พิศณุ นิลกลัด : ผู้ตัดสินฟุตบอล ก็เป็นเศรษฐีได้

พิศณุ นิลกลัด
มาร์ก แคล็ตเทนเบิร์ก (Mark Clattenburg)

มาร์ก แคล็ตเทนเบิร์ก (Mark Clattenburg) ยอดผู้ตัดสินชาวอังกฤษ ในฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก ตัดสินใจย้ายไปทำงานเป็นหัวหน้าผู้ตัดสินที่ซาอุดีอาระเบีย เริ่มทำหน้าที่ในวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม ในการแข่งขันฟุตบอลรอบชิงชนะเลิศ รายการ Saudi Crown Prince Cup โดยแชมป์จะได้เงินรางวัล 2,500,000 ริยาล หรือ 23 ล้านบาท

แคล็ตเทนเบิร์กจะมีอายุครบ 42 ปี ในวันที่ 13 มีนาคม ให้ของขวัญตัวเองล่วงหน้า ด้วยการย้ายงานใหม่ที่มีรายได้มากกว่าเดิม

ค่าตัวในการทำงานที่ซาอุฯ ได้เท่าไหร่ ไม่มีการรายงานอย่างเป็นทางการ แต่สื่ออังกฤษรายงานว่า มาร์ก แคล็ตเทนเบิร์ก น่าจะได้เงินปีละ 5 แสนปอนด์ หรือ 22 ล้านบาทโดยไม่ต้องเสียภาษี หากรวมโบนัสและสิทธิพิเศษต่างๆ อาจจะมีรายได้ต่อปีเกิน 40 ล้านบาท มากกว่ารายได้ต่อปีในการทำหน้าที่ผู้ตัดสินในพรีเมียร์ ลีก ที่ได้อยู่ประมาณ 100,000 ปอนด์ หรือ 4 ล้าน 3 แสนบาท เมื่อหักภาษีรายได้ส่วนบุคคล 30% และประกันสุขภาพอีก 5% ก็จะเหลือ 2 ล้าน 8 แสนบาท

 

ฐานรายได้ต่อปีของผู้ตัดสินฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก ทั้ง 17 คนที่รู้จักกันในชื่อ The Select Group Referees หรือกลุ่มผู้ตัดสินที่ได้รับการเลือก เริ่มที่ 38,000 ปอนด์ หรือ 1 ล้าน 6 แสนบาท และจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ หากมีประสบการณ์มากขึ้น แล้วไปตันที่ 1 ล้าน 8 แสนบาท นอกจากนั้น จะได้ค่าตัดสินต่อเกมอีก เกมละ 1,150 ปอนด์ หรือ 50,000 บาท ซึ่งในพรีเมียร์ ลีก มีการแข่งขันทั้งฤดูกาล 380 เกม

รายได้ของผู้ตัดสินในพรีเมียร์ ลีก ดูก็ไม่น้อย แต่เมื่อเทียบกับรายได้ของนักฟุตบอลในพรีเมียร์ ลีกแล้วแตกต่างกันมาก โดยรายได้เฉลี่ยของนักฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก อยู่ที่ 2.3 ล้านปอนด์ หรือ 100 ล้านบาทต่อฤดูกาล หรือสัปดาห์ละ 1 ล้าน 9 แสนบาท

แต่ถ้าเทียบรายได้ของผู้ตัดสินพรีเมียร์ ลีก กับคนอังกฤษทั่วไป ถือว่าผู้ตัดสินพรีเมียร์ ลีก มีรายได้ดีมาก เพราะรายได้เฉลี่ยของคนอังกฤษอยู่ที่ ปีละ 27,000 ปอนด์ หรือ 1 ล้าน 2 แสนบาท

นอกจากนั้น เมื่อเทียบรายได้ของผู้ตัดสินฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก กับผู้ตัดสินฟุตบอลลีกอื่นๆ ของอังกฤษก็ดีกว่ามากเช่นกัน เพราะผู้ตัดสินลีกอื่นไม่มีฐานเงินเดือนหลัก ได้แต่ค่าลงทำหน้าที่ครั้งละ 380 ปอนด์ หรือ 16,500 บาทเท่านั้น

