เกษียร เตชะพีระ | THE CONSTITUTIONAL REFERENDUM DID NOT TAKE PLACE! (1)

เกษียร เตชะพีระ

(เรียบเรียงขยายความจากคำอภิปรายของผมในการเสวนาวิทยานิพนธ์เรื่อง “การเมืองวัฒนธรรมของการออกเสียง ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559” ของคุณหทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, 14 กุมภาพันธ์ ศกนี้)

เกริ่นนำ :

ผมได้มีโอกาสรู้จักคุณหทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ผ่านการติดตามสำนักข่าวบีบีซีไทยทางออนไลน์ หลังรัฐประหาร คสช. เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ในฐานะแฟนประจำของสำนักข่าวบีบีซี (BBC : British Broadcasting Corporation) มาร่วม 40 ปี

ผมพบว่าข่าวการเมืองไทยโดยทีมบรรณาธิการใหม่ช่วงหลังรัฐประหารยกระดับความแหลมคมลึกซึ้งทางการเมืองขึ้นผิดหูผิดตา

จนผมได้อาศัยค้นคว้าอ้างอิงในงานคอลัมน์นิตยสารและงานวิชาการของผมทั้งไทยและเทศหลายครั้ง โดยที่เจ้าของรายงานข่าวโดดเด่นหลายชิ้นในจำนวนนั้นคือคุณหทัยกาญจน์ นักข่าวสายการเมืองของบีบีซีไทยนั่นเอง

ดังนั้น เมื่อทางคณะผู้จัดงานทาบทามให้ผมมาร่วมเสวนาวิทยานิพนธ์ของคุณหทัยกาญจน์ ผมก็ถือเป็นโอกาสที่จะได้ตอบแทนข้อมูลความรู้ความคิดเห็นที่ได้จากรายงานข่าวและบทวิเคราะห์ของเธอ

อีกทั้งใคร่รู้ด้วยว่าเวลาเขียนงานค้นคว้าวิจัยทางวิชาการเต็มรูปแบบแทนที่จะเป็นข่าวชิ้นสั้นๆ ผลงานของเธอจะเป็นเช่นใด?

THE CONSTITUTIONAL REFERENDUM DID NOT TAKE PLACE! :

ผมเลือกตั้งชื่อคำเสวนาของผมเช่นนี้ ไม่ใช่เพียงเพื่อล้อข้อความสวนทวนความจริง (counter-factual statements อาทิ สติ๊กเกอร์ที่ติดหลังรถคันสีแดงแจ๊ดบาดตาว่า “รถคันนี้ไม่ใช่สีแดง” เป็นต้น) ที่มีให้เห็นเป็นแฟชั่นตามท้องถนนเท่านั้น

หากผมคิดเห็นด้วยว่า หากเรายึดตามข้อสรุปจากการค้นคว้าวิเคราะห์วิจัยอย่างละเอียด ครุ่นคิดพินิจพิจารณ์ของคุณหทัยกาญจน์ในวิทยานิพนธ์อย่างจริงจังแล้ว ก็มิอาจกล่าวเป็นอื่นไปได้นอกจากว่า “ประชามติรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เกิดขึ้น!” จริงๆ นั่นแหละ

แต่ก่อนจะไปถึงแก่นสารข้อสรุปในวิทยานิพนธ์ดังกล่าว ผมใคร่อธิบายขยายความฐานคิดที่อยู่เบื้องหลังข้อความ The constitutional referendum did not take place! ข้างต้น

โดยเริ่มต้นจากการ์ตูนเรื่องหนึ่ง

The Road Runner Show เป็นการ์ตูนชุดของ Warner Brothers, USA เริ่มออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ CBS เมื่อ ค.ศ.1966 โดยผู้สร้างคือ Chuck Jones

เนื้อเรื่องมีคร่าวๆ ว่า ตัวการ์ตูนหมาป่าชื่อ Wile E. Coyote หิวจัด คอยไล่จับกินนก Road Runner ซึ่งวิ่งเร็วมาก ในทะเลทราย

Coyote ใช้สารพัดวิธีเพื่อไล่กวด Road Runner โดยเฉพาะใช้อุปกรณ์ผลิตภัณฑ์ไฮเทคยี่ห้อ Acme

