วิเคราะห์ | กระแสคัดค้านยุบอนาคตใหม่ เสียงสะท้อน ปัญญาชนชั้นนำ เปิดหน้าชน

กระแสอนาคตใหม่ได้รับการพูดถึงอีกครั้งเป็นอย่างมาก กรณีศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดียุบพรรคจากคดีเงินกู้ โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์มีการล่ารายชื่อคัดค้านการยุบพรรค

ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ได้สร้างแคมเปญคัดค้านยุบพรรคอนาคตใหม่ผ่านเว็บไซต์ change.org

ต่อมามีรายชื่อคนดังจำนวนมากต่างมาลงชื่อเพื่อเปิดแคมเปญนี้ มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วหลายหมื่นคน

ทั้งนี้ ในแคมเปญมีการระบุข้อความว่า

“เราไม่ได้บอกว่าพรรคอนาคตใหม่ดีงามสมบูรณ์แบบจนทุกคนต้องลุกขึ้นมาเป็นปากเป็นเสียงต่อสู้ให้ สิ่งที่กำลังจะบอกก็คือ ไม่ว่าเราจะมีความเชื่อแบบไหนก็ตาม จะมีคนที่เชื่อไม่เหมือนเราอยู่ร่วมสังคมเดียวกันเสมอ ไม่มีวันหายไป

การลงชื่อครั้งนี้ เป้าหมายคือ การปกป้องวันนี้และอนาคตของประเทศไทย การเมืองที่ดีควรเป็นระบบที่เปิดให้ทุกฝ่ายเข้ามาต่อสู้แข่งขันกันได้อย่างเสรีเป็นธรรมโดยมีประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

ส่วนการมุ่งกำจัดกลุ่มการเมืองใดๆ ให้สิ้นซากนั้น มีแต่จะทำให้สังคมตึงเครียดรอวันระเบิด ช่วยกันหยุดการทำลายล้างทางการเมืองครั้งใหม่ที่จะไม่เหลืออะไรนอกจากความพัง

ความสงบจบที่อยู่ร่วมกัน ทางออกที่ดีที่สุดคือการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กว้างที่สุด สนับสนุนให้พรรคการเมืองของประชาชนเข้มแข็ง

เลิกคิดเสียทีว่า การยุบพรรคการเมืองหรือตัดสิทธิ์ทางการเมืองของคนที่คิดไม่เหมือนเราจะนำไปสู่ความสงบในสังคม

ที่ผ่านมามีความพยายามในการหยุดยั้ง หรือทำลายพรรคอนาคตใหม่อยู่จริง โดยผู้มีอำนาจไม่สนใจถึงราคาที่สังคมไทยจะต้องร่วมกันจ่าย ประชาชนและประเทศไทยบอบช้ำมามากพอแล้ว

พอกันทีกับการกดทับเสียงของความเปลี่ยนแปลง อำนาจการตัดสินปัจจุบันและอนาคตต้องอยู่ในมือประชาชนอย่างเรา ไม่ใช่อยู่ที่คนเพียงหยิบมือ นี่เป็นโอกาสที่เราจะได้ยืนยันสิทธิอันชอบธรรมนั้น ร่วมกันลงชื่อ เพื่อพาการเมืองไทยไปข้างหน้า หยุดความพัง ยับยั้งความขัดแย้ง”

ขณะที่รายชื่อคนดังหลากหลายสาขาอาชีพที่มาร่วมแคมเปญ โดยกว่า 150 รายชื่อเบื้องต้นที่ร่วมลงชื่อ ล้วนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงจากหลากหลายวงการ อาทิ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการ, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, โคทม อารียา อดีตกรรมการการเลือกตั้ง, บรรยง พงษ์พานิช ผู้บริหาร, ปรีดา เตียสุวรรณ์ นักธุรกิจ, “ครูยุ่น” มนตรี สินทวิชัย ผู้ก่อตั้งมูลนิธิคุ้มครองเด็ก, วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียน สื่อมวลชนและนักสิ่งแวดล้อม, ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบ, ทิชา ณ นคร นักสิทธิเด็ก เยาวชน และสตรี, บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย, พนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแห่งชาติ, วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์ 2 สมัย, “ต้อม” ยุทธเลิศ สิปปภาค ผู้กำกับภาพยนตร์, “มะเดี่ยว” ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์, “มดดำ” คชาภา ตันเจริญ พิธีกร, “ฟ้าใส” อรจิรา แก้วสว่าง ดารานักแสดง, “จิ๊บ” ปกฉัตร เทียมชัย ดารานักแสดง เป็นต้นแล้ว

