“แถลงการณ์ที่คิดตื้นๆ ของอียูไม่มีคุณค่า” ตุรกีปะทะอียู กับเดิมพันของ “แอร์โดอาน”

นายเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกี / AFP PHOTO / ADEM ALTAN

ในบรรดาเดิมพันทั้งหมดทั้งมวลในข้อขัดแย้งระหว่างตุรกีและยุโรป คงไม่มีสิ่งไหนที่เปราะบางไปกว่าความหยิ่งทะนงตนของประธานาธิบดีเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ของตุรกี

แอร์โดอานก้าวขึ้นมามีบทบาทที่ใหญ่โตในระดับโลกทุกวันนี้ และสิ่งใดๆ ก็ตามที่เป็นนัยยะถึงความอับอายที่ไม่ได้ตามที่ต้องการในเนเธอร์แลนด์ ย่อมส่งผลถึงอารมณ์ความรู้สึกในประเทศของตน ที่เขามักจะได้สิ่งที่ต้องการเป็นปกติธรรมดาด้วย

เมื่อถูกปฏิเสธโดยเยอรมนีเมื่อเกือบ 2 สัปดาห์ที่แล้ว และเนเธอร์แลนด์ในสัปดาห์นี้ แอร์โดอานกล่าวหาทั้ง 2 ประเทศว่ามีพฤติกรรมเหมือนกับนาซี

คำกล่าวที่เหมือนการเติมเชื้อไฟดังกล่าวเรียกเสียงประณามจากทั้ง 2 ชาติ รวมถึงสหภาพยุโรป (อียู) ที่เรียกร้องให้ตุรกีงดเว้นการแสดงความเห็นที่สุดโต่ง

แต่ตุรกียังเดินหน้าราดน้ำมันลงบนกองไฟต่อด้วยการระบุว่าคำวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวไร้ค่าสำหรับตุรกี

เรเจพ เทยิป แอร์โดอาน / AFP PHOTO

“แถลงการณ์ที่คิดตื้นๆ ของอียูไม่มีคุณค่าสำหรับประเทศเรา” แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศตุรกีระบุ และว่า แทนที่จะพยายามทำให้สถานการณ์สงบลง อียูกลับ “ให้คุณค่ากับความหวาดกลัวชาวต่างชาติและอารมณ์ความรู้สึกต่อต้านตุรกี” โดยการเลือกอยู่ข้างเดียวกับประเทศที่ละเมิดกฎหมายและข้อตกลงทางการทูต

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรี 2 คนของตุรกีที่เตรียมจะปราศรัยกับชาวตุรกีในเนเธอร์แลนด์เพื่อเรียกเสียงสนับสนุนในการลงประชามติซึ่งจะเป็นการถ่ายโอนอำนาจการบริหารประเทศทั้งหมดไปอยู่ในมือของแอร์โดอานแต่เพียงผู้เดียว

แต่ในความพยายามที่จะลดความสำคัญของประชาธิปไตยในประเทศของตนลง แอร์โดอานอาจจะมองข้ามประเด็นเรื่องการเลือกตั้งของเนเธอร์แลนด์ที่มีขึ้นในวันที่ 15 มีนาคม โดยรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกิจการครอบครัวของตุรกีถูกปฏิเสธไม่ได้รับอนุญาตให้ปราศรัยต่อชาวตุรกีในเนเธอร์แลนด์

มาร์ค รุทเทอ นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า เขาไม่คิดว่าแอร์โดอานตั้งใจที่จะสร้างความปั่นป่วนหรือก่อกวนการเลือกตั้งของเนเธอร์แลนด์ แต่รัฐมนตรีของเขาพยายามที่จะเดินทางเข้ามา โดยขัดกับความประสงค์ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์

รุทเทอระบุว่า รัฐบาลดัตช์อยู่ระหว่างการเจรจากับ เมฟเลิต ชาวูโชลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีที่จะเดินทางเข้ามากล่าวปราศรัยกับชาวตุรกีในร็อตเทอร์ดัม แต่ระหว่างการเจรจา ชาวูโชลูข่มขู่ว่าจะมีมาตรการบางอย่างที่ไม่ระบุเฉพาะเจาะจงว่าเป็นอะไร หากเขาไม่ได้ตามที่ต้องการ

