#SURFACE การสำรวจลึกภายใต้พื้นผิวความคิด (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
เคนทาโรฮิโรกิ: Symmetry / Asymmetry (2019-2020

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจมา เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่กันอ่านตามเคย

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า #SURFACE

ที่จัดขึ้นในวาระของการเปิดประเดิม หอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUG) แห่งใหม่ที่ย้ายไปตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต

ชื่อนิทรรศการที่แปลว่า “พื้นผิวภายนอก” เป็นคำที่ใช้อธิบายความเป็นระนาบด้านนอกของสิ่งของ วัตถุ หรือพื้นที่บางอย่าง ที่เป็นกายภาพภายนอกที่เรารับรู้ด้วยการเห็นหรือสัมผัสได้โดยตรงเท่านั้น ประเด็นหลักของนิทรรศการครั้งนี้คือความพยายามที่จะนำเสนอความคิดที่เลยลึกจากลักษณะทางกายภาพของพื้นผิวภายนอกที่ว่า เข้าไปสู่ประเด็นของพื้นผิวและสัมผัสของมัน ทั้งในฐานะพื้นฐานทางความคิด และเครื่องมือที่พัฒนาไปเป็นการะบวนการ ตรรกะ ระบบ หรือวิธีการบางอย่างที่นำพานักทำงานสร้างสรรค์แต่ละคนเดินทางไปสู่เป้าหมายของพวกเขา

ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือ นิทรรศการครั้งนี้ไม่เพียงแต่แสดงผลงานของศิลปินหรือคนทำงานในวงการศิลปะเท่านั้น

หากแต่ยังรวมเอาผลงานของนักออกแบบจากวงการดีไซน์และคนทำงานเบื้องหลังมาร่วมด้วย

โดยเป็นการนำเสนอผลงานของนักสร้างสรรค์จำนวน 8 คน จากการคัดสรรของภัณฑารักษ์ นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ที่สร้างผลงานบนเงื่อนไขที่แตกต่างกันทั้งวัย ภูมิหลัง เพศวิถี สถานะของการทำงาน หรือประเด็นที่แต่ละคนสนใจ

โดยตัวนิทรรศการถูกจัดแสดงในพื้นที่สองห้องของหอศิลป์

เริ่มต้นที่ห้องแรก กับผลงาน Symmetry / Asymmetry (2019-2020) ของเคนทาโร ฮิโรกิ (Kentaro Hiroki) ศิลปินและอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หลักสูตรนานาชาติ

เคนทาโรฮิโรกิ: Symmetry / Asymmetry (2019-2020)

อันนี้จริงผลงานชิ้นนี้ไม่ใช่งานแบบเดียวกับที่เคนทาโรเคยทำตามปกติ หากแต่เป็นผลจากการค้นคว้า ทดลอง และพัฒนาสื่อวัสดุและวิธีการสอนในชั้นเรียนวิชาดีไซน์พื้นฐาน (Design Fundamental) สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในหลักสูตรการออกแบบในมหาวิทยาลัยที่เขาสอนอยู่

เคนทาโรทำการทดลองกับรูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ ยาวๆ (คล้ายกับกล่องยาสีฟัน) โดยตัดแบ่งมันออกจากกันด้วยการลากเส้นตัดเพียงครั้งเดียว จนทำให้เกิดความสัมพันธ์ของความสมมาตรและไม่สมมาตรขึ้น

และเมื่อเขาทำการบิดตรงรอยต่อที่ว่า ก็จะสร้างรูปทรงใหม่ๆ ขึ้นมาได้ (ถ้ายังนึกภาพไม่ออกว่าเป็นอย่างไร ก็ลองนึกถึงของเล่นอย่าง “Snake Ball” หรือ “ลูกบิดงู” เอาก็แล้วกัน)

การทำให้รูปทรงสี่เหลี่ยมนี้กลายเป็นแผนภาพที่เปิดคลี่ “พื้นผิว” ออกมาคล้ายกับแพตเทิร์นของกล่องหรือบรรจุภัณฑ์ ด้วยการใช้กระบวนการเชิงคณิตศาสตร์ และอุปกรณ์เขียนแบบอย่างวงเวียน ไม้บรรทัด และเส้นวัด

ผลงานชิ้นนี้คือเครื่องมือในการสำรวจกระบวนการคิดของรูปทรงผ่านพื้นที่สองมิติและสามมิติเพื่อทำความเข้าใจกับมัน

