หวั่นโควิด-19 กระทบเก็บภาษีสรรพสามิต ชะลอภาษีความเค็ม-เบียร์แอลกอฮอล์0%

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า การเก็บภาษีความเค็มและภาษีเบียร์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 0% คงต้องชะลอไว้ก่อน เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข เข้ามาช่วยผลักดันภาษีดังกล่าวต้องใช้เวลาในการดูแลปัญหาไวรัสโควิด-19 ดังนั้นคงต้องให้การระบาดของไวรัสดังกล่าวคลี่คลายไปก่อน จึงจะนำเรื่องภาษีดังกล่าวกลับมาพิจารณาใหม่

นายพชร กล่าวว่า ในเรื่องภาษีความเค็มกรมสรรพสามิต จะใช้มาตรฐานการบริโภคโซเดียมขององค์การอนามัยโลก( WHO) ไม่เกิน 2,000 มิลิกรัมต่อวัน/คน โดยจะเก็บจากสินค้าที่เป็นอาหาร คือ อาหารแช่แข็ง ,บะหมี่สำเร็จรูป และโจ๊กสำเร็จรูป โดยกระทรวงสาธารณสุขจะต้องเป็นคนกำหนดว่า การบริโภคอาหารเหล่านั้น ในสามมื้อต่อวัน ปริมาณโซเดียม ต่อ 100 กรัม ควรอยู่ที่เท่าไหร่ เพื่อไม่ให้การบริโภคโซเดียมของคนไทยต่อวันเกินค่ามาตรฐาน

นายพชร กล่าวว่า ส่วนของการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตเบียร์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 0% นั้น จะต้องมีการพิจารณากำหนดนิยามของคำว่าเบียร์ 0% แอลกอฮอล 0% ว่าจะต้องมีนิยามอย่างไรที่ชัดเจน ปัจจุบันเบียร์ 0% ถูกเก็บภาษีสรรพสามิตในหมวด เครื่องดื่มที่เป็นน้ำหวาน ซึ่งมีอัตราภาษีเพียง 14% ขณะที่ภาษีสรรพสามิตเบียร์เสียในอัตรา 28 % ดังนั้นภาษีเบียร์ 0% ควรที่จะมีอัตราภาษีระหว่างภาษีน้ำหวานกับภาษีเบียร์

นายพชรกล่าวว่า อย่างไรก็ตามมีนักวิชาการบางคนให้ความเห็นว่า การเก็บภาษีเบียร์ 0% ให้สูงขึ้นกว่าภาษีน้ำหวานนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะในเมื่อภาครัฐต้องการให้คนลดการบริโภคแอลกอฮอล์ เบียร์ 0% น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่ง อย่างไรก็ตาม กรมสรรพสามิตมองในอีกมุมหนึ่งว่า การทำตลาดเบียร์ 0% จะเป็นการให้คนเริ่มทดลองดื่ม เพื่อสามารถขยายตลาดเบียร์ได้ในอนาคต ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกำหนดให้เบียร์ 0% อยู่ในหมวดของเครื่องดื่มประเภทเบียร์ เพื่อให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมายควบคุม เช่น การห้ามจำหน่ายในเวลาที่กำหนด รวมถึงการห้ามจำหน่ายใกล้สถานศึกษา

นายพชร กล่าวว่า ไวรัสโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต เนื่องจากการเดินทางท่องเที่ยวซบเซาลง น่าจะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีในเดือนมีนาคม เพราะเมื่อภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว จะส่งผลถึงการบริโภคเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าที่อยู่ในฐานภาษีของกรมสรรพสามิต โดยปีงบประมาณ 2562 กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มได้ 2.42 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีงบประมาณก่อนหน้าราว 10%

นายพชร กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของรัฐบาล เช่น การกำหนดวันหยุดสงกรานต์ที่อาจยาวถึง 9 วัน น่าจะมีส่วนช่วงส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศให้คึกคักขึ้นได้ โดยผลการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม-มกราคม) จัดเก็บได้ 2.12 แสนล้านบาท สูงกว่าปีก่อนหน้า 2.72 หมื่นล้านบาท หรือสูงขึ้น 14.71 % โดยสินค้าที่สามารถจัดเก็บภาษีได้สูง 5 อันดับแรกคือ ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ,ภาษีรถยนต์, ภาษีเบียร์,ภาษีสุรา, และภาษียาสูบ