าง พร้อมๆ กับหูฟัง (ลำโพง)

จุดที่แตกต่างระหว่างการมองจอภาพคอมพิวเตอร์ ที่เป็นการแสดงผลแบบ 2 มิติ หรือ 3 มิติกับ VR ก็คือ VR จะมีมุมมองที่รอบทิศมากกว่า เพราะ VR สามารถนำเสนอภาพได้ “360 องศา” นั่นเอง

 

ทุกวันนี้โลกของเรามีการใช้ VR กันอย่างแพร่หลายในเกือบทุกวงการ โดยเฉพาะในแวดวงที่พัฒนามาจากการใช้ Simulated Reality

ในทางการทหาร มีการนำ Virtual Reality มาใช้ใน “การฝึกทางยุทธวิธี” มานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการฝึกขับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ หรือเรือดำน้ำ การฝึกยิงปืน การฝึกโดดร่ม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งแวดวงอวกาศ หรือแม้กระทั่งการฝึกทางการแพทย์ คือการผ่าตัดใหญ่ รวมถึงการฝึกทางด้านประติมากรรม

นอกจากนี้ ในวงการวิศวกรรม สถาปัตยกรรม โดยเฉพาะโบราณคดีก็นิยมใช้เทคโนโลยี VR ยังไม่นับสวนสนุก หรือการออกกำลังกาย ที่ก็ใช้ VR เข้ามาเป็นเครื่องมือหลัก

โดยเฉพาะ “คอนเสิร์ต” ดังที่กล่าวไปข้างต้น

 

ซึ่งหากเอ่ยถึงคำว่า VR กับคำว่า “คอนเสิร์ต” แล้ว มีกรณีศึกษาหนึ่งซึ่งขอหยิบยกมาฝากกันครับ

นั่นก็คือ Melody VR

Melody VR คือการนำเสนอ Application ผ่าน Platform หรือการให้บริการในลักษณะ Virtual Reality ครับ

ความหมายก็คือ Melody VR คือ Application ถ่ายทอดสด “คอนเสิร์ตเสมือนจริง” นั่นเอง

สำนักข่าว CNN บอกว่า การที่ Melody VR ได้รับความร่วมมือจากค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของโลก อันประกอบไปด้วย Universal Music Group, Sony Music Entertainment และ Warner Music Group ส่งผลให้ Melody VR มีสถานะดุจดั่ง “พยัคฆ์ติดปีก”

“ลำพัง Melody VR ซึ่งเป็น Application ที่สร้างสรรค์ขึ้นโดย EVR Holdings บริษัทแม่ของ Melody VR เพียงอย่างเดียว ก็ทำให้องค์กรนี้ได้รับการจับตามองมากพอแล้ว”

“ยิ่งมาผนวกกับ Content เสียงเพลงระดับโลกไม่ว่าจะเป็น Universal, Sony หรือ Warner เข้าไปอีก ก็ยิ่งทำให้ Melody VR ไปโลดอย่างแน่นอน” CNN กระชุ่น

สำหรับวิธีการรับชม Melody VR นั้น ลูกค้าที่สนใจดู “คอนเสิร์ตเสมือนจริง” จะต้องซื้อหา “หน้ากาก VR” ซึ่งมีให้เลือกหลากรุ่น หลายยี่ห้อ อาทิ HTC Vive, Oculus Rift, PS VR, Oculus GO หรือ Gear VR เป็นต้น

จากนั้นก็แค่ Download ตัว Application ของ Melody VR และ “ซื้อบัตรคอนเสิร์ตออนไลน์”

เพียงเท่านี้ ก็สามารถชม “คอนเสิร์ตเสมือนจริง” ได้แล้วครับ!

 

ดังที่กล่าวไปว่า Melody VR เป็น Application ถ่ายทอดสด “คอนเสิร์ตเสมือนจริง” ดังนั้น Melody VR จึงเป็นสุดยอดช่องทางการดู “คอนเสิร์ต” ในรูปแบบ VR 360 องศา

โดยนอกจากลูกค้าของ Melody VR จะได้ชม Live Concert ที่หน้าเวทีชนิด “เสมือนจริง” แบบ Real time พร้อมกับแฟนเพลง ซึ่งถือเป็นการได้ “สัมผัส” กับ “บรรยากาศคอนเสิร์ต” ที่ไม่แตกต่างไปจากการ “ตีตั๋วดูสด” แล้ว

ผู้ใช้บริการ Melody VR ยังมีโอกาสได้เดินเข้าไปด้านหลังเวทีคอนเสิร์ต แม้กระทั่งห้องพัก หรือห้องแต่งตัวของศิลปินอีกด้วย!

ดังนั้น การเกิดขึ้นของ Melody VR ที่อาสาจัด “คอนเสิร์ตเสมือนจริง” ท่ามกลางวิกฤตการณ์ COVID-19 จึงเสมือนการ “เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส” ให้กับวงการดนตรี

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อให้บรรดาศิลปินได้ต่อสู้กับวิกฤต COVID-19

Melody VR จึงนับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในสถานการณ์นี้นั่นเองครับ!