จักรกฤษณ์ สิริริน : เมื่อ Work from Anywhere เจอวิกฤติ COVID-19 เพลานี้ต้อง Work from Home

ความรุ่งเรืองและเฟื่องฟูของธุรกิจ Co-working Space ทั่วทุกมุมโลกในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายในการบริหารของหลายองค์กร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่พัฒนา และก้าวกระโดดไปอย่างไม่หยุดยั้ง

กอปรกับยุคข้าวยากหมากแพง สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ราคาน้ำมันที่ดีดตัวสูงขึ้น ผนวกกับปัญหาการจราจร ทำให้หลายบริษัทห้างร้านปรับโครงสร้างและแนวทางการทำงาน

โดยให้พนักงานและเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานจากภายนอกสำนักงานได้โดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศนั่นเองครับ

อันที่จริงแนวคิด Work from Anywhere ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาชีพ “คอลัมนิสต์” ที่หลายคน Work from Anywhere คือ “นั่งเขียนต้นฉบับจากที่ไหนก็ได้” แล้วส่งเข้ามายังกองบรรณาธิการ เป็นเวลาเนิ่นนานมาแล้ว

แต่หากเอ่ยถึงธุรกิจทั่วไปแล้ว มีบทความที่น่าสนใจในนิตยสาร Harvard Business Review เกี่ยวกับการทำงานนอกออฟฟิศ หรือ Work from Anywhere (WFA) ที่แปลได้ในทำนองว่า “โตแล้ว จะทำงานที่ไหนก็ได้” มาฝากแฟนมติชนสุดสัปดาห์ครับ

 

Harvard Business Review บอกว่า งานวิจัยที่ Harvard Business School ทำร่วมกับ Northeastern”s D”Amore-McKim School of Business ชี้ว่า ประสิทธิผลการทำงาน “นอกสำนักงาน” ของพนักงานหลายองค์กรเพิ่มขึ้น 4.4 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่าต่อปีสูงถึง 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Harvard Business Review กล่าวต่อไปอีกว่า ผลจากการวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า ระหว่าง “การทำงานนอกออฟฟิศ” หรือ WFA เมื่อเปรียบเทียบกับการปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานแล้ว WFA มีผลิตภาพ หรือ Productivity ที่มากกว่า

ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยหลายชิ้นในหลายประเทศ อาทิ บริษัทท่องเที่ยวสัญชาติจีน ที่ก็มีผลผลิตเพิ่มขึ้นมากถึง 13 เปอร์เซ็นต์ เมื่อผู้บริหารอนุญาตให้พนักงานทำงานจากนอกสถานที่ หรือ WFA เช่นเดียวกัน

Harvard Business Review บอกว่า พนักงาน WFA หลายคนพยายามเสาะหา “ออฟฟิศนอกสำนักงาน” คือร้านกาแฟ หรือ Co-working Space ที่ราคาย่อมเยาอยู่เสมอ เพื่อลดค่าครองชีพ แม้ว่าองค์กรต้นสังกัดหลายแห่งจะออกค่าใช้จ่ายบางส่วนให้ก็ตาม

นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจ Co-working Space ทั่วทุกมุมโลกรุ่งเรืองและเฟื่องฟูถึงขีดสุดในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมานั่นเองครับ

 

อย่างไรก็ดี แม้ Trend ของบริษัทห้างร้านสมัยใหม่จะเป็นไปในทิศทางนี้ ทว่าก็ยังมีองค์กรจำนวนมากที่ยังไม่ยอมรับการมีอยู่ของแนวคิด “การทำงานนอกออฟฟิศ”

เพราะยังคงมีผู้บริหารหลายรายที่ยังยึดติดกับวิธีการทำงานแบบเดิมคือ “ต้องเข้ามาเห็นหน้ากันตลอดเวลา” ซึ่งหากเป็นพนักงานธุรการ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

แต่ถ้าเป็นพนักงานขายที่ต้องออกพบปะลูกค้าเป็นประจำ ซึ่งนับว่าตรงกับสไตล์การทำงานแบบ WFA ที่สามารถปฏิบัติงาน “นอกออฟฟิศ” ได้

ทว่าเจ้านายหลายคนมักรู้สึกไม่สบายใจ ที่วันหนึ่งๆ “ไม่เห็นหน้าพนักงาน” และนี่ก็คือปัญหา “วัฒนธรรมองค์กร” ที่ต่างกันนั่นเองครับ

แม้ทุกวันนี้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตจะมีความเร็วและความสะดวกในการเข้าถึงเป็นอย่างมาก ทำให้ “ชาว WFA” สามารถ “นั่งทำงานที่ไหนก็ได้”

ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ ล็อบบี้โรงแรม ห้องสมุด สวนสาธารณะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Co-working Space

Harvard Business Review ชี้ว่า นวัตกรรมการสื่อสารยุคใหม่ในปัจจุบันตรงกับไลฟ์สไตล์ของ Gen Z ซึ่งเป็นกำลังหลักในระบบเศรษฐกิจยุคนี้

