บทสนทนากับกฤษณา อโศกสิน : นักเขียนข้ามยุคสมัย (2) | กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

สัปดาห์ก่อน ผมเขียนเล่าถึงบทสนทนากับ “กฤษณา อโศกสิน” (สุกัญญา ชลศึกษ์) เนื่องในโอกาสที่ได้รางวัล “นักเขียนอมตะ” ล่าสุดที่น่าทึ่งเพราะอายุปีนี้ 88 เขียนหนังสือตั้งแต่อายุ 15 และทุกวันนี้ก็ยังเขียนนิยายทุกวัน

“เดี๋ยวนี้พี่เริ่มเขียนหนังสือ 10.00 โมง พักเที่ยง และเริ่มอีกทีบ่ายโมงถึงบ่าย 4 โมง”

ผมนำเอาอีกบางตอนของการสนทนาค่ำวันนั้นมาให้ได้อ่านกันครับ

ถาม : สำหรับนักเขียน จินตนาการนี่สอนกันได้ไหมครับ เช่น สอนให้เขียนตัวละครที่น่าเบื่อจนคนอ่านต้องติดตามอ่านตลอด

ตอบ : ได้นะคะ น่าจะได้ เป็นบทฝึกหัดที่ดีทีเดียว ให้มาแข่งกันเขียนคนน่าเบื่อ

ถาม : พี่บอกว่าอาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง บรรณาธิการของพี่เคยขอตัดเอาบางตอนที่พี่เคยเขียนถึงนักการเมืองเพราะหมั่นไส้ออก ตอนนี้พี่หมั่นไส้นักการเมืองคนไหนบ้าง

ตอบ : ไม่บอก (เหอะ, เหอะ)

ถาม : จำได้ไหมครับว่าทั้งหมดนี้พี่เขียนหนังสือมาแล้วกี่เรื่อง…เรื่องสั้น, เรื่องยาวและอื่นๆ

ตอบ : เรื่องสั้นนี่เขียนร้อยกว่าเรื่อง จากนั้นหม่อมหลวงจิตติ (นพวงศ์, บรรณาธิการศรีสัปดาห์) ก็บอกว่าลองเขียนเรื่องยาวดู พี่ก็เลยลองเขียนเรื่องยาว ตั้งแต่นั้นก็เลยเขียนแต่เรื่องยาว

ถาม : ทำไมหม่อมหลวงจิตติจึงให้พี่เขียนเรื่องยาวครับ

ตอบ : ไม่ทราบเหมือนกัน คงจะเป็นเพราะตอนนั้นได้เขียนเรื่องสั้นมาสามปีแล้ว ก็คิดว่าท่านคงให้เราค่อยๆ เขยิบฐานะขึ้นมาจากนักเขียนเรื่องสั้นเป็นนักเขียนเรื่องยาว จะดูซิว่าเราเขียนได้ไหม

ถาม : แล้วเขียนได้ไหมครับ

ตอบ : เขียนได้ แต่ก็ไม่ทราบว่าผู้อ่านจะชอบแค่ไหน ก็เขียนมาเรื่อยจนกระทั่งท่านถึงอาจารย์นิลวรรณ (ปิ่นทอง, บรรณาธิการสตรีสาร) วันหนึ่งก็ไปประชุมกับท่าน ท่านบอกว่าถ้าหากมีเรื่องยาว หรือมีนวนิยายอะไรก็ให้ส่งไปให้สตรีสารบ้าง พี่ก็ลองเขียนส่งไป แต่ก็เรียนท่านว่าทาง “ศรีสัปดาห์” เขาขอสงวนนามปากกา “กัญญชลา” ไว้ ท่านก็บอกว่าไม่เป็นไร นามปากกาอะไรก็ได้ ขอให้เป็นมันสมองของคนเดียวกันก็แล้วกัน

ถาม : คนอ่านรู้ไหมครับว่าเป็นคนเดียวกัน

ตอบ : คนอ่านก็ไม่ทราบ แต่หม่อมหลวงจิตติท่านทราบ พอท่านเห็นสำนวนท่านทราบ ท่านถามว่าคุณสุกัญญาไปเขียนให้ที่สตรีสารแล้วใช่ไหม