เขาใช้การทดลองที่ว่านี้เพื่ออธิบายให้นักศึกษาเข้าใจว่า ถึงแม้จะเป็นรูปทรงที่เรียบง่าย แต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อสร้างรูปทรงและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ขึ้นมาได้

เคนทาโรฮิโรกิ: Symmetry / Asymmetry (2019-2020)

เคนทาโรพิสูจน์ความเป็นไปได้ที่ว่านี้จากผลการทดลองนี้ของเขา ด้วยการนำรูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมที่ถูกตัดแบ่งและทำการเชื่อมตรงรอยตัดจนมีลักษณะคล้ายกับลูกบิดงู และบิดเปลี่ยนทิศทางของรูปทรงสี่เหลี่ยมตรงจุดตัด สร้างเป็นรูปทรงสามมิติรูปตัวอักษรภาษาอังกฤษ ที่ประกอบรวมกันเป็นชื่อนิทรรศการอย่าง “S U R F A C E” ขึ้นมานั่นเอง

และในวันที่ 4 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา เคนทาโรยังเปิดการเวิร์กช็อปเกี่ยวกับกระบวนการทดลองที่ว่านี้ของเขาให้ผู้ที่สนใจมาร่วมเรียนรู้ ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต อีกด้วย

ตามมาด้วยผลงานของลัทธพล ก่อเกียรติตระกูล ศิลปินรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในการแปรสภาพและเปลี่ยนสถานะใหม่ให้กับวัตถุรอบๆ ตัว กับผลงานศิลปะชื่อเรียบง่าย ที่ตีความประเด็นเกี่ยวกับ “พื้นผิว” ด้วยการสำรวจสถานะและกระบวนการสร้างงานศิลปะ

ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Painting (2018) ที่ลัทธพลใช้น้ำมันลินซีด (ที่จิตรกรใช้เป็นตัวผสานสารสีในสีน้ำมันในการวาดภาพ) ชโลมลงบนกระดาษจนน้ำมันซึมเข้าไปในเนื้อกระดาษจนทั่ว กระบวนการนี้ทำให้เนื้อกระดาษมีความโปร่งแสงจนเห็นเนื้อเยื่อของกระดาษเมื่อส่องกับแสง

ลัทธพล ก่อเกียรติตระกูล : Painting (2018)

หลังจากนั้นเขาก็ใช้สีหมึกวาดลงไปบนด้านหลังของกระดาษเพื่อขับเนื้อเยื่อให้ปรากฏขึ้นมาบนพื้นผิวกระดาษอย่างชัดเจน

ดังนั้น ร่องรอยสีสันอันแตกซ่านฟุ้งกระจายที่ดูคล้ายกับภาพวาดนามธรรม จึงไม่ได้เกิดจากการจงใจวาดขึ้นของศิลปิน หากแต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากกระบวนการทางเคมีระหว่างน้ำมันลินซีด, สีหมึก และเนื้อเยื่อและพื้นผิวของกระดาษเสียมากกว่า

ในขณะที่ผลงาน Sculpture (2020) ลัทธพลใช้วิธีการฉีกลอกกระดาษแผ่นเดียวให้แยกชั้นออกจนกลายเป็นสองแผ่นโดยกระดาษไม่ขาดเสียก่อน (เหมือนเวลาเราลอกสติ๊กเกอร์ออกจากกันนั่นแหละ)

ลัทธพลแสดงผลงานชุดนี้ในลักษณะของศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ (Site-specific installation) ด้วยการวางกระดาษแผ่นหนึ่ง (ที่ถูกลอกออกเป็นสองแผ่น) บนพื้น ราวกับเป็นงานประติมากรรม

ในขณะที่กระดาษอีกแผ่นที่ถูกลอกยังไม่หมดดี เหลือติดคากันอยู่ตรงปลายนิดหนึ่ง เขานำไปแขวนห้อยบนช่องหน้าต่างราวกับเป็นผ้าม่าน

ปล่อยให้แสงแดดส่องผ่านกระดาษจนเนื้อเยื่อและพื้นผิวเป็นร่องรอยระลอกคลื่นของกระดาษที่เกิดจากกระบวนการฉีกลอกออกจากกันปรากฏให้เห็น

และผลงาน Sculpture (2018-2020) ซึ่งเป็นผลงานที่ต่อเนื่องจากผลงานชุดที่เขาทำขึ้นตอนเป็นศิลปินพำนักที่เวียดนาม โดยเขาเก็บเศษหินจากซากอาคารเก่าที่ถูกทุบทิ้งเพื่อที่จะสร้างเป็นโรงแรมหรือห้างสรรพสินค้านำมาผลิตซ้ำ ด้วยการใช้กระดาษทาบก้อนหิน แล้วใช้แท่งถ่านแกรไฟต์ค่อยๆ ฝน (แบบเดียวกับที่เด็กๆ ใช้กระดาษทาบเหรียญบาทแล้วใช้ดินสอฝนนั่นแหละ) จนพื้นผิวด้านนอกของกระดาษกลายเป็นพื้นผิวและรูปทรงของก้อนหินขึ้นมา

ลัทธพลก่อเกียรติตระกูล: Sculpture (2018 – 2020)

แล้วเขาก็เอากระดาษที่ถูกฝนจนห่อหุ้มก้อนหินออกมาประกอบสร้างรูปทรงจนกลายเป็นก้อนหินจำลองอีกก้อนที่ด้านในกลวงเปล่า

ลัทธพลจัดแสดงก้อนหินปลอมนี้กับก้อนหินจริงที่เป็นต้นแบบ เพื่อยั่วเย้าให้ผู้ชมสงสัยลองพิสูจน์ดูว่าก้อนหินอันไหนของจริงหรือของปลอมกันแน่

และในขณะเดียวกันผลงานทั้งสองก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับขอบเขตและเส้นแบ่งระหว่างงานสองมิติอย่างจิตรกรรมและงานสามมิติอย่างประติมากรรม

ท้ายที่สุด ผลงานของลัทธพลยังตั้งคำถามกับผู้ชมว่า เรายอมรับให้สิ่งเหล่านี้เป็นงานศิลปะได้หรือไม่?

ถ้าหากผลงานของลัทธพลเป็นการสำรวจวิธีคิดและกระบวนการทำงานของคนทำงานศิลปะ ในทางกลับกัน ผลงานของสันติ ลอรัชวี นักออกแบบและนักการศึกษาด้านกราฟิกดีไซน์ผู้ก่อตั้ง Practical Design Studio ก็เป็นการสำรวจวิธีคิดและกระบวนการทำงานของคนทำงานออกแบบเช่นเดียวกัน

ผลงานของสันติมักจะเป็นการสำรวจความเป็นระบบภาษาของกราฟิกและไทโปกราฟี หรือการออกแบบตัวพิมพ์

เขามักจะนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ในการสื่อสารและแสดงออกทางความคิดของเขา ในผลงานชุด A State of Mind (2020) ของเขาในนิทรรศการนี้ สันติสื่อสารแนวคิดเกี่ยวกับสภาวะจิตใจและความเป็นตัวตนผ่านกระบวนการทำงานกราฟิกดีไซน์อันซับซ้อนไปจนถึงเรียบง่าย

สันติ ลอรัชวี: A State of Mind (2020

โดยเริ่มจากผลงานชุดที่เคยแสดงในงาน Graphic Trial 2018 ที่ Printing Museum โตเกียว งานโปสเตอร์ดีไซน์เชิงทดลองที่เล่นกับเทคนิคการพิมพ์ ทั้งการพิมพ์สี การเคลือบพื้นผิวมัน/ด้าน การพิมพ์ซิลก์สกรีน เคลือบฟอยล์ และเทคนิคอื่นๆ ทับซ้อนกันนับสิบชั้น โดยพิมพ์ในโรงพิมพ์หลายๆ แห่งลงบนกระดาษแผ่นเดียว (ต่อหนึ่งดีไซน์)

ในขณะที่เนื้อหาของงานแสดงสภาวะภายในจิตใจของเขา จากรูปวงกลมและรัศมี ที่ดูนิ่ง สงบ สมดุล ไปสู่รูปที่สะท้อนสภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมที่เข้ามาปะทะ ทั้งใบหน้ายิ้ม โกรธขึ้ง ขึงขัง

โดยตำแหน่งของรูปทรงเรขาคณิตที่แสดงถึงสภาวะอารมณ์เหล่านี้ถูกเปลี่ยนไปอย่างเป็นระบบระเบียบตามหลักตรรกะและคณิตศาสตร์ในงานกราฟิกดีไซน์

(ยังมีต่อ)

นิทรรศการ #SURFACE จัดแสดงที่หอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUG) ชั้น 2 อาคาร C6 (หอสมุดสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ Main Campus รังสิต ปทุมธานี

ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ – 8 พฤษภาคม 2563

จัดแสดงเวลา 09.00-17.00 น. (หยุดวันอาทิตย์และจันทร์)

ขอบคุณภาพจากหอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUG)