คุยกับทูต ‘ฌัก ลาปูฌ’ ไทย-ฝรั่งเศส สัมพันธ์ที่ยืนยาว และยั่งยืนกว่าสามศตวรรษ

คุยกับทูต ฌัก ลาปูฌ ไทย-ฝรั่งเศส สัมพันธ์ที่ยืนยาว และยั่งยืนกว่าสามศตวรรษ (1)

เมื่อปีที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทยได้จัดงานกาล่าดินเนอร์ในสวนของทำเนียบเอกอัครราชทูต เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 333 ปีคณะราชทูตสยามนำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เดินทางถึงชายฝั่งเบรอตาญ (Bretagne) ประเทศฝรั่งเศส และไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซายส์ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีในปี 1686

และยังเป็นปีที่ครบรอบ 163 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อปี 1856

วันนี้นายฌัก ลาปูฌ (His Excellency Mr. Jacques Lapouge) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2018 ได้เปิดทำเนียบหรือบ้านพักเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสอาคารเก่าแสนสวยริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสถานที่นั่งสนทนากันในยามบ่ายอันสงบเงียบ

“ผมเดินทางมาประเทศไทยในเดือนกันยายน 2018 ด้วยความรู้สึกยินดีที่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศนี้ซึ่งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ของประเทศไทยกับประชาคมระหว่างประเทศดีขึ้น โดยเฉพาะมาตรการของสหภาพยุโรปหลังการรัฐประหารซึ่งยกระดับขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2017”

“ปีต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยก็ได้เดินทางเยือนประเทศฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการและประสบความสำเร็จด้วยดี”

“ปี 2019 นับเป็นปีที่มีการเคลื่อนไหวอย่างมาก เริ่มจากมีการเลือกตั้งได้รัฐบาลใหม่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์อันแสดงถึงเอกภาพของชาติไทย และเป็นปีที่ประเทศไทยได้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน แสดงถึงความสามารถในการนำเสนอวิสัยทัศน์หรือความคิดริเริ่มของประเทศและประสบความสำเร็จที่น่าสนใจอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองทางด้านแปซิฟิก ทำให้ผมแน่ใจว่าเราจะได้กลับมาสานต่อทางการพัฒนาซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับเรา”

“ดังนั้น สำหรับนักการทูตอย่างผมจึงมีความสุขที่เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความเป็นไปได้อย่างมีพลวัต”

“ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทยนั้นมีมานานหลายร้อยปี มีการกระชับสัมพันธ์กันแน่นแฟ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อปีที่ผ่านมาเราได้เฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 333 ปีที่คณะราชทูตสยามนำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส”

“เมื่อกล่าวถึงชุมชนชาวฝรั่งเศสในประเทศไทย นับเป็นชุมชนชาวฝรั่งเศสแห่งที่สองในเอเชียรองจากจีน ในบรรดาชาวฝรั่งเศส 30,000-40,000 คนที่พำนักในประเทศไทยนั้น มีทั้งผู้ประกอบการคนหนุ่มสาวและผู้เกษียณอายุ จึงมีความหลากหลายและมีชีวิตชีวา ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองและส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศฝรั่งเศสในประเทศไทย”

“ในประเทศไทยมีบริษัทฝรั่งเศส 300 แห่งรวมถึงบริษัทย่อยๆ อีกกว่า 100 แห่ง มีการสร้างโรงงานจำนวนมากในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงยุค 80 และ 90 ในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า Eastern Seaboard ในบรรดาบริษัทดังกล่าว มีบริษัทมิชลิน ซึ่งผลิตยางรถยนต์ บริษัท Saint-Gobain ซึ่งผลิตวัสดุก่อสร้าง รวมถึงบริษัทในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ ด้านพลาสติกชีวภาพและการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน”

