จักรกฤษณ์ สิริริน : ใช้ Video Games ช่วยผู้ป่วย Parkinson ได้

Open Book Of Parkinson's Disease, Conceptual Image

หลังจากที่เขียนถึง Office Syndrome, ภาวะซึมเศร้า, อัลไซเมอร์ และ Post-Vacation Blues ไปแล้ว ในสัปดาห์นี้ผมขอนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับ Parkinson กันสักตอนครับ

สาเหตุหลักของ Parkinson นั้น เกิดจากการลดลงของ Dopamine ครับ

Dopamine คือ “สารสื่อประสาท” ทำหน้าที่ส่งสัญญาณระหว่าง “สมอง” กับ “ร่างกาย” เพื่อให้ “สมอง” ควบคุม สั่งการ และกำหนดการเคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆ ของเรา

Dopamine จะถูกผลิตขึ้นโดยเซลล์สมอง Substantia Nigra ซึ่งหากเกิดความเสียหายขึ้น แน่นอนว่าย่อมทำให้ปริมาณ Dopamine นั้นผลิตได้น้อย หรือลดปริมาณลง

ส่งผลโดยตรงถึง “ความสามารถในการควบคุมอวัยวะให้เคลื่อนไหว” ดังได้กล่าวไปนั่นเองครับ

รายงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันตรงกันว่า หากร่างกายได้รับ “พิษ” ต่างๆ เข้าไปในปริมาณมากและต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน

ไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าแมลงหรือมลพิษต่างๆ ทั้งจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือท่อไอเสียรถยนต์ รวมถึงฝุ่นในอากาศ อาจมีความสัมพันธ์ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการทำลายเซลล์สมอง Substantia Nigra ได้

 

สาเหตุหนึ่งซึ่งได้รับการยืนยันในทางการแพทย์เกี่ยวกับ Parkinson ก็คือ ผู้ที่ประสบภาวะทางสมองอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคก้านสมองเสื่อม ภาวะฐานของเปลือกสมองเสื่อม

โดยเฉพาะหลอดเลือดสมองขาดเลือด ที่จะส่งผลให้เซลล์สมองหลายส่วนถูกทำลาย

แน่นอน รวมถึง Substantia Nigra ด้วย

อีกปัจจัยหนึ่งซึ่งอาจมีผลทำให้เซลล์สมอง Substantia Nigra เสื่อมสภาพหรือเสียหาย ก็คือ การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม

ซึ่งปรากฏบทความวิชาการหลายชิ้นที่ชี้ว่า ยีนที่กลายพันธุ์อาจส่งผลต่อการเกิด Parkinson ได้เช่นกัน โดยยีนกลายพันธุ์ดังกล่าวอาจถูกส่งต่อไปยังทายาทได้

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันการถ่ายทอด Parkinson ผ่านทางสายเลือดหรือบุคคลในครอบครัวที่ยังเป็นกรณีศึกษาซึ่งพบได้น้อยมาก

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นที่อาจทำให้เกิด Parkinson ได้อีก อาทิ ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Antipsychotic หรือยาต้านอาการทางจิต โดยอาการที่เกิดขึ้นจาก Parkinson มักจะหายไปภายหลังการหยุดใช้ยาดังกล่าว เป็นต้น

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า “อาการสั่น” หรือ Tremor คือมือสั่นอย่างควบคุมไม่ได้นั้นเป็นอาการหลักของ Parkinson โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ที่มักสั่น และถูกันไป-มา

นอกจากนี้ หลายท่านอาจไม่ทราบว่า แขนหรือขาก็สั่นได้ด้วยเช่นกัน

โดยเฉพาะ Bradykinesia หรือการเคลื่อนไหวที่ช้าหรือผิดปกติ อาทิ ลุกขึ้นจากเก้าอี้ได้ยากลำบาก เดินได้แค่ก้าวสั้นๆ และเดินลากเท้า เป็นต้น

รวมถึงอาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง หรือ Rigidity ซึ่งจะมาในรูปของกล้ามเนื้อแข็งและเกร็งผิดปกติ คล้ายตะคริว ซึ่งอาจสร้างความเจ็บปวดแสนสาหัสได้ หากลุกลามไปถึงภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง หรือ Dystonia

และยังมีอาการ Parkinson ที่หลายคนยังไม่คุ้นเคยอีกหลายอย่างครับ เช่น พูดเสียงเบาลง หรือพูดลิ้นรัว ไม่สามารถควบคุมการยิ้มและการกะพริบตาได้ ยืนตัวงอ หรือทรงตัวลำบาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในการเขียน คือไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็กที่มือ รวมถึงแขนได้

ทำให้เขียนอะไรได้ลำบาก หรือเขียนหนังสือโย้เย้ และตัวอักษรก็เล็กลงเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดี อาการของ Parkinson นั้น จะค่อยๆ เกิดขึ้น และทยอยปรากฏอาการออกมาอย่างช้าๆ

มิได้เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หรือกะทันหัน เหมือนกับโรคร้ายแรงอื่นๆ ครับ

 

นอกจากวิทยาการทางการแพทย์ที่จะมาช่วยวินิจฉัย เยียวยา รักษา และฟื้นฟูผู้ป่วย Parkinson แล้ว ในปัจจุบันได้มีการคิดค้นแนวทางป้องกัน Parkinson จากหลากหลายหน่วยงาน

หนึ่งในนั้นก็คือ i-PROGNOSIS ครับ

i-PROGNOSIS เป็นทั้งชื่อ Application บนโทรศัพท์มือถือ และเป็นทั้งชื่อโครงการความร่วมมือระหว่าง 6 ชาติยักษ์ใหญ่ในยุโรป