ยังมีหลายคนที่โพสต์ข้อความสนับสนุนทางโลกออนไลน์ เช่น ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ นักวิชาการดังด้านเศรษฐศาสตร์

รวมถึง ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่เรียกร้องความหลากหลายทางความคิด

ศ.ดร.ชาญวิทย์กล่าวว่า ที่ตนร่วมลงชื่อรณรงค์คัดค้านการยุบพรรคอนาคตใหม่ เพราะเห็นว่าไม่ควรต้องมีพรรคการเมืองใดต้องถูกยุบ การยุบพรรคอะไรก็ตามไม่ควรเกิดขึ้น เราต้องปล่อยให้พรรคการเมืองเติบโต พรรคการเมืองจะดีจะชั่วอย่างไรประชาชนจะเป็นคนตัดสินเอง ถ้าประชาชนไม่เลือก วันหนึ่งพรรคนั้นก็อยู่ไม่ได้และก็ยุบหายไปเอง ไม่ใช่อย่างที่เป็นอยู่นี้ที่ให้คนเพียงไม่กี่คน ซึ่งหลายคนก็รู้ว่าเป็นอย่างไรมาตัดสิน

“ถามว่าเขาเป็นตัวแทนของอะไร ถูกตั้งขึ้นมา อุปโลกน์ขึ้นมา ดูไปแล้วก็เหมือนจะกลายเป็นตัวแทนของอำนาจรัฐ เพราะไม่ได้มีฉันทามติของคนในประเทศนี้เลย ทั้งที่โดยจุดกำเนิดตั้งต้นขององค์กรอิสระ โดยหลักคิดและนโยบายนั้นต้องยอมรับว่าดีมากๆ มาจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แต่ตอนนี้เหมือนกลายพันธุ์ไปหมดแล้ว ซึ่งในระยะยาวผมเห็นว่าจะไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน เพราะหากมีใครแหลมขึ้นมาหน่อยก็จะถูกกำจัด ประชาธิปไตยจะถูกทำให้เหมือนเล่นปาหี่”

“การยุบพรรคผมเห็นว่าเป็นปฏิบัติการที่มันต่อต้านประชาธิปไตย”

หรือจะเป็นความเห็นของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และคอลัมนิสต์ชื่อดัง ที่ร่วมลงชื่อด้วย พร้อมให้ความเห็นกับมติชนไว้อย่างน่าสนใจว่า ไม่ได้เสียดายที่พรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบ แต่กระบวนการดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายในทางการเมืองมากกว่านั้น

“โดยหลักการแล้วอำนาจการยุบพรรคควรเป็นของประชาชน แต่พอคุณไปทำให้อำนาจยุบพรรคอยู่ในมือผู้ปกครอง ก็ทำให้ประชาชนหมดทำหน้าที่ในการกำหนดชะตากรรมของพรรค ผมไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค ไม่ว่าพรรคอะไรก็แล้วแต่ กรณีอนาคตใหม่ ผมหวังว่าเขาจะมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยได้ อย่างที่เขาได้แสดงให้เห็นในคุณภาพการอภิปรายในสภาและอื่นๆ การเมืองไทยใช้อารมณ์น้อยลง ใช้ข้อมูลงานวิจัยมากขึ้น”

ศ.ดร.นิธิให้ความเห็นกรณีมีการมองว่าเป็นการกดดันศาลว่า เมื่อยกอำนาจการยุบพรรคให้อยู่ในมือผู้ปกครอง การเคลื่อนไหวคัดค้านก็กลายเป็นกดดันปกครอง เราใช้ทฤษฎีแบบไทยที่ทำให้ศาลหลุดออกไปจากประชาชนโดยสิ้นเชิง ถ้าไม่อยากให้ศาลถูกกดดัน ประชาชนก็ต้องมีส่วนในการเลือกและกำกับควบคุมศาลในระดับหนึ่งที่ทำให้ศาลมีอิสระได้

ศ.ดร.นิธิเห็นว่า ทางออกหนึ่งคือต้องไปแก้ที่รัฐธรรมนูญ ต้องลดอำนาจองค์กรอิสระ เช่น กกต. อื่นๆ ว่าจะไปใช้อำนาจแทนประชาชนทั้งหมดไม่ได้ ศ.ดร.นิธิยืนยันว่าตนเองไม่ได้สนับสนุนนายธนาธรหรือนายปิยบุตร แต่สนับสนุนนโยบายของพรรค เช่นกันทำให้การผูกขาดทางเศรษฐกิจเป็นไปได้ยากขึ้น นี่คือหัวใจสำคัญสุดของการพัฒนา มองกลับไปในอดีตจะไม่เห็นพรรคการเมืองใดมีนโยบายเชิงปฏิรูปเช่นนี้

