“โควิด-19” : สารพัดการรับมือ-ข้อเสนอปิดเมือง สกัดกั้นแพร่ระบาด

วันที่ 17 มีนาคม 2563 สถานการณ์การระบาดโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ลุกลามไปทั่วโลก ส่วนประเทศไทยล่าสุดมีผู้ติดเชื้อแล้ว 177 ราย ท่ามกลางความตื่นตระหนกของสาธารณชนและยังกดดันไปยังรัฐบาลในการออกมาตรการรับมือการระบาด

เตรียมเปิดวอร์ด 100 เตียง ดูแลผู้ป่วย เล็งใช้โรงแรมแยกกลุ่มอาการไม่หนัก

โดยในส่วนการรับมือนั้น นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการเตรียมสถานพยาบาลรองรับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า ตอนนี้กระทรวงได้ร่วมกับรพ.ในสังกัดกทม. โรงเรียนแพทย์ต่างๆ สถาบันบำราศนราดูร ซึ่งมีปริมาณเตียงรองรับประมาณ 200 เตียง ประกอบด้วยห้องแยกโรคความดันลบ ห้องความดันลบประยุกต์ และห้องแยก ยังสามารถรองรับคนไข้ได้อยู่ แต่หากยังมาเรื่อยๆ อีกสักพักอาจจะมีปัญหา แต่วันนี้ก็เตรียมการเปิดวอร์ดสำหรับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เฉพาะ คาดว่าจะเปิดได้ประมาณ 100 เตียง ขณะเดียวกันก็ได้ขอความร่วมมือรพ.เอกชนในการรับดูแลผู้ป่วยที่รพ.นั้นมีการเก็บตัวอย่างเชื้อมาตรวจด้วย จากเดิมที่รพ.เอกชนจะส่งต่อมารพ.รัฐทั้งหมด

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันก็ได้เตรียมเปิดกึ่งๆ รพ.สนาม โดยใช้รพ.ประมาณ 5-6 แห่ง อาทิ 1.รพ.บางขุนเทียน ซึ่งเปิดได้ทันทีประมาณ 30 เตียง มีบุคลากรพร้อม แต่หากเปิดเต็มศักยภาพ 200 เตียง ก็ต้องหาเจ้าหน้าที่ไปเพิ่ม 2.รพ.ศรีธัญญา ประมาณ 200 เตียง 3. รพ.ทหารอากาศทุ่งสีกัน แรกๆ อาจจะรับ 20-30 เตียง แต่อาจจะเพิ่มได้ประมาณ 150 เตียง 4. รพ.รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ ผู้ป่วยไปแล้วประมาณ 10 กว่าเตียง

แต่มีโครงการเพิ่มเตียงได้ 5.ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ที่มหิดล และ รพ.เอกชน 2 แห่ง คือ รพ.วิภาราม ชัยปราการ เป็นรพ.ว่างมีเตียงร้องรับ แต่ยังไม่มีคน และ รพ.มงกุฎวัฒนะ ที่ยกให้ทั้งตึกประมาณ 100 เตียง พร้อมแพทย์-พยาบาลโรคติดเชื้อมาร่วมดูแล ดังนั้นตอนนี้เตียงสถานพยาบาลรวมๆ มาได้กว่า 1 พันเตียง แต่ไม่ได้จะเปิดทีเดียวทั้งหมด อยู่ที่ว่ามีคนไข้มากน้อยแค่ไหน

“ตอนนี้ที่เราประมาณการ ผู้ป่วยอาการหนักที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพียงพอ ตอนนี้กำลังทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ว่าหากคนไข้พีคจริงๆ ต้องการใช้เท่าไหร่ แต่ ณ ตอนนี้ไปอีก 1-3 เดือนคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะคนไข้ที่ต้องการใช้เครื่องช่วยหายใจประมาณ 5% ของผู้ติดเชื้อ” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการเสริม หากคนไข้เยอะมาวันละ 400-500 ราย คนไข้ส่วนใหญ่ประมาณ 80% อาการไม่รุนแรง ยังมีผลบวกอยู่บางคนผลบวกอยู่นานถึง 20 วัน แต่ตรงนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่รพ.ก็ได้ ดังนั้นจึงคุยกันว่าคนไข้ที่รับมาทุกรายจะให้อยู่รพ. อย่างน้อย 2 วัน แล้วประเมินอาการ ถ้าอาการดีขึ้น ไม่เลวลง ที่แน่ๆ ต้องไม่มีไข้ ไม่มีปอดบวม มีความคิดที่คุยกันและตกลงกัน อยากได้หอพักทั้งหอ หรือโรงแรมทั้งโรงแรม เอาไว้แอดมิทคนไข้หลังจากที่นอน รพ.แล้วไม่มีปัญหาอะไร จะได้เคลียร์เตียงรพ.ให้คนไข้ใหม่ได้ ย้ำว่านี่เป็นแผนสำรอง ยังไม่ได้ทำตอนนี้