ทำให้ผู้ตัดสินหลักในฟุตบอลลีกอื่นของอังกฤษไม่สามารถยึดเป็นอาชีพได้ ต้องมีงานประจำทำวันจันทร์ถึงศุกร์ และมีงานเสริมเป็นผู้ตัดสินหลัก

การที่ผู้ตัดสินหลักในฟุตบอลลีกต้องทำงานหลักในวันจันทร์ถึงศุกร์ จึงทำให้บางคนดูเหนื่อย อ่อนเพลีย เมื่อมาทำหน้าที่ผู้ตัดสินหลักในฟุตบอลลีก ทำให้มีการเรียกร้องให้ปรับเงินเดือนผู้ตัดสินหลัก เพราะหากค่าจ้างในการทำหน้าที่ต่ำอย่างนี้ ก็จะทำให้ยากต่อการสร้างผู้ตัดสินที่มีคุณภาพ

 

ในอดีตพรีเมียร์ ลีก กำหนดอายุผู้ตัดสินว่าห้ามเกิน 48 ปี แต่กฎนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว เพราะปัจจุบัน อังกฤษประกาศยกเลิกการเกษียณอายุงาน จากเดิมที่กำหนดไว้ 65 ปี

ดังนั้น ผู้ตัดสินในพรีเมียร์ ลีก หากสุขภาพยังฟิต ตัดสินได้แม่นยำ ถูกต้องตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ ก็สามารถทำหน้าที่ผู้ตัดสิน ได้เงินหลายล้านบาทต่อปีไปได้เรื่อยๆ

ดิ๊ก บาเว็ตต้า (Dick Bavetta)

เช่นเดียวกับที่อเมริกาซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่อง Discrimination หรือการเลือกปฏิบัติ ดังนั้น จึงไม่มีการกำหนดอายุเกษียณของผู้ตัดสินในกีฬาลีกอาชีพ NBA, NFL, MLB และ NHL หากคุณสมบัติครบตามที่กำหนด ผ่านการทดสอบคัดตัว มีประสบการณ์ มีความสามารถ ร่างกายฟิต ทำหน้าที่ได้เหมาะสม ไม่ว่าจะอายุมากเท่าไหร่ก็ยังเป็นผู้ตัดสินได้

ตัวอย่างเช่น NBA ผู้ตัดสินที่อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ NBA คือ ดิ๊ก บาเว็ตต้า (Dick Bavetta) เป็นผู้ตัดสิน NBA มาตั้งแต่ปี 1975 จนถึงปี 2014 ทำหน้าที่ผู้ตัดสิน NBA ยาวนานถึง 39 ปี ขอเกษียณเองในวัย 73 ปี

ดิ๊ก บาเว็ตต้า ทำหน้าที่ผู้ตัดสินใน NBA รวมทั้งสิ้น 2,635 เกม และไม่เคยลาหยุดในเกมที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แม้แต่หนเดียว ได้รับการยกย่องให้เป็นสุดยอดผู้ตัดสิน NBA ตลอดกาล เหมือนกับ ปิแอร์ลุยจิ กอลลีน่า ผู้ตัดสินฟุตบอลชาวอิตาเลียน เจ้าของฉายา หัวหลอดไฟ ที่เคยได้รับรางวัลผู้ตัดสินยอดเยี่ยมของโลก 6 สมัย

กว่าที่ ดิ๊ก บาเว็ตต้า จะได้เป็นผู้ตัดสิน NBA เขาสอบตก ไม่ผ่านการคัดตัวถึง 9 ปีติดต่อกัน สาเหตุเพราะรูปร่างเล็ก ผอมบาง สูง 183 เซนติเมตร หนักเพียง 71 กิโลกรัม

แต่ด้วยความมุมานะ บาเว็ตต้าหันมาออกกำลังอย่างจริงจัง วิ่งวันละประมาณ 10 กิโลเมตร และนอนงีบกลางวันวันละ 3 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง พักผ่อนเพียงพอ เป็นต้นแบบของผู้ตัดสิน NBA ในการออกกำลังรักษาสุขภาพ

งานทุกอาชีพ ถ้าทำด้วยความรัก มุ่งมั่น ตั้งใจ ไม่ว่าอายุมากเท่าไหร่ก็ไม่อยากเกษียณ