สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร / ผีน้อย-มหาผี

สถานีคิดเลขที่ 12 /สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

————————–

ผีน้อย-มหาผี

—————————-

แม้สังคมไทยจะมีความเห็นแตกต่างกันอย่างมาก ในการจัดการกับเหล่าผีน้อย จากเกาหลีใต้ ที่หวาดกลัวจะเป็นพาหะนำ ไวรัส คูวิด-19 มาระบาดซ้ำเติมในประเทศ กรณี ที่ต้อง”กลับบ้าน”

แต่เชื่อว่า สิ่งที่สังคมไทยเห็นตรงกัน คือ

ผีน้อย เป็น หนึ่งในคนยากจน ที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด

แม้ ต้องลด สถานะ จากคน กลายเป็น ผี ให้ถูกหยามเหยียด

ต้องเป็น พวก “นอกกฎหมาย”

เป็นพวกสร้าง”ความเสื่อมเสีย”ให้กับ “ชาติ”

แต่พวกเขาก็เลือกทำ

ทั้งนี้ เพื่อถีบตนให้พ้นจาก ความยากจน

จะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย กับการหนีความจนด้วยวิธีการนี้ ขออนุญาตไม่ถกเถียงในพื้นที่นี้

แต่อยากเขียนถึง “ผีน้อย”เพื่อโยงสู่ปัญหายากจน

ทั้งนี้สืบเนื่องจาก เมื่อ 5 มีนาคม 2563

ธนาคารโลก โดย จูดี้ เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย แถลง “จับชีพจรความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย” จากการประเมินสถิติอย่างเป็นทางการของภาครัฐ

หลายคนอาจข้ามตา ไม่ได้ อ่านรายงานนี้

จึงขอสรุปย่อๆให้อ่านดังนี้

ในช่วงไม่กี่ปีก่อนนี้ การเติบโตของรายได้และการบริโภคของครัวเรือนได้หยุดชะงักทั่วประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครัวเรือนที่อยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำล่างสุดของระดับการกระจายรายได้

ระหว่างปี 2558 ถึงปี 2561 อัตราความยากจนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.21 เป็นร้อยละ 9.85

ประชากรที่อยู่ในภาวะยากจนเพิ่มสูงขึ้นจาก 4,850,000 คน เป็นมากกว่า 6,700,000 คน

ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประชากร ยากจนเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งล้านคนตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 2561

ในปี 2561 เป็นครั้งแรกที่ภาคใต้เป็นภูมิภาคที่มีอัตราความยากจนสูงที่สุดในประเทศ

ในปี 2561 แม่ฮ่องสอน ปัตตานี กาฬสินธุ์ นราธิวาส และตากเป็นห้าจังหวัดที่มีอัตราความยากจนสูงที่สุด จังหวัดในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใกล้พรมแดน หรืออยู่ในเขตพื้นที่ขัดแย้งในภาคใต้

ภาวะความยากจนที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2561 เกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคใน 61 จังหวัดจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ

ในปี 2562 ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ต่ำที่สุดในภูมิภาคอยู่ที่ร้อยละ 2.7 (ตัวเลขประมาณการณ์ เดือนตุลาคม 2562)

ข้อมูลตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมาแสดงให้เห็นว่าครัวเรือนต่างรู้สึกว่าสภาพชีวิตความเป็นอยู่แย่ลงกว่าเดิม

รายงานฉบับนี้เรียกร้องให้มีมาตรการและการลงทุนเพื่อช่วยเหลือครัวเรือนให้หลุดพ้นจากภาวะความยากจน

ความเหลื่อมล้ำมีประเด็นรายละเอียดที่สำคัญหลายเรื่อง และต้องเข้าใจความเปราะบางในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้อย่างถ่องแท้

ซึ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับการอภิปรายอย่างตรงไปตรงมา

เพื่อที่ประเทศไทยจะได้ก้าวไปสู่การสร้างสังคมมั่งคั่งในอนาคตได้

นั่นคือ บางส่วนของรายงาน ดังกล่าว

แม้ธนาคารโลก มิได้ระบุว่า ปัญหาความยากจน มากขึ้นในช่วง”รัฐประหาร”

แต่ก็เป็นข้อน่าสังเกตุ ว่าข้อมูลบ่งชี้เช่นนั้น

และชวนตั้งคำถามว่า ทำไม

รวมทั้งต้องรีบหาคำตอบกันโดยไว เพราะแนวโน้ม ความยากจน ยังจะขยายต่อไป

และจะกลายเป็น ปัญหาที่ ฉุดให้เรา”ตกหล่ม” ก้าวไปไหนก็ไม่ได้ นอกจาก “จมลงหล่นโคลน”ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

มีโอกาสเป็น “มหาวิกฤต”ที่ปลุกผี น้อยและใหญ่ออกมาเพ่นพล่านได้ทุกเมื่อ

ผีน้อยในระดับแสนคน ยัง ก่อปัญหาให้ปั่นป่วนได้ขนาดนี้

ไม่อยากหลับตานึกแล้วคนจน 6.7 ล้านคน และทำท่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จะเป็น”มหาผี” ที่น่ากลัวขนาดไหน

——————-