แต่เป็นกรรมเวรที่เจ้าหมาป่า Coyote ไม่เคยจับนก Road Runner ได้เลย มิหนำซ้ำยังเข้าเนื้อเจ็บตัวเองอย่างสาหัสสากรรจ์ทุกทีไป

แต่ถึงกระนั้น เจ้าหมาป่า Coyote ก็ยืนหยัดไล่จับต่อไม่ยอมเลิกรา

การ์ตูนทุกตอนจึงเริ่มตรงจุดเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก คือไล่จับกันใหม่เพราะล้มเหลวตลอดไม่เคยจับได้ แถมเจ้าหมาป่า Coyote ยังต้องเจ็บตัวฟรีอีกต่างหาก

The Road Runner Show เป็นการ์ตูนชุดที่รุนแรงมาก แต่ก็เป็นที่นิยมสูงสุดเรื่องหนึ่งในอเมริกา เพราะเข้าใจง่าย ไม่มีบทสนทนา และคนดูรู้สึกชวนหัวกับชะตากรรมขำขื่นของเจ้าหมาป่า Coyote จนท้องคัดท้องแข็ง

ประเด็นคือ การ์ตูนชุด Road Runner ฉันใด…

วิกฤตของปฏิบัติการพลิกเปลี่ยนดัดแปลงสังคมด้วยน้ำมือมนุษย์แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 20 และ 21 ก็ฉันนั้น เราอาจเปรียบเทียบได้ว่า :

เจ้านก Road Runner = อุดมคติพระศรีอาริย์/โครงการสังคมศาสตร์เพื่อพลิกเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้นดังที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นไว้ในคริสต์ศตวรรษที่ 19

ส่วนเจ้าหมาป่า Coyote = มนุษย์ผู้กระทำการแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 20 และ 21

มนุษย์ได้ระดมใช้ [สารพัดเทคโนโลยี + ความรุนแรงอย่างยิ่ง] เพื่อบรรลุอุดมคติ/โครงการเหล่านี้ ไม่ว่าลัทธิสังคมนิยม-ลัทธิคอมมิวนิสต์ของเลนิน-สตาลิน, เสรีประชาธิปไตยของอังกฤษ-อเมริกา, อาณาจักรไรช์ที่สาม ของฮิตเลอร์, วงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพาของจักรวรรดิญี่ปุ่น, กัมพูชาประชาธิปไตยของเขมรแดง, อวสานแห่งประวัติศาสตร์ของฟรานซิส ฟูกูยามา, โลกาภิวัตน์ของไอเอ็มเอฟ ฯลฯ

และในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ต่อมาก็ได้แก่ อุดมคติ/โครงการชาติอิรักใหม่ที่สร้างโดยจักรวรรดิอเมริกัน, รัฐเคาะลีฟะฮ์ของกลุ่มไอซิส, The China Dream ของประธานรัฐสีจิ้นผิง, To Make America Great Again ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์, โรดแม็ปคืนความสุข, รัฐธรรมนูญปฏิรูป, ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แห่ง คสช. ฯลฯ

ซึ่งท้ายที่สุด ผลลัพธ์บั้นปลายของการพยายามดัดแปลงโลกสร้างโลกให้เป็นไปตามอุดมคติ/โครงการเหล่านี้ก็คือ :

– ค่ายกูลักเพื่อกักกันชาวนารวยหรือชาวนาเอกระผู้คัดค้านการสร้างคอมมูนนารวมของสหภาพโซเวียตสมัยสตาลินในคริสต์ทศวรรษที่ 1930

– โฮโลคอสต์หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวหลายล้านคนในยุโรปของพวกนาซีเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

– ทางรถไฟสายมรณะข้ามสะพานแม่น้ำแควของกองทัพรุกรานยึดครองญี่ปุ่นในเมืองไทย

– คุกตูล เสลงที่คุมขังทรมานและสังหารฝ่ายค้าน/ผู้ต้องสงสัยต่อต้านการปฏิวัติของเขมรแดง

– คุกอาบู กราอิบของอเมริกันซึ่งใช้คุมขังทรมานเชลยฝ่ายซัดดัม ฮุสเซน ในสงครามรุกรานยึดครองอิรัก