“ปัญหาในเมืองไทยมันอยู่ลึก มันถูกปะผุมาไม่รู้จะกี่สิบปีแล้ว แล้วมันแก้อะไรไม่ได้ ถ้าคุณอยากแก้ปัญหาที่จริงคุณต้องไปถึงรากเหง้าลักษณะ aggressive ของแกนนำ มันไม่ได้เสียหายอะไร ในสังคมบอบช้ำและปัญหาสะสมมากมายแบบนี้ หลังการพ้นสภาพความเป็น ส.ส.ของธนาธร พลังของคนที่เลือกอนาคตใหม่ 6 ล้านคน หรือไม่ได้เลือกแต่เห็นด้วยมันยังอยู่ แล้วผมท้า หลังจากวันที่ 21 มีการตัดสิทธิ์ยุบพรรค ถามว่าพลังนี้ยังอยู่ไหม ก็ยังอยู่ แต่อาจจะไม่ได้อยู่อนาคตใหม่ อาจย้ายไปอยู่กับเพื่อไทยแทนก็ได้ พลังประชาชนไม่ได้อยู่ที่พรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้อยู่ที่คุณธนาธร จะอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม”

ศ.ดร.นิธิกล่าวทิ้งท้าย

อีกคนที่น่าสนใจคือการออกโรงของนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งนักเคลื่อนไหวแกนนำนักศึกษาชื่อดังในยุคสมัย 14 ตุลา ซึ่งในช่วงหลังสนใจในเชิงปรัชญา ศาสนา มิติทางจิตใจมากขึ้น และค่อนข้างระมัดระวังการออกมาแสดงความเห็นทางสังคม ไม่เคยขึ้นไปบนเวทีการเมืองไหนนอกจากเวทีปาฐกถาขนาดใหญ่

แม้จะเงียบเสียงทางการเมืองมานาน แต่ครั้งนี้ก็กลับมีชื่อเป็นหนึ่งในผู้ร่วมไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคอนาคตใหม่อีกด้วย

ด้าน รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ให้ความเห็นกรณีนี้ว่า บทเรียนจากอดีต การยุบพรรคการเมืองและเล่นงานแกนนำพรรคอันเป็นที่นิยมของมวลชนจำนวนมากมายนั้นมีผลทางลบที่ยาวนานบานปลายและยากจะแก้ไข

ยุบพรรคไทยรักไทย 50 และพลัง ปชช. 51 ไม่ได้ทำให้แกนนำพรรคและฐานมวลชนหลายล้านคนอ่อนแรงและหายไป

แต่ทำให้ความขัดแย้งไปปะทุนอกสภา มวลชนที่สนับสนุนพัฒนากลายเป็นขบวนเสื้อแดง ความขัดแย้งลงไปสู่ท้องถนน ลุกลามเป็นการสังหารหมู่กลางเมือง 2553

การยุบพรรคอนาคตใหม่และเล่นงานแกนนำพรรคก็จะมีผลทางลบที่ยาวไกลทำนองเดียวกัน ที่สำคัญ ฝ่ายรัฐและความมั่นคงเองก็ยอมรับว่ามีปัญหากับคนรุ่นใหม่ การกระทำดังกล่าวจะยิ่งทำให้มวลชนหลักของพรรคคือคนรุ่นใหม่ (กับคนรุ่นเก่าแต่ความคิดใหม่) หลายล้านคนสิ้นหวังและปฏิเสธระบอบการเมืองปัจจุบันเมื่อถูกปิดประตูใส่หน้าเวทีรัฐสภา

“ความขัดแย้งและต่อต้านยิ่งแผ่กว้างและฝังลึก แต่ครั้งนี้ผลลัพธ์จะไม่เหมือนเดิม เวลาเปลี่ยน มวลชนเปลี่ยน กลุ่มคนเปลี่ยนเป็นหนังคนละม้วน” พิชิตกล่าวทิ้งท้าย

ดูจากรายชื่อของคนที่สนับสนุนไม่ให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ จะพบความหลากหลายอย่างยิ่ง การตัดสินคดียุบพรรคครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงเป็นการกระทำต่อคนในพรรคอนาคตใหม่

แต่เป็นการกระทำโดยตรงต่อคนในสังคมจำนวนไม่น้อยอีกด้วย