ถาม : พี่ไม่ได้บอกเขาก่อนใช่ไหม

ตอบ : ไม่ได้บอก

ถาม : ทำไมไม่บอกครับ

ตอบ : คือเกรงใจท่าน ท่านหวงนักเขียน ก็เห็นใจท่าน ก็เลยไม่ได้บอก ท่านก็ทราบเอง ก็มาถาม พี่ก็บอกว่าใช่ค่ะ ได้ใช้นามปากกาใหม่ ท่านบอกว่าอ่านก็รู้ว่าเป็นฝีมือคุณสุกัญญา

ถาม : ทั้งสองเรื่องเป็นคนละแนวเลยใช่ไหมครับ

ตอบ : ใช่ค่ะ เป็นคนละแนวกันเลย

ถาม : ถ้าเป็นคนละแนว ทำไม บ.ก.จับได้ล่ะครับ

ตอบ : คงจะมีอะไรบางอย่างในภาษาของพี่เองที่คนอ่านแล้วทราบ

ถาม : บ.ก.เก่งต้องจับได้อยู่แล้ว

ตอบ : ใช่ค่ะ บ.ก.เก่งก็จับได้

ถาม : บางช่วงพี่เขียนนิยายลงกี่ฉบับพร้อมๆ กันครับ

ตอบ : 7 ฉบับต่อสัปดาห์ค่ะ

ถาม : แปลว่าวันนี้เขียนให้เล่มนี้ วันรุ่งขึ้นเขียนให้อีกเล่มหนึ่ง อย่างนั้นเลยหรือครับ

ตอบ : ใช่

ถาม : และคนละสไตล์ คนละพล็อต คนละเรื่องเลยอย่างนั้นหรือครับ

ตอบ : ใช่

ถาม : สมองแบ่งอย่างไรครับ 7 วัน 7 เรื่อง สมองพี่แบ่งเป็น 7 ท่อนหรือยังไงครับ

ตอบ : ไม่ทราบเหมือนกัน ตอนนั้นสมองอาจจะยังดีอยู่

ถาม : พี่อาจจะเป็นนักเขียนคนเดียวในโลกที่ทำอย่างนี้ได้นะ ที่อาทิตย์หนึ่งจะเขียนได้ 7 เรื่องให้นิตยสาร 7 ฉบับ และเขียนทุกวัน ทำได้ยังไงครับ

ตอบ : พี่เกรงใจนิตยสารที่เขามาขอ ก็เลยต้องทำให้

ถาม : ถ้ามีฉบับที่ 8 มาขอให้ทำ ทำยังไง จะเกรงใจไหม

ตอบ : ก็เกรงใจ ก็จะเขียนให้ ที่จริงเราก็อยากจะติดต่อกับนิตยสารไว้ เพราะเราเป็นนักเขียนเต็มตัวแล้ว อยากจะลองนิตยสารแปลกๆ

ถาม : 7 เรื่องนี่แนวการเขียนแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหนครับ

ตอบ : แนวแตกต่างกัน คนละเรื่องเลย ไม่ใช่เป็นลักษณะแนวลึกลับกับเรื่องรักโรแมนติก ไม่ใช่ เป็นเรื่องชีวิตนี่แหละ แต่เป็นคนละเรื่องคนละแบบ

ถาม : ตัวละครพี่มีหลงทาง เข้าบ้านผิดบ้างไหม หลงจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่งมีบ้างไหมครับ พระเอกของเรื่องนี้ไปรักนางเอกของอีกเรื่องหนึ่ง อย่างนี้เคยมีไหมครับ

ตอบ : ไม่มี ต้องระวังมากเลย สมมติว่าคนนี้เป็นคนใช้บ้านนี้ แล้วอีกสักครู่ไปเป็นคนใช้อีกบ้านหนึ่ง ไม่มี