– คุกอ่าวกวนตานาโมของอเมริกันบนเกาะคิวบาซึ่งใช้คุมขังทรมานผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้ายอัล เคด้า

– กลุ่มไอซิสที่ใช้การสังหารโหดตัดหัวและเผาทั้งเป็นเชลยศึกและตัวประกันชาวตะวันตกมาข่มขวัญศัตรู ฯลฯลฯลฯ

ประสบการณ์ความล้มเหลวไม่เป็นท่าของการที่มนุษย์เราพยายามสร้างโลกและเปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นไปตามอุดมคติ/โครงการใหญ่ๆ ทางสังคมและการเมืองต่างๆ ต่อเนื่องกันครั้งแล้วครั้งเล่าในคริสต์ศตวรรษที่ 20 และ 21 ทำให้เกิดทรรศนะมองโลกในแง่ร้าย (pessimism) เชิงอนุรักษนิยมที่เห็นว่าความพยายามของมนุษยชาติที่จะเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น รังแต่จะลงเอยเป็นความเลวร้ายบัดซบ

นำไปสู่ข้อสรุปแบบมองโลกในแง่ร้ายว่ามีหลัก 2 ประการกำกับพฤติกรรมมนุษย์อยู่ ได้แก่ Perversity & Futility

1) Perversity หรือความวิปริต หลักการนี้ประกันว่าเจตนาดีของใครหน้าไหนก็ตามย่อมจะแผ้วถางทางไปลงนรก และความพยายามที่จะทำให้โลกนี้ดีขึ้นรังแต่จะทำให้มันเลวร้ายลงไปอีกแน่ๆ

2) Futility หรือความเหลวเปล่า หลักการนี้ให้ความมั่นใจว่าถนนทุกสายที่ติดป้ายว่า “ความก้าวหน้า” หรือ “การปฏิรูป” ย่อมไม่นำพาไปที่ไหนเลยสักแห่งและมีแต่วิ่งหายลับไปในผืนทราย แผนที่ใดบ่งชี้เป็นอื่น แผนที่นั้นย่อมไม่ใช่ของโลกใบนี้

(ดู สตีเว่น ลุคส์, การิทัตผจญภัย : นิยายปรัชญาการเมือง, บทที่ 6 เผชิญหน้า)

อาแลง บาดิอู นักปรัชญาฝ่ายซ้ายฝรั่งเศส ชี้ว่าหากคิดตามตรรกะของหลักการมองโลกในแง่ร้าย 2 ประการที่ว่านี้ ประกอบกับประสบการณ์ความล้มเหลวที่เอ่ยถึงข้างต้น ย่อมจะนำไปสู่ข้อสรุปแปลกพิกลที่ว่า :

“The 20th century did not take place.” หรือ “คริสต์ศตวรรษที่ 20 มิได้บังเกิดขึ้น” (Alain Badiou, “One Divides into Two”, 1999)

กล่าวคือ ความพยายามทั้งปวงของมนุษย์ที่จะทำตามอุดมคติ/โครงการเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้นต่างๆ ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมาล้วนลงเอยด้วยความวิปริตและเหลวเปล่าทั้งเพ ไม่มีอะไรที่ทำสำเร็จเลย มนุษย์เราจึงเริ่มต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ตรงจุดเดิมที่เริ่มต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เหมือนย่ำเท้าอยู่กับที่ตลอดร้อยปีที่ผ่านมา ประหนึ่งว่าไม่เคยเกิดอะไรขึ้นเลย

(เหมือนกับเจ้าหมาป่า Coyote เริ่มการ์ตูน The Road Runner Show ตอนใหม่ตรงจุดเดิม คือเริ่มวิ่งไล่จับเจ้านก Road Runner รอบใหม่ต่อไปเรื่อยๆ แต่ไม่เคยจับได้ ราวกับว่าการ์ตูนตอนก่อนๆ ที่ผ่านมาไม่เคยเกิดขึ้นเลย)

ในทำนองเดียวกัน บนพื้นฐานข้อค้นพบในวิทยานิพนธ์ของคุณหทัยกาญจน์ เราจึงอาจกล่าวได้เช่นกันว่า The constitutional referendum did not take place! และกระทั่งว่า Thai democracy did not take place either!

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)