ดังนั้น “การทำงานนอกออฟฟิศ” หรือ Work from Anywhere (WFA) ที่เรากล่าวมาทั้งหมด จึงตรงกับวิถีชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างมาก

 

อย่างไรก็ดี ทิศทางที่เอ่ยถึงข้างต้นเกี่ยวกับ WFA แม้กำลังจะมีทิศทางที่สดใสและตอบโจทย์คนทำงานทุก Generation

ทว่าการมาถึงของ “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” หรือในชื่อใหม่ว่า COVID-19 เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ทำให้นักทฤษฎี Work from Anywhere และชาว WFA จำนวนมากทั่วทุกมุมโลกเกิดอาการ “ฝันสลาย”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาธุรกิจ Co-working Space และลุกลามบานปลายไปถึงเครือข่ายร้านกาแฟทั้งเล็กและใหญ่เกือบทั้งหมดกำลังประสบความยากลำบากที่ต้องรับมือกับวิกฤตการณ์ COVID-19

มาถึงขั้นนี้แล้ว หลายคนกำลังหาทางออกให้กับมหันตภัย COVID-19 กันอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะวงการ WFA ที่ได้หันเหทิศทางมาเป็น WFH หรือ Work from Home กันเกือบทั้งหมดแล้ว

 

ศาสตราจารย์ ดร.Nicholas Bloom แห่งมหาวิทยาลัย Stanford ผู้ที่ทำการวิจัยอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับแนวคิด Work from Home กล่าวว่า Work from Home ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติเป็น Win-Win Situation ทั้งฝั่งนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง

“ทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายทั้งของฝ่ายนายจ้างไม่ว่าจะเป็นค่าไฟ หรือการดูแล บำรุงรักษาสำนักงานมีอัตราเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ส่วนค่าใช้จ่ายในฝั่งลูกจ้างที่มีตั้งแต่ค่าพาหนะเดินทางหรือค่าอาหารการกินก็มีอัตราเพิ่มขึ้นเช่นกัน” เขากล่าว และว่า

ดังนั้น การเกิดขึ้นของ Work from Home จึงเป็น Win-Win Situation ที่นอกจากจะช่วยลดภาระทั้งของนายจ้างและลูกจ้างในประเด็นการทำงานในหรือนอกสำนักงานแล้ว

“ผลการวิจัยยังพบว่า ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของนายจ้างที่เข้าร่วมเป็นกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยชิ้นนี้ สามารถประหยัดงบประมาณได้มากกว่า 2,000 เหรียญสหรัฐ สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นต่อพนักงานหนึ่งคน” ศาสตราจารย์ ดร.Nicholas Bloom กระชุ่น และกล่าวต่อไปว่า

โดยเฉพาะในด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลจากการทำงาน ซึ่งพบว่า Work from Home นี้มีผลิตภาพ หรือ Productivity เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมถึง 15% เลยทีเดียว

“บรรดาลูกจ้างที่เข้าร่วมเป็นกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยชิ้นนี้บอกกับผมว่า การทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home ของพวกเขา ทำให้มีเวลาในการพักผ่อนเพิ่มมากขึ้น”

และที่สำคัญที่สุดก็คือ ทุกคนมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยลดน้อยถอยลงกว่าในอดีต ซึ่งต้องฝ่าฟันปัญหาจราจรเพื่อเดินทางไปตอกบัตรทุกวันจันทร์-ศุกร์ที่สำนักงาน ศาสตราจารย์ ดร.Nicholas Bloom ชี้

 

สอดคล้องกับ Louise Goss บรรณาธิการบริหารนิตยสาร The Homeworker ที่กล่าวว่า แนวคิด Work from Home นี้มีข้อดีมากมายที่เกิดกับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ทั้งสองฝ่าย Win-Win อย่างแน่นอนค่ะ

“อย่างไรก็ดี อย่าลืมว่าเหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ แม้ว่าจะมีคนบอกข้อดีของ Work from Home ให้คุณทราบมากมายเพียงใด แต่เราต้องไม่มองข้ามข้อเสียของมันด้วยเช่นเดียวกัน” เธอสำทับ

ข้อเสียที่ว่านี้ก็คือ ความเหงา และโดดเดี่ยว โดยเฉพาะผู้อยู่บ้านคนเดียวอยู่แล้ว จะยิ่งรู้สึกเหงาจับจิตเมื่อตัดสินใจ Work from Home

“แต่สำหรับคนที่อาศัยอยู่พร้อมหน้ากับครอบครัว Work from Home เป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมกระเทียมเจียวสุดๆ ไปเลยนะคะ” Louise Goss กล่าวทิ้งท้าย

ครับ, ท่ามกลางวิกฤตการณ์ COVID-19 ที่กำลังเกิดขึ้น และยังไม่มีทีท่าว่าปัญหานี้จะคลี่คลายลงได้โดยง่าย หรือโดยเร็ว

ผมคิดว่า Work from Home เป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งน่าสนใจมากทีเดียวครับ