จัตวา กลิ่นสุนทร : ผู้มีคุณูปการ ต่อการศึกษาศิลปะ และ “ศิลปะร่วมสมัย” ในบ้านเรา

ทุกวันนี้ชิ้นงาน “ศิลปะ” ทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และสื่อผสมต่างๆ มีราคาสูงมาก ขนาดคนมีรสนิยมทางศิลปะ รักงานศิลปะ แต่ฐานะพื้นๆ ธรรมดาพอมีพอกิน ไม่มีโอกาสได้ครอบครอง

เฉพาะผลงานการสร้างสรรค์ของศิลปินมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี เคยได้รับรางวัลสำคัญๆ ตลอดจนถึงรางวัลเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ”

ทุกสิ่งอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่เท่าที่ได้สัมผัสกับนักศึกษาศิลปะส่วนมากในช่วงระยะเวลาหลายทศวรรษล้วนมีฐานะไม่แข็งแรง ในขณะที่อุปกรณ์สำหรับการศึกษาเล่าเรียนบนเส้นทางสู่ศิลปินกลับมีราคาสูงอย่างยิ่ง

ถ้าไม่มีความสามารถพิเศษติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดจริงๆ อาจไร้หนทางที่จะเที่ยวแสวงหาทุนการศึกษาทางด้านนี้ในช่วงระยะเวลายาวนานที่ผ่านเลยดังกล่าว

 

เขียนถึงเรื่องทุนการศึกษาศิลปะหนีไม่พ้นที่จะต้องรำลึกนึกถึง ท่าน (พี่) “ถวัลย์ ดัชนี” ซึ่งถึงแม้จะเสียชีวิตไปแล้วกว่า 5 ปี แต่ชื่อเสียงผลงานของศิลปินตั้งแต่เกิดของท่าน (พี่) ไม่เคยลบเลือนจางหายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่จำเป็นต้องมีคนไปประจบสอพลอเที่ยวไปเสนอสร้างสะพาน หรืออะไรๆ เพื่อจะเอานามสกุลไปตั้งชื่อ–ประมาณนั้น

แต่ท่าน (พี่) ได้ก่อสร้าง “บ้านดำ” จังหวัดเชียงราย ขึ้นมาเองเพื่อเป็นมรดกตกทอดทางศิลปวัฒนธรรม เป็น “บ้านศิลปินแห่งชาติ” ไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรม สำหรับให้คนรุ่นต่อมาได้ศึกษาเรียนรู้

ท่าน (พี่) เป็นคนพิเศษ เป็นอัจฉริยะทางด้านศิลปะ จึงได้รับทุนของจังหวัดเชียงรายให้เดินทางเข้ามาเรียนที่โรงเรียนเพาะช่าง กรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 13 ปี เคยเขียนประวัติของตัวเองเอาไว้ว่า อายุ 4 ขวบ เปิดนิทรรศการเดี่ยวศาลาราย วัดช้างมูบมิ่งเมือง เชียงราย, อายุ 6 ขวบ เปิดนิทรรศการเดี่ยวศาลาวัด วัดมุงเมือง เชียงราย, 7-8 ขวบย้ายไปอยู่ในป่า เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2

9 ขวบเป็นผู้ชำนาญการดักสัตว์ขนาดเล็ก ปลา แมลง และสัตว์เลื้อยคลาน, 10 ขวบ ยิงหนังสติ๊กเป็นเยี่ยมทั้งหมู่บ้าน เชียงราย พะเยา และอายุ 12 ปีเป็นคนเขียนรูปจรยุทธ์ไปทั่วเชียงราย, อายุ 13-16 ปีมาอยู่ตามซอกตึกโรงเรียนเพาะช่าง เป็นแวนโก๊ะ (Van Gogh), เอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presly) และเสือปืนไว

เมื่อเติบโตจนกระทั่งศึกษาเล่าเรียนจนแตกฉานด้านศิลปะ ปรัชญา ประสบความสำเร็จทางด้านทรัพย์สินเงินทองจึงอุทิศเงินเหล่านั้นเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ นักเรียน นักศึกษา ใช้เป็นทุนไปในการศึกษาเล่าเรียน

