ก่อน Covid-19 จะระบาดในอิตาลี เคยมี Black Death ระบาดหนักในยุคร่วมสมัยพระเจ้าอู่ทองมาก่อนแล้ว

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ดูเหมือนว่าการระบาดของโรค “โควิด-19” ที่ทำร้ายผู้คนไปทั่วทั้งโลกในขณะนี้ จะทำร้ายประเทศอิตาลีมากเป็นพิเศษ

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศอิตาลีถูกโรคระบาดร้ายแรงที่แพร่ไปทั่วทั้งโลกเล่นงานจนงอมพระรามหรอกนะครับ

เพราะเมื่อคราวที่ “โรคห่า” (แปลตรงตัวว่าโรคระบาด ไม่ใช่อหิวาตกโรค) กาฬโรคระบาดในช่วงราว พ.ศ.1890-1895 ตรงกับช่วงปลายของยุคกลางในยุโรปนั้นก็ดูจะเกี่ยวข้องกับประเทศอิตาลีอยู่ไม่น้อย ดังจะสังเกตได้ว่า เรามีข้อมูลหลายๆ อย่างเกี่ยวกับการระบาดของกาฬโรคในยุคนั้นมาจากหลักฐานข้างอิตาลีนี่แหละ

ข้อมูลการระบาดของกาฬโรคในครั้งนั้นที่มีข้อมูลการระบาดของโรคในจีน ก่อนที่จะเริ่มเข้ามาระบาดในทวีปยุโรป ทำให้รู้ว่าความตายสีดำถูกหอบหิ้วมาพร้อมกับเรือ ผ่านเส้นทางการค้าโลกข้ามสมุทร

และเรือที่บรรทุกเอาความตายสีดำมาด้วยนั้นก็ไม่ได้มีเพียงลำเดียว ดังนั้น ในยุคสมัยที่ห่ากำลังลงหนักในครั้งนั้น เมื่อเรือเทียบท่าแล้ว คนเรือจะถูกกักตัวเอาไว้อยู่บนนั้น และห้ามไม่ให้ขึ้นฝั่งจนกว่าจะครบ 40 วัน ซึ่งก็ทำให้คำว่า “40” ในภาษาอิตาเลียนคือ “quaranta” นั้น กลายมาเป็นรากศัพท์ของคำว่า “quarantine” ที่แปลว่า “การกักกัน” ในภาษาอังกฤษเลยทีเดียว

 

คุณหมอจงอยปากนกแห่งกรุงโรม-หมอกาดำ (Doktor Schnabel von Rom หรือ Doctor Beak from Rome) ภาพพิมพ์ฝีมือของพอล ฟูเอรสต์ (Paul F?rst) ผลิตขึ้นที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อเรือน พ.ศ.2199 ยุโรป ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 นายแพทย์ผู้ดำเนินการเรื่องยาและโรคระบาด ซึ่งรวมถึง “กาฬโรค” ด้วยนั้น จะต้องสวมหน้ากากรูปร่างคล้ายจะงอยปากนกที่ผลิตขึ้นอย่างง่ายๆ ภายในหน้ากากอัดแน่นไปด้วยเครื่องเทศรสฉุน และสมุนไพร ที่เชื่อว่าจะช่วยป้องกันเชื้อจากโรคระบาดได้

นอกจากนี้ยังมีบันทึกว่า ความตายสีดำย่างกรายเข้ามาในท่าเรือเมืองเมสสิน่า (Messina) บนเกาะซิซิลี (Sicily) ตั้งแต่ปี พ.ศ.1890

จากนั้นก็ใช้เวลาไม่นานนักในการระบาดลึกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่ของประเทศอิตาลี ก่อนที่จะเข้าไปปั่นป่วนกรุงปารีสในประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.1891

และบุกทะลวงเข้าไปถึงกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปลายปีเดียวกันนั้นเอง

ชาวอิตาเลียนคนหนึ่งที่ชื่ออโญโล ดิ ตูร่า (Agnolo di Tura) ได้เขียนบันทึกเหตุการณ์ห่าลงเมืองเซียน่า (Siena) ประเทศอิตาลี เมื่อ พ.ศ.1891 เอาไว้ว่า

“การตายในเซียน่า (Siena) เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม มันเป็นทั้งสิ่งที่ทารุณและสยดสยอง และฉันไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นตรงไหนดีที่จะเล่าถึงความอำมหิตและโหดร้ายนั้นได้ มันดูราวกับว่าเกือบจะทุกคนถูกทำให้ด้านชาด้วยการมองเห็นความเจ็บปวด และมันก็เป็นไปไม่ได้เลยที่ลิ้นของมนุษย์จะสามารถบอกเล่าความจริงสะเทือนขวัญนี้ได้