“เราต้องการให้สหภาพยุโรปและประเทศไทยได้สรุปข้อตกลงการค้าเสรี ซึ่งการเจรจาได้เริ่มขึ้นก่อนการรัฐประหาร และเมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สหภาพยุโรปจึงพร้อมกลับมาเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีอีกครั้งโดยมีการพูดคุยเบื้องต้นระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และการค้าในกรุงบรัสเซลส์ และแน่นอนไม่เพียงแต่สำหรับฝรั่งเศส แต่สำหรับทุกประเทศในสหภาพยุโรป รวมทั้งไทย”

“ซึ่งเราหวังว่าข้อตกลงดังกล่าวจะได้รับการสรุปในไม่ช้า”

มองความก้าวหน้าของประเทศไทยในด้านเศรษฐกิจและการศึกษา

“หลายคนบ่นเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจเป็นความจริงที่ว่าขณะนี้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงอย่างช้าๆ ส่งผลกระทบต่อเอเชียตะวันออกโดยเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจและความสามารถในการส่งออกของไทย เศรษฐกิจไทยชะลอการเติบโตลงอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ในปี 2019 จากร้อยละ 4.1 ในปี 2018 ขณะที่การส่งออกลดลงร้อยละ 5”

“นอกจากนี้ ยังมีการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก”

“อย่างไรก็ดี ผมคาดว่าในปี 2020 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตขึ้นในระดับปานกลาง และในระยะกลาง เราเชื่อมั่นว่าระดับการลงทุนในประเทศจะสูงมากยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่มีศักยภาพเต็มเปี่ยมในอันที่จะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง”

“ความคิดริเริ่มในปัจจุบันของไทยที่จะยกระดับทักษะแรงงาน สร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ในประเทศ โดยเฉพาะในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และส่งเสริมการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจ 4.0 ทั้งหมดเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลฝรั่งเศสและบริษัทฝรั่งเศสที่เป็นหุ้นส่วนกับนักลงทุนไทยกำลังติดตามอย่างใกล้ชิด”

ประเด็นสำคัญและมาตรการในการส่งเสริมการค้าระหว่างสองประเทศ

“ปัจจุบันการค้าระหว่างฝรั่งเศสกับไทยได้แตะระดับ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยได้ดุลการค้าจากการเข้าถึงตลาดอียูอย่างเสรีและส่งออกไปยังฝรั่งเศสราว 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ”

“ในประเทศฝรั่งเศสไม่ค่อยมีคนทราบว่าปลาทูน่ากระป๋องที่เขาซื้อบ่อยครั้งนั้นเป็นสินค้าไทย เพราะไทยยูเนี่ยนมีโรงงานปลาทูน่าขนาดใหญ่ในฝรั่งเศส”

“มีการลงทุนของไทยในฝรั่งเศสมากขึ้น เช่น บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล, บมจ.ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป, บมจ.ดับเบิ้ลเอ, บมจ.อินโดรามา และ บมจ.ซีแวลู ซึ่งโรงงานเหล่านี้มีอยู่ในฝรั่งเศส”

“ส่วนบริษัทฝรั่งเศสมาลงทุนในประเทศไทยมากมายทีเดียว แต่คนมักไม่ค่อยได้คิดว่าพวกเขาเดินทางโดยเครื่องบินฝรั่งเศสหรือเครื่องบินยุโรปแอร์บัส ใช้ยางมิชลินของฝรั่งเศส นอนในโรงแรมฝรั่งเศสซึ่งเป็นกลุ่มแอคคอร์ที่มีถึง 90 โรงแรมในประเทศไทย เช่น โซฟิเทลและพูลแมนจี รวมทั้งผลิตภัณฑ์ยาและอาหารในรูปแบบต่างๆ มากมาย เช่น บิสกิต โยเกิร์ต แอปเปิล ชีส และไวน์ โดยที่ยังไม่ต้องพูดถึงสินค้าฟุ่มเฟือย เพราะในชีวิตประจำวันที่กรุงเทพฯ เราก็สามารถมองเห็นชื่อคาร์เทียร์ เฮอร์มีส ดิออร์ และชาแนล ร้านค้าของผลิตภัณฑ์ฝรั่งเศสที่หรูหราเหล่านี้มีอยู่หลายแห่งและดำเนินธุรกิจไปได้ดีมากในประเทศไทย”