ขณะยังมีชีวิตโลดแล่นในวงการศิลปะ ศิลปิน ได้เสียสละทรัพย์จำนวนมากจากการจำหน่ายผลงานซึ่งมีราคาสูง รวมทั้งเงินรางวัลต่างๆ ทั้งในประเทศ ต่างประเทศให้เป็นทุนการศึกษากับนักเรียน นักศึกษา โดยเฉพาะนักศึกษาวิชาศิลปะ เริ่มต้นที่โรงเรียนในจังหวัดเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิด โรงเรียนเพาะช่าง (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล) และคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สถานที่ศึกษาเก่า และ ฯลฯ ซึ่งทุกวันนี้มีผู้รับหน้าที่ดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง

ไม่จำเป็นต้องเขียนถึงผลงานของท่านที่ปรากฏอยู่ในอาคารสถานที่ต่างๆ ในเมืองไทย รวมทั้งอาคารบ้านเรือนระดับปราสาทในต่างประเทศว่ามีราคาสูงอย่างไร? ระดับไหน สำหรับศิลปินร่วมสมัยในประเทศไทยคิดว่าผลงานของท่าน (พี่) ถวัลย์ ดัชนี มีราคาสูงที่สุดกว่าทุกคน

 

เมื่อเร็วๆ นี้นักสะสมผลงานศิลปะ (Collector) ซึ่งท่านเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทรับประมูลผลงานอันทรงคุณค่าทั้งโบราณวัตถุ ของเก่าอันทรงคุณค่า งานศิลปะของศิลปินที่มีชื่อเสียง เช่น งานจิตรกรรม ประติมากรรม และอื่นๆ คือคุณ “เยาวณี นิรันดร” ได้เป็นผู้ประมูลผลงานของท่าน (พี่) ถวัลย์ ดัชนี จากเจ้าของเดิมได้มาในราคา 26 ล้านบาท (ยี่สิบหกล้านบาท-อ่านไม่ผิดหรอกครับ)

เพื่อที่จะนำไปติดตั้งยัง “129 Art Museum” บ้านทิวเขา เขาใหญ่ ถนนธนะรัชต์ ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับสะสมงานศิลปะของศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญๆ ที่มีชื่อเสียงของบ้านเราจำนวนมากมาย ซึ่งดูเหมือนเกือบจะทุกท่านเป็น “ศิลปินแห่งชาติ”

งานของท่าน (พี่) ถวัลย์ชิ้นนั้นมีขนาดประมาณ 2 x 3 เมตร ชื่อ “เวชสันดรชาดก” ขณะนี้ท่านผู้สะสมใหม่ได้กำลังสร้างเป็นห้องกระจกสำหรับป้องกัน

ขณะเดียวกัน มีผลงานชิ้นสุดท้ายซึ่งได้ทำก่อนเสียชีวิตเป็นรูป “ม้า (สี) แดง” ซึ่งเพิ่งได้รับการเปิดเผยจากดอยธิเบศร ดัชนี บุตรชายคนเดียวว่ามีราคา 30 ล้านบาท โดยท่าน (พี่) ได้สั่งให้ลูกชายของท่านนำไปพิมพ์แจกในงานวันพระราชทานเพลิงศพ เพราะฉะนั้น ท่านที่ได้ไปร่วมงานจำนวนไม่น้อยต้องได้รับ

 

ผลงานที่ติดตั้งอยู่ที่ “129 Art Museum” บ้านทิวเขา เขาใหญ่ ปากช่อง มีของ (อาจารย์) ชลูด นิ่มเสมอ (อาจารย์) เฟื้อ หริพิทักษ์ (อาจารย์) จิตร บัวบุศย์ (อาจารย์) ประหยัด พงษ์ดำ (ที่เอ่ยชื่อมาทั้งหมดนั้นเสียชีวิตแล้ว) จนมาถึงศิลปินแห่งชาติรุ่นศิษย์ อย่างอิทธิพล ตั้งโฉลก กมล ทัศนาญชลี และ ฯลฯ

เป็นความก้าวหน้าเรื่องราวของวงการศิลปะ และเป็นโชคดีมีโอกาสสำหรับศิลปินรุ่นใหม่ๆ ที่พยายามศึกษาเล่าเรียนสร้างชื่อเสียง พร้อมล่ารางวัล ตามหาใบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติเพื่อประทับตราต่อท้ายชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำแหน่ง “ศิลปินแห่งชาติ” (สาขาทัศนศิลป์)