ถาม : อย่างนี้ต้องจดเอาไว้ไหมครับว่าตัวละครของเรื่องนี้มีใคร ไม่ไปหลงเข้าในอีกเรื่องหนึ่ง

ตอบ : จดไว้ค่ะ

ถาม : ชื่อคนใช้มีกี่ชื่อครับ

ตอบ : จำไม่ได้แล้ว มันเยอะ

ถาม : ความจริง ชื่อคนใช้ในนิยายไทยก็มีไม่กี่ชื่อนี่นา

ตอบ : ไม่บอก (หัวเราะ)

ถาม : พอเขียนนิยายแล้วก็มีคนมาขอซื้อไปทำเป็นละครทีวี กี่เรื่องแล้วครับ

ตอบ : ก็หลายสิบเรื่องแล้ว

ถาม : เวลาไปแปลงเป็นสคริปต์ทีวี ส่วนใหญ่เราพอใจแค่ไหนครับ

ตอบ : ไม่ได้สนใจมากค่ะ ก็เห็นใจเขา ถ้าเราต่อว่าเขา เขาก็จะบอกว่าต้องทำให้แรง

ถาม : มันแรงกว่าที่เราตั้งใจไหมครับ

ตอบ : ใช่ค่ะ มีหลายเรื่องที่แรงเกินไป แต่ก็เห็นใจ เขาลงทุนเยอะ

ถาม : อยู่ที่เขาจ่ายเท่าไหร่ด้วยมั้ง

ตอบ : ไม่บอก (หัวเราะ)

ถาม : ช่วงนี้คนอ่านนิตยสารน้อยลง นิตยสารทยอยปิดตัวกันไปเรื่อยๆ คนอ่านมีสมาธิน้อยลง ความรักสุนทรีย์แห่งภาษาน้อยลงหรือเปล่าครับ พี่ช็อกไหมตอนที่นิตยสารมาบอกว่าเรื่องที่จะส่งคราวหน้าเป็นเรื่องสุดท้ายแล้วนะ พี่ตั้งรับและทำใจอย่างไรครับ

ตอบ : ก็ช็อกค่ะ แต่ว่าท้ายที่สุดก็ทำใจได้ คิดถึงอนิจจังของชีวิต ตอนนี้นิตยสารที่พี่เขียนให้ปิดไปหมดแล้ว ปลาย พ.ศ.2559 ปิดหมดเลยค่ะ

ถาม : ตอนนี้พี่พบว่าคนที่มาอ่านนิยายพี่ออนไลน์มากหรือน้อยกว่าที่อ่านตัวหนังสือไหมครับ

ตอบ : ไม่ทราบค่ะ ต้องถามน้องที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์

ถาม : มองอนาคตของวงการนักเขียนอย่างไรครับ

ตอบ : ดิฉันก็อายุมากแล้ว ก็จะหมดแรงเขียนเมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ ก็ไม่ได้คิดอะไรไกล ทุกวันนี้ก็ไม่ได้เงินค่าตอบแทนเลย เขียนไปเพราะรักจะเขียนเท่านั้น แต่อีบุ๊กก็พอมีรายได้บ้าง แต่ก็ไม่มาก

คืนนั้น ก่อนจบการเสวนา คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะกรรมการตัดสินนักเขียนอมตะ ได้อ่านกลอนที่เขียนขึ้นในโอกาสพิเศษนี้

อมตะ อโศกสิน
กฤษณา อโศกสิน
ปักปิ่นปัทมาภรณ์อักษรสมัย
โดดเด่นเป็นพลังสังคมไทย
ด้วยใจจริงใจได้จริงจัง
ยืนหยัดชัดเจนเป็นแม่ไม้
หนึ่งดอกในทุ่งทานตะวันหวัง
เป็นดั่งคันฉ่องผ่องพลัง
เป็นดั่งโคมฉายให้รู้เรียน
ให้เห็นคมปากกาคมกว่าดาบ
ให้เห็นภาพคนแท้ไม่แปรเปลี่ยน
ถือเทียนต่อเทียนป้องประคองเทียน
นักเขียนอมตะมหาภิชน