กรองกระแส / ชะตากรรม ‘คสช.’ เบื้องหน้า เพื่อไทย อนาคตใหม่ อภิปรายไม่ไว้วางใจ

กรองกระแส

 

ชะตากรรม ‘คสช.’

เบื้องหน้า เพื่อไทย อนาคตใหม่

อภิปรายไม่ไว้วางใจ

 

ไม่ว่าจะมีการตระเตรียม “คณะทำงาน อ.ส.ว.” ไม่ว่าจะมีการตระเตรียม “วอร์รูม 22 อรหันต์” เพื่อหนุนช่วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แข็งแกร่งสักเพียงใด

แต่พลันที่ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเริ่มขึ้นตามกำหนดแห่งวาระการประชุม ทั้งหมดก็ต้องสู้และสู้อย่างโดดเดี่ยว

คณะทำงานสามารถตระเตรียม “ข้อมูล” ได้ สามารถลุกขึ้น “ประท้วง” ได้

แต่บรรดา “ข้อมูล” เหล่านั้นต้องตอบไปตามคำถามอันเสนอเข้ามา การประท้วงเกิดขึ้นได้ แต่นั่นหมายความว่าผู้อภิปรายจะต้องทำผิดกฎข้อบังคับ

และที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ เจ้าตัว “รัฐมนตรี” จักต้องรับผิดชอบตัวเอง ไม่มีใครทำแทนได้

มองจากมุมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นี่คือจุดอันว้าเหว่อย่างยิ่ง โดดเดี่ยวและเดียวดายอย่างยิ่งในทางการเมือง

นี่ย่อมเป็นประสบการณ์ “ตรง” ที่นักการเมืองทุกคนจักต้อง “ประสบ”

 

ปฏิบัติการด้าน IO

ในที่สุด ล้วนสูญเปล่า

 

พลันที่มีการประกาศถอนตัวออกมาของพรรคเศรษฐกิจใหม่ พลันที่มีการบรรจุชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นเป้าหมายหนึ่งของการอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ

บรรดาทุกกลยุทธ์ที่ปล่อยออกมาก่อนหน้านี้ล้วนพังครืน

ไม่ว่ากลยุทธ์ “ฝากเลี้ยง ส.ส.” โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ออกมาทำท่าทำทางในการแอบพบกับบรรดา ส.ส.พรรคเพื่อไทยบางคน

ไม่ว่ากลยุทธ์ปล่อยข่าวในเรื่อง “ซูเปอร์ดีล”

ไม่ว่ากลยุทธ์การปล่อยข่าวคาดหมายถึงสภาพการณ์ “ผึ้งแตกรัง” ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ออกมา

คาดหมายว่าจะมีแตกแถวเข้าร่วมกับรัฐบาลไม่ต่ำกว่า 40 คน

แต่เมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกข่มขู่คุกคามสร้างความหวาดกลัวตั้งแต่ “คดีอิลลูมินาติ” กระทั่งมาถึง “คดีเงินกู้ 191 ล้านบาท” ความหวาดกลัวในเบื้องต้นได้บรรลุถึงขีดสุดแห่งความกลัว

ในที่สุดก็ไม่กลัวและพร้อมกับเผชิญ ประสบกับทุกปัญหาอย่างเยือกเย็น

 

6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน

ความจริง การเมือง

 

ความจริงทางการเมืองนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 กระทั่งรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คือการเมืองแห่งการทำลายล้าง

ด้านหนึ่ง มีการเจรจาต่อรอง ขณะเดียวกันด้านหนึ่ง มีการต่อสู้ บดขยี้ ทำลาย

รูปการต่อสู้และเจรจาเช่นนี้ดำเนินมาตั้งแต่ยุครัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช กระทั่งยุคปลายของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ล่าสุดก็เห็นได้จากชะตากรรมของพรรคไทยรักษาชาติ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม พลันที่เกิดพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมาในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ความเข้มข้นของการประจันหน้าทางการเมืองได้เริ่มขึ้น มีความพยายามเจรจาต่อรอง แต่ด้านหลักยังเป็นการต่อสู้และเป็นการต่อสู้ในลักษณะทำลายล้างเด่นชัดมากยิ่งขึ้น

รูปธรรมก็คือ การพยายามบดขยี้ ทำลายพรรคอนาคตใหม่ การพยายามแย่งยื้อและทำลายพันธมิตรแนวร่วมของพรรคฝ่ายค้าน

 

เพื่อไทย อนาคตใหม่

ผนึกพลัง ต่อสู้การเมือง

 

ไม่ว่าในที่สุดชะตากรรมของพรรคอนาคตใหม่จะลงเอยอย่างไร แต่ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับก็คือ พรรคเพื่อไทยจะต้องผนึกพลังร่วมกับพรรคอนาคตใหม่

เพราะนี่คือแนวร่วมอันเป็นเหมือนผนังทองแดง กำแพงเหล็ก

ด้านหนึ่ง พรรคเพื่อไทยต้องเรียนรู้จากความสดใหม่ ความริเริ่มใหม่ของพรรคอนาคตใหม่ ด้านหนึ่ง พรรคอนาคตใหม่ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์และการต่อสู้มาตั้งแต่ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน ของพรรคเพื่อไทย

จำเป็นต้องประสานความจัดเจนอันพรรคเพื่อไทยสะสมอย่างยาวนานเข้ากับความสดใหม่ ความริเริ่มใหม่ของพรรคอนาคตใหม่

ผนึกพลังกันในการดำเนินญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