มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส/โครงสร้างคาตา เรื่องราวคาใจ

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

โครงสร้างคาตา เรื่องราวคาใจ

 

คนที่สัญจรผ่านถนนวิภาวดีรังสิต คงจะเห็นว่ามีการก่อสร้างเกิดขึ้นต่อเนื่องมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ที่สร้างเสร็จและเปิดใช้งานมานาน แต่คดีความดูเหมือนยังไม่สิ้นสุด

ระบบรถไฟลอยฟ้าที่เห็นรางและสถานี แม้แต่บันไดเลื่อน ก็ติดตั้งแล้ว แต่ยังไม่มีรถให้วิ่งสักที

ส่วนข้างล่างระดับดิน ก็มีการปรับเปลี่ยนทางจราจรบนถนนกำแพงเพชร ที่คนขับรถผ่านต้องวิ่งหลบเสาตอม่อไป-มา เป็นที่สนุกสนาน

แต่ที่ค้างคาใจของทุกคนคือเสาตอม่อคอนกรีตค้างคาตา ส่วนใหญ่รู้กันแค่ว่าเป็นมรดกบาปของโครงการ ที่ไม่เป็นไปตามชื่อภาษาอังกฤษ ที่ชื่อว่าโฮปเวลล์ แต่ดูเหมือนไม่มีใครแจ้งเรื่องราวใด นอกจากคำบอกเล่าเรื่องคอร์รัปชั่นเท่านั้น

คงเป็นหนึ่งเรื่องดี ที่ไม่เป็นจริง ไม่มีใครรู้ ในบ้านเรา

 

ย้อนหลังไปเมื่อสามสี่สิบปีก่อน เพื่อแก้ปัญหาจราจรที่ว่าเลวร้ายในตอนนั้น (ซึ่งเทียบไม่ได้กับปัจจุบัน) คือปัญหาที่มาจากความคับคั่งของรถยนต์ ที่ต้องจอดรอบนถนน บริเวณจุดตัดกับทางรถไฟ

ด้วยรางรถไฟที่ก่อสร้างมาตั้งแต่รัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวงนั้น นอกจากสะพานกษัตริย์ศึก ที่มาจากการยกระดับถนนพระรามหนึ่ง ข้ามทางรถไฟแล้ว ตลอดเส้นทางยังมีจุดตัดกับถนนศรีอยุธยา ถนนราชวิถี ถนนนครไชยศรี ถนนเศรษฐศิริ ถนนระนองหนึ่ง ถนนประดิพัทธ์ ถนนพระรามหก ถนนเทศบาลสงเคราะห์ วัดเสมียนนารี ถนนงามวงศ์วาน ถนนแจ้งวัฒนะ และถนนเชิดวุฒากาศ

ยังมีความต้องการลดปริมาณจราจรบนถนนวิภาวดีรังสิต ที่จะไปท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ด้วยเป็นทางหลวงสายสำคัญไปอีสาน ภาคกลาง และภาคเหนือ และการเพิ่มถนนคู่ขนานทางด้านตะวันตกของทางรถไฟ รวมทั้งการเตรียมขยายกิจการขนส่งระบบรางคู่ รางรถไฟทางคู่ และรถไฟชานเมืองสายต่างๆ

จึงเกิดแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่บูรณาการหลายระบบเข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์แบบคือ โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับ Bangkok Elevated Road and Train System BERTS ที่มีการวางแผนรวม ถนน ทางยกระดับ รางรถไฟ และรางรถไฟฟ้ายกระดับ และก่อสร้างพร้อมกันในเขตพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

จึงเป็นหนึ่งในอภิมหาโครงการ ที่นอกจากจะยกระดับรางรถไฟขึ้นไปเหนือดิน จากยมราชถึงรังสิต รวมระยะทางกว่ายี่สิบห้ากิโลเมตรแล้ว

ใต้รางรถไฟยกระดับ หรือระดับดินที่เป็นรางรถไฟเดิม จะปรับเปลี่ยนเป็นถนนกว้าง และมีอาคารพาณิชย์และบริการอยู่ข้างทาง