อันประกอบไปด้วย Greece, Belgium, Germany, Portugal, Sweden และ United Kingdom หรือ “สหราชอาณาจักร”

วัตถุประสงค์ของ i-PROGNOSIS นั้น เกิดขึ้นมาก็เพื่อช่วยลดความเสี่ยงทุกๆ ด้านที่เกี่ยวข้องกับ Parkinson ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นฐานอย่างการลื่นหกล้ม ไปจนถึงภาวะซึมเศร้า

จุดหมายปลายทางของ i-PROGNOSIS คือการพัฒนาวิธีวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ป่วย Parkinson ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อตรวจจับและสังเคราะห์หาอาการ Parkinson

โดย i-PROGNOSIS จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลต่างๆ จากโทรศัพท์มือถือ รวมถึง Smart Watch ของผู้ป่วย Parkinson ครับ

ซึ่ง Function ของ i-PROGNOSIS มีตั้งแต่ ตรวจจับการสั่น, ท่วงท่าการเดิน, ลักษณะเสียงพูด รวมถึงอาการอื่นๆ ของโรค Parkinson

i-PROGNOSIS ได้รับการออกแบบและพัฒนาโดยผู้ป่วย Parkinson โดยเฉพาะ “คนรอบข้าง” ของผู้ป่วย Parkinson ร่วมกับโปรแกรมเมอร์ แพทย์เฉพาะทาง นักวิชาการ และนักออกแบบ Video Games ครับ

 

Dr.Sofia Balula Dias ผู้เชี่ยวชาญ Parkinson จากประเทศโปรตุเกสเป็นทั้งผู้ริเริ่มแนวคิด และเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย i-PROGNOSIS

เพื่อสร้าง Application บนโทรศัพท์มือถือ สำหรับช่วยผู้ป่วย Parkinson โดยใช้ Video Games ขึ้น

เธอกล่าวว่า นอกจากจะเป็น Video Games แล้ว i-PROGNOSIS ยังเป็นเทคโนโลยีที่จะมาช่วยในการตรวจจับและรักษาอาการ Parkinson ได้เป็นอย่างดี

“…i-PROGNOSIS สามารถช่วยเยียวยาอาการทางร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาวะอารมณ์ของผู้ป่วย Parkinson ได้ รวมถึงจะช่วยเราในด้านการวิเคราะห์หาสาเหตุของ Parkinson ได้อีกด้วย…” Dr.Sofia Balula Dias กล่าว และว่า

ในอนาคต i-PROGNOSIS จะได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง และจะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพผู้ป่วย Parkinson ได้อีกทางหนึ่ง Dr.Sofia Balula Dias กระชุ่น

เธอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า i-PROGNOSIS จะทำการวิเคราะห์อาการสั่น, ท่วงท่าการเดิน, ลักษณะเสียงพูด รวมถึงอาการอื่นๆ ของโรค Parkinson

“…i-PROGNOSIS จะสร้าง Model พฤติกรรมที่ไม่ซ้ำกันของผู้ป่วย Parkinson แต่ละคน โดย i-PROGNOSIS ขับเคลื่อนด้วย AI หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” (Artificial Intelligence) เพื่อช่วยประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วย Parkinson…”

โดยเฉพาะผู้ป่วย Parkinson ที่มีความเสี่ยงสูง i-PROGNOSIS จะรีบแจ้งเตือนให้ไปพบแพทย์โดยด่วน! Dr.Sofia Balula Dias สำทับ

 

i-PROGNOSIS ประกอบด้วย Video Games จำนวน 14 Applications ด้วยกันครับ

ตัวอย่างเช่น ExerGames “กิจกรรมทางกายภาพ” Video Games เพื่อฝึกซ้อมให้ผู้ป่วย Parkinson จัดท่วงท่าการเดิน การลุก-นั่ง รวมถึงฝึกสมรรถนะการหยิบจับเครื่องไม้เครื่องมือ และของใช้ประจำวันต่างๆ

DietaryGames “ปรุงอาหาร” Video Games เพื่อความสนุกสนานในการจัดเมนูสำรับกับข้าวสำหรับให้ผู้ป่วย Parkinson ได้ทดลองวางโปรแกรมหม่ำด้วยตนเอง ทั้งอาหารคาว-หวาน ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ

EmoGames “ฝึกอารมณ์” Video Games เพื่อทดสอบสภาพอารมณ์และความสามารถในการจัดการสภาวะทางอารมณ์ของผู้ป่วย Parkinson สำหรับการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับคนรอบข้างอย่างมีความสุข

HandWriting “คัดลายมือ” Video Games เพื่อทบทวนรูปแบบการเขียนอักษรด้วยมือ สำหรับฝึกควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็กที่ใช้จับปากกา-ดินสอ โดยมี “แบบคัดลายมือ” หลากหลายภาษาให้เลือกเล่น

VoiceGames “ฝึกพูด” Video Games เพื่อฝึกการออกเสียง เนื่องจากผู้ป่วย Parkinson พูดเสียงเบาลง พูดแบบไม่มีเสียงสูง-ต่ำ และพูดเร็วติดกันจนฟังยาก หรือพูดลิ้นรัว VoiceGames จึงช่วย “ฝึกพูด” ได้ดี

Dr.Sofia Balula Dias กล่าวทิ้งท้ายว่า เนื่องจากในปัจจุบัน Parkinson มีผลกระทบต่อผู้คนมากกว่า 6.3 ล้านคนทั่วโลก!

i-PROGNOSIS จึงมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพวกเขาค่ะ