ศธ.เร่งหาวิธีสอนออนไลน์ รับมือโควิด-19 ระบาด

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า ที่ประชุมหารือถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 แม้ขณะนี้ยังไม่ขยับอยู่ในระยะที่ 3 แต่จะต้องมีการปรับมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับด้วย ดังนั้น ศธ.ต้องมาหารือร่วมกันเพื่อวางแผนการทำงานต่อไป โดยจะต้องปรับงบประมาณในปีงบประมาณ 2563 เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหานี้ และปรับปรุงการใช้งบให้สอดคล้องกับผู้ที่ต้องการหรือจำเป็นต้องใช้เงิน เช่น การช่วยเหลือแรงงานอิสระหรือแรงงานที่กำลังเข้าสู่ระบบและยังไม่มีงานทำ โดยเฉพาะนักศึกษาที่จบจากอาชีวศึกษา ศธ.จะทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ อาจจะมีการนำกลุ่มคนเหล่านี้เข้ามาฝึกทักษะใหม่ หรือฝึกทักษะเพิ่มเติม ซึ่ง ครม.มีความเห็นว่าควรจะสอนในเรื่องทักษะดิจิทัล และภาษาอังกฤษ ซึ่งตรงกับแนวทางที่ ศธ.วางไว้อยู่แล้ว ทั้งนี้ เมื่อมีคนมาเรียนอาจจะได้รับเงินสนับสนุนด้วย ซึ่ง ศธ.จะต้องวางแผนหาวิธีสอน เช่น การสอนผ่านออนไลน์ เป็นต้น

นายณัฏฐพลกล่าวต่อว่า ในวันที่ 26 มีนาคมนี้จะมีการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งตนไม่ทราบว่าระยะเวลาการใช้จะยาวนานขนาดไหน ดังนั้นการเรียนการสอนออนไลน์ ศธ.จะต้องมาหารืออย่างเข้มข้นว่าจะใช้อย่างไร ตนมีความกังวลนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ซึ่งอาจจะมีข้อจำกัดบางอย่างในการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ โดยอาจจะแบ่งสอนผ่านวิธีอื่น เช่น สอนผ่านทีวี เป็นต้น ส่วนการเรียนในระดับชั้นมัธยมและในระดับอาชีวะ อาจจะไม่มีปัญหาในการจัดการเรียนการสอน แต่ตนกังวลเรื่องอุปกรณที่ใช้เรียนออนไลน์ สำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล อาจจะไม่มีอุปกรณ์เพียงพอ จากที่ดูข้อมูลตนเชื่อว่า ศธ.สามารถบริหารจัดการให้อุปกรณ์กับพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในทุกพื้นที่ได้ ส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาที่จะต้องมีการฝึกปฏิบัตินั้น อาจจะจัดเป็นกลุ่มเล็กๆ เข้ามาเรียน

“ครูส่วนหนึ่งไม่มีความคล่องตัวในการใช้เทคโนโลยี จะทำอย่างไร คงต้องให้ครูเรียนรู้ด้วยความรวดเร็วเพื่อหาทางสอนนักเรียน ซึ่งผมพยายามหาวิธีลดความไม่คล่องตัวเรื่องนี้ลง ทั้งนี้การเรียนการสอนผ่านออนไลน์นั้น จะต้องหาวิธีเพื่อให้นักเรียนได้รับการเรียนการสอนที่เหมือนเดิมมากที่สุด ผมเชื่อว่าครูและผู้บริหารโรงเรียน หากมองเห็นปัญหาหรือข้อจำกัดของตน จะสามารถออกแบบวิธีการเรียนการสอนที่เหมาะสมต่อไปได้ คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์ ศธ.จะมีแนวทางการเรียนการสอนออนไลน์ออกมาเสนอให้ ครม.พิจารณา เพื่อให้ทันใช้ในการเปิดเทอมเดือนพฤษภาคมนี้” นายณัฏฐพลกล่าว

นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่าส่วนครูที่เป็นลูกหนี้ในสถาบันการเงินของรัฐนั้น ทางรัฐบาลอยู่ระหว่างหามาตรการช่วยเหลือ ซึ่งตนจะพยายามบูรณาการหาความช่วยเหลือครู โดยเข้าไปพูดคุยกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยให้ครูมีสภาพคล่องมากขึ้น ส่วนโรงเรียนที่ยังไม่เปิดเทอม รัฐสามารถนำมาใช้เป็นสถานที่รองรับจัดการในภาวะฉุกเฉินได้ เช่น ใช้เป็นสถานที่รับอาหาร เป็นต้น แต่โรงเรียนจะต้องมาดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากสถานการณ์เลวร้ายลง การรับสมัครนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ ปีที่ 4 ที่ถูกเลื่อนไปก่อนหน้านี้จะทำอย่างไร นายณัฏฐพลกล่าวว่า หากสถานการณ์ร้ายแรงไปกว่านี้การรับนักเรียนเข้าเรียนต่อนั้น อาจจะถูกขยับเป็นช่วงๆ ไป หรืออาจจะปรับไปตามสถานการณ์ ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนใดๆ จะยึดมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นหลัก