เหนือรางรถไฟที่ยกระดับแล้วนั้น สูงขึ้นไปก็จะเป็นทางด่วนสำหรับรถยนต์โดยเฉพาะ

อีกทั้งมีแผนขยายไปเส้นทางอื่นๆ ของการรถไฟฯ อย่างเช่น ยมราชถึงหัวหมากและบางกอกน้อย หัวลำโพงถึงวงเวียนใหญ่และโพธิ์นิมิต ระยะทางรวมทั้งหมดกว่าหกสิบกิโลเมตร

เฉพาะส่วนแรกนั้น บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ในเครือโฮปเวลล์โฮลดิงส์ บริษัทสัญชาติฮ่องกงของนายกอร์ดอน วู เป็นผู้ได้รับสัมปทาน

โดยมีอายุของสัมปทาน 30 ปี พ.ศ.2534-2564

 

เป็นที่น่าเสียดายว่า เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย นับตั้งแต่เริ่ม เมื่อการรถไฟฯ ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ได้ (ฟังคุ้นๆ) เกิดมีโครงการทางหลวงยกระดับ เหนือถนนวิภาวดีรังสิต คือโครงการดอนเมืองโทลล์เวย์ ซึ่งเป็นคู่แข่ง เริ่มก่อสร้าง เนื่องจากอยู่ในเขตของกรมทางหลวง

และที่สำคัญคือ วิกฤตทางเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนทางการเมือง (ฟังคุ้นอีกเช่นกัน) เริ่มตั้งแต่หลังรัฐประหารในปี พ.ศ.2534 รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เข้าตรวจสอบสัญญาสัมปทาน ส่งผลให้นายนุกูล ประจวบเหมาะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นประกาศล้มโครงการ พร้อมกับเสนอโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน และจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร รฟม. ขึ้นมาในปี พ.ศ.2535

รัฐบาลต่อมาของนายชวน หลีกภัย จะพยายามผลักดันอีกครั้ง โดย พ.อ.วินัย สมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่บริษัทผู้รับสัมปทานประสบปัญหาเรื่องเงินทุนและปัญหาทางด้านเทคนิค รวมทั้งประเด็นหลัก ที่ไม่มีการระบุไว้ในสัญญาว่าโครงการจะต้องก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อใด

จนกระทั่งรัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีมติคณะรัฐมนตรีในปี พ.ศ.2540 บอกเลิกสัญญา ด้วยเหตุผลที่ว่า บริษัทโฮปเวลล์ได้หยุดการก่อสร้าง

แต่โครงการโฮปเวลล์มาสิ้นสุดจริงๆ ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย สมัยที่ 2 รวมเวลาหลังจากเริ่มสัญญาไปแล้ว 7 ปี ผลงานก่อสร้างคืบหน้าเพียง 13.77% รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จึงบอกเลิกสัญญาสัมปทานอย่างเป็นทางการ

จึงเป็นที่มาของสิ่งก่อสร้างที่ค้างคามาจนถึงปัจจุบัน

 

ดูเหมือนว่าทุกวันนี้คดีความยังไม่สิ้นสุด ทั้งกรณีที่บริษัทโฮปเวลล์โฮลดิ้ง ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการยกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ และการรถไฟฯ ก็เรียกร้องค่าเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโครงการ ซึ่งเป็นเรื่องปวดหัวของรัฐมนตรีคมนาคมทุกคน จนถึงปัจจุบัน

จึงสรุปได้ว่า นอกจากจะเป็นอภิมหาโครงการที่บูรณาการระบบต่างๆ ไว้ด้วยกัน ทั้งการออกแบบ ก่อสร้าง และจัดการ แม้ว่าเลิกโครงการไปแล้ว ก็ยังซับซ้อนซ่อนเงื่อน (แต่คงไม่มีเพื่อนใครทรยศใคร) แต่ที่แน่ๆ นอกจากจะมีโครงสร้างส่วนที่ทำแล้วคาตา ดูเหมือนว่าคดีความยังคาศาล

ผู้เขียนอยากเป็นวัยรุ่น จะได้แร็พ ประเทศ  ูมี ดังๆ บ้าง