มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส/แม้แผนจะนิ่ง แต่ก็มีคนทำบ้าง

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

แม้แผนจะนิ่ง แต่ก็มีคนทำบ้าง

 

พาไปมองแผนงานที่ดี โครงการสมบูรณ์แบบ ที่ไม่เกิดขึ้นจริงมาแล้ว ในฉบับที่ผ่านมา

มองบ้านมองเมืองฉบับนี้ จะพาไปมองต่อว่า เมื่อคนไทยเลือกจะไม่ทำตามแผนแล้ว แต่ใช้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ดีไม่ดี ดีมาก ดีน้อย ไม่มีใครรู้

หลังจากมีประกาศยกเลิกโครงการโฮปเวลล์ ที่เหลือแค่เสาคานคาใจไปแล้ว ก็มีหลายหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานเก่าและใหม่ พยายามแก้ปัญหา

 

เริ่มตั้งแต่ โครงการคู่แข่ง คือ ดอนเมืองโทลล์เวย์ ที่สร้างได้ก่อน เสร็จก่อน มีรถวิ่งก่อน เพราะเป็นแค่ทางรถยนต์ยกระดับ ในเขตกรมทางหลวง เหนือถนนวิภาวดีรังสิต

ในปี พ.ศ.2542 มีการก่อสร้างถนนโลคอลโรด เลียบทางรถไฟสายเหนือ-อีสาน มีชื่อเป็นทางการว่า ถนนกำแพงเพชร 5 และถนนกำแพงเพชร 6 และส่วนเลียบทางรถไฟสายตะวันออก มีชื่อเป็นทางการว่า ถนนกำแพงเพชร 7 ตามพระนามของพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร หรือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน

ยังมีโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ จากท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ที่วิ่งอยู่ทุกวันนี้ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งช่วงพญาไทถึงหัวหมากนั้น เดิมก็อยู่ในแผนงานโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับ

นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่งผลักดันโครงการส่วนขยายแอร์พอร์ตลิงค์ ให้ไปถึงท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง และอู่ตะเภา ล้วนอยู่ในแผนงานเดิม รวมทั้งเรื่องที่ว่า ตกลงกันได้นานแล้ว แต่เพิ่งมาเซ็นสัญญา โดยมีสาเหตุว่า บริษัทคู่สัญญากลัวว่าจะมีปัญหาส่งมอบพื้นที่ ก็ยังคล้ายกับเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

ยังมีโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน ช่วงสถานีแยกไฟฉาย-ท่าพระ ที่กำลังจะเปิดให้บริการ

ส่วนโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ยังไม่มีรถวิ่ง โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ ตลิ่งชัน และ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ช่วงลาดพร้าว ศูนย์วัฒนธรรม ที่กำลังก่อสร้าง ล้วนอยู่ในแผนงานเดิมโครงการเดียว

ยังไม่นับการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง Department of Rail Transport เป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงคมนาคม เมื่อปีที่ผ่านมา ทำหน้าที่กำกับดูแลระบบขนส่งทางรางทั่วประเทศ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ประกอบด้วย รถไฟ รถไฟฟ้า และรถไฟไฮสปีด

แม้แต่สถานีกลางบางซื่อ ที่กำลังจะแล้วเสร็จ มีพื้นที่อาคารมากกว่าสามแสนตารางเมตร ก็เตรียมการรองรับรถไฟทุกประเภท ที่เคยอยู่ในแผนงานเดิม

หรือจะรวมเอาโครงการป้องกันน้ำท่วม โครงการทางยกระดับข้ามทางแยก โครงการรถไฟลอยฟ้า โครงการตกแต่งภูมิทัศน์ถนน ที่ดำเนินการต่างกรรมต่างวาระ แบบว่าต่างหน่วยงานต่างทำ ไม่พร้อมกัน ไม่ต่อเนื่องกัน ตลอดระยะเวลาในสัญญาสัมปทานเดิมของโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับ คือ พ.ศ.2534-2564

 

เอาเป็นว่า จากหนึ่งอภิมหาโครงการ ระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับ ในอดีตที่วางแผนบูรณาการหลายโครงการไว้ด้วยกัน กลายเป็นหลายสิบโครงการย่อย ดำเนินการโดยหลายหน่วยงาน กระจายไปในพื้นที่ ทั้งของการรถไฟฯ เขตทางหลวง และกรุงเทพมหานคร จนกลายเป็นความสับสนอลหม่าน

คงต้องปลงว่า เพราะคำว่า การวางแผน นั้นคนไทยเอามาจากคำอังกฤษคือ PLANNING เมื่อออกเสียงสำเนียงไทยจึงกลายเป็น แผนนิ่ง

ทำให้สถานการณ์เป็นไปตามความหมาย หรือจะให้คิดบวกว่า แม้เมืองไทยจะวางแผนไม่เก่ง แต่ที่อยู่รอดมาได้ทุกวันนี้ เพราะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเก่ง

แม้แผนงานหนึ่งเดียวจะนิ่ง แต่บางส่วนหรือทุกส่วน ค่อยๆ เกิดขึ้น

เพียงแต่กระจัดกระจาย วุ่นวาย อย่างที่เห็น และเป็นอยู่ในปัจจุบัน