ที่จริงแล้ว ใครที่ไม่ได้เห็นความสยดสยองเหล่านี้สมควรจะถูกเรียกว่าเป็นผู้ที่ได้รับการประทานพร (จากพระเจ้า) และเหยื่อ (ของโรคระบาด) ตายลงแทบจะในทันที พวกเขามีอาการบวมพองที่รักแร้กับโคนขาหนีบ และ (พร้อมจะ) ล้มลงในขณะที่พูดคุยกันอยู่ดีๆ บิดาจะละทิ้งลูกๆ (ของพวกเขา) ภรรยาจะทิ้งสามี พี่น้องจะละทิ้งกันเอง

ดูเหมือนว่าเจ้าโรคร้ายนี่จะติดต่อกันผ่านได้ทั้งทางลมหายใจและการจ้องมอง (เพราะ) จากนั้นพวกเขาก็จะตาย

ไม่มีใครยอมที่จะฝังศพ (ผู้ป่วย) ไม่ว่าจะเพื่อเงิน หรือเพื่อมิตรภาพ คนในครอบครัวทำได้ก็แค่นำศพไปไว้ในหลุมเท่าที่พวกเขาจะทำได้ดีที่สุด ซึ่งนั่นก็ไม่มีทั้งบาทหลวง ไม่มีหน่วยงานของคริสตจักร ไม่มีแม้กระทั่งเสียงระฆังงานศพ

หลายแห่งในเซียน่าได้มีการขุดหลุมที่ลึกแต่บรรจุพูนไปด้วยซากศพ พวกเขาตายนับหลายร้อยคนทั้งกลางวันและกลางคืน โดยทั้งหมดถูกนำไปกองรวมไว้ในหลุมแล้วนำดินมาถมปิดหลุมไว้ โดยเมื่อจะมีการฝังเพิ่มก็ค่อยขุดเปิดหน้าหลุมขึ้นมาใหม่

ข้าพเจ้า อโญโล ดิ ตูร่า หรือเจ้าอ้วน ก็ได้ฝังลูกๆ ของตัวเองไปแล้วถึง 5 คนด้วยมือของข้าพเจ้าเอง ความตายที่มากมายถึงเพียงนี้มันช่างชวนให้เชื่อเสียจริงๆ ว่านี่แหละคือจุดจบของโลก” (จัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียน)

 

เรื่องราวในบันทึกของอโญโล ดูจะตรงกันกับเรื่องราวในวรรณกรรมที่โด่งดัง ซึ่งแต่งขึ้นในช่วงเวลาที่กาฬโรคระบาดในครั้งนั้นอย่าง “Decameron” (พระยาอนุมานราชธนเคยแปลออกมาในชื่อ “บันเทิงทศวาร”) ของโจวานนี บอกกาจโจ้ (Giovanni Boccaccio, พ.ศ.1856-1918) ที่กล่าวถึงช่วงเวลาที่เกิดกาฬโรคระบาดในเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ประเทศอิตาลี จนทำให้มีการปิดเมือง ผู้คนต่างหนีออกจากเมือง แล้วมาฆ่าเวลาด้วยการเล่าเรื่องประโลมโลกให้ฟังกันเอง

แต่ความตายสีดำในช่วงปลายยุคกลางของยุโรปไม่ได้ถูกโดยสารมากับเรือผ่านเส้นทางการค้าเท่านั้น พวกมันยังมาพร้อมกับไฟสงครามอีกด้วย

สถานที่แห่งแรกที่มีรายงานการระบาดของกาฬโรคอยู่ในมณฑลเหอเป่ย ประเทศจีน จนมีผู้เสียชีวิตไปถึง 9 ใน 10 ส่วน ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.1874 หรือเป็นเวลานับ 16 ปีก่อนที่โรคร้ายที่ว่าจะแพร่ระบาดเข้าไปในยุโรปแล้ว

จีนในยุคนั้นกำลังถูกพวกมองโกลปกครองในนามของจักรวรรดิหยวน ที่ก็เป็นยุคสมัยแห่งสงคราม และพอเจอเหตุการณ์ห่าลงแบบนี้ พวกทหารมองโกลก็ไม่คิดจะช่วยชาวจีนฮั่นเท่าไหร่นัก เลยปิดเมืองให้ตายกันอยู่เฉพาะในนั้นกันเอง

แต่นั่นก็ไม่ช่วยให้สถานการณ์ในหมู่ของกองทัพราชวงศ์หยวนรอดพ้นหรือปลอดภัยไปจากเงื้อมอำมหิตของความตายสีดำได้

ในบันทึกของกาบิเอเล่ เด มุสสิ (Grabriele De” Mussi) ทนายความจากเมืองเจนัว (Genoa) ประเทศอิตาลี ที่ได้เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ.1891 ได้ระบุถึงการที่ทัพของชาวมองโกลได้รุกรานเข้ามาในยุโรป ที่เมืองท่าคาฟฟา (Caffa, ปัจจุบันคือเมืองฟีโอโดเซีย [Feodosia] ในประเทศยูเครน) เมื่อ พ.ศ.1889 โดยใช้ “ศพ” ของผู้ติดเชื้อกาฬโรคเป็นอาวุธในการตีเมือง ดังนี้

“พวกตาร์ตาร์ (Tartar, หมายถึงทหารในทัพมองโกล) ที่กำลังมึนงงและนิ่งงันจากหายนะที่เกิดจากโรคนี้ (กาฬโรค) และตระหนักดีว่าพวกตนเองไม่มีหวังที่จะหนีพ้น (จากชะตากรรม) ทำให้พวกเขาหมดความสนใจในการโอบล้อมเมือง (คาฟฟา)

แต่พวกเขากลับถูกสั่งให้นำศพผู้ตาย (จากกาฬโรค) เข้าประจำในตำแหน่งที่สามารถยิง หรือลอบนำเข้าไปในเมืองได้ ด้วยหมายใจให้กลิ่นที่เหม็นคละคลุ้งจนสุดทนจะฆ่าทุกคนที่อยู่ภายในเมือง

สิ่งที่ดูเหมือนกับเป็นภูเขาแห่งความตายถูกโยนเข้าไปในเมือง และชาวคริสต์ (ภายในเมือง) ก็ไม่อาจจะหลบหรือหนีจากซากศพเหล่านี้ได้ พวกเขา (ตาร์ตาร์) ได้ทิ้งศพลงไปในทะเลให้มากเท่าที่จะมากที่สุด และทันทีที่ซากเน่าเปื่อย อากาศและน้ำก็จะกลายเป็นพิษและเน่าเหม็น โดยจะมีเพียงหนึ่งในหลายพันคนเท่านั้นที่จะหนีพ้นจากซากศพของพวกตาร์ตาร์ได้

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ใครก็ตามที่ติดเชื้อร้ายนี้ไปแล้ว แค่จ้องมองอะไรก็จะสามารถแพร่พิษใส่สิ่งนั้นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้คนหรือสถานที่ต่างๆ (ยัง) ไม่มีใครรู้และค้นพบวิธีการป้องกันโรคร้ายนี้” (จัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียน)

การระบาดของกาฬโรคในครั้งนั้น จึงมีผู้บาดเจ็บล้มตายอย่างกว้างขวางไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก ทั้งผ่านเส้นทางการค้าข้ามสมุทรและเส้นทางการรบของพวกมองโกลที่เดินทางกันบนหลังม้าศึก

ซึ่งก็น่าสนใจที่ผู้บันทึกเรื่องในเมืองคาฟฟาซึ่งอยู่ในประเทศยูเครนปัจจุบันนั้น เป็นทนายความชาวอิตาเลียน

 

แต่เอาเข้าจริงแล้ว นี่ก็ไม่ได้น่าแปลกใจอะไรหรอกนะครับ

ถ้าจะดูจากภูมิศาสตร์ของประเทศอิตาลี ที่เป็นแหลมยื่นลงไปในทะเลเมดิเตอiNเรเนียน ซึ่งก็คือศูนย์กลางของพวกยุโรปในยุคโน้น ไม่ต่างไปจากแหลมมลายูในอุษาคเนย์ของเรา

เขตพื้นที่ประเทศอิตาลีปัจจุบันนั้นเป็นเมืองท่าสำคัญในอดีต

ดังนั้น จึงเป็นพื้นที่ซึ่งเรือที่บรรทุกความตายสีดำจากโลกตะวันออกเข้ามาถึงเป็นพื้นที่แรกๆ ในยุโรป เช่นเดียวกับในอุษาคเนย์ช่วงเดียวกันที่มีตำนานเรื่องพระเจ้าอู่ทองหนีโรคห่ามาสร้างกรุงศรีอยุธยา

โรคห่าในตำนานเรื่องพระเจ้าอู่ทองนั้นจึงหมายถึงกาฬโรค เพราะทั้งอยุธยาและอุษาคเนย์นั้นก็เป็นเมืองท่าสำคัญในการค้าโลกข้ามสมุทร ไม่ต่างไปจากอิตาลีนั่นเอง