“ส่วนสินค้าออกของไทยไปยังฝรั่งเศส โดยหลักเป็นสินค้าอุตสาหกรรม รวมถึงอุปกรณ์เครื่องจักรและไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าเกษตรอาหาร”

“การส่งออกของฝรั่งเศสมายังไทยนั้น ครึ่งหนึ่งเป็นอุปกรณ์ในด้านคมนาคมขนส่ง รวมถึงการคมนาคมขนส่งทางอากาศ”

“นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์หลากหลายประเภท และสินค้าเกษตรอาหาร ทั้งนี้ สินค้าเกษตรอาหารจะสามารถเข้าถึงตลาดได้ดียิ่งขึ้น ถ้ามีการยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และมีการลดอัตราภาษีระดับสูงที่ใช้กับสินค้าบางชนิด”

ฝรั่งเศสกับนโยบายส่งเสริมการศึกษาในประเทศไทย

“ในระหว่างการเยือนฝรั่งเศสเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2018 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย และนายเอ็มมานูแอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้แสดงความปรารถนาร่วมกันที่จะเสริมสร้างบทบาทของฝรั่งเศสในไทย ด้วยเหตุนี้ ฝรั่งเศสจึงได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาและการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสในไทยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐของไทยและสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย” ท่านทูตฌัก ลาปูฌ กล่าว

“ปัจจุบันมีครูภาษาฝรั่งเศสชาวไทย 4 คน ได้รับทุนและกำลังศึกษาต่อที่ฝรั่งเศสในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เพราะฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับการอบรมครูภาษาฝรั่งเศสทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด”

“โดยร่วมมือกับสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมหาวิทยาลัยไทย”

การส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนไทยที่ต้องการศึกษาต่อในประเทศฝรั่งเศส

“ในแต่ละปีมีนักเรียนต่างชาติสำเร็จการศึกษาจากระบบการศึกษาฝรั่งเศสจำนวน 1 แสนคน และในปัจจุบันมีนักเรียนไทย 700 คนที่กำลังศึกษาต่อในฝรั่งเศส ขณะที่มีนักเรียนฝรั่งเศส 1,200 คนเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนในระดับมหาวิทยาลัยกับไทย”

“นอกจากนี้ สถานทูตฝรั่งเศสยังได้ส่งเสริมโครงการต่างๆ เพื่อกระชับความร่วมมือทางการศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ทุนสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก จนถึงทุนสำหรับนักวิจัยรุ่นเยาว์ผู้มีประสบการณ์ โครงการทุนเหล่านี้มีความสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างฝรั่งเศสกับไทยมากว่า 15 ปีแล้ว”

ท่านทูตเสริมว่า

“เมื่อปี 2014 ฝรั่งเศสได้เปิดตัวเว็บไซต์และแพลตฟอร์มสำหรับเครือข่ายนักเรียนเก่าฝรั่งเศสในชื่อ French Alumni ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามความริเริ่มของกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส และฝ่ายระหว่างประเทศของหน่วยงานแคมปัสฟรานซ์ (Campus France) ซึ่งเป็นหน่วยงานประชาสัมพันธ์การศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาและการทำวิจัยที่ประเทศฝรั่งเศส ส่วนของประเทศไทยในปัจจุบัน France Alumni Thailand มีผู้ลงทะเบียนเป็นสมาชิกกว่า 500 คนแล้ว”

เนื่องด้วยประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วแห่งหนึ่งของโลก และยังเป็นภูมิภาคที่มีการผลิต การบริโภค และทิ้งพลาสติกจำนวนมาก การพัฒนาหลักสูตรในระดับอุดมศึกษา ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ จะเป็นการส่งเสริมและให้ความรู้แก่คนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ซึ่งฝรั่งเศสและไทยได้ร่วมมือกันในเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องมาโดยตลอด