รุทเทอระบุว่านั่นเป็นการล้ำเส้น “เรายุติการเจรจาโดยทันทีเมื่อรัฐบาลตุรกีข่มขู่เราด้วยการคว่ำบาตร” ทำให้ชาวูโชลูถูกปฏิเสธการลงจอดที่สนามบินร็อตเทอร์ดัม

แต่ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น รัฐมนตรีอีกคนของแอร์โดอานพยายามที่จะเดินทางเข้ามายังร็อตเทอร์ดัมด้วยจุดประสงค์เดียวกันอย่างไม่สะทกสะท้าน คราวนี้ เป็นฟัตมา เบตุล ซายัน คายา รัฐมนตรีกิจการครอบครัวที่นั่งรถเข้ามาจากฝั่งเยอรมนี

แต่ถูกเชิญออกโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเนเธอร์แลนด์ที่ขับรถประกบกลับมาส่งที่ชายแดน

วลาดิมีร์ ปูติน (ซ้าย) และ เรเจพ เทยิป แอร์โดอาน / AFP PHOTO / ERIC FEFERBERG

ในช่วงเวลาอื่น เรื่องนี้อาจเป็นเพียงความขัดแย้งทางการทูตธรรมดาๆ เท่านั้น แต่นี่ไม่ใช่ช่วงเวลาปกติ

แต่เป็นช่วงเวลาหลังจากที่เกิดเบร็กซิท หรือการออกจากการเป็นสมาชิกอียูของสหราชอาณาจักร การขึ้นครองอำนาจของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐอเมริกา และยุโรปกำลังเข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้ง ขณะที่ในเนเธอร์แลนด์เอง พรรคชาตินิยมแนวทางประชานิยมของ คีร์ท วิลเดอร์ส ได้รับความนิยมขึ้นมาจากนโยบายต่อต้านผู้อพยพและต้องการนำประเทศออกจากอียู

ขณะที่แอร์โดอานผงาดขึ้นมาเป็นผู้ที่ทรงอำนาจอิทธิพลบนเวทีโลกมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของกลุ่มพันธมิตรทั่วโลกในด้านการต่อต้านการก่อการร้าย

ทั้งหมดทั้งปวงนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ยุโรปรู้สึกไม่สบายใจมากขึ้นในเรื่องการปฏิรูปทางการเมืองในตุรกี ที่นักการทูตจำนวนมากระบุว่าดูเหมือนจะส่งผลประโยชน์ต่อแอร์โดอานและพวกพ้องของเขาเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น

เบร็กซิทเกิดขึ้นเพราะความกังวลในเรื่องผู้อพยพ กอปรกับภาพของผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้ามาสู่ยุโรป จุดชนวนให้เกิดความกลัวในเรื่องการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายสุดโต่ง

ความกลัวดังกล่าวแพร่กระจายไปทั่วทางตอนเหนือของยุโรป ทำให้นักการเมืองอย่างวิลเดอร์สในเนเธอร์แลนด์ และ มารีน เลอแปง ในฝรั่งเศส ที่ระบุว่า พวกเขาจะนำประเทศออกจากอียูหากชนะการเลือกตั้ง ผงาดขึ้นมา

มารีน เลอแปง (AFP PHOTO / ALAIN JOCARD)

ในแง่มุมหนึ่ง แอร์โดอานถือเป็นกุญแจสำคัญในการดำรงไว้ซึ่งสถานะของยุโรป จากการหยุดยั้งผู้อพยพที่จะข้ามจากตุรกีเข้ามายังยุโรป ภายใต้ข้อตกลงมูลค่า 6,000 ล้านยูโรกับทางอียู และความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส)

แต่การแสดงออกล่าสุดในความขัดแย้งทางการทูต ดูเหมือนแอร์โดอานจะเผยให้เห็นถึงความเปราะบางออกมา และพฤติกรรมของเขาเป็นการยืนยันความกังวลของยุโรป ที่ว่า

แอร์โดอานกำลังเป็นเผด็จการมากขึ้นเรื่อยๆ