นักวิชาการ จี้ ‘ณัฏฐพล’ คิดให้ดีก่อนเพิ่ม สพม.77 จังหวัด

นักวิชาการ จี้ ‘ณัฏฐพล’ คิดให้ดีก่อนเพิ่ม สพม.77 จังหวัด

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกรณี นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มอบมหายให้สำนักมัธยมศึกษาตอนปลาย และกลุ่มพัฒนาระบบบริหารของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปศึกษาแนวทางการเพิ่มสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เป็น 77 เขต โดยดูจากจำนวนครู นักเรียน ระยะทางการคมนาคม เช่น จังหวัดใดมีพื้นที่ห่างไกลกันมาก ให้จัดตั้ง สพม.จังหวัดละ 1 แห่ง ส่วนจังหวัดใดที่ไม่ไกลกันมาก ให้รวม 2 จังหวัด ดังนั้น จึงไม่ใช่การเพิ่ม สพม.ทุกจังหวัดนั้น ว่า ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการเพิ่มศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) รวมทั้งเพิ่ม สพม.และสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา (สพป.) ซึ่งงานส่วนนี้เป็นงานระดับภูมิภาคและระดับจังหวัดเท่านั้น แต่ตนคิดว่าโครงสร้างหรือการเพิ่มสิ่งต่างๆ ควรมองในภาพรวม เพราะที่ผ่านมาพบว่าโครงสร้างที่มีอยู่ถูกขยายและเติบโตไปมาก โดยเฉพาะข้าราชการระดับ 9 และระดับ 10 ในต่างจังหวัดที่เพิ่มขึ้นถึง 25-30% ไม่รวมถึงการเพิ่ม สพป.และสพม. ที่จะเพิ่มเจ้าหน้าที่ และข้าราชการจำนวนมากอีกด้วย ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตุว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เคยพิจารณาความซับซ้อนของงานเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าทำตามกระแสข้อเรียนร้องคือการเพิ่ม สพม.ให้ครบ 77 จังหวัดนั้น อาจจะเป็นนโยบายทางการเมือง ที่นักการเมืองและข้าราชการได้ประโยชน์ แต่ครู นักเรียน และคุณภาพผู้เรียนได้รับประโยชน์อย่างไร

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. คืออยากได้การบริหารงานบุคคลคืน กับการขยาย สพม. ให้เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งตนมองไม่เห็นว่าจะส่งผลถึงคุณภาพนักเรียนอย่างไร ตนจึงอยากให้ ศธ.ใคร่ครวญให้ดีกับการเพิ่ม สพม.ให้ครบ 77 จังหวัด เพราะถ้าเพิ่มขึ้นมานั้น จะไม่มีสิทธิยุบอีกแล้ว และจะยิ่งทำให้ระบบข้าราชการขยายตัว และตำแหน่งงานต่างๆเพิ่มมากขึ้น

“เมื่อโครงสร้างขยายใหญ่มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันคือ ศธ.อยู่ระหว่างยุบและควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้โรงเรียน ครู เด็กถูกทิ้ง ไม่มีใครลงไปจัดการส่งเสริมให้การศึกษามีประสิทธิภาพ ซึ่งเหตุผลที่เพิ่ม สพม.คือการไม่สะดวกสบายในการบริหารจัดการ แต่เด็กและครูจำนวนมากกลับขาดการเอาใจใส่ ไม่ได้รับความช่วยเหลือ ผมขอให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ที่เป็นนักบริหาร มาจากภาคเอกชน ตรองและคิดให้ดีว่าควรจะทำนำงบประมาณช่วยเหลือเรื่องไหนก่อน และสิ่งนี้คือการปฏิรูปการศึกษาจริงหรือไม่”นายสมพงษ์กล่าว