ศักดิ์สยาม ยันเสนอครม.แล้ว – ขยายสัมปทานทางด่วนจบค่าโง่

วันที่ 11 ก.พ. 2563 มีรายงานว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอแผนการลงทุนในปีงบประมาณ 2563 กว่า 3 แสนล้านบาท อาทิ โครงการมอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ วงเงิน 7.9 หมื่นล้านบาท โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ เอ็น 2 เชื่อมถนนวงแหวนรอบนอกกทม. ด้านตะวันตก วงเงิน 1.52 หมื่นล้านบาท ส่วนเรื่องการขยายสัมปทานทางด่วน 15 ปี 8 เดือน เพื่อแลกกับการยุติข้อพิพาทกับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ บีอีเอ็ม (BEM) ที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญานั้น ทางคมนาคมเสนอครม.ไปตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. และทำตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง นอกจากนั้น ก็ยังให้การทางพิเศษฯ ศึกษาการลงทุนปรับปรุงทางด่วนชั้นที่ 2 หรือดับเบิ้ลเดค เพื่อแก้ปัญหาจราจร

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม หรือบัตรแมงมุม เร่งรัดให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า MRT สีน้ำเงินและสีม่วง, บริษัท รถไฟฟ้า รฟท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS เร่งปรับปรุงระบบหัวอ่านบัตรโดยสารให้สามารถอ่านข้อมูลบัตรรถไฟฟ้าได้ทุกระบบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชาที่ถือบัตรรวม 14.6 ล้านใบ สามารถถือบัตรใบเดียวเดินทางได้ทุกระบบ เบื้องต้นทั้ง 3 หน่วยงานจะใช้เงินรวมทั้งสิ้น 450 ล้านบาทในการปรับปรุงระบบหัวอ่านให้สามารถรองรับได้ทุกบัตร โดย รฟม.จะใช้เงิน 225 ล้านบาท บีอีเอส ใช้ 120 ล้านบาท และแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ใช้ 105 ล้านบาท

โดยระหว่างนี้ทั้ง 3 หน่วยงาน รฟม. บีทีเอสและแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จะต้องกลับ ไปหาข้อยุติเรื่องข้อตกลงทางธุรกิจในบัตรของและละหน่วยงานว่าจะจัดการอย่างไร เช่นเรื่องอัตราการเติมเงินในบัตร อัตราส่วนลดในบัตรที่ให้แก่กลุ่มคนประเภทต่างๆเช่น คนชรา เด็กนักเรียน เนื่องจากแต่หน่วยงานกำหนดอัตราแตกต่างกัน จะต้องไปตกลงวิธีการให้ได้ข้อยุติเพราะต่อไปจะใช้บัตรใบเดียว ซึ่งตนเห็นว่าตามหลักสากลแล้วแต่ละหน่วยงานจะต้องให้สิทธิ์ส่วนลดในบัตรโดยสารอัตราที่เท่าเทียมกัน แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบต่อเงื่อนไขในสัญญาสัมปทานของเอกชนด้วย ตั้งเป้าให้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันในเดือนก.พ. คาดว่าระบบจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดใช้บริการได้เดือนมิ.ย.นี้

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า สำหรับแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ค่อนข้างน่าเป็นห่วงมาก เพราะยังพัฒนาระบบหัวอ่านบัตรไม่สำเร็จ โดยบริษัทผู้รับรับจ้างได้ทำงานเกินอายุสัญญามากว่า11เดือนแล้ว จึงได้ขอให้ แอร์พอร์ตลิงก์ ไปทบทวนและตัดสินใจว่าจะดำเนินการจ้างผู้รับจ้างรายเดิมต่อไปอีกหรือไม่ เนื่องจากในช่วงการทดสอบอ่านบัตรในห้องทดลอง3 ครั้งที่ผ่านมา เครื่องไม่สามารถอ่านบัตรได้เลย นอกจากนี้ตามหลักเกณฑ์พัสดุการจัดซื้อจัดจ้างยังมีการกำหนดว่าหากหน่วยงานใดจัดเก็บค่าปรับส่งงานล่าช้าเกินกว่า 10% ของมูลค่างานแล้วก็มีอำนาจที่จะพิจารณาขอเลิกสัญญากับผู้รับจ้างได้