วอชเชอร์ : “โควิด-19” ฉีกกระชาก ฉุดลาก “รัฐ-สังคมไทย” ให้ล้มเหลว

กลายเป็นว่า โคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ที่เคยถูกปรามาสจากคนระดับที่นั่งรับผิดชอบด้านสาธารณสุขว่าเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา กำลังทำหน้าที่ตามกลไกที่ถูกออกแบบมาอย่างมีประสิทธิภาพอย่างมาก โดยเฉพาะ การติดต่อโดยไม่สามารถตรวจจับได้ในทันทีว่ามีเชื้อไวรัสหรือไม่ จนกว่าจะแสดงอาการให้เห็น

ไวรัสนี้มีความพิเศษเฉพาะซึ่งต้องศึกษากันอย่างเร่งด่วน พร้อมกับรีบคิดค้นพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อแข่งกับจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน รวมถึงความสับสน ความกลัวและความเกลียดชังกันที่ขยายตัวตามมาด้วย

นอกจากความสามารถในแง่ระบาดวิทยาแล้ว ไวรัสสายพันธุ์นี้เอง ก็ได้เป็นตัวแปรสำคัญเหมือนกับทุกภัยพิบัติโรคระบาดที่เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์มนุษยชาติตลอดยุคสมัย ไม่ว่า โรคระบาดจัสติเนียน มฤตยูดำ หรือไข้หวัดสเปน เข้าทำลายล้างพร้อมกับเปิดเผยความจริงของโครงสร้างและสถาบันทางสังคมว่า แท้จริงแล้ว กลับเปราะบาง อ่อนแอและล้าหลังแค่ไหน แต่ถูกปกปิดไว้ด้วยคำพูดหรือวาทกรรมทางการเมืองที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเบี่ยงเบนความคิดผู้คนให้เมินเฉยกับความจริง

“โควิด-19” ก็กำลังทำสิ่งที่ว่านี้เช่นเดียวกัน

 

มามองสถานการณ์ไทยตอนนี้ ที่กำลังเผชิญกับการดิสรัปทางโครงสร้าง จนเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ-สังคมอย่างรุนแรง และการต่อสู้ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ พอโควิด-19 เข้ามาระบาด ยิ่งเป็นการดิสรัพระดับใหญ่กว่าครั้งไหน

แล้วรัฐไทยก็ใช้วิธีที่ง่ายที่สุดในการรับมือเหมือนกับทุกปัญหาที่เผชิญคือ “จัดการความจริง” ผ่านคำพูดของผู้นำรัฐบาล รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงาน เพื่อระงับสิ่งที่น่ากังวลกว่าเชื้อไวรัสที่ต้องรับมือคือ ความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชนและอาจส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลที่อ่อนไหวอยู่ในตอนนี้

แต่การจัดลำดับความสำคัญให้ “โควิด-19” ให้เป็นเพียงไข้หวัดชนิดหนึ่งและคิดว่าควบคุมได้โดยไม่ตระหนักถึงความน่ากลัวอันเป็นลักษณะเฉพาะของไวรัสชนิดนี้

จึงยังคงปล่อยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศเหมือนปกติ กระทั่งจีนยอมรับความจริงได้ว่า คุมสถานการณ์ไม่อยู่เพราะไวรัสระบาดทุกมณฑล ต้องออกมาตรการเข้มข้นตั้งแต่ปิดเมืองจนถึงสั่งห้ามพลเมืองเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อสกัดการระบาด

ถึงจุดนี้ ไทยก็รู้ตัวบ้างแล้ว แต่ก็ช้าเกินกว่าจะรับมือได้ทัน และทำเหมือนกับที่รัฐบาลจีนทำในช่วงแรกคือ ยับยั้งการระบาดและยับยั้งความจริงไม่ให้รั่วไหลถึงหูประชาชนไปพร้อมกัน

 

จากตรงนี้ อาจสรุปได้อย่างหนึ่งว่า รัฐไทยตอบสนองช้า การพบผู้ติดเชื้อในช่วงการระบาดเมื่อเดือนก่อนเกือบ 100 ราย ก็ควรประเมินความเสี่ยงและเร่งออกมาตรการจำกัดได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม การเอาเสถียรภาพของรัฐบาล ผลประโยชน์ของเครือข่ายทางการเมืองและผลประโยชน์ของประเทศ(โดยเฉพาะนายทุนและชนชั้นนำ)เป็นตัวตั้ง มากกว่าชีวิตของประชาชน

จึงทำให้ปรากฎป้ายตามร้านขายยาที่เขียน ไม่มีหน้ากากอนามัยหรือเจลแอลกอฮอล์ หรือข่าวกักตุนหน้ากากอนามัย หรือบุคลากรทางการแพทย์ต้องออกมาพูดต่อสังคมว่าของจำเป็นไม่เพียงพอ รวมถึงเกิดข้อพิพาทกันระหว่างกรมการค้าภายในและกรมศุลกากร ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นในภาวะเช่นนี้

ในยามวิกฤตที่ประชาชนหรือหน่วยงานสำคัญต้องเข้าถึงสิ่งของจำเป็น กลับต้องได้ยินเรื่องตักตวงผลประโยชน์ระหว่างผู้มีอำนาจทางการเมือง หรือการใช้อำนาจยึดสิ่งของที่ประชาชนหาซื้ออย่างยากลำบาก

สะท้อนถึงความอ่อนด้อยต่อการจัดการในภาวะวิกฤตนี้อย่างยิ่ง

 

ด้วยความล่าช้าและไม่ตระหนักต่อการระบาด อาจเพราะความไม่รู้ในธรรมชาติของการแพร่เชื้อ การเกิด Super Spreader ในสนามมวย หรือความไม่เด็ดขาดในการคัดครองกลุ่มคนที่มาจากต่างประเทศทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย

ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และกดดันให้ต้องตัดสินใจทำบางอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นได้ยากในระบบรัฐรวมศูนย์คือ การสั่งปิดจังหวัดตัวเองอย่างที่บุรีรัมย์หรืออุทัยธานี ยิ่งแสดงให้ว่า เริ่มไม่เชื่อใจมาตรการของรัฐบาลส่วนกลางได้อีกต่อไป

จำนวนที่เพิ่มขึ้นกว่า 300 ราย แต่สังคมก็ยังคลางแคลงใจตั้งแต่ช่วงแรกจนถึงตอนนี้ว่า เป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริงหรือไม่

เมื่อสังคมเรียกร้องมาตรการขั้นเด็ดขาด พร้อมกับประชาชนต่างต้องเอาตัวรอดเอง พัฒนาระบบหาผู้ติดเชื้อเอง โดยไม่รอการตัดสินใจของรัฐบาลกลางที่เชื่องช้า และไม่จริงใจ

คงไม่มีคำจำกัดความใดที่เหมาะกับรัฐบาลนี้ได้เท่ากับเป็น “รัฐล้มเหลว”