ซึ่งสำหรับทุกวันนี้จะว่าไปย่อมเป็นเรื่องที่ลำบากยิ่งของกรรมการที่มีความรู้สึก และเป็นมนุษย์มีอารมณ์ เลือดเนื้อ มีความคิดเห็นอันแตกต่างกันเหมือนปุถุชนทั่วไป ซึ่งจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจคัดเลือก ศิลปินแห่งชาติ

ในระยะเวลา 2-3 ทศวรรษความก้าวหน้าทางด้านการศึกษา ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนเกี่ยวกับเรื่องศิลปะร่วมสมัยนั้นค่อนข้างสูง ไม่นับคนที่พยายามเบี่ยงเบนซุกซ่อนเรื่องความมั่งมีไปจนถึงใช้เพื่อการฟอกเงิน

ประเทศเรามีนักสะสมศิลปะระดับผู้อัมีนจะกินเพิ่มขึ้นมาก การก่อสร้างสถานแสดงผลงาน, Art Mseum ขนาดใหญ่เพื่อเก็บสะสมงานศิลปะของศิลปินไทยก่อเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน

 

“พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย” (Museum of Contemporary Art) – (Moca Bangkok) เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ชมตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 ประมาณ 8-9 ปีแล้ว เจ้าของผู้ก่อตั้งคือ คุณบุญชัย เบญจรงคกุล ทุ่มเทเงินทุนจำนวนมหาศาล ใช้เวลาก่อสร้างราว 3 ปี ตั้งอยู่บริเวณริมถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ

เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยที่อาจเรียกได้ว่าแทบจะยกผลงานของศิลปินจากคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากรทั้งคณะ ตั้งแต่รุ่นแรกๆ จนถึงรุ่นใหม่มาติดตั้งรวมกันไว้ที่นั้น ณ เวลานี้ผลงานศิลปะเหล่านั้นไม่สามารถประเมินค่าได้ ท่านที่ชื่นชอบย่อมไม่พลาดจะต้องได้ไปเยี่ยมชมกันมาบ้างแล้ว

“กองทุนส่งเสริมการศึกษา การสร้างสรรค์ศิลปะ มูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ซึ่งก่อตั้งมามากกว่า 15 ปี โดย (ป๋า) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (ถึงแก่อสัญกรรม) อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ โดยผู้มีอันจะกินหลายท่าน คณาจารย์ทางด้านศิลปะ และ “ศิลปินแห่งชาติ” หลายท่านมาร่วมด้วยช่วยกัน

บริษัท คริสตี้ อ๊อกชั่น (ประเทศไทย)-(Christies Thailand) โดยคุณเยาวณี นิรันดร, คุณปัญญ์ชลี เพ็ญชาติ, คุณประภาวดี โสภณพนิช ช่วยจัดประมูลผลงานศิลปะเป็นประจำทุกปี เพื่อนำเงินไปเป็นทุนการศึกษาแก่นักศึกษาศิลปะ และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ท่านได้มาช่วยดำเนินงาน ก่อนจะเป็นผู้รับไม้ต่อ, มีการจัดนิทรรศการศิลปกรรม ค่ายศิลปะสัญจร (Art Camp) ประจำปี ซึ่งนำนักศึกษาศิลปะ ศิลปินที่เคยได้รับทุนการศึกษาให้เดินทางไปสร้างสรรค์งานตามสถานที่สำคัญๆ ทั่วประเทศไทย ก่อนจะนำผลงานมาเปิดนิทรรศการ และจำหน่ายเพื่อนำเงินสมทบมูลนิธิด้วย

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม สำนักศิลปะร่วมสมัย ก็ดำเนินโครงการเปิด “บ้านศิลปินแห่งชาติ” ขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย ซึ่งมิได้มีแต่เพียงบ้านศิลปินร่วมสมัยอย่างเดียว เป็นเรื่องราวของศิลปินพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการทอผ้า การสร้างสรรค์ตัวหนังตะลุง และ ฯลฯ

รวมทั้ง Art Museum แกลเลอรี่ (Gallery) สถานแสดงภาพเขียน แสดงผลงานศิลปะทั่วๆ ไปของเอกชนอีกจำนวนมาก ท่านที่อยู่ในฐานะอันมั่งคั่งมั่นคงที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นล้วนเป็นผู้ช่วยหนุนส่งวงการศิลปะร่วมสมัยในประเทศนี้ทั้งสิ้น

แต่ผลงาน “ศิลปะ” ราคาแพงมหาศาล มีเพียง “เศรษฐี” เท่านั้น จึงจะสามารถได้ครอบครอง