วงค์ ตาวัน | คดีดำมืดของสังคมไทย

วงค์ ตาวัน

คดีฆาตกรรมบิลลี่ หรือนายพอละจี รักจงเจริญ มีแนวโน้มว่าอาจจะไม่สามารถนำขึ้นสู่ชั้นศาลได้ หลังจากอัยการสั่งไม่ฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับพวกในข้อหาฆ่า โดยเห็นควรฟ้องเพียงแค่ข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีควบคุมตัวบิลลี่ในข้อหามีน้ำผึ้งป่าแล้วไม่ดำเนินคดีตามกฎหมาย

ขั้นตอนต่อไปต้องรอลุ้นว่า เมื่อพนักงานสอบสวนดีเอสไอ รวบรวมรายละเอียดคดีเพื่อทำความเห็นแย้ง ส่งให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาชี้ขาด

หากอัยการสูงสุดเห็นพ้องตามคำแย้งของดีเอสไอก็อาจสั่งฟ้องนำคดีฆาตกรรมบิลลี่ขึ้นพิจารณาในชั้นศาลได้

แต่ถ้าอัยการสูงสุดเห็นพ้องตามที่พนักงานอัยการเห็นควรไม่ฟ้องคดีฆ่า ก็เป็นอันว่าคดีก็สะดุดหยุดนิ่งเพียงแค่นี้

“ความหวังของผู้รักความยุติธรรม ที่อยากจะเห็นความคืบหน้าการสูญหายของนักสู้เพื่อสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยงก็คงเหี่ยวเฉาไป”

หลังจากที่ดีเอสไอได้จุดประกายความหวังขึ้นมา เมื่ออุตส่าห์ค้นหาร่องรอยจนตามพบชิ้นส่วนกระดูกและถังน้ำมัน 200 ลิตร ทิ้งในน้ำภายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

โดยคำแถลงเมื่อต้นเดือนกันยายน 2562 ดีเอสไอได้ยืนยันจากผลการตรวจพิสูจน์ชิ้นส่วนกระดูกดังกล่าว ผ่านระบบไมโตคอนเดรียดีเอ็นเอ สามารถยืนยันสารพันธุกรรมระหว่างแม่สู่ลูกได้ เมื่อรวมกับพยานหลักฐานอื่นๆ จึงสรุปได้ว่าบิลลี่ได้ถูกฆ่าและอำพรางศพ ด้วยการเผาในถังน้ำมัน 200 ลิตร แล้วนำไปทิ้งน้ำบริเวณใต้สะพานแขวน

เป็นการยืนยันว่า นับจากหายตัวไปเมื่อ 17 เมษายน 2557 ด้วยพยานหลักฐานดังกล่าวบ่งชี้ได้ว่าบิลลี่ได้ถูกฆ่าแล้วแน่นอน

เมื่อผลการพิสูจน์ชิ้นส่วนกระดูกพอจะบ่งชี้ได้ว่าเป็นบิลลี่ เมื่อประกอบกับพยานหลักฐานอื่นๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์ก่อนหายตัวไป ซึ่งนายชัยวัฒน์กับพวกได้ควบคุมตัวบิลลี่ไป อ้างเหตุค้นพบน้ำผึ้งป่าในครอบครอง

“แต่หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น!?”

โดยนายชัยวัฒน์อ้างว่า เมื่อคุมตัวบิลลี่มาว่ากล่าวตักเตือนแล้วก็ปล่อยตัวกลับบ้านไปทันที มีการอ้างพยานบุคคลมารองรับว่าเห็นปล่อยตัวไปแล้ว

แต่เมื่อดีเอสไอมารื้อฟื้นคดีใหม่ จากการสอบพยานบุคคลซึ่งคำให้การใหม่ว่า ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีการปล่อยตัวไปแล้ว และจากการตรวจหลักฐานอื่นๆ เช่น วงจรปิด ทำให้ดีเอสไอสรุปได้ว่า ไม่มีอะไรบ่งชี้ได้ว่ามีการปล่อยตัวบิลลี่กลับบ้านตามที่อ้าง

“เมื่อผสมผสานเข้ากับหลักฐานกระดูกและถังน้ำมัน 200 ลิตร จึงนำมาสู่การตั้งเป็นคดีฆ่า”

แต่ลงเอยอัยการเห็นว่าพยานหลักฐานของดีเอสไอ ไม่สามารถยืนยันได้ว่าบิลลี่ตายแล้ว หรือมีการฆ่าเกิดขึ้น

อัยการเห็นว่าการตรวจดีเอ็นเอแบบไมโตคอนเดรีย ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นกระดูกบิลลี่ เป็นการตรวจเพียงแค่สารพันธุกรรมจากแม่สู่ลูกเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอ!

ในขั้นตอนที่ดีเอสไอจะทำคำแย้งเสนออัยการสูงสุดพิจารณา คงจะต้องยืนยันถึงความน่าเชื่อถือของการตรวจดีเอ็นเอแบบไมโตคอนเดรีย เพราะเป็นระบบที่หน่วยงานยุติธรรมระดับโลกก็ใช้ เป็นที่เชื่อถือได้

ทั้งเพราะข้อจำกัดคือกระดูกที่ตามเจอนั้น มีรอยไหม้และรอยแตกร้าว มีการหดตัวของกระดูกที่มาจากการถูกความร้อนที่อุณหภูมิ 200-300 องศาเซลเซียส แถมยังแช่น้ำเอาไว้อีกยาวนาน มีแต่การตรวจแบบไมโตคอนเดรียเท่านั้นที่จะพิสูจน์ได้

