วิเคราะห์ : ทำไมเทรนด์ปลูกต้นไม้ดูดก๊าซพิษ จำเป็นต้องกลับมา

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ปลูกต้นไม้เพื่อดูดก๊าซพิษกลับมาเป็นเทรนด์ของโลกอีกครั้ง

เมื่อคนดังระดับซูเปอร์สตาร์อย่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ร่วมปลุกกระแสด้วยการสนับสนุนแนวคิดของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนป ที่ให้ชาวโลกร่วมปลูกต้นไม้ให้ได้ 1 แสนล้านต้นภายในระยะเวลา 1 ทศวรรษ

ขณะที่ “เกรียตา ทุนเบิร์ก” นักเคลื่อนไหวต่อสู้กับภาวะโลกร้อนชาวสวีเดน เปิดแถลงแย้งกลับประธานาธิบดีทรัมป์ซึ่งเป็นคู่ปรับเก่าว่า เรื่องปลูกต้นไม้นั้นน่ะเป็นเรื่องดี

แต่ไม่สามารถทดแทนธรรมชาติที่พังยับเยินไปแล้วได้มากนักหรอก

ฟังหนู “ทุนเบิร์ก” พูดแล้ว ค่อนข้างจะใช้อารมณ์ไปหน่อย

เพราะมีผลวิจัยหลายชิ้นระบุว่า การปลูกต้นไม้เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อย่างมาก

นอกเหนือจากมาตรการควบคุมนานาประเทศลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกพุ่งสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

 

เมื่อไม่นานมานี้ ผลวิจัยของนักวิทยาศาสตร์สวิส บอกว่าการปลูกต้นไม้ครอบคลุมในพื้นที่ 10 ล้านตารางกิโลเมตรจะดูดซับก๊าซพิษในชั้นบรรยากาศได้ราว 25 เปอร์เซ็นต์

การปลูกต้นไม้ยังช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในอากาศ สร้างความสดชื่นให้กับพื้นที่นั้นๆ

ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ดินชุ่มฉ่ำ อุดมด้วยสารอินทรีย์ สร้างความเขียวชอุ่มสวยงาม และผลผลิตที่ได้จากการปลูกต้นไม้ช่วยสร้างเสริมเติมรายได้ให้กับผู้คนในพื้นที่

แต่ปัจจุบันชาวโลกกลับเมินการปลูกต้นไม้ ตรงกันข้าม ได้โค่นป่าทำลายป่าไม้ขยายเมือง ทำให้พื้นที่ป่าหดหาย

มิหนำซ้ำใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลเพื่อสนองความสะดวกสบายเพิ่มขึ้นในปริมาณมากมหาศาล

สร้างปัญหามลพิษและปัญหาก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลก

ทั้งที่รู้กันทั่วว่าภาวะโลกร้อนมีสาเหตุหลักจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งน้ำมัน ก๊าซและถ่านหิน แต่ยังดันทุรังใช้เชื้อเพลิงเหล่านี้ด้วยข้ออ้างราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานชนิดอื่น

สินค้านานาชนิดตั้งแต่รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ล้วนใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลเป็นส่วนใหญ่

การใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ อย่างพลังงานลม แสงอาทิตย์ พลังงานคลื่น ก๊าซชีวมวล จึงเป็นเพียงพลังานทางเลือกของประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น

 

ประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยเช่นกัน ไม่สามารถก้าวกระโดดไปสู่ประเทศสีเขียวได้ในเร็ววัน เนื่องจากเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงปลอดก๊าซพิษยังมีราคาแพงลิ่ว

ผลิตพลังงานสีเขียวออกมาก็ต้องขายในราคาแพง ไม่คุ้มต่อการลงทุนและกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศซึ่งผู้คนยังยากจน ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนฐานราก ชั้นกลางกับคนชั้นสูงถ่างห่างกันอยู่มาก

ไทยจึงมีสภาพคล้ายกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่ทิศทางการเป็นประเทศสีเขียว ซีโร่คาร์บอน ค่อนข้างมืดๆ มัวๆ

จะให้ทิศทางสว่างจ้า อย่างสวีเดน เยอรมนี สวิส ฯลฯ คงใช้เวลาอีกนานอาจหลายทศวรรษหรือเป็นศตวรรษ

 

ย้อนมาพูดถึงแนวคิดการปลูกต้นไม้ ซึ่งเคยเขียนถึงมาหลายครั้งเพราะมั่นใจว่า หนทางนี้ทำได้จริงเห็นผลเร็ว และได้ประโยชน์หลากหลาย

เวลานี้มีบริษัทใหญ่ๆ ของบ้านเรา มองเห็นประโยชน์จากการปลูกต้นไม้ มีการรณรงค์ให้ช่วยกันปลูกอย่างกว้างขวาง

ล่าสุด ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์แจ้งมาว่า ได้จับมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. ลงนามบันทึกความร่วมมือปลูกไม้ยืนต้นในชื่อโครงการ “We grow….ปลูกเพื่อความยั่งยืน”

คุณนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ บอกว่า เครือซีพีให้ความสำคัญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศเพราะเป็นวาระสำคัญของโลก ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาคมโลก ซีพีมีมาตรการต่างๆ ให้องค์กรนี้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในปี 2573

โครงการ We grow…ปลูกเพื่อความยั่งยืน เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญ ทางเครือซีพีจะรณรงค์ให้ปลูกไม้ยืนต้นในทุกหน่วยงาน สนับสนุนให้พันธมิตรและเครือข่ายชุมชนต่างๆ ร่วมกันปลูกต้นไม้เพื่อความยั่งยืน เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทยให้กับโลก

ส่วนคุณประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผู้อำนวยการ อบก.มองว่าภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ประเทศไทยมีพันธสัญญาในการลดก๊าซเรือนกระจก 20-25 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2573

การบรรลุผลนั้นต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน การร่วมมือกับเครือซีพี เพราะเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ การขับเคลื่อนของซีพีในเรื่องนี้จะเป็นตัวอย่างที่ดีในการผลักดันภาคธุรกิจต่างๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีกว่า

ถ้าบ้านเราปลูกต้นไม้เต็มเมือง ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรมด้วยการปลูกต้นไม้ วันนี้ฝุ่นควันพิษจะไม่มีปริมาณมากมายจนคุกคามสุขภาพจิต สุขภาพกายชาวบ้านชาวเมืองอย่างที่เห็น

ขอปิดท้ายกับข่าวโครงการปลูกต้นไม้ ที่เมืองเซเล็ม รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ในชื่อว่า “Salem 400” จะมีการปลูกต้นไม้ให้เขียวชอุ่ม ปลูกดอกไม้ให้สวยสะพรั่งไปทั้งเมืองตลอดศตวรรษที่ 21

ผู้บริหารเมืองส่งอีเมลไปถึงชาวเซเล็มเพื่อขอคำแนะนำว่า ควรจะปลูกต้นไม้อะไรหรือปลูกพื้นที่ไหนจึงจะเหมาะสม

สำหรับงบประมาณเพื่อการปลูกต้นไม้ของเมืองเซเล็ม ได้รับการอัดฉีดเพิ่มจากเดิมมากถึง 5,000 เปอร์เซ็นต์