ในส่วนของกำลังคน ส่วนใหญ่ที่ประเมินกันตอนนี้ การเปิดวอร์ดโคโรนา 2019 เพิ่มนั้นยังสามารถใช้บุคลากรเดิมได้ แต่ในส่วนอื่น หากสถานการณ์ในกรุงเทพหนักก็จะมีการระดมแพทย์ พยาบาลในต่างจังหวัดทั้งในสังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสังกัดกรมการแพทย์เข้ามาช่วย แต่ที่ทำแล้วคือการประสานแพทย์ พยาบาลที่เกษียณอายุแล้วให้มาช่วยเหลือ โดยในส่วนที่มาช่วยดูวอร์ดโคโรนา หรือคนไข้ที่ย้ายไปยังโรงแรม ซึ่งอาการไม่หนักนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์โรคติดเชื้อ แต่หากเป็นคนไข้หนักต้องการหมอเฉพาะทาง

สำหรับแผนการรับมือในต่างจังหวัด ก็เตรียมแบบเดียวกับที่กรุงเทพฯ ทำซึ่งเราทำตามแผนเป็นระยะๆ ก่อนหน้านี้ได้เริ่มลดจำนวนผู้ป่วยที่จะมารพ.โดยการให้ยากลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังไปรับประทานนานขึ้น เช่น จากเคยให้ยา 1 เดือน ก็ให้ไป 3 เดือน และทำคลินิกไข้หวัด แยกออกจากคนไข้กลุ่มอื่น ทำการสำรวจห้องแยกโรค และให้เตรียมเปิดวอร์ดคนไข้โควิด-19 ซึ่งทั้ง 12 เขตสุขภาพนั้นสำรวจแล้วพบว่ารวมๆ แล้วมีประมาณ 5,000 กว่าเตียงทั่วประเทศ ตอนนี้โครงสร้างสาธารณสุขไทยยังดี มีทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากแนะนำประชาชนคือหากสัมผัสใกล้ชิดคนมีอาการก็ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สอบสวนโรค ถ้าเจ้าหน้าที่พาไปตรวจแล้วค่อยไป แต่ถ้าเจ้าหน้าที่แนะนำให้กักตัวเอง 14 วัน ก็ควรกักตัวเอง ไม่อยากให้แห่กันไปตรวจที่ รพ. แต่ควรประเมินความเสี่ยงตัวเอง ถ้าทุกคนแห่กันไปเองหมด ทรัพยากรที่เราบอกว่าพอ อาจจะไม่พอ เพราะทุกคนแห่ใช้ แห่ตรวจ ห้องแล็บแทนที่จะได้ตรวจสำหรับคนที่จำเป็นจริงๆ ก็ทำได้ช้าลง

อยากทุกคนให้ใจเย็นๆ ทำตามคำแนะนำของแพทย์ ทั้งนี้ผอ.องค์การอนามัยโลก บอกว่าให้ใช้หลัก 3 อย่างคือ 1. ใช้หลักความจริงไม่ใช่ความกลัว ประเมินตัวเอง สัมผัสใกล้ชิดแค่ไหน ถ้าสัมผัสนิดหน่อยก็กักตัวเอง ดูอาการ 14 วัน 2. ใช้วิทยาศาสตร์ อย่าเชื่อข่าวลือ และ 3. ความสามัคคี ความเอื้ออาทรกัน หากเราสามัคคี เอื้ออาทรไม่ไปแย่งใช้ทรัพยากร โดยไม่จำเป็น ซึ่งประเมินแล้วประเทศไทยผ่านเรื่องนี้ไปได้