“การรวบรวมรายละเอียดเพื่อทำความเห็นแย้งให้อัยการสูงสุดได้พิจารณา จึงเป็นความหวังสุดท้ายในขณะนี้”

โดยปกติทั่วไปนั้น คดีบุคคลสูญหายโดยมีเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนพัวพัน ถือเป็นคดีที่ยากที่สุดต่อการหาร่องรอย ส่วนใหญ่หาไม่ได้แม้แต่ชิ้นส่วนศพ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐมักมีกระบวนการทำลายศพอย่างแนบเนียนที่สุด

สำหรับคดีบิลลี่ จริงๆ แล้วยังไม่สามารถตัดสินได้ว่านายชัยวัฒน์กับพวกกระทำผิดจริงหรือไม่ เพราะมีแต่กระบวนการศาลและคำพิพากษาเท่านั้นที่จะตัดสินได้ว่าผิดจริงหรือไม่

“เพียงแต่วันนี้ อาจจะไม่มีโอกาสแม้แต่จะส่งคดีขึ้นศาลเพื่อให้พิจารณาตัดสินได้”

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ นักสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่มีความหวังว่า การที่ดีเอสไอสามารถหาพยานหลักฐาน จนทำคดีฆ่าได้ ก็จะเป็นมิติใหม่ ส่งผลให้ภาพลักษณ์กระบวนการยุติธรรมไทยดูดีน่าเชื่อ

เพราะคดีฆ่าแล้วเผาทำลาย แทบจะไม่สามารถนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้เลย แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ยังไม่แน่ชัดว่าความหวังนั้นจะเป็นจริงได้

ขณะเดียวกัน การที่อัยการสั่งไม่ฟ้องในข้อหาฆาตกรรมบิลลี่ แต่ฟ้องเพียงข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

“คำแถลงนี้ ทำให้ต้องนึกถึงคดี 99 ศพ คดีที่มีประชาชนผู้ร่วมชุมนุมถูกฆ่าตายกลางเมืองหลวง”

เมื่อกระบวนการยุติธรรมเคยชี้ โดยเห็นพ้องตามคำร้องของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ว่า กระบวนการฟ้องในข้อหาฆ่าต่อศาลอาญาเป็นกระบวนการที่ผิดขั้นตอน ควรต้องดำเนินคดีในข้อหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในฐานะนายกฯ และรองนายกฯ โดยยื่นร้องต่อ ป.ป.ช.ให้ไต่สวน ถ้า ป.ป.ช.เห็นว่ามีมูล จึงฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

ชะตากรรมของผู้นำกะเหรี่ยงที่ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อปกป้องสิทธิชุมชน ลงเอยถ้าหากไม่มีการสั่งฟ้องคดีฆาตกรรม ก็เท่ากับบิลลี่ก็จะเป็นแค่คนสูญหายต่อไป

เช่นเดียวกับชะตากรรมของคนอีสานและคนภาคเหนือที่ถูกยิงตายในเหตุการณ์สลายม็อบ 99 ศพ จนบัดนี้ก็ไม่มีการดำเนินคดีในข้อหาฆ่าในระบบยุติธรรมแต่อย่างใด!?

การสูญหายของนักสู้ชาวชาติพันธุ์ผ่านไปแล้ว 5 ปี ถ้าลงเอยฟ้องข้อหาฆ่าไม่ได้ ก็จะกลายเป็นเพียงแค่คนสูญหายที่ไม่รู้สาเหตุและพิสูจน์อะไรไม่ได้ต่อไป เป็นความดำมืดของสังคมไทย แต่ก็จะมีคำถามต่อระบบยุติธรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายตาของนานาชาติ

ต้องไม่ลืมว่า คณะกรรมการมรดกโลก เคยตีตกการยื่นขอให้ป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ด้วยเหตุผลว่า ยังไม่ชัดเจนเรื่องสิทธิของชุมชนในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน ซึ่งก็หมายถึงเหตุการณ์ขับไล่กะเหรี่ยงออกจากป่า ด้วยความรุนแรง และลงเอยแกนนำสู้คดีคือบิลลี่ก็หายตัวไป

“การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งต่อไป เขาคงจะลืมเรื่องชุมชนกะเหรี่ยงและบิลลี่ไปแล้วกระมัง!??”

ส่วนคดี 99 ศพ สลายม็อบเมื่อ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 ผ่านมาแล้ว 10 ปี จนป่านนี้ยังไม่มีการดำเนินคดีกรณีคนถูกฆ่าตายนับร้อยและมีพยานหลักฐานมากมายได้เลย

“ขณะที่ฝ่ายแกนนำผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีไปแล้วหลายต่อหลายข้อหา แต่อีกฝ่ายไม่มีคดีอะไรเลย”

ญาติมิตรคนตายร่วมร้อยศพที่เป็นฝ่ายสูญเสีย ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมใดๆ เลย

คดีที่ดีเอสไอเคยรวบรวมพยานหลักฐาน คดีที่ส่งไปยังอัยการ ทุกอย่างก็ตกไปจากกระบวนการ

ที่ให้ส่ง ป.ป.ช.ไต่สวนความผิดตามตำแหน่งหน้าที่ของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ก็เงียบสนิท

สงสัยจะต้องสรุปว่า ในประเทศนี้มีนักต่อสู้เพื่อชาวชาติพันธุ์ รวมทั้งนักต่อสู้ทางการเมืองชนชั้นล่าง ที่ต้องหายตัวไปอย่างไม่อาจพิสูจน์อะไรได้มากมายนัก!!