ชงปิดเมือง 21 วัน ออกจากบ้านตอนจำเป็น

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า “ปิดต้องปิดแบบออสเตรีย 21 เพราะระยะฟักตัว 14 และเมื่อเกิดอาการที่ไม่มากหรือไม่รู้ตัว อาจไม่ต้องเข้า รพ และหยุดแพร่เชื้อใน 20 วัน คนอาการชัด พาไปรักษา”

ทั้งนี้มีการ ระบุว่าสาเหตุว่า ทำไมต้องปิดเข้ม จนถึงไม่ออกจากบ้านยกเว้นจำเป็นตามสายงาน?
1-มีเตียงใน รพ มาก พอหรือ และที่ต้องมีการปฏิบัติการดูดเสมหะ ใส่ท่อที่ฟุ้งกระจายเป็นการแพร่ทางลมหายใจ ไม่ใช่ละอองฝอย ต้องเป็นห้องความดันลบที่มี 100 เตียงทั้งประเทศ ใช่หรือไม่?

2-ห้องที่ดัดแปลงพอรับมือได้อย่างข้อหนึ่งมี 1000 เตียงทั้งประเทศใช่หรือไม่?

3-การดูแลผู้ต้องสงสัยจะยากและวุ่นวายกว่าผู้ที่รู้แล้วว่าเป็นหรือไม่เป็น เพราะต้องแยกผู้ต้องสงสัยให้ไม่ติดกันเอง และกว่าที่จะยืนยันว่าเป็นหรือไม่เป็นใช้เวลาตั้งแต่ 6 ชั่วโมงถึง 24 ชั่วโมง 
โรงพยาบาลทุกแห่งสามารถรับมือกับการดูแลผู้ต้องสงสัยได้ขนาดไหน จริงหรือไม่ที่โรงพยาบาล กทม สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 170 เตียงเท่านั้นตามรายงาน และโรงพยาบาลบำราศนราดูร รองรับได้ 70 เตียงเท่านั้น

-การดูแลผู้ที่ยืนยันว่าเป็นแล้วถ้ามีอาการปานกลาง อยู่ร่วมกันได้ระดับหนึ่ง
ทั่วประเทศรับมือกับระดับปานกลางได้กี่เตียง?

-การดูแลผู้ที่มีอาการหนัก สอดท่อและไอซียู ทั้งประเทศมีอยู่กี่เตียง?

เตียงทั้งหมดที่ว่ามีหมายความว่า เมื่อมีคนไข้สามารถรับได้ทันทีใช่หรือไม่ ?

‘เมเจอร์’ จัดโรงหนังนั่งเว้นระยะ ย้ำดูแลให้ดีที่สุด

ก่อนหน้านี้ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาลไวรัสสายพันธุ์ใหม่ COVID-19 มีมติให้ลดเลี่ยงการชุมนุมอยู่ในสถานที่ที่มีคนมากๆ เพื่อลดโอกาสการระบาดของโรค อาทิ ปิดสนามกีฬา สนามมวย สถานบันเทิง รวมทั้งผับ ซึ่งพบข้อมูลก่อนหน้าว่า ทำให้เกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนจำนวนมาก ทั้งนี้ จะมีการออกเป็นมติครม.ในวันนี้ (17 มีนาคม 2563)

โรงภาพยนตร์เมเจอร์ ได้โพสต์มาตรการที่จะช่วยลดปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส นอกเหนือจากการทำความสะอาดโรงหนังอย่างเข้มงวด ก็ได้ออกเป็นการขายตั๋วแบบใหม่ในยุคไวรัสระบาด โดยระบุว่า จะมีการขายที่นั่งแบบเว้นระยะห่าง โดยระบุว่า “เราจะดูแลคุณให้ดีที่สุด ด้วยการเว้นระยะห่างในโรงภาพยนตร์ แบบแถวเว้นแถว และเว้นห่างระหว่างที่นั่งทุก 2 ที่นั่งหนึ่งในมาตรการป้องกัน COVID-19 ขั้นสูงสุด ตั้งแต่ 17 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ที่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